พิเศษ
ชีวิตที่ผกผันของ วิสุทธิ์ โลหิตนาวี
ประวัติของ วิสุทธิ์ โลหิตนาวี โลดโผนและผกผันยิ่งนัก จนอยากให้คุณฟังคำบอกเล่าจากปากของเขาเอง
แล้วคุณจะหายสงสัยว่าทำไมเราถึงต้องดั้นด้นไปสัมภาษณ์เขาถึงไร่องุ่น กราน-มอนเต (GRANMONTE) ซึ่งตั้งอยู่ที่
เชิงเขาใหญ่ ในเขตจังหวัดสระบุรี
"ผมจบการศึกษาด้านวิศวกรรมยานยนต์จากเยอรมนี
กลับจากเยอรมนีมาทำงานเกี่ยวกับรถยนต์กับบริษัทในเครือของธนบุรีพานิช
ซึ่งน่าแปลกที่ว่าตอนทำงานที่เมืองนอกหรือเรียนส่วนใหญ่เกี่ยวกับรถยนต์ บีเอมดับเบิลยู
นั่นเป็นความผันผวนของชีวิตอย่างหนึ่ง
ตั้งแต่กลับมาเมืองไทยในปี 2513 เพราะความชอบด้านรถยนต์โดยเฉพาะยี่ห้อ บีเอมดับเบิลยู และยังเคยฝึกงานที่
อัลพินา สมัยนั้นเป็นบริษัทตกแต่งรถ บีเอม ฯ ที่โด่งดังที่สุด รวมทั้งเคยเรียนด้านการขับรถแข่งที่เยอรมนีด้วย
การทำงานเลยดูเหมือนจะเป็นงานอดิเรก ส่วนงานหลักคือการแข่งรถทั้งทางเรียบและแรลลี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี
2514 และ 2515 ผมเอารถ บีเอม ฯ ขึ้นเครื่องบินสมัยนั้น คือ แอร์ สยาม ไปแข่งที่ มาเก๊า ฮ่องกง มาเลเซีย
และสิงคโปร์
ตอนนั้นการแข่งรถยนต์ทางเรียบของเมืองไทยจัดขึ้นที่สนามบินต่างๆ ช่วงปี 2514
ส่วนใหญ่จะเป็นการแข่งขับรถขึ้นเขา (HILL CLIMB) ที่ตาคลี พัทยา และแข่งทางเรียบแบบ
เซอร์กิท ที่สนามบินดอนเมือง สมัย วิลาศ บุนนาค เรย์ คอร์มัน ฯลฯ
ประมาณปี 2516 เพื่อนแนะนำให้มาทำนิตยสารยานยนต์ ร่วมงานกับ ณรงค์ เกตุทัต และขวัญชัย ปภัสร์พงษ์
และลงแข่งแรลลีด้วย โดย ขวัญชัยเป็นผู้นำทาง (NAVIGATOR) เขาเป็นคนใจเย็นมาก ไม่เคยทะเลาะกับใคร
ร่วมทางร่วมเป็นร่วมตายหลายต่อหลายครั้ง เจอหน้าทีไรก็พูดถึงครั้งที่หวาดเสียวที่สุดกันทุกที
ครั้งนั้นไปทางใต้แถวประจวบคีรีขันธ์มีการหลงทางกันบ้าง ว่ากันมาเต็มที่ เวลาตอนหัวค่ำ
ถนนช่วงนั้นเป็นลูกรังผ่านไร่สับปะรด เข้าใจว่าโรดไซจ์ (ROAD SIGN) ไม่ค่อยดี
ผู้นำทางก็ไม่ทันได้เตือนว่าจะมีโค้งหักข้อศอก เรามาเร็วพอสมควร ประมาณกว่า 100 กม./ชม. พอเห็นทางโค้งผมร้อง
"เฮ้ย" ตะโกนได้คำเดียวว่า "เกาะ" จากนั้นก็ตีเข้าโค้งมา ผมเองเป็นคนขับก็ไม่แน่ใจว่าจะหลุดออกมาได้
โดยสัญชาตญาณคือไม่เบรค เปลี่ยนเกียร์เหยียบไปเต็มที่จนล้อหลังตะกุย ตะแคงออกไป
ครั้งนั้นเป็นครั้งที่หวาดเสียวที่สุด
ช่วงปลายปี 2516 ผมก็เปลี่ยนงานเพราะมีบริษัทอังกฤษชื่อ เวลคัม (WELLCOME)
ชักชวนให้ผมทำงานในแนวที่ผมทำจนถึงปัจจุบันคือ สุขอนามัยของสิ่งแวดล้อม ผมพิจารณาข้อเสนอของเขา
และวงการรถยนต์ที่สมัยนั้นในความเป็นเลือดนักแข่งยังมี แต่การสนับสนุนของค่ายรถยนต์ไม่ค่อยมากนัก
