พิเศษ
มหกรรมยานยนต์โซล 2002
อุตสาหกรรมยานยนต์เกาหลี นับเป็นยักษ์ใหญ่อันดับสองในเอเชีย รองจากญี่ปุ่น มีรถยนต์ทั้งหมด 5
ยี่ห้อได้แก่ ฮันเด/เกีย/จีเอม-แดวู/ซังยง และเรอโนลต์-ซัมซุง ในปี 2544 อุตสาหกรรมยานยนต์เกาหลี
ทำยอดขายรถยนต์รวมทั้งสิ้นได้ 2.9 ล้านคัน ตัวเลขนี้รวมยอดขายภายในประเทศ และยอดการส่งออก
ครั้งนี้เราได้รับเชิญจาก เกีย เพื่อไปทำข่าวมหกรรมยานยนต์ที่เกาหลี
งานแสดงที่สะท้อนศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์เกาหลี เกีย
เป็นบริษัทผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่อันดับสองของเกาหลีรองจาก ฮันเด เป้าหมายของ เกีย คือการขึ้นเป็น
1 ใน 5 มหาอำนาจผู้ผลิตรถยนต์ของโลกภายในปี 2553 (2010)
ถึงแม้เป้าหมายที่ตั้งไว้ดูเหมือนจะไกลลิบ
แต่ถ้านั่นหมายถึงการผนึกกำลังร่วมกับบริษัทร่วมสัญชาติอย่าง ฮันเด ก็คงเป็นฝันที่ไม่ไกลเกินจริงนัก
เจ้าหน้าที่ระดับสูงผู้หนึ่ง กล่าวยืนยันหนักแน่นพร้อมปลุกระดมเลือดรักชาติว่า
"เราจะทำปาฏิหาริย์อีกครั้ง แบบเดียวกับครั้งที่เกาหลีใต้เข้ารอบ 1 ใน 4 ทีมสุดท้ายในฟุตบอลโลก"
มหกรรมยานยนต์โซล 2002
จัดขึ้นที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ครั้งนี้ผู้จัดเลือกอาคาร COEX เป็นสถานที่จัดงาน บนเนื้อที่แสดง
28,746 ตรม. รวมเวลาทั้งหมด 10 วัน เก็บค่าบัตรเข้าชมงาน 6,000 วอน (240 บาท) สำหรับผู้ใหญ่
และ 4,000 วอน (160 บาท) สำหรับเด็ก สำหรับตั๋วที่จองล่วงหน้า มีส่วนลดให้ 20 %
งานครั้งนี้มีบริษัทที่เข้าร่วมงานทั้งหมด 188 บริษัทจาก 11 ประเทศทั่วโลก
แต่เนื่องจากเกาหลีใต้มีเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก
อุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาลเป็นพิเศษ
เราจึงเห็นว่าบริษัทรถยนต์ที่มาร่วมงานทั้งหมดมีเพียง 5 ยี่ห้อ
(ไม่รวมรถบรรทุกและรถที่มาแสดงอย่างเดียว ไม่ได้ทำตลาด) และเป็นบริษัทของเกาหลีเองทั้งหมด
อาทิ เกีย/ฮันเด/จีเอม-แดวู/ซังยง และเรอโนลต์-ซัมซุง ส่วนคำขวัญงานปีนี้คือ "ร่วมสานฝันไปกับวงล้อ"
งานครั้งนี้บรรดากองทัพรถต้นแบบเมืองโสม ตบเท้าเข้าร่วมงานกันเพียบ
ฮันเด
ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของเกาหลี ก่อตั้งเมื่อปี 2510 กำลังการผลิตทั่วโลก 2.4 ล้านคัน
มีพนักงานในเกาหลีทั้งหมด 48,831 คน กวาดยอดขายในปี 2544 ไปทั้งสิ้น 1.5 ล้านคัน
ถือว่าเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของยอดการขายรถทั้งประเทศ 53 % เป็นยอดการส่งออก และ 47 %
เป็นยอดการขายภายในประเทศ
ฮันเด จับจองพื้นที่ใหญ่สุดในงานกว่า 2,000 ตรม. นำรถมาแสดงทั้งหมด 21 คัน และ 2
คันในนั้นเป็นรถต้นแบบที่ทำเพื่อมาอวดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ได้แก่ HCD-7
รถธงแนวคิดหรูหรา กว้างขวางสะดวกสบาย เครื่องยนต์อลูมินัม DOHC วี 8 สูบ 32 วาล์ว 4.5 ลิตร
รีดแรงได้ 270 แรงม้า ยางขนาด 21 นิ้ว ออกแบบโดยสำนักออกแบบ ฮันเด ในเมือง เฟาเทน วัลเลย์
(FOUNTAIN VALLEY) แคลิฟอร์เนีย เตรียมทาบรัศมีรถรุ่น เซนเทนเนียล (CENTENNIAL) และรุ่น
