กิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสื่อมวลชน (TAIA Meets the Press) ในหัวข้อ “ทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย” จัดโดยสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย (The Thai Automotive Industry Association: TAIA), สมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และจักรยานยนต์ไทย (สรยท.) หรือ Thai Automotive Journalists Association (TAJA) และบริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ GPI ผู้จัดงานบางกอก อินเตอร์เนชันแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 45 คาดการณ์แนวโน้มภาคผลิตยานยนต์ปี 2567 ทะลุ 1.9 ล้านคัน เติบโตต่อเนื่องจากนโยบายการสนับสนุนของภาครัฐ ส่วนยอดขายในประเทศอาจไม่เติบโต เหตุจากหนี้ภาคครัวเรือน และยอด NPL รถยนต์ยังสูง ส่งผลประมาณการยอดขายรถยนต์ภายในประเทศจะอยู่ที่ 7.5 แสนคัน
สุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เผยว่า ในปี 2567 คาดการณ์การผลิตรถยนต์ของไทยโดยรวมที่ 1.9 ล้านคัน เติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 3.17 % โดยแบ่งเป็นผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 7.5 แสนคัน และผลิตเพื่อส่งออก 1.15 ล้านคัน และสำหรับรถจักรยานยนต์คาดการณ์จะมีการผลิตที่ 2.12 ล้านคัน เติบโตจากปีที่ผ่านมาประมาณ 0.03 %
ปัจจัยส่งผลต่อยอดขายรถยนต์ปี 2567 หลัก คือ ภาวะทางเศรษฐกิจ ภาระหนี้สินภาคธุรกิจ และ
ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และหนี้เสีย NPL มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออำนาจซื้อของประชาชนที่ลดลง นโยบาย และกฎระเบียบด้านยานยนต์ การบังคับใช้มาตรฐานมลพิษระดับยูโร 5 ทั้งรถยนต์ และน้ำมัน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ส่งผลให้ราคารถยนต์ และน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น
สำหรับอนาคตยานยนต์ไฟฟ้า (EV: Electric Vehicle) ในประเทศไทย มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ยอดจดทะเบียนรวมปัจจุบันอยู่ประมาณ 1.0-1.2 แสนคัน และส่วนใหญ่เป็นรถยนต์นั่ง จากการตระหนักถึงความสำคัญของการลดภาวะโลกร้อนโดยการใช้รถไฟฟ้าจากประชาชนชาวไทย รวมถึงมาตรการการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าจากภาครัฐ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 ยอดขายรถ EV มีอัตราการเติบโตแบบชะลอตัว ซึ่งน่าจะเป็นผลจากการตัดสินใจชะลอซื้อรถรุ่นใหม่ เพราะการทยอยเข้ามาของรถ EV รุ่นใหม่ แบรนด์ใหม่ๆ
จากประเทศจีน และการทำสงครามราคาของ EV ด้วยกันเอง
สุวัชร์ กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย อยู่ในช่วงของการปรับตัว และเปลี่ยนถ่ายสู่การผลิตยานยนต์พลังงานสะอาดในอนาคตอันใกล้ เพียงแต่ในเวลานี้ นโยบายสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าหรือ EV 3.0, EV 3.5 และมาตรการส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ รถบัสไฟฟ้า และรถบรรทุกไฟฟ้าของรัฐบาล มีการอุดหนุนด้านการผลิตรถ EV และเงินอุดหนุนราคา ส่งผลให้ราคารถ EV ต่ำกว่าความเป็นจริง สิ่งที่สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกังวล คือ อาจมีการชะลอตัวในตลาดรถ EV หลังจากมาตรการอุดหนุนต่างๆ สิ้นสุดลง