เพราะฉะนั้นการยึดเป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัวคงจะลำบาก
เลยตัดสินใจร่วมกับครอบครัวว่าน่าจะทำงานบริษัทอินเตอร์
ลาออกจากนิตยสารยานยนต์ซึ่งตอนนั้นเป็นบรรณาธิการบริหาร ผมต้องตัดใจมาก เศร้าใจที่สุด หนักใจที่สุด
หันหลังให้เพื่อน แทบไม่ได้กลับไปเจอกันเกือบ 10 ปี
ผมมาทำงานที่ เวลคัม เลิกการแข่งขันรถแรลลีกับ ขวัญชัย และณรงค์
เขาก็ทำงานของเขาไปหลังจากนั้นก็แยกตัวกันออกมา สำนักงานใหญ่ เวลคัม อยู่ที่อังกฤษ แต่ในช่วงปี 2517 และ
2518 ผมยังแข่งอยู่บ้าง รวมทั้งแข่งโกคาร์ทด้วย
สำหรับการแข่งทางเรียบหรือรถใหญ่ไม่ค่อยได้แข่งแล้วเพราะว่างานที่ไปทำใหม่ ความรับผิดชอบค่อนข้างมาก
ส่วนแรลลีสมัยนั้นขับให้ เฉลิม สราญจิต นายกสมาคมแรลลี เป็นผู้นำทาง ผมเป็นคนขับให้
ในตอนนั้นสมาคมแรลลีในปี 2518
มีหลักการว่าจะหาแชมพ์ของประเทศไทยโดยนำคะแนนของรถที่ลงแข่งทุกรายการมารวมกัน
ปรากฏว่าในตอนจบคะแนนเรานำ ได้ตำแหน่งเหมือนเป็นแชมพ์ของประเทศไทยสมัยนั้น แต่ปรากฏว่า เฉลิม
ซึ่งเป็นนายกสมาคมเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ทำให้งานนี้จบโดยไม่มีการแจกรางวัลอะไรทั้งสิ้น
อีกเหตุผลหนึ่งที่ผมตัดสินใจว่าจะเลิกแข่ง นอกจากภาระทำงาน ภาระครอบครัว คือตอนที่ทางครอบครัว เฉลิม
พอรู้ว่าเป็นมะเร็งและอาการหนัก สภาพครอบครัวของเขาเศร้าและทุกข์มาก ทำให้เรานึกถึงตอนที่เราไปแข่งด้วยกัน
เคยมีอยู่ครั้งหนึ่งขณะที่รีบร้อนเกิดยางแตกรถพลิกคว่ำ ตอนนั้นใช้รถ ฟอร์ด เอสคอร์ท เฉลิม หลุดออกมานอกรถ
แต่ไม่เป็นไร คิดว่าถ้าตอนนั้น แก่ต้องมาเสียชีวิตเพราะเราคงเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุด ผมเลยออกจากวงการตั้งแต่นั้นมา
ให้ความสนใจด้านงานหลักอย่างเดียว
ปี 2528 ผมรับผิดชอบเป็น ผู้จัดการภาคพื้น ทางด้านเซอร์วิศ (REGIONAL BUSINESS MANAGER) ของ เวลคัม
ที่ดูแลทางภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ดูแลทั้ง ไต้หวัน ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย
ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย พอปลายปี 2533 เวลคัม ซึ่งเป็นบริษัทยา ก็ตัดสินใจขายธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง อาทิ
ยาฆ่าแมลง ยารักษาสัตว์ รวมทั้งด้านเซอร์วิศ ให้แก่บริษัทอังกฤษด้วยกัน คือ เร็นโทคิล
ต้นปี 2534 ผมและพนักงานจากเวลคัม ทางด้านเซอร์วิศมาเทคโอเวอร์ เรียกว่าเขาซื้อกิจการเรา
แต่ให้เราบริหารให้เขา โดยใช้ชื่อบริษัทใหม่ว่า บริษัท เร็นโทคิล อินนิเชียล (ประเทศไทย) จำกัด (RENTOKIL INITIAL
(THAILAND) LTD.) ตั้งแต่ต้นปี 2534 จนถึงปัจจุบัน"
ฟอร์มูลา : โครงการไร่องุ่น กราน-มอนเต นี้เริ่มขึ้นได้อย่างไร ?
วิสุทธิ์ : โครงการนี้โดยเฉพาะการทำไวน์ เป็นความคิดฝันของหลายคนๆ โดยเฉพาะคนไทยที่นิยมดื่มไวน์
คนไทยที่มีการศึกษา มีฐานะ หรือเคยอยู่ต่างประเทศมา การดื่มไวน์ถือว่าเป็นเรื่องของชนชั้นกลาง
เป็นความนิยมที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเมืองนอก หรือเมืองไทย การดื่มเบียร์เป็นพื้นๆ ไปแล้ว
ตัวผมเองตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนที่เยอรมนี ได้มีโอกาสเดินทางไปยังบริเวณริมแม่น้ำไรน์
ซึ่งปลูกองุ่นและทำไวน์อย่างเป็นล่ำเป็นสัน และมีชื่อเสียง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นไวน์ขาว
ประจวบกับเป็นความชอบอย่างหนึ่งของผม และผมก็มีที่ และมีคนรู้จักอยู่แถวเขาใหญ่
ในบรรดาพวกผู้ใหญ่ที่รู้จักกันสมัยเรียนอยู่เยอรมนีอย่างเช่น ปิยะ ภิรมย์ภักดี ประธานของบุญรอดบริวเวอรี่
ท่านมีไร่เริ่มปลูกองุ่นทานสด หลังจากนั้นก็ปลูกองุ่นทำไวน์ และเพิ่งทำไวน์ออกสู่ตลาดเมื่อ 4 ปี ที่ผ่านมา
ที่นั่นปลูกองุ่นประมาณ 500 ไร่ รู้จักกันมานานก็ปรึกษาท่านว่าถ้าผมจะเริ่มทางเขาใหญ่ ไวเนอรี
จะช่วยเหลือด้านเทคนิคอย่างไรบ้าง เราก็ได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดี จนกระทั่งเมื่อ 3 ปีที่แล้ว
เราเริ่มเตรียมพื้นที่และปลูกองุ่น พื้นที่แถวนี้เหมาะกับการปลูกองุ่น
ฟอร์มูลา : ถ้าเราเอาองุ่นที่เยอรมนีมาปลูกจะดีกว่าไหม ?
วิสุทธิ์ : อาจจะดี แต่พันธุ์อาจจะไม่น่าสนใจ และอาจไม่ได้ผล เพราะเหมาะกับภูมิอากาศที่เย็น
พันธุ์ที่ปลูกทางนี้เป็นพันธุ์จากฝรั่งเศส จะดีกว่าเพราะพัฒนาขึ้นมาตอนหลังในแถบออสเตรเลีย และอเมริกา
และก็ต้องสรุปว่าแถวเขาใหญ่นี้เหมาะกับการปลูกองุ่นมากกว่าที่อื่นๆ ในประเทศไทย ทั้งดินและอากาศ
เพราะเรื่องหมอก หรือเรื่องต่างๆ ที่ทำให้เกิดเชื้อราจะน้อย แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีเลย
ตอนที่คิดจะตั้งชื่ออะไรดี เลยปรึกษาญาติผู้ใหญ่รู้จักกันมานานที่อิตาลีคือ มาลินี พีระศรี
ซึ่งเป็นภรรยาของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เลยได้ชื่อ "กราน-มอนเต" (GRANMONTE)
เป็นภาษาอิตาเลียนที่เอามาผนวกกันแปลว่า "เขาใหญ่" กราน คือ ใหญ่ มอนเต คือ เมาท์เทน
ในแง่ของความต่างของคนอื่นเขาก็มีชื่อก็ไม่ซ้ำกับคนอื่นนัก เป้าหมายของเราจะเริ่มทำน้ำองุ่น
สไตล์ของน้ำองุ่นเราจะแตกต่างจากคนอื่นเขาอยู่แล้วทั้งรูปทรงของขวด ฉลาก และน้ำองุ่นแท้ ๆ ที่อยู่ข้างใน
ฉะนั้นเป็นตำแหน่งทางด้านการตลาดที่ดีของเรา
เราทำที่นี่ เป็นโรงงานเล็ก ๆ ในเรื่องของไวน์เราเริ่มเอาผลผลิตส่วนหนึ่งส่งไปหมัก ไวน์ ต้องใช้เวลานาน
อย่างไวน์แดงต้องหมักเก็บไว้ไม่ต่ำกว่า 1-2 ปี ถึงออกมา
ฟอร์มูลา : องุ่นที่นำมาทำน้ำองุ่นกับทำแยมนั้นเหมือนกันหรือแตกต่างกัน ?
วิสุทธิ์ : จะมีความแตกต่างกัน คือ ผมพูดถึงคนอื่นๆ ที่ทำ ที่ขาย จะเป็นองุ่น TABLE GRAPE หรือองุ่นทานสด
ผมเข้าใจว่า เริ่มต้นเมื่อขายผลผลิตส่วนหนึ่งไม่หมดก็จะเอามาทำน้ำองุ่น แต่ว่าการปลูกเขาปลูกเพื่อธุรกิจ
ในด้านการขายของชาวไร่ทั่วไปต้องการทำเงินให้เร็วที่สุด ไม่ได้มีเป้าหมายอย่างของเรา คือ ทำไวน์
แต่ของเราประมาณ 90 % จะเป็นองุ่นทำไวน์ และประมาณ 10 % จะเป็นองุ่นทานสด จากการทดลองหลายๆ ครั้ง
เราพบว่าถ้าจะทำให้ดีและแตกต่างไปจากคนอื่น เราต้องใช้องุ่นทานสดซึ่งจะมีน้ำและเนื้อเยอะ
ถ้าต้องการให้มีรสชาติและสีสัน เราก็เอาองุ่นทำไวน์มาผสมด้วย
ฟอร์มูลา : ขั้นตอนของการทำน้ำองุ่นเป็นอย่างไร ?
วิสุทธิ์ : ขั้นตอนการทำน้ำองุ่น คือ เลือกเก็บองุ่นที่ดี ไม่เสีย หลังจากนั้นคั้นเอาน้ำ โดยไม่ให้เมล็ดแตก
ถ้าแตกความขมจะออกมา ถ้าไปทำไวน์ จะเป็นขั้นตอนต่อไป ขั้นแรกเอาไปหมักทั้งเปลือก จากนั้นนำไปกรอง ใส่ยีสต์
ทำให้เกิดเปลี่ยนน้ำตาล เป็นแอลกอฮอล์ ไปกรองไปหมักเก็บเอาไว้
แต่ถ้าทำน้ำองุ่นหลังจากคั้นแล้วต้องทำการหยุดยีสต์ที่ติดมา คือ ยีสต์ธรรมชาติ เพื่อไม่ให้น้ำองุ่นเสีย
หรือเริ่มที่จะเป็นไวน์ก็ได้ แต่เราไม่ต้องการ เราต้องใช้วิธีผ่านความร้อนเพื่อหยุดการเติบโตของยีสต์ ในกรณีเดียวกัน
เอาสีจากเปลือกมาเพื่อให้เข้มข้นขึ้น จากนั้นบรรจุขวดแก้วและทำพาสเจอไรซ์อีกที
เพื่อไม่ให้มีปัญหาของยีสต์ที่ตกค้างอยู่ สามารถเก็บรักษาไว้ได้นานถึง 6 เดือน
ฟอร์มูลา : ขั้นตอนการทำน้ำองุ่นใช้เวลานานเท่าไร ?
วิสุทธิ์ : เริ่มต้นจนจบประมาณ 3-4 ชั่วโมง ถ้านับตั้งแต่เก็บองุ่นมา คั้น ต้ม บรรจุขวด พาสเจอไรซ์ประมาณ 4 ชั่วโมง
ถ้าทำจำนวนมากใช้เวลาเยอะ
ฟอร์มูลา : ตลาดน้ำองุ่นเมืองไทยแตกต่างกับต่างประเทศหรือไม่ ?
วิสุทธิ์ : เมืองนอกน้ำองุ่นสดมีขาย น้ำองุ่นที่นำเข้ามาถ้าเปรียบเทียบกับของที่มีอยู่ในเมืองไทย
จะมีความแตกต่างคือน้ำองุ่นสดที่นำเข้ามาไม่มี รสชาติ หรือกลิ่นจะต่างไป ความเจือจางมาก
เป็นหัวน้ำเชื้อเข้ามาจากนั้นนำมาผสม แต่ถ้าของเรามาจากไร่ก็เข้าโรงงานเลย
บรรจุขวดขายหลังจากพาสเจอไรซ์ก็ขายได้เลยไม่ต้องเก็บ ไม่จำเป็นต้องแช่เย็นตลอดเวลา
ฟอร์มูลา : ธุรกิจไปไปดีไหม ?
วิสุทธิ์ : ไปได้ดีเพราะความต้องการของตลาดน้ำองุ่นสดมีมาก
เป็นรายแรกที่ทำในลักษณะแบบนี้นำเข้าไปขายในภัตตาคารชั้นดีในกรุงเทพ ฯ ลักษณะขนาดขวดประมาณ 200
มิลลิลิตร
ฟอร์มูลา :ส่งไปจำหน่ายตามซูเพอร์มาร์เกทด้วยหรือเปล่า ?
วิสุทธิ์ : ยังไม่ส่งตอนนี้ เพราะเมื่อริน 1 ขวดจะได้ประมาณ 1 แก้วพอดี ราคาขายส่งที่ไร่ประมาณ 50 บาท
แต่จะส่งไปตามภัตตาคารในกรุงเทพ ฯ ประมาณ 20 แห่ง ถ้าคนต้องการความสดจริงๆ
ก็ต้องพูดว่าคุณภาพต่างกับของที่มาจากต่างประเทศ
ฟอร์มูลา : ในอนาคตจะมีการเพิ่มผลผลิตอย่างไร ?
วิสุทธิ์ : เราได้คุยกับผู้ใหญ่หลายคน เช่น ปิยะ ภิรมย์ภักดี จากบุญรอด ฯ วิโรจน์ นวลแข กรรมการผู้จัดการ
แบงค์กรุงไทย ดร. วัลลภ วิมลวนิชย์ จาก ทีเอ สมเจนต์ หมู่ศิริเลิศ จากธนชาติ กลุ่มนี้มีที่ทางแถวนี้และสนใจปลูกองุ่น
และทำ ไวน์ และกำลังรวบรวมกันเป็น "ชมรมส่งเสริมการปลูกองุ่นไวน์และการท่องเที่ยวของเขาใหญ่"
ซึ่งก็ได้ผลเริ่มมีนักท่องเที่ยวมามากขึ้นเรื่อยๆ รถเก๋ง รถบัส รถทัวร์ ก็มี
ฟอร์มูลา : ที่นี่เปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวไหม และเข้ามาแล้วมีของขายหรือไม่ ?
วิสุทธิ์ : เรามีเหมือนกัน เรามีชอพเล็กๆ กำลังสร้าง ตอนนี้ยังไม่ได้เปิดเป็นทางการ แต่ถ้าเพื่อนฝูงอยากมาเที่ยวแถวนี้
มีอะไรขายไหม เราก็แบ่งขายให้ เราคงไม่ทำเป็นรีสอร์ทที่มีบ้านพัก หรือโรงแรม
ในช่วงสิ้นปีที่ผ่านไปนี้มีแขกเข้ามาเที่ยวชมของกว่า 300 ราย
ฟอร์มูลา : โครงการต่อไปหลังจากนี้ ?
วิสุทธิ์ : เป้าหมายของเราคือการทำไวน์ เราจะอยู่ในเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ โดยที่พยายามทำให้ดี
ฟอร์มูลา : ปัญหาในการทำธุรกิจไวน์ในปัจจุบัน ?