จีเอกซ์ 350 (XG350) รถธงหรูสุดของ ฮันเด ที่กำลังสร้างชื่ออยู่ในตลาดสหรัฐอเมริกา และ HIC
(HIGH-TECHNOLOGY INTELLIGENCE COUPE) รถแนวคิดสปอร์ทคูเป
ออกแบบโดยนักออกแบบชาวญี่ปุ่น และใช้พื้นฐานโครงสร้างของรุ่น เอกซ์จี
ติดตั้งระบบปรับลอคความเร็วตามคันหน้า
และกล้องอินฟราเรดที่เพิ่มทัศนวิสัยสำหรับการขับขี่เวลากลางคืน ส่วนรถรุ่น ทัสกานี (TUSCANI)
/แอโร (AERO) และ ตีบูโรน (TIBURON) เป็นรถเด่นอีกคันที่มาพร้อมกับชุดแต่งพิเศษ
นอกจากนำรถมาแสดงแล้ว ยังมีเทคโนโลยีล่าสุดมาอวดอีกด้วยเช่น ระบบ AGCS (ACTIVE
GEOMETRY CONTROL SUSPENSION) ระบบช่วงล่างอัจฉริยะ
ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าปรับระดับช่วงล่าง เพื่อให้รถยึดเกาะถนนดีขึ้น และระบบ เทเลแมทิคส์
(TELEMATICS) ที่พัฒนาร่วมกับไอบีเอม เป็นระบบสื่อสารกับศูนย์ข้อมูลด้วยเสียง แจ้งเหตุฉุกเฉิน
หรือสอบถามข้อมูลเส้นทาง ซึ่งจะเริ่มทดลองใช้ในเกาหลีใต้ภายในปีนี้
เกีย
ยักษ์รองขึ้นแท่นอันดับสอง ก่อตั้งเมื่อปี 2487 กวาดยอดขายปี 2544 ไป 0.9 ล้านคัน
ครองส่วนแบ่งตลาด 29.0 % เป็นยอดการส่งออกถึง 54 % มีพนักงานทั้งหมดเกือบ 30,000 คน
รถที่นำมาแสดงทั้งหมด 20 คัน ประกอบไปด้วยรถที่อยู่ในสายการผลิต 18 คัน อาทิ โซเรนโต
เอสยูวีร้อนแห่งปี ออพทิมา/มาเจนทิส/รีโอ/คาเรนส์ และคาร์นิวัล ลีมูซีนหรูหรือสำนักงานเคลื่อนที่
ติดตั้งระบบเอนเตอร์เทนเมนท์เพียบ จอมอนิเตอร์ เครื่องเล่นดีวีดี เก้าอี้พร้อมที่พักขาปรับหมุนได้รอบ
โต๊ะทำงาน และตู้แช่ไวน์ และรถต้นแบบ 2 คัน ได้แก่ KCV-I และ KCV-II
KCV-I
รถแนวคิดอเนกประสงค์ (MPV) เน้นพื้นที่ใช้สอย รวมเอาความเป็นรถเก๋ง รถตรวจการณ์
และรถอเนกประสงค์ไว้ในคันเดียว โดยใช้โครงสร้างพื้นฐานจากรุ่น คาเรนส์ ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 2.0
ลิตร ภายในห้องโดยสารออกแบบพิเศษ จอภาพสะท้อนขึ้นที่กระจกหน้า ด้ามเกียร์ปรับตำแหน่งได้
และเก้าอี้ปรับพับได้หลายรูปแบบ เพื่อความสะดวกในการใช้พื้นที่
KCV-II
รถแนวคิดกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) ออกแบบโดยสำนักออกแบบ เกีย ในยุโรป ที่เมืองเอชโบร์น
(ESCHBORN) ประเทศเยอรมนี รวมเอาแนวคิดรถกระบะ รถคูเป
และรถสำหรับกิจกรรมกลางแจ้งเข้าไว้ด้วยกัน ประตูคู่หน้าเปิดแบบปีกนก
ประตูบานพับหลังช่วยให้การเข้าออกสะดวกขึ้น เครื่องยนต์ วี 6 สูบ 3.5 ลิตร ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ
ฟูลล์ไทม์ ภายในติดตั้งระบบช่วยการมองเห็นในเวลากลางคืน
ถุงลมนิรภัยปรับขนาดตามความแรงของอุบัติเหตุ สัญญาณเตือนเมื่อลมยางอ่อน
ระบบช่วยควบคุมทิศทางป้องกันการลื่นไถล ระบบป้องกันล้อลอค
ระบบช่วยเพิ่มแรงเบรคขณะเบรคฉุกเฉิน ระบบปรับตั้งความเร็วตามคันหน้า
กระจกปรับความเข้มแสงอัตโนมัติ ระบบปรับตำแหน่งไฟหน้าอัตโนมัติเมื่อมีน้ำหนักบรรทุก
ที่ปัดน้ำฝนปรับความเร็วอัตโนมัติตามปริมาณเม็ดฝน ระบบเปิดรถโดยไม่ใช้กุญแจ ระบบทำทาง
และเครื่องเสียง MP3 เก้าอี้คู่หลังสามารถพับพิเศษได้สำหรับบรรทุกและสันทนาการ
จีเอม-แดวู
ยักษ์รองอันดับสาม เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างยักษ์ใหญ่ลุงแซม (จีเอม) กับเมืองโสม (แดวู) ก่อตั้งปี
2515 มีพนักงานประมาณ 14,000 คน ยอดขายทั้งหมดที่ทำได้ 0.4 ล้านคัน ส่วนแบ่งตลาด 13.3 %
เป็นยอดการส่งออก 56.3 % ที่เหลือเป็นยอดขายภายในประเทศ
เป็นครั้งแรกที่ จีเอม-แดวู เข้าร่วมงานมหกรรมยานยนต์โซลอย่างเป็นทางการ
หลังจากเพิ่งแนะนำบริษัทเมื่อปลายปีที่แล้ว ครั้งนี้จับจองพื้นที่ใหญ่ 1,768 ตรม. นำรถมาแสดงทั้งหมด
17 คัน และ 6 คันในนั้นเป็นรถที่ไม่เคยเผยโฉมมาก่อน รุ่น เลเซตตี (LECETTI) เปิดตัวครั้งแรกในงานนี้
จีเอม-แดวู จ้างสำนักออกแบบอิตาเลียนปั้นแต่รูปทรงภายนอกให้ นำรถต้นแบบมาแสดง 2 คันคือ โอโต
(OTO) รถแนวคิด กิจกรรมกลางแจ้งทรงคูเป และเฟลกซ์ (FLEX )เอมพีวี
ที่ติดตั้งระบบเทคโนโลยีสื่อสารข้อมูลล่าสุด ห้องโดยสารภายในสามารถปรับเปลี่ยนเป็น ห้องนอน
สำนักงาน เทนท์ หรือแม้กระทั่งรถขนของ และยังนำรถแนวคิด ฮาย-ไวร์ (HY-WIRE)
แสดงถึงพลังงานยุคหน้า โดยใช้พลังงานไฮโดรเจน และใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นตัวผลิตกำลัง
ตัวรถมีโครงสร้างแบบ "สเกทบอร์ด" มีความหนาเพียง 11 นิ้ว
โดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้ากำเนิดพลังงานทั้งการขับเคลื่อนและการควบคุมทิศทาง
นักออกแบบจะมีอิสระมากขึ้นเพราะไม่ต้องมี แกนพวงมาลัย และข้อจำกัดเดิมๆ
สามารถสลับตัวถังแบบอื่นมาครอบได้ตามความชอบ
ซังยง
ยักษ์รองอันดับสี่ เป็นหนึ่งในสามบริษัทรถยนต์เกาหลีที่ยังคงเชื้อสายเกาหลี 100 %
หลังจากผ่านภาวะวิกฤติเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วงในปี 1998 ขนาดจำเป็นต้องพึ่งพาด้านการเงินจาก
แดวู แต่หลังจากนั้นเพียงไม่นาน แดวู ก็ประสบปัญหาล้มละลาย
หลังจากที่ปรับโครงสร้างหนี้เรียบร้อยก็พร้อมทำตลาดอีกครั้ง โดยแยก ซังยง ออกจาก แดวู
ซังยงเชี่ยวชาญพิเศษในเรื่องรถขับเคลื่อน 4 ล้อ โดยมีจุดขายคือเครื่องยนต์ที่ใช้ เป็นเครื่องยนต์จาก
เมร์เซเดส-เบนซ์ บริษัท ก่อตั้งเมื่อปี 2497 มีพนักงานประมาณ 6,000 คน ยอดขายในปี 2544 ทำได้
125,832 คัน (4.3 %) เกือบทั้งหมดเป็นยอดขายภายในประเทศ (90 %)
รถที่นำมาแสดงมี 9 คัน เป็นรถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) 4 รุ่น รถเก๋งขนาดใหญ่ 1 รุ่น รถตู้ 1 รุ่น
และรถต้นแบบอีก 3 คัน รุ่น เฮโมส (HEMOS) รถต้นแบบ สำหรับกิจกรรมกลางแจ้ง หรูหรา
ออกแบบห้องโดยสารขึ้นพิเศษ เก้าอี้สามารถปรับเปลี่ยนได้หลายแบบ ติดตั้งระบบโฮมเธียเตอร์ ดีวีดี
และเกมส์ ไว้ครบ รุ่น อมาโอ (AMAO) รถต้นแบบ สำหรับกิจกรรมกลางแจ้ง
เป้าหมายการพัฒนาเพื่อให้ถูกใจคนหนุ่มสาว เปิดประทุนหลังเหมาะสำหรับวิ่งบนชายหาด และรุ่น
ครอสซุท (CROSSUT) รถต้นแบบ สำหรับกิจกรรมกลางแจ้ง หน้าตาละม้ายคล้ายคลึงกับ เมร์เซเดส-
เบนซ์ ด้านท้ายเป็นแบบพิคอัพ ออกแบบเพื่อจุดประสงค์การใช้งานกิจกรรมสันทนาการ
เน้นการออกแบบประโยชน์ใช้สอยพื้นที่ เรกซ์ทัน (REