เนื่องจากปก(formula)
BRILLIANT EVOLUTION
เจาะอดีต จ้องปัจจุบัน และจับตาวันข้างหน้า ของ 3 รถเล็ก สุดฮิพ ฝั่งยุโรปราคาแรง ถึงจะแพง ! แต่ทำไม ใครๆ ก็ชอบ ?
ถ้าถามถึงรถในฝันของหนุ่มสาวยุคนี้ คงหนีไม่พ้น มีนี คูเพอร์ ที่นำเข้าโดย บริษัท บีเอมดับเบิลยู ประเทศไทย จำกัด รวมถึงผู้นำเข้าอิสระหลายราย แม้ผู้ปลุกกระแสรถเล็ก "เลียนแบบอดีต" จะไม่ใช่ มีนี คูเพอร์ แต่เป็น โฟล์คสวาเกน บีเทิล ที่น่ารักมากมายก็ตาม แต่ด้วยรูปทรงที่น่ารัก โดนใจ และออกแนวสปอร์ทกว่า ก็ทำให้ มีนี คูเพอร์ ขายดีกว่าทั้งตลาดไทย และตลาดโลกไปโดยปริยาย จน โฟล์คสวาเกน ต้องเตรียมนำ บีเทิล โฉมใหม่หมด ที่ดูสปอร์ทกว่าเก่าออกขายราวกลางปีนี้ ไม่เพียง 2 รุ่นที่เอ่ยมา เฟียต ก็ส่งรุ่น 500 ออกมาแข่งขันตามมาเป็นลำดับ 3 แม้ในบ้านเราจะเห็นวิ่งกันบางตา แต่ในตลาดโลกก็ทำยอดขายได้ใช่ย่อย
แม้จะคันเล็กเท่ามด แต่ค่าตัวสูงถึง 2 ล้านบาทบวกลบ ค่าตัวขนาดนี้ซื้อ ดี เซกเมนท์ ญี่ปุ่น มีทอน หรือเพิ่มเงินอีกนิดๆ ก็คว้า ซี เซกเมนท์ ยุโรปมานั่งสบายก้นได้แล้ว
แต่ไม่รู้จะว่ายังไงดี เพราะปี 2553 ที่ผ่านมา เรทโรคาร์ (RETRO CAR) เหล่านี้ ในบ้านเรากลับทำยอดขายรวมกันได้ เกือบพันคัน... มากกว่ารถบ้านๆ บางรุ่นเสียอีก
ฉะนั้น ความฮอทของมันย่อมไม่ใช่เรื่องธรรมดา เราจึงต้องมา เจาะ จ้อง และจับตา เรทโรคาร์ เหล่านี้กันให้ถึงแก่นไปเลย
มิตซูโอกะ (MITSUOKA)
ทางเลือกของผู้ที่ชื่นชอบรถสไตล์ "เรทโร" มีไม่มากนัก ครั้นจะหันไปเล่นรถโบราณเต็มตัว ก็ต้องใช้งบประมาณค่อนข้างมาก แถมรถสภาพดีๆ ที่ยังหลงเหลืออยู่ยิ่งหายากเข้าไปอีก เรียกได้ว่าถ้าเงิน กับใจไม่ถึงจริงๆ คงได้ถอดใจก่อนเป็นแน่ อย่างไรก็ตาม คนที่สนใจรถย้อนยุคทำนอง "ถึงไม่ใช่ แต่ใกล้เคียง ในกรณีนี้ยังมีบแรนด์รถยนต์เฉพาะทางจาก ญี่ปุ่น "มิตซูโอกะ" (MITSUOKA) ตอบสนองความต้องการระดับดังกล่าวได้ ด้วยการนำโครงสร้างรถในยุคปัจจุบัน มาประกอบเข้ากับตัวถังภายนอกที่ออกแบบรูปทรงให้เหมือนรถย้อนยุค ดังที่เห็น คือ รถสปอร์ทโรดสเตอร์ ฮิมิโกะ (HIMIKO) รูปทรงราวกับสปอร์ทยุค '50-'60 ปีก่อน อย่างเช่น แจกวาร์ เอกซ์เค 120 (JAGUAR XK120) หรือ มอร์แกน พลัส 4 (MORGAN PLUS4) แท้ที่จริงแล้ว มีพื้นฐานจาก มาซดา เอมเอกซ์-5 (MAZDA MX-5) รุ่นปัจจุบัน ด้านหน้าถูกต่อเติมระยะล้อหน้าออกไปมาก แต่รูปทรงของประตูไปถึงส่วนท้าย ยังใช้ของเดิม รวมถึงประทุนหลังคาแข็ง แค่นี้ก็โดดเด่นกว่ารถทั่วไปบนท้องถนนแล้ว !
