ท่องเที่ยว
บึงกาฬ เคยเป็นตำบลหนึ่ง ภายใต้การปกครองของอำเภอไชยบุรี จังหวัดนครพนม ครั้นเมื่อปี 2475 มีข้าราชการจากกระทรวงมหาดไทย ตรวจพบหนองน้ำขนาดใหญ่ กว้างกว่า 150 ม. และยาวกว่า 3,000 ม. ชาวบ้านเรียกโดยทั่วไปว่า "บึงกาญจน์" เมื่อทางการ ฯ เปลี่ยนชื่อจาก อ. ไชยบุรี มาเป็น อ. บึงกาญจน์ และเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น จึงได้เปลี่ยนตัวสะกดเป็น บึงกาฬ" และย้ายสถานที่ทำการอำเภอมาไว้ริมแม่น้ำโขง ตรงข้ามเมืองปากซัน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พร้อมถ่ายโอนการปกครองมาขึ้นกับจังหวัดหนองคาย
บึงกาฬ เคยเป็นตำบลหนึ่ง ภายใต้การปกครองของอำเภอไชยบุรี จังหวัดนครพนม ครั้นเมื่อปี 2475 มีข้าราชการจากกระทรวงมหาดไทย ตรวจพบหนองน้ำขนาดใหญ่ กว้างกว่า 150 ม. และยาวกว่า 3,000 ม. ชาวบ้านเรียกโดยทั่วไปว่า "บึงกาญจน์" เมื่อทางการ ฯ เปลี่ยนชื่อจาก อ. ไชยบุรี มาเป็น อ. บึงกาญจน์ และเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น จึงได้เปลี่ยนตัวสะกดเป็น บึงกาฬ" และย้ายสถานที่ทำการอำเภอมาไว้ริมแม่น้ำโขง ตรงข้ามเมืองปากซัน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พร้อมถ่ายโอนการปกครองมาขึ้นกับจังหวัดหนองคาย
ต่อมาในปี 2537 ได้มีการร้องขอให้จัดตั้งเป็นจังหวัดบึงกาฬ ตามข้อเสนอของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเสรีธรรม จังหวัดหนองคาย โดยแยกพื้นที่อำเภอบึงกาฬ อำเภอปากคาด อำเภอโพนพิสัย อำเภอพรเจริญ อำเภอเซกา อำเภอบึงโขงหลง อำเภอศรีวิไล และอำเภอบุ่งคล้า ออกจากจังหวัดหนองคาย ทั้งยังแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ ให้เป็นจังหวัดที่ 77 ของราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เป็นต้นมา
จังหวัดน้องใหม่ของประเทศไทยแห่งนี้ มีประวัติความเป็นมาไม่ธรรมดา สืบเนื่องจากสภาพภูมิประเทศและทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีมากอย่างล้นเหลือ อีกทั้งวัฒนธรรมประเพณีของประชากรสองเชื้อชาติ ริมฝั่งแม่น้ำโขง ที่อาศัยอยู่แบบพึ่งพาซึ่งกันและกัน เสมือนบ้านพี่เมืองน้อง
ชีวิตอิสระ ฉบับนี้ จึงถือเป็นโอกาสดีที่ได้เดินทางมาเยือนภาคอีสาน และทำหน้าที่แนะนำแหล่งท่องเที่ยว จังหวัดใหม่ล่าสุดของประเทศไทย ในนามว่า "บึงกาฬ"
การเดินทางในครั้งนี้ ขอขอบคุณ บริษัท ฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้นำรถ ฟอร์ด เอเวอเรสต์ ไมเนอร์เชนจ์ ขนาด 3.0 ลิตร ขับเคลื่อน 4 ล้อ เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ ที่มีทั้งล้อแมกขอบ 18 นิ้ว ดูหรูหรา พร้อมระบบนำทางผ่านดาวเทียม ซึ่งหาข้อมูลแผนที่เดินทาง ทำได้ง่ายดายเพียงปลายนิ้วสัมผัส ทั้งยังมอบความบันเทิงด้วยจอโทรทัศน์แบบทัชสกรีน เพื่อการเดินทางสมบูรณ์แบบ มาให้ใช้เป็นพาหนะเพื่อการเดินทาง