วิสุทธิ์ : ไวน์ของเขาใหญ่ ไวเนอรี คุณภาพดีคนรู้จักดื่ม ถ้าไม่ให้ดูฉลาก ก็ไม่รู้ว่ามาจากประเทศไหน
เราพยามสร้างตัวนี้ ซึ่งมีอุปสรรคหลายอย่างเช่น
- ปัญหาด้านภาษี ไวน์ที่นำเข้าจะได้เปรียบกว่าไวน์ผลิตในประเทศ เพราะโรงงานไวน์ต้องมีสรรพสามิตมาคุม
การคิดขั้นตอนหลายขั้นตอนทำให้ราคาแพง ส่วนที่นำเข้าจะเชคจากราคาที่ใบสั่งสินค้า (INVOICE) แค่นั้น
เท่าที่ทราบในใบสั่งสินค้าราคาจะต่ำมากเพียงขวดละ 15-20 บาท เสียภาษีแล้วขายที่ 200-300 บาท
ไวน์ไทยก็ยุ่งเหมือนกัน ถ้าเอาคุณภาพมาเปรียบกันสู้เราไม่ได้ ไวน์ไทยของเขาใหญ่ ไวเนอรี ดีกว่า
- ปัญหาเรื่องชื่อเสียงของเรา หรือในละแวกนี้ ถ้าจะทำไวน์ก็ต้องให้มีมาตรฐาน ความเชื่อถือ
ไวน์บริเวณเขาใหญ่หรือปากช่องต้องเป็นไวน์ที่เชื่อถือได้ เป็นไวน์ไทยที่ดี ผมไม่ได้ว่ามันมีไวน์ที่ไม่ดี
แต่อาจจะมีบางท่านที่ใจร้อนผลิตไวน์ออกมา เราไม่แน่ใจว่าโรงงานอยู่ไหน
แต่ความคาดเดาของผมคงเอาหัวเชื้อมาทำหมักแล้วบรรจุที่นี่ แต่ในฉลากไม่จำเป็นต้องบอกว่ามาจากไหน
ที่คิดอย่างนี้ เพราะที่ทราบว่าที่ปลูกองุ่นทำไวน์ได้ผลแถวนี้ไม่มีที่ไหนนอกจากเขาใหญ่ ไวน์เนอรี่ และของเรา
ที่ต้องระวังในเรื่องของชื่อเสียง เรากำลังจัดตั้งเป็นชมรมผมคิดว่าถ้าได้รู้จักกันได้ร่วมมือกันต่อไปก็น่าจะดี
เหมือนธุรกิจอื่น การแข่งขันกันเองไม่ต้องกลัว มันน้อยมาก
ไวน์ที่ผลิตในเมืองไทยถ้าเทียบกับจำนวนที่นำเข้ามานั้นส่วนแบ่งตลาดน้อยมาก เราไม่พูดถึงไวน์ที่ผลิตมาจากผลไม้
พวกกระท้อน หรือมังคุด ซึ่งผมไม่ถือว่าเป็นไวน์ที่ถูกต้อง
เพราะไวน์ที่ถูกต้องและเป็นมาตรฐานของโลกมันต้องทำมาจากองุ่น ที่ชาวโลกเขาทำมาเป็นพัน ๆ ปี แล้ว
....ล้อมกรอบ (ใส่รูปไร่องุ่น 1 รูป)...
ข้อมูลของไร่องุ่น กราน-มอนเต
ขับรถมาตามถนนมิตรภาพ ผ่านมวกเหล็ก จนถึงหลักกม.ที่ 140
มีป้ายยูเทิร์น สังเกตป้ายเวิร์ลด์พูลขนาดใหญ่ด้านขวามือ
เลี้ยวกลับมาทางสระบุรีแล้วชิดซ้ายมีป้ายสีม่วงบอกมาที่ กราน-มอนเต เลี้ยวซ้ายเข้ามาทาง
จากตรงมิตรภาพเป็นถนนที่ตัดไปเขาใหญ่ ผ่านวัดผ่านศึก ถนนนี้ยาว 24 กิโลเมตรไปจนถึง ถ. ธนะรัตน์ ที่กุดคล้า
ตรงไปประมาณ 12 กม. จะมีป้าย "กราน-มอนเต" อยู่ตรงช่วงโค้งเลี้ยวขวาเข้ามายังไร่องุ่นซึ่งมีเนื้อที่เกือบ 100 ไร่
มีชอพเล็กๆ จำหน่ายน้ำองุ่นที่ผลิตจากที่นี่
ABOUT THE AUTHOR
ก
กองบรรณาธิการ
นิตยสาร Formula ฉบับเดือน กุมภาพันธ์ ปี 2546
คอลัมน์ Online : พิเศษ