ทดสอบ
มาเซราตี (MASERATI) คือ หนึ่งในค่ายรถระดับ ตำนาน จากประเทศ อิตาลี ก่อขึ้นมานานร่วมศตวรรษแล้ว แน่นอนว่า ความสปอร์ท ถือเป็นหนึ่งในส่วนผสมที่ขาดไม่ได้ของค่ายรถแห่งนี้ ครั้งนี้คอลัมน์ทดสอบของเราขอต้อนรับการกลับมาอีกครั้งภายใต้โลโก ตรีศูล กับรถรุ่นนี้ กีบลี (GHIBLI)
มาเซราตี กีบลี เบนซิน เทอร์โบ วี 6 สูบ 3.0 ลิตร 330 แรงม้า ราคา 8,650,000 บาท
คู่แข่ง
บีเอมดับเบิลยู 640 ไอ กรัน คูเป เบนซิน เทอร์โบ 6 สูบ 3.0 ลิตร 320 แรงม้า ราคา 9,299,000 บาท
โพร์เช พานาเมรา เอส อี-ไฮบริด เบนซิน ไฮบริด 3.0 ลิตร 416 แรงม้า ราคา 10,250,000 บาท
จุดเด่น
- รูปทรงสปอร์ท ปราดเปรียว
- สมรรถนะดี เสียงเครื่องยนต์เร้าใจมาก
- รองรับการขับขี่ได้หลากหลาย
จุดด้อย
- เกียร์ต้องทำความคุ้นเคยพอสมควร
- สิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
- ราคาค่อนข้างสูง
ฟันธง
- สปอร์ทระดับตำนาน คิดใหม่ ทำใหม่ แต่ เจ๋ง กว่าเดิม
มาเซราตี (MASERATI) คือ หนึ่งในค่ายรถระดับ ตำนาน จากประเทศ อิตาลี ก่อขึ้นมานานร่วมศตวรรษแล้ว แน่นอนว่า ความสปอร์ท ถือเป็นหนึ่งในส่วนผสมที่ขาดไม่ได้ของค่ายรถแห่งนี้ ครั้งนี้คอลัมน์ทดสอบของเราขอต้อนรับการกลับมาอีกครั้งภายใต้โลโก ตรีศูล กับรถรุ่นนี้ กีบลี (GHIBLI)
ภายนอก 4 ดาว
สปอร์ท จีที 4 ประตู
ชื่อเสียงเรียงนามของ กีบลี ถูกใช้มาแล้วก่อนหน้านี้ โดยรุ่นแรกทำตลาดตั้งแต่ปี 2510 รูปทรงในสไตล์สปอร์ท จีที คูเป 2+2 ที่นั่ง รูปทรงปราดเปรียว หลังจากนั้นก็เว้นช่วงการทำตลาดสักพัก และกลับมาทำตลาดอีกครั้งในปี 2535 ยังคงเป็นรถสปอร์ท คูเป 2+2 ที่นั่งเช่นเดิม เส้นสายเน้นสันเหลี่ยม (มีจำหน่ายในประเทศไทยอยู่พักหนึ่งด้วย) ก่อนจะยุติการทำตลาดในเวลาต่อมา
วันเวลาผ่านไปจนถึงปัจจุบัน เมื่อประมาณเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา นับช่วงเวลา คิดใหม่ ทำใหม่ ของบแรนด์ มาเซราตี กับการเน้นรูปทรงที่ปราดเปรียว ผสมผสานกับความหรูหราสมระดับ จากเดิมที่เน้นความดิบห้าวเป็นส่วนใหญ่ และเป็นอีกครั้งที่ชื่อของ กีบลี ถูกนำมาใช้ ทว่าแตกต่างจาก 2 ครั้งก่อนหน้า ด้วยรถสปอร์ทแบบ 4 ประตู
หากตามปกติวิสัย เราคงเรียกรูปทรงแนวนี้ว่าเป็นรถซีดาน แต่จากการพิจารณาเส้นสาย ทั้งรูปทรงด้านหน้าที่ปราดเปรียว ชวนให้นึกถึงสปอร์ทร่วมค่ายอย่าง กรัน ตูริสโม (GRAN TURISMO) สันเหลี่ยมโค้งด้านข้างที่คมเข้ม ตลอดจนช่วงท้ายที่ดูแข็งแกร่ง หากดูจากด้านข้างแล้วยกมือปิดช่วงประตู จะเห็นได้ว่านี่คือรถสปอร์ท จีที คูเป อย่างชัดเจน เพียงแต่ติดตั้งประตู 4 บานเท่านั้น
ด้านมิติตัวถัง กีบลี มีความยาว 4,971 มม. และระยะฐานล้อ 2,998 มม. โดยรวมแล้วถือว่าใกล้เคียงกับ บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 5 (ยาว 4,907 มม. ระยะฐานล้อ 2,968 มม.) และ เมร์เซเดส-เบนซ์ อี-คลาสส์ (ยาว 4,879 มม. ระยะฐานล้อ 2,874 มม.) นับว่ารถสปอร์ทจาก มาเซราตี มีขนาดใหญ่กว่าคู่แข่ง แม้จะใช้โครงสร้างตัวถังร่วมกับรถสปอร์ท 4 ประตู ขนาดใหญ่กว่าอย่าง กวัตตโรโปร์เต (QUATTROPORTE)
ภายใน 4 ดาว
สปอร์ท ทันสมัย แฝงความหรู
เมื่อเข้ามานั่งในส่วนผู้ขับ เราพบว่า กีบลี มีการตกแต่งที่เน้นอารมณ์สปอร์ท ตามภาพลักษณ์ของ มาเซราตี คอนโซลหน้าทรงสูง เบาะนั่งอยู่ในระดับต่ำเล็กน้อย แต่ไม่ถึงกับอึดอัด พวงมาลัยกระชับมือ พร้อมแป้น แพดเดิล ชิฟท์ ขนาดใหญ่ ใช้วัสดุโลหะ ให้ความรู้สึกมั่นคงขณะเปลี่ยนจังหวะเกียร์ ส่วนคันเกียร์มีรูปทรงโค้งมน และสั้น รูปแบบการเปลี่ยนเกียร์อาจต้องทำความเคยชินเล็กน้อย นั่นคือ ใช้การผลักคันเกียร์ขึ้น/ลงทีละครั้งเพื่อเปลี่ยนโหมดเกียร์ (P R N และ D) หากผลักมากไปอาจเข้าผิดโหมดได้ ในช่วงแรกต้องอาศัยการสังเกตโหมดเกียร์บนจอดิจิทอลใกล้มาตรวัด แถมโหมดบวก/ลบ ต้องกดปุ่ม M ด้านข้างฐานเกียร์ ไม่ใช่การโยกคันเกียร์ไปด้านข้างแบบที่หลายยี่ห้อทำกัน
แม้จะเน้นความสปอร์ท แต่จากระดับค่าตัวที่พิเศษกว่ารถระดับเดียวกัน ทาง มาเซราตี จึงต้องเสริมความหรูกันเต็มที่ ทั้งชุดหนังเกรดสูงถูกใช้ตกแต่งรอบห้องโดยสาร ตัดเย็บอย่างประณีตด้วยงานฝีมือ พร้อมกับเครื่องเสียงชั้นดีของ BOWERS & WILKINS ตรงคอนโซลกลางติดตั้งจอระบบสัมผัส แสดงผลระบบเนวิเกเตอร์ เสริมความ คลาสสิค เล็กน้อยด้วยการติดตั้งนาฬิกาแบบแอนาลอกบริเวณด้านบนของคอนโซล
ในแง่ของความกว้างขวาง ส่วนผู้ขับถือว่านั่งสบาย ไม่คับแคบ คันเกียร์ถูกติดตั้งที่ฝั่งขวาติดผู้ขับ เอื้อมจับได้สะดวก ส่วนคอนโซลเกียร์มีขนาดพอดี ไม่กินเนื้อที่ช่วงเอวของผู้โดยสารด้านหน้า เบาะนั่งทรงหนา โอบกระชับสรีระพอประมาณ ส่วนเบาะด้านหลัง มีพื้นที่เพียงพอ นั่งสบาย แต่ไม่ถึงกับโอ่โถงมากมาย ขอบกระจกด้านล่างจะอยู่เหนือระดับไหล่เล็กน้อย เนื่องจากการออกแบบให้กระจกหน้าต่างมีความปราดเปรียว โดยรวมแล้วความสะดวกสบายยังน่าพอใจ เมื่อพิจารณาจากความเป็นรถสปอร์ทเช่นนี้
เครื่องยนต์ 4 ดาว
ความแรงกลิ่นอายค่ายม้าลำพอง
มาเซราตี กีบลี รุ่นที่เรานำมาทดสอบ ถือเป็นรุ่นพื้นฐาน แต่สิ่งที่ให้มานั้นไม่ธรรมดา ด้วยเครื่องยนต์เบนซิน วี 6 สูบ เทอร์โบคู่ ฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง ขนาด 3.0 ลิตร กำลังสูงสุด 330 แรงม้า ออกแบบและประกอบเครื่องยนต์จากบแรนด์รถสปอร์ทหรูร่วมเครือ นั่นคือ แฟร์รารี (FERRARI) ประกบคู่เกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะของ ZF ส่งกำลังสู่ล้อคู่หลัง
มาดูอัตราเร่งกันเลย เริ่มที่ 0-100 กม./ชม. กีบลี ทำได้ที่ 7.2 วินาที เทียบกับ รุ่นพิเศษ ของรถยนต์ราคาใกล้เคียงกัน แต่มีขนาดใหญ่กว่าอย่าง บีเอมดับเบิลยู แอคทีฟ ไฮบริด 7 (320 แรงม้า) ทำเวลาในส่วนนี้ที่ 7.1 วินาที และลองเทียบกับสปอร์ทซีดาน จัดเต็ม พละกำลังถึง 500 แรงม้า ขนาดตัวถังใกล้เคียงกัน อย่าง แจกวาร์ เอกซ์เอฟอาร์ (JAGUAR XFR) ทำเวลาเพียง 5.1 วินาที
รถสมรรถนะแรงต้องลองดูกันยาวๆ กับอัตราเร่ง 0-200 กม./ชม. กีบลี ทำได้ที่ 26.3 วินาที ส่วน แอคทีฟ ไฮบริด 7 อาศัยทั้งเทอร์โบ และระบบไฮบริด ทำเวลาไป 24.5 วินาที ขณะที่ขาโหดกว่า 500 แรงม้า วิ่งหายลับไปล่วงหน้า กับเวลา 16.1 วินาที
อัตราเร่งยืดหยุ่นที่ 60-100 และ 80-120 กม./ชม. ของ กีบลี คือ 3.4 และ 3.9 วินาที ส่วน แอคทีฟ ไฮบริด 7 อยู่ที่ 3.3 และ 3.9 วินาที นับว่าใกล้เคียงกัน ทางฝั่งรถสปอร์ทจาก มาเซราตี มีการตอบสนองที่ดีมาก หากกดคันเร่งลึก ระบบโอเวอร์บูสต์ ก็จะทำงาน เรียกแรงบิดได้ฉับไวกว่าปกติ ทำให้อัตราเร่งเร้าใจ ส่วนของแรงอย่าง เอกซ์เอฟอาร์ ทำได้ที่ 2.3 และ 2.8 วินาที ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม หลังจากทีมงานของเราพิจารณาความเหมาะสม และความปลอดภัยแล้ว จึงงดการวัดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงด้วยเครื่องมือวัดสมรรถนะ ดาทรอน ออกไปก่อน แต่จากตัวเลขที่ผู้ผลิตระบุว่า กีบลี มีอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยที่ 10.4 กม./ลิตร นับว่าสิ้นเปลืองพอตัว ถ้าเทียบกับรถทั่วไปในปัจจุบัน แต่อย่าลืมว่า ภายใต้โลโก ตรีศูล หลายคนย่อมคาดหวังเรื่องสมรรถนะที่เร้าใจมาเป็นอันดับแรก เราได้ลองขับรถคันนี้ผ่านการจราจรที่ค่อนข้างหนาแน่น พบว่าเครื่องยนต์มีการตอบสนองที่ไหลลื่น และนุ่มนวลเกินคาด แม้ขณะที่ใช้ความเร็วต่ำ คันเร่งยังตอบสนองได้ดี ค่อยเป็นค่อยไป ไร้ซึ่งอาการเทอร์โบแลค ในแง่ของการขับขี่ในชีวิตประจำวัน กีบลี ถือว่าทำได้ดีมากเช่นกัน หากผู้ขับเป็นสุภาพสตรีก็สามารถใช้งานรถรุ่นนี้ได้อย่างสะดวกสบาย
สิ่งที่ที่เรารู้สึกพอใจเป็นอย่างมาก นั่นคือ เสียง แต่ไม่ใช่จากเครื่องเสียงระดับไฮเอนด์ที่ติดตั้งมาให้ เสียงที่ว่า คือ เสียงของเครื่องยนต์ขณะเน้นอัตราเร่ง สุ้มเสียงนั้นแผดกังวาน เน้นความทุ้ม หนักแน่น แตกต่างจากเสียงหวีดแหลมของรถยนต์ทั่วไป อารมณ์เดียวกับรถสปอร์ทตัวแรง สมกับการร่วมพัฒนาขุมกำลังร่วมกับค่ายม้าลำพองจริงๆ
ระบบรองรับ 4 ดาว
หนักแน่น สมดุล
ทางผู้ผลิตระบุว่า มาเซราตี กีบลี มีอัตราส่วนการกระจายน้ำหนักหน้า/หลัง ที่ 50/50 นับว่ามีความสมดุลมาก ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่พบได้ในรถสปอร์ทระดับสูงเท่านั้น น้ำหนักของพวงมาลัยเน้นความหนักแน่น แม้อยู่ในโหมด COMFORT แต่ยังหักเลี้ยวง่ายที่ความเร็วต่ำ หรือขณะเข้าจอด เมื่อใช้ความเร็วสูง หรือเรียกอัตราเร่ง พวงมาลัยจะมีน้ำหนักมากขึ้น แถมมีอาการต้านมือเล็กน้อยเมื่อเข้าโค้ง ราวกับรถสปอร์ทพลังแรงที่ต้องมี ความดื้อ ให้สัมผัสกันบ้างพอหอมปากหอมคอ ภายใต้ช่วงล่างที่หนึบแน่น แฝงความนุ่มนวลที่พอเหมาะ ไม่กระด้าง รองรับได้ทั้งการใช้งานทั่วไป และการขับแบบเน้นสมรรถนะ
ระบบความปลอดภัยจัดมาเต็มเพื่อรองรับสมรรถนะอยู่หมัด ทั้งระบบควบคุมการทรงตัวของรถที่พัฒนาขึ้นมาโดยเฉพาะสำหรับ มาเซราตี ถุงลมนิรภัยรอบคัน ระบบแสดงค่าแรงดันลมยางของล้อทั้ง 4 ตำแหน่ง ให้ความมั่นใจได้เป็นอย่างดี
สรุป
พลังแห่งศาสตราวุธที่ยังร้อนแรง
แม้จะถือเป็นรุ่น พื้นฐาน แต่ภายใต้โลโกแห่งศาสตราวุธของเทพเจ้า พลังที่สำแดงออกมาจึงเทียบเคียงกับรุ่น พิเศษ ของรถอื่นทั่วไป มาเซราตี กีบลี แสดงให้เห็นถึงความสปอร์ทที่สืบทอดมาช้านาน และยังคงอยู่ต่อไป ภายใต้รูปทรงที่ปราดเปรียว ผสมความหรูหราสมราคาค่าตัว แถมยังมีความสะดวกสบายที่น่าพอใจ แต่เชื่อเถอะ ตัวตนที่แท้จริงของรถคันนี้จะพบเห็นได้ยามเมื่อเค้นอัตราเร่ง ด้วยเสียงเครื่องยนต์ที่เร้าใจ พร้อมกับการทำงานอันดุดันของเทอร์โบคู่
แล้วคุณจะได้รู้ว่า สมรรถนะ ขั้นเทพ ในเบื้องต้น ก็ทำให้มนุษย์อย่างเราๆ เร้าใจสุดขีดแล้ว !!
ข้อมูลจำเพาะ มาเซราตี กีบลี
ผู้แทนจำหน่าย บริษัท เอ็มไพร์ มอเตอร์ สปอร์ต จำกัด
โทร. 0-2900-5353��
มิติ และน้ำหนัก�
ยาว/กว้าง/สูง (มม.) 4,971/1,945/1,461
ช่วงล้อ หน้า/หลัง (มม.) 1,635/1,653
ฐานล้อ (มม.) 2,998
น้ำหนัก (กก.) 1,810
ความจุถังเชื้อเพลิง (ลิตร) 80�
เครื่องยนต์
แบบ เบนซิน เทอร์โบ วี 8 สูบ
ความจุ (ซีซี) 2,979
กระบอกสูบ/ช่วงชัก (มม.) 86.5/84.5�
อัตราส่วนกำลังอัด 9.7:1�
กำลังสูงสุด (แรงม้า/รตน.) 330/5,000
แรงบิดสูงสุด (กก.-ม./รตน.) 50.1/5,000
ระบบจ่ายเชื้อเพลิง ฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง�
ระบบถ่ายทอดกำลัง�
เกียร์ (จังหวะ) อัตโนมัติ 8
ขับเคลื่อน (ล้อ) 2�หลัง
ระบบรองรับ�
หน้า อิสระ ปีกนกคู่ พร้อมเหล็กกันโคลง
หลัง อิสระ มัลทิลิงค์�พร้อมเหล็กกันโคลง
ระบบบังคับเลี้ยว
แบบ ฟันเฟืองและตัวหนอน เพาเวอร์ไฟฟ้า�
ระบบห้ามล้อ�
แบบ เอบีเอส ไอซีอี เอมเอสพี
หน้า จาน พร้อมช่องระบายอากาศ
หลัง จาน พร้อมช่องระบายอากาศ�
ราคา (บาท) 8,650,000�
อัตราเร่ง (วินาที)
0-60 กม./ชม. 3.6
0-80 กม./ชม. 5.2
0-100 กม./ชม. 7.2
0-120 กม./ชม. 9.5
0-140 กม./ชม. 12.5
0-160 กม./ชม. 16.0
0-200 กม./ชม. 26.3
0-400 ม. (กม./ชม.) 15.2 (155.9)
0-1,000 ม. (กม./ชม.) 27.2 (202.6)
อัตราเร่งยืดหยุ่น (วินาที)
60-100 กม./ชม. 3.4
80-120 กม./ชม. 3.9
ห้ามล้อเมื่อหยุดรถกะทันหันจากความเร็ว (ม./ค่าจี)
60-0 กม./ชม 14.7 (0.96)
80-0 กม./ชม. 25.7 (0.98)
100-0 กม./ชม. 40.0 (0.98)
ระดับเสียงรบกวนในห้องโดยสาร (เดซิเบล A)
ที่ความเร็ว 0 กม./ชม. (จอดนิ่ง)�39
ที่ความเร็ว 60 กม./ชม.�60
ที่ความเร็ว 80 กม./ชม.�64
ที่ความเร็ว 100 กม./ชม.�67
ที่ความเร็ว 120 กม./ชม. 68
ABOUT THE AUTHOR
ภ
ภูเขม หน่อสวรรค์ poukhem@imc.co.th
นิตยสาร Formula ฉบับเดือน สิงหาคม ปี 2558
คอลัมน์ Online : ทดสอบ