ผมใช้เส้นทางจากกรุงเทพ ฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 1 ผ่านจังหวัดสระบุรี ตัดเข้าทางหลวงหมายเลข 2 ไปยังจังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย จนถึงจุดหมายปลายทาง จังหวัดบึงกาฬ รวมระยะทาง 750 กม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 ชม. จะเสียเวลาในช่วงปลายระหว่าง อุดรธานี-บึงกาฬ เนื่องจากถนนเป็นแบบ 2 เลนสวนกัน และยังมีหลุมบ่อที่เกิดจากการชำรุดของพื้นผิว ทำให้เสียเวลาไปไม่น้อย
เรือนไม้เก่า
คละเคล้าอารยธรรมริมฝั่งโขง
ความเป็นอยู่ของผู้คนที่นี่ เป็นแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย รูปแบบการจัดวางผังเมือง ซึ่งไม่ต่างจากอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย สักเท่าไร มีตรอกซอกซอยทะลุหากันได้ตลอด แถมยังคงเอกลักษณ์เดิม ด้วยเรือนไม้เก่าในสมัยอดีต ที่ตราตรึงร่องรอยของกาลเวลาไว้อย่างชัดเจน
ประชากรบางคนดูไม่ออกว่าเป็นคนไทยหรือว่าคนลาว เพราะวัฒนธรรมท้องถิ่นไม่ต่างกันนัก ผู้คนจะรู้จักกันแทบทุกหลังคาเรือน เนื่องจากเป็นเมืองเล็กๆ เสน่ห์ของเมืองนี้ นอกจากเรือนไม้เก่า ยังมีสวนสาธารณะริมน้ำสำหรับการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ และยังใช้เป็นที่พบปะพุดคุยของผู้สูงวัย จะคึกคักในช่วงเช้าและเย็นของทุกๆ วัน
ร้านอาหารริมแม่น้ำโขง
สุดยอดเมนูปลาแม่น้ำ
การจัดระบบของพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง นอกจากสวนสาธารณะ พื้นที่ว่างเปล่าในส่วนที่เหลือ ถูกจัดการให้มีการตั้งร้านอาหารมากมาย ขนาบข้างด้วยสายน้ำเพื่อความร่มรื่น และยังได้ลิ้มรสชาติผนวกกับบรรยากาศที่แนบชิดกับสายน้ำแห่งชีวิต
ร้านอาหารริมฝั่งโขง เป็นจุดดึงดูดให้ผู้มาเยือนได้แวะชิม เมนูขึ้นชื่อมาจากการนำปลาแม่น้ำโขงสดๆ ตัวโตๆ มาประกอบอาหาร พร้อมดื่มด่ำอรรถรสริมสายน้ำ และชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเพื่อนบ้านชาวลาวได้อย่างใกล้ชิด แถมราคาไม่แพงอย่างที่คิดอีกด้วย
ตลาดเช้าไทย-ลาว
สานสัมพันธ์คนสองเชื้อชาติ
เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีแม่น้ำโขงคั่นกลาง ระหว่างประเทศไทย และลาว การค้าขายระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน จึงได้ดำเนินขึ้นภายใต้ชื่อ "ตลาดเช้าไทย-ลาว" ที่นี่เปิดตั้งแต่เวลา 6.00-13.00 น. ของวันอังคาร และวันศุกร์ ทุกครั้งจะคราคร่ำไปด้วยพ่อค้า และนักชอพชาวไทยและลาว เพื่อหาซื้อของสด และวัตถุดิบต่างๆ สำหรับการประกอบอาหารตามวิถีปฏิบัติ สิ่งแปลกๆ ที่หาพบได้ยาก นั่นคือ สมุนไพร และว่าน ที่มีสรรพคุณนานาชนิด ส่วนใหญ่จะถูกหิ้วข้ามมาจากประเทศเพื่อนบ้าน