เฟียต 500 (FIAT 500)
เฟียต 500 รุ่นบุกเบิกถือกำเนิดขึ้นมาในปี 2501 ถือเป็นรุ่นที่ต่อยอดความสำเร็จจากรุ่น โตโปลีโน (TOPOLINO) แต่ถูกพัฒนาบนแนวคิดที่มุ่งเน้นความเป็นรถของคนเมืองมากกว่าเดิม ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยเครื่องยนต์บลอคเล็ก มีขนาดกะทัดรัด เหมาะกับสภาพถนน และซอกซอยที่ค่อนข้างแคบตามสไตล์เมืองใหญ่ของประเทศอิตาลียุคนั้น มิติตัวถังความยาว 2,970 มม. กว้าง 1,320 มม. สูง 1,320 มม. และระยะฐานล้อ 1,840 มม. รังสรรค์เส้นสายโดย ดันเต จาโกซา (DANTE GIACOSA)
เนื่องจากเป็นรถที่เน้นใช้งานส่วนตัวในเมือง จึงมีที่นั่งเพียง 2 ตำแหน่ง เครื่องยนต์ขนาด 479 ซีซี วางอยู่ด้านท้าย ขับเคลื่อนล้อหลัง ส่งกำลังด้วยเกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ พละกำลังเริ่มแรกให้มาพอเพียง (สำหรับประชาชนยุคนั้น) ที่ 13 แรงม้า ความเร็วสูงสุด 85 กม./ชม.
ตลอดระยะเวลาที่ทำตลาดร่วม 38 ปี เฟียต 500 มีหลากหลายรุ่นย่อย กับยอดจำหน่ายรวมที่ทำได้กว่า 3.6 ล้านคัน ก่อนจะยุติการทำตลาดในปี 2516 เป็นอันจบตำนานบทแรกของ "รถเพื่อประชา" แดนมะกะโรนี
วันเวลาผ่านไปจนกระทั่งปี 2550 กับกระแสรถแนว เรทโร กลับมาอีกครั้ง ทางค่ายรถ เฟียต จึงนำรถประชาในวันวานอย่าง 500 มาปัดฝุ่นทำตลาดอีกครั้ง โดยคงเอกลักษณ์ของรูปทรงเดิมไว้แทบทุกกระเบียด กับมิติตัวถังที่ใหญ่กว่าอย่างเห็นได้ชัด (ความยาว 3,546 มม. กว้าง 1,627 มม. สูง 1,488 มม. และระยะฐานล้อ 2,300 มม.) เพื่อการใช้งานในชีวิตประจำวันได้มากกว่าเดิม และแน่นอน...เพื่อให้สมกับค่าตัวที่แพงกว่าเดิม จนกลายเป็น "ของเล่นเศรษฐี" ไปโดยปริยาย แม้จะถูกตั้งราคาไว้ต่ำกว่า โฟล์คสวาเกน บีเทล และ มีนี คูเพอร์ (รุ่นปัจจุบัน) ก็ตามที
แม้ภายนอกคงรูปแบบเดิมเอาไว้ แต่ภายในของ เฟียต 500 รุ่นปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร จำนวนเบาะนั่งเพิ่มเป็น 4 ตำแหน่ง เครื่องยนต์ติดตั้งด้านหน้าตามปกติของรถทั่วไป พร้อมกับทางเลือกที่หลากหลายของเครื่องยนต์เบนซิน 3 รุ่น (ขนาด 0.9-1.4 ลิตร) และเครื่องยนต์ดีเซล 1 รุ่น (ขนาด 1.3 ลิตร) นอกจากนี้ยังเอาใจขา "ซิ่ง" ด้วยรุ่นแต่งแรงพิเศษของสำนักแต่งคู่บุญตั้งแต่ครั้งอดีตกาลอย่าง อบาร์ธ (ABARTH) ถึง 3 รุ่น
จากคุณลักษณะการขับขี่ที่ดี และสมรรถนะที่ขับสนุกอย่างพอเพียง ทำให้รถคันนี้ได้รับรางวัล "รถยอดเยี่ยมประจำปี 2551" (CAR OF THE YEAR 2008) และใช้เวลาไม่ถึง 2 ปี ตั้งแต่เริ่มกลับมาทำตลาดในปี 2551 ทำยอดขายได้ถึง 500,000 คันเลยทีเดียว ถือเป็นการกลับมาของ เฟียต 500 อย่างเต็มภาคภูมิ
มีนี (MINI)
มีนี (MINI) เป็นรถเล็กสัญชาติอังกฤษ ถือกำเนิดในปี 2502 ซึ่งในเวลานั้นกำลังเกิดวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทำให้ประชาชนทั่วไปเรียกร้องหารถยนต์ขนาดเล็ก ที่ใช้งานได้อย่างพอเพียง และมีคุณสมบัติประหยัดเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ มีจุดเด่นที่แตกต่างรถยนต์ "เพื่อประชาชน" ในยุคนั้น คือ การวางเครื่องยนต์เอาไว้ด้านหน้า ทำให้พื้นภายในห้องโดยสารมีลักษณะราบทั่วทั้งคัน ทรง 1 กล่องสมบูรณ์แบบ สะดวกต่อผู้โดยสาร และการขนย้ายสัมภาระ
รถจิ๋วแดนผู้ดีคันนี้ ถูกรังสรรค์เส้นสายโดย เซอร์ อเลค อิสซิโกนิส (SIR ALEC ISSIGONIS) ภายใต้การผลิตของบริษัท บริทิช มอเตอร์ คอร์พอเรชัน (BRITISH MOTOR CORPERATION) แต่แรกเริ่มเดิมทีจัดจำหน่ายโดยบริษัท ออสติน (AUSTIN) และ มอร์ริส (MORRIS)
ข้อมูลจำเพาะของ มีนี ยุคบุกเบิก (แฮทช์แบค 3 ประตู) ใช้เครื่องยนต์เบนซิน 0.9-1.3 ลิตร ความยาว 3,050 มม. กว้าง 1,400 มม. สูง 1,350 มม. และระยะฐานล้อ 2,040 มม. แน่นอนว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างดีทั่วโลก ด้วยจำนวนผลิตกว่า 5,300,000 คัน ตลอดช่วงอายุที่ทำตลาด ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งใน "ยานยนต์แห่งทศวรรษ" ในปี 2538 และ "รถคลาสสิคตลอดกาล" ในปี 2539 และสิ้นสุดการผลิตในปี 2543 ภายใต้การบริหารของค่ายรถแดนผู้ดีบ้านเดียวกันอย่าง โรเวอร์ (ROVER)
คล้อยหลังจากนั้นไม่นาน ชื่อของรถจิ๋วแดนผู้ดี ก็ถูกสานต่อด้วยรุ่นใหม่ล่าสุด หลังจากที่ถูกซื้อกิจการโดย บีเอมดับเบิลยู แม้จะบริหารงานโดยบริษัทสัญชาติเยอรมัน แต่ มีนี รุ่นใหม่ยังคงเอกลักษณ์ดั้งเดิมอย่างเห็นได้ชัด แต่ปรับแต่งเส้นสายให้มีความทันสมัยถูกใจคนรุ่นใหม่ กำลังซื้อสูง มองหารถยนต์นั่งขนาดกะทัดรัด มีสไตล์โดดเด่น และที่สำคัญ คือ มีคุณลักษณะการขับขี่ที่เร้าใจ เน้นความสปอร์ทอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ก็ต้องแลกกับราคาค่าตัวที่สูงที่สุดในบรรดารถ "เรทโร" ที่กลับมาทำตลาดอีกครั้ง