สิ่งสำคัญในเวลานี้ คือ มาตรการเหมาะสมในการสนับสนุนการอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย จากการเป็นฐานการผลิตรถยนต์สันดาปภายใน (ICE: Internal Combustion Engine) มาอย่างยาวนาน ครอบคลุมตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมทั้งก่อให้เกิดการจ้างงานจำนวนมาก เปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยพร้อมสนับสนุน และให้ความร่วมมือในการสร้างสังคมที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อลดการปล่อยมลพิษ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ใช้ตามโนบาย “เป้าหมายในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ภายในปี 2050” ของรัฐบาลผ่านนโยบายต่างๆ เช่น 30@30 เพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้ และการผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ปี 2569 เพื่อส่งเสริมรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
สุรศักดิ์ จรินทอง อุปนายกสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และจักรยานยนต์ไทย (สรยท.) กล่าวว่า ในฐานะผู้แทนสื่อมวลชนสายยานยนต์รู้สึกได้ถึงความตั้งใจของสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ในการนำเสนอข้อมูลภาพรวม และทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยข้อมูลจากกิจกรรมในครั้งนี้ถือเป็นแนวทางให้เห็นถึงภาพรวมของตลาดยานยนต์ไทยในอนาคต สมาคมฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อมูลเหล่านี้สามารถสื่อสาร และเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานต่างๆ และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง
ดร.ปราจิน เอี่ยมลำเนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ GPI และประธานจัดงาน บางกอก อินเตอร์เนชันแนล มอเตอร์โชว์ กล่าวว่า ทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยปัจจุบัน มีการเคลื่อนไหวรวดเร็ว ผู้ประกอบการค่ายรถยนต์มีการแข่งขันกันสูง ในขณะที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรวมทั้งตนเองในฐานะผู้จัดงานมอเตอร์โชว์ พยายามผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเติบโตไปสู่แนวหน้าของโลก อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยเติบโตมาได้อย่างทุกวันนี้ เป็นความร่วมมือของผู้ประกอบการทุกบริษัท โดยเฉพาะญี่ปุ่น ค่ายญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับประเทศไทยเป็นอันดับ 1 ที่ผ่านมามีการรุกเข้ามาของรถยนต์จากประเทศจีนอย่างมาก แต่อนาคตรถจากจีนเข้ามาแล้วจะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตส่งออกแบบนี้หรือไม่นั้น สำคัญ คือ เราต้องรู้ทันสิ่งที่เห็น ตอนนี้สิ่งที่กลัว คือ รู้ไม่ทันสิ่งที่เกิดขึ้น
“จึงอยากเตือนว่าอย่าลุ่มหลงจนเกินไป ทั้งที่พื้นฐานอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเราดีอยู่แล้ว แต่เป็นห่วงในเวลานี้คือ พื้นฐานอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะได้รับผลกระทบ ห่วงความไม่ยั่งยืน อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเราทำมา 50 กว่าปีด้วยความยากลำบาก มีค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่น ยกตัวอย่างทั้ง Toyota, Isuzu, Mitsubishi และอีกหลายค่าย ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ โดยเฉพาะพิคอัพส่งออกไปทั่วโลกรวมหลายล้านคันแล้ว” ดร.ปราจิน กล่าว
ดร.ปราจิน กล่าวต่อไปว่า ก่อนหน้านี้บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตมาประเทศไทย ในช่วงแรก ตนเองเคยมีโอกาสได้เดินทางไปดูงานที่ญี่ปุ่นช่วงที่มีการย้ายฐานการผลิตมาประเทศไทย ทำให้เห็นว่า ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับอุตสาหกรมยานยนต์ไทยอย่างมาก ไม่อย่างนั้นค่ายรถยนต์ทั่วโลกคงไม่เกรงใจไทยเหมือนทุกวันนี้ ในฐานะผู้จัดงานมอเตอร์โชว์ มีผู้เข้าชมครั้งละเป็นล้านคน ดังนั้นเราจึงต้องรักษาไว้ ตนจัดงานมอเตอร์โชว์มาจนถึงวันนี้ ครั้งที่ 45 อยากให้เป็นตัวอย่างให้ทุกคนเห็น ตอนนี้ตนอายุ 81 ปีแล้ว แต่ยังอยากทำงานให้ประเทศไทยให้เกิดความน่าเชื่อถือต่อไป