นอกจากอาหารคาว-แห้ง ตลาดแห่งนี้จะมีเสื้อผ้าแฟชัน และของใช้อื่นๆ อีกหลากหลายชนิด เหมือนกับตลาดนัดในเมืองกรุง ที่มีของขายไม่แพ้ห้างสรรพสินค้าอเนกประสงค์กลางถนนคนเดิน
น้ำตกเจ็ดสี
แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม ของคนบึงกาฬ
หากมาถึงจังหวัดบึงกาฬ แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมซึ่งคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวให้ความสำคัญอีกหนึ่งแห่ง นั่นคือ "น้ำตกเจ็ดสี" ซึ่งเป็นน้ำตกขนาดใหญ่และสวยงาม โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ธารน้ำจากห้วยกะอามที่ไหลตามหน้าผาหินทราย แผ่กว้างเป็นทางยาว ด้านล่างมีแอ่งน้ำขนาดใหญ่ สำหรับการเล่นน้ำ และโขดหินอีกหลายแห่ง เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ เมื่อละอองน้ำที่ไหลตกกระทบกับแสงแดด จนทำให้เกิดรุ้งกินน้ำ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ น้ำตกเจ็ดสี นั่นเอง
สามารถเดินทางจากอำเภอเมือง โดยใช้เส้นทางหลวงสาย 212 มุ่งตรงสู่อำเภอเซกา-บ้านดงบัง ระยะทางประมาณ 35 กม. เลี้ยวขวาที่บ้านชัยพร บ้านดอนเสียด ระยะทางอีกประมาณ 25 กม. มีป้ายบอกตลอดเส้นทาง
หาดคำสมบูรณ์
พื้นที่ชุ่มน้ำ พร้อมกิจกรรมเพียบ
หาดคำสมบูรณ์ ชายหาดริมบึงโขงหลง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ มีเนื้อที่กว่า 8,000 ไร่ และยังได้จดทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับนานาชาติแห่งที่ 2 ของประเทศไทย ในปี 2544 มีสัตว์น้ำอาศัยอยู่หลากหลายชนิด รวมทั้งปลาบู่แคระ ซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่หาตัวได้ยาก และนกน้ำอีกกว่า 100 ชนิด บินโฉบเฉี่ยวแวะเวียนเป็นประจำทุกปี
นอกจากจะมีความสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางน้ำ ยังเป็นแหล่งพักตากอากาศของคนในอำเภอบึงโขงหลงและผู้คนละแวกใกล้เคียง กิจกรรมทางน้ำมีไว้บริการนักท่องเที่ยว อาทิ บานานาโบท สกูเตอร์ เจทสกี และเรือถีบ ซึ่งไม่ต่างจากกิจกรรมตามท้องทะเลสักเท่าไรนัก
ร้านอาหารมากมายที่อยู่ริมหาด ก็เป็นทีเด็ดที่ไม่ควรพลาด เมนูส่วนใหญ่จะเป็นปลา และอาหารอีสานนานาชนิด ทั้งปลาเผา ส้มตำ ลาบ ก้อย กุ้งเต้น ฯลฯ นักเดินทางควรมีเวลาอย่างน้อยประมาณ 2-3 ชม. เพื่อใช้เป็นที่พักผ่อนระหว่างการเดินทาง
หาดคำสมบูรณ์ อยู่ห่างจาก น้ำตกเจ็ดสี ไปทางอำเภอบึงโขงหลง ประมาณ 30 กม. มีป้ายบอกตลอดเส้นทางเช่นกัน