ขนาดตัวถังถูกขยายใหญ่ เหมาะสมกับการใช้งานมากขึ้น รุ่นพื้นฐานแฮทช์แบค 3 ประตู ความยาว 3,630 มม. กว้าง 1,690 มม. สูง 1,420 มม. และระยะฐานล้อ 2,470 มม. เครื่องยนต์ 1.6 ลิตร ส่วนรุ่น คูเพอร์ เอส เพิ่มแรงม้าด้วยเทอร์โบ ทำตลาดได้ 4 ปี มีรุ่นล่าสุดออกมาอย่างต่อเนื่อง และยังคงทำตลาดจนถึงปัจจุบัน พร้อมทางเลือกกับตัวถังที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น มีนี คูเพอร์ (แฮทช์แบค 3 ประตู) มีนี คลับแมน (สไตล์แวกอน) มีนี คอนเวอร์ทิเบิล (เปิดประทุน) และ มีนี คันทรีแมน (ครอสส์โอเวอร์ เอสยูวี) และอาจมีตัวถังสไตล์สปอร์ทคูเป ตามมาในอนาคต
โฟล์คสวาเกน บีเทิล (VOLKSWAGEN BEETLE)
"รถเพื่อประชา" ในวันวานจากประเทศหลังม่านอินทรีเหล็ก ย้อนกลับไปในปี 2477 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กองทัพของเยอรมันกำลังสั่งสมแสนยานุภาพ นำโดย อโดล์ฟ ฮิทเลร์ ผู้โด่งดัง ท่านผู้นำนึกถึง "ปากท้อง" ของประชาชน จึงเล็งเห็นว่ารถยนต์เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างมากต่อชีวิตความเป็นอยู่ และส่งผลถึงความมั่นคงของ "อาณาจักรไรซ์ ที่ 3" จึงออกคำสั่งไปยังผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์ชื่อคุ้นหูคนหนึ่ง คือ เฟร์ดินานด์ โพร์เช (FERDINAND PORSCHE) ให้ออกแบบ และพัฒนายานยนต์ที่ประชาชนส่วนใหญ่สามารถ "เอื้อมถึง"
เขาคนนี้ คือ คนเดียวกันกับผู้ริเริ่มก่อตั้งบริษัทรถสปอร์ท โพร์เช (PORSCHE) รูปทรงของรถเพื่อประชาคันนี้ จึงมีความละม้ายคล้ายคลึงกับ "สปอร์ทหน้ากบ" อยู่ไม่น้อย หลังจากเปิดตัวสู้สาธารณชนแล้ว รถคันนี้จึงถูกขนานนามว่า "แมลงเต่าทอง" (BEETLE) ส่วนคำว่า "VOLKSWAGEN" มีความหมายว่า "รถเพื่อประชาชน" เส้นสายโค้งมน ดูแล้วเป็นมิตรแก่ผู้พบเห็น เป็นรถในสไตล์คูเป เครื่องวางด้านท้าย ระบายความร้อนด้วยอากาศ ส่วนภายในนั้นมีอุปกรณ์เท่าที่จำเป็นสำหรับการขับขี่เท่านั้น
เครื่องยนต์ 1.2 ลิตร 53 แรงม้า ที่ 4,200 รตน. แรงบิดสูงสุด 10.8 กก.-ม. ที่ 2,600 รตน. ส่งกำลังด้วยเกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ ทำตลาดนานถึงปี 2546 โดยมีโรงงานผลิตเป็นแห่งสุดท้ายที่ประเทศเมกซิโก รวมอายุทำตลาด 65 ปี และมีจำนวนการผลิตทั้งหมดกว่า 21,000,000 คัน เป็นสถิติโลกที่ยังไม่มีรถยนต์รุ่นใดลบล้างได้
จนกระทั่งปี 2547 ชื่อของ บีเทิล ก็กลับมาอีกครั้ง แบบใหม่แกะกล่อง แต่คงเส้นสายอันคลาสสิคของรุ่นดั้งเดิมเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นไฟหน้าทรงกลม ซุ้มล้อทรงกลมขนาดใหญ่ รวมไปถึงแนวหลังคาที่โค้งมนจรดด้านท้าย ใช้พื้นตัวถังร่วมกันกับ โฟล์คสวาเกน กอล์ฟ (GOLF) มิติตัวถังความยาว 4,129 มม. กว้าง 1,721 มม. สูง 1,498 มม. และระยะฐานล้อ 2,515 มม. เหมาะสำหรับลูกค้าที่ต้องการรถแฮทช์แบคขนาดกะทัดรัดที่มีสไตล์ที่แตกต่าง โดยเฉพาะบรรดาลูกค้าที่ยังชื่นชอบสไตล์ของเจ้า โฟล์คเต่า ไม่เปลี่ยนแปลง แน่นอนว่าสิ่งที่เปลี่ยนไป คือ ราคาที่ค่อนข้างสูง จนไม่อาจเรียกได้ว่าเป็น "รถเพื่อประชา" ได้อีกต่อไป
ส่วนขุมกำลังก็มีหลากหลาย ตั้งแต่ 1.43.2 ลิตร (75-225 แรงม้า) สำหรับเครื่องยนต์เบนซิน และพิกัด 1.9 ลิตร (90-105 แรงม้า) สำหรับเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบ มีตัวถังให้เลือก 2 แบบ คือ คูเป และเปิดประทุน ทำตลาดจนถึงปี 2553 และกำลังจะถูกแทนที่ด้วยรุ่นใหม่ล่าสุดที่จะเผยโฉมภายในปี 2554
ทั้งหมดนี้ คือ วันก่อนจนถึงวันนี้ของรถแฟชัน "เลียนแบบอดีต" ส่วนอนาคตของมันจะมีทิศทางอย่างไร อ่านบทวิจารณ์ด้านล่าง ตามด้วยกรณีศึกษา มีนี ยุคใหม่ ในคอลัมน์ "มุมมองนักออกแบบ" หน้าถัดไป
มุมมอง 2 นักออกแบบ
อภิชาต ภูมิศุข
อาจารย์พิเศษภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะมัณฑณศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ที่สังเกตได้ตั้งแต่ต้นเลย คือ 3 คันนี้ มี ไดเรคเตอร์ ดีไซจ์เนอร์ ของ เฟียต 500 คนเดียวเท่านั้นที่เป็นอิตาเลียนแท้ หมายถึงสัญชาติของนักออกแบบ ตรงกับสัญชาติเจ้าของบแรนด์ มีหลุดสัญชาติเพียงรายเดียวเท่านั้น คือ มีนี ซึ่งเป็นของอังกฤษ แต่ตอนนี้ผู้ผลิต คือเยอรมนี แถมอเมริกันออกแบบ ทั้ง 3 คันนี้ ตัวที่เป็นคิคออฟที่ดีที่ที่สุด คือ บีเทิล ที่เรียกว่าประสบความสำเร็จมาก และที่ โฟล์คสวาเกนกลับมาขายรุ่นอื่นๆ จนประสบความสำเร็จได้อีกครั้ง เหตุหนึ่งก็เพราะ บีเทิล นี่แหละ มีนี ก็เลยทำตาม และประสบความสำเร็จสูงสุด ส่วน เฟียต 500 ก็เลยเอากับเขาบ้าง
เรื่องสไตลิง ผมไม่เถียง ทั้ง 3 ยี่ห้อ ผมว่าสมบูรณ์ ทั้งแนวคิด วิธีการตีโจทย์ การออกแบบ อย่างไรก็ตาม เฟียต 500 จะด้อยกว่าคันอื่นหน่อย เลยประสบความเร็จน้อยกว่า สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ แพคเกจมันเล็ก แม้จะสวย แต่ขนาดมันเล็กไป ไม่ตอบสนองความต้องการของตลาด อย่าง บีเทล กับ มีนี ทำขึ้นมาใหม่ แต่ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีขนาดเท่าเดิม เล็กอยู่ แต่ก็ยังนั่งได้ ฉะนั้น การที่ เฟียต จะทำยอดขายสู้กับ 2 บแรนด์ จึงค่อนข้างลำบาก
เฟียต 500 ในวันนี้ ก็ยังเป็นรถใช้ในเมืองของอิตาลี แต่ถ้าคนอเมริกันอยากซื้อขับ พอเข้าไปจะอึดอัดเมื่อเทียบด้วย บีเทิล กับ มีนี วันนี้ มีนี มี คันทรีแมน ที่เป็นครอสส์โอเวอร์ เขาพยามยามสร้างรถที่ใหญ่ขึ้น หรือใช้งานได้จริง แม้จะไม่มีประวัติศาสตร์เหมือน คูเพอร์ หรือ คลับแมน ก็เถอะ แต่เมื่อบแรนด์แข็งแกร่งแล้ว แค่จับเอาบแรนด์ มีนี มายัดเข้าไป ก็ขายได้ไม่ยาก
แต่สุดท้ายก็ต้องให้เครดิท บีเทิล เพราะถ้า โฟล์คสวาเกน ไม่คิดสร้าง "รถย้อนอดีต" แต่แรก มีนี กับ เฟียต 500 ก็คงไม่มีวันได้เกิด
ภัทรกิติ์ โกมลกิติ
อาจารย์ประจำสาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์ ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณสถาปัตย์กรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กระแสนี้มันเกิดขึ้นจาก โฟล์คสวาเกน บีเทิล ยุค '90 ปลายๆ โลกจะก้าวไปสู่ยุคใหม่ คนมักถวิลหาอะไรๆ ที่โรแมนทิค บีเทิล เป็นตัวอย่างแรก รถอเมริกันก็เรทโรกันเปรี้ยงปร้างมาก กระแสเกิดขึ้นสักระยะ บีเอมดับเบิลยู ก็ซื้อบแรนด์ มีนี มา ตอนแรกเขาไม่ได้คิดจะทำให้หน้าตาเป็น มีนี ในปัจจุบัน มีการค้นหาดีไซจ์นว่า มีนี ใหม่ควรเป็นอย่างไร เหมือนกำลังสับสนกันอยู่ มีนี ใหม่มีไอเดียแปลกๆ มากมาย กระทั่งไม่มีเค้าลางเดิมเลยก็มี อย่างไรก็ตามกระแสที่อยากจะเห็น มีนี ที่ทำหน้าตาเดิมๆ ให้ทันสมัยเป็นฝ่ายชนะ มีนี ปัจจุบัน เลยกลายเป็น มีนี ที่หน้าตาเหมือน มีนี ดั้งเดิม แต่พองๆ
สมัยที่ อเลค อิสซิโกนิส จะสร้าง มีนี รุ่นดั้งเดิม เป็นการปฏิวัติด้วยเหตุด้วยผล จากรถยนต์คันยาว กลายเป็นรถยนต์สั้นแค่ 3 เมตร ที่ผ่านมา บีเอมดับเบิลยู ไม่ทำสิ่งนั้น แต่สำเร็จในการสร้างเลียนแบบ มีความน่ารัก หวนระลึกถึงความสวยงามในอดีต เหมือนกับที่ บีเทิล ทำแจกันเสียบดอกไม้ที่คอนโซล นี่คือ การหวนหาความโรแมนทิค รถยนต์สมัยก่อน ไม่ได้รีบไปไหน กินลมเล่น มีแจกันดอกไม้นั่งคุยกัน
จากนั้น เฟียต 500 ก็กอพพีแนวคิดของ มีนี แบบตรงไปตรงมา เฟียต แบบเดิมเป็นอย่างไร ขยายให้โตขึ้นตามมาตรฐานความปลอดภัยของยุคใหม่ ย้ายเครื่องยนต์จากท้ายไปอยู่หัว เหมือนรถธรรมดา
รีแพคเกจิงใหม่ ทั้ง มีนี หรือ บีเทิล เอง ก็เป็นแนวทางนี้เช่นเดียวกัน
รุ่นดั้งเดิมของพวกมัน สร้างขึ้นมาด้วยเหตุผล เขาต้องการให้คนชั้นกลาง-ล่างได้ใช้ เลยต้องทำรถที่ประหยัด จอดง่าย คันเล็ก เครื่องเล็ก วางหลัง จะได้ประหยัดชิ้นส่วน แต่คันนี้ไม่มีเหตุผลอย่างนั้น เหตุผล คือ เลียนแบบของเก่าให้ได้ ตอนนี้มันเลยกลายเป็น "ของเล่นเศรษฐี" เอาไว้ขับสนุกๆ
ผมไม่ได้ตำหนินะ แต่เมื่อพิจารณาแล้ว อันที่จริงรถเหล่านี้น่าจะไม่มี สาระ เป็นแค่รถที่อยากเลียนแบบอดีตให้ได้ แต่ดูแล้วมันน่ารักแทบคลั่ง ถ้าใครจะเอาสาระให้ไปซื้อ โฟล์คสวาเกน กอล์ฟ หรือ เฟียต ปุนโต ส่วน มีนี ก็ไปซื้อ คันทรีแมน ได้แล้ว
ถามว่าอยากได้ไหม ผมก็อยากได้ หน้าตาน่ารัก ถ้าผมเงินเหลือเฟือ คงไม่ซีเรียส อยากได้ ก็ซื้อเลย แต่ถ้าต้องดิ้นรนเพื่อให้ได้มา คงไม่เอา เพราะมันไม่มีแก่นสาร มีแต่ผิว มีแต่เปลือก ซึ่งเป็นลักษณะของสังคมในยุค โพสต์โมเดิร์น ที่บริษัทรถจับทางได้ จึงสร้างขึ้นเพื่อตอบสนอง วันนี้เราไม่ค่อยสนใจเรื่องแก่นสาร หรือสาระที่แท้จริง แต่สนใจที่ภาพลักษณ์ การแสดงออก บุคลิกภาพ การนำเสนอ ยุคนี้เราไม่ค่อยเสพอะไรลึกๆ เท่าแต่ก่อน รถพวกนี้จึงขายดี
ผมมองว่ารถยนต์รุ่นดั้งเดิมสร้างขึ้นมา โดยความต้องการเพื่อประชาชนจริง แต่รุ่นใหม่ 3 คันนี้ เป็นรถเพื่อคนรวย ทุกคนอยากรวย มันเลยกลายเป็นแฟชันที่ทำให้บางคนอาจต้องดิ้นรนเพื่อเป็นเจ้าของให้ได้
ABOUT THE AUTHOR
ก
กองบรรณาธิการ
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน มีนาคม ปี 2554
คอลัมน์ Online : เนื่องจากปก(formula)