สถานปฏิบัติธรรม บนยอดเขาสูง
ภูทอก ในภาษาอีสาน แปลว่า ยอดเขาที่โดดเดี่ยว อยู่ในเขตบ้านนาแคน อำเภอศรีวิไล ลักษณะเป็นภูเขาหินทราย เด่นตระหง่าน มองเห็นได้จากระยะไกล ประกอบด้วย ภูทอกใหญ่ และภูทอกน้อย ในอดีตพื้นที่แห่งนี้เป็นป่ารกทึบ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ชุกชุม
หลังจากที่พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ได้เดินธุดงค์จนพบกับ ภูทอก จนสร้างเป็นที่บำเพ็ญเพียรภาวนาสำหรับพระสงฆ์ และพุทธศาสนิกชน
ภูทอกน้อย บริเวณด้านล่างเป็นที่ตั้งของวัดเจติยาคีรีวิหาร (วัดภูทอก) จุดเริ่มต้นของการเดินเท้าขึ้นยอดภู ใช้เส้นทางเดินบนสะพานไม้ที่วนเวียนโดยรอบไต่ระดับขึ้นสู่ยอดเขา สร้างขึ้นจากแรงศรัทธาของ พระ เณร และชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2512 ใช้เวลาสร้างนานถึง 5 ปี เส้นทางนี้เปรียบเสมือนเส้นทางธรรมสำหรับผู้บำเพ็ญเพียร แบ่งออกได้ถึง 7 ชั้น
ชั้นที่ 1-2-3 เป็นสะพานไม้วนรอบเขา มีเส้นทางลัดขึ้นสู่ชั้น 5 แต่สภาพเส้นทางชันมาก ถ้าร่างกายไม่พร้อม ต้องยอมเสียเวลาเดินวนดีกว่า
ชั้นที่ 4 เป็นสะพานไม้ลอยจากพื้น มองลงมาจะเห็นเนินเขาเตี้ยๆ เรียกว่า ดงชมพู มองเห็นทิวทัศน์ของ อุทยานแห่งชาติภูลังกา จังหวัดนครพนม ได้ชัดเจน และบริเวณนี้ยังเป็นที่พักของแม่ชีที่มาปฏิบัติธรรมอีกด้วย
ชั้นที่ 5 มีศาลาและกุฏิพระ ตามทางเดินจะมีถ้ำน้อยใหญ่อีกหลายแห่ง และยังเป็นที่เก็บอัฐิ และภาพเหมือนของพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ผู้ก่อตั้งวัดแห่งนี้
ชั้นที่ 6 เป็นช่วงสุดท้ายของบันไดเวียนรอบเขา ระยะทางประมาณ 400 ม. บริเวณนี้เป็นจุดชมวิวที่สวยงามมองเห็นทิวทัศน์ได้หลากมุมมอง ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวที่เดินขึ้นภูจะหยุดอยู่เพียงเท่านี้ เพราะชั้นที่ 7 หรือชั้นบนสุด จะเป็นป่ารกทึบ มองไม่เห็นทัศนียภาพสักเท่าไรนัก
จากอำเภอเมือง ใช้ทางหลวงหมายเลข 212 เลี้ยวขวาเข้าเส้นทางหลวงหมายเลข 222 ถึงอำเภอศรีวิไล เลี้ยวซ้ายผ่านบ้านนาสิงห์ บ้านสันทรายงาม มุ่งสู่บ้านนาคำแคน จนถึงภูทอก ระยะทางประมาณ 30 กม.
แก่งอาฮง-สะดือแม่น้ำโขง
ที่มาเรื่องเร้นลับในสายน้ำโขง
แก่งอาฮง จะอยู่ในแม่น้ำโขงด้านหน้าวัดอาฮงศิลาวาส เป็นที่ประดิษฐานของ พระพุทธคุวานันท์ศาสดา รูปลักษณ์คล้ายคลึงกับพระพุทธชินราช ที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดบึงกาฬ เชื่อกันว่า จุดนี้เป็นจุดที่ลึกสุดของแม่น้ำโขง หรือที่เรียกกันว่า "สะดือแม่น้ำโขง" เคยได้มีการวัดความลึกของระดับน้ำบริเวณนี้ได้ถึง 98 วา หรือเกือบ 200 ม.
ฝั่งตรงข้ามวัด ส่วนดินแดนของประเทศลาวจะมีโขดหินใหญ่ และมีถ้ำใต้โขดหิน เป็นที่อยู่ของปลาบึกยักษ์ และในช่วงวันออกพรรษา บริเวณสะดือแม่น้ำโขง จะเป็นสถานที่ชมบั้งไฟพญานาค มีผู้คนให้ความสนใจอย่างล้นหลาม
ตามตำนานเล่าขานจากอดีต ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงจะเสียชีวิตปีละหลายคน เนื่องจากไปทำสิ่งไม่ดี หรือลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ มักจะพบศพผู้เสียชีวิตไหลกองมารวมอยู่บริเวณนี้เป็นประจำ และยังมีเรื่องเล่าจากเหตุการณ์จริงอีกมากมาย ที่ยังต้องรอการพิสูจน์กันต่อไป
การเดินทางเยือนจังหวัดบึงกาฬในครั้งนี้ ถึงแม้ว่าจะต้องเดินทางระยะทางไป/กลับกว่า 2,000 กม. แต่ก็ยังโชคดีที่ได้ ฟอร์ด เอเวอเรสต์ เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ แบ่งเบาภาระในการเดินทาง ทำให้ร่างกายไม่เมื่อยล้ามากนัก แถมอรรถรสของการเดินทางในสถานที่ต่างๆ ต้องบอกว่าเต็มอิ่ม ทั้งอิ่มเที่ยว และอิ่มบุญ พร้อมชมวิถีชีวิตชาวบ้านและอารยธรรมของพี่น้องชาวลาวที่ข้ามมาค้าขายในดินแดนไทย รวมถึงมีเรื่องราวที่ชวนให้ขนหัวลุก จากสิ่งเร้นลับในแม่น้ำโขง ที่มีมูลมาจากเรื่องจริง
ชีวิตอิสระ ฉบับต่อไป ผมได้รับเชิญให้เข้าร่วมทริพ คาราวานท่องเที่ยว ไปยังจังหวัดอุตรดิตถ์ ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จะสนุกสุดมันขนาดไหน...ต้องติดตาม
ที่พัก
ที่พักของจังหวัดบึงกาฬ จะมีในรูปแบบของโรงแรม และรีสอร์ทระดับ 2-3 ดาว อัตราค่าบริการจะเริ่มตั้งแต่ 250-1,000 บาท ตามรูปแบบและสิ่งอำนวยความสะดวก ในอำเภอเมือง จะมีโรงแรมแม่น้ำ ซึ่งสามารถสัมผัสกับบรรยากาศริมแม่น้ำโขงได้อย่างใกล้ชิด
อาหาร
เนื่องจากมีพื้นที่ขนาบกับแม่น้ำโขง อาหารที่ขึ้นชื่อคงหนีไม่พ้นเมนูปลา นอกจากจะสด ยังสามารถประกอบอาหารได้หลากหลาย ผมไปติดใจรสชาติของปลาแม่น้ำโขงจากร้าน ใบกนก ในอำเภอเมือง กับเมนูต้มส้มปลาแม่น้ำโขง และปลาแม่น้ำโขงผัดฉ่า ส่วนอาหารอีสาน ถ้าได้แวะไปหาดคำสมบูรณ์ ที่บึงโขงหลง ลองไปที่ร้านดวงตาปลาเผา เพราะมีอาหารอีสานรสจัดจ้าน และปลาเผา เคล้าบรรยากาศเย็นๆ ริมบึง ไว้คอยบริการ
ขอขอบคุณ
บริษัท ฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด สนับสนุนรถ ฟอร์ด เอเวอเรสต์ เพื่อใช้เป็นพาหนะในการเดินทาง
ABOUT THE AUTHOR
ณ
ณัฐเทพ เผ่าจินดา natthep@autoinfo.co.th
นิตยสาร 4wheels ฉบับเดือน กันยายน ปี 2554
คอลัมน์ Online : ท่องเที่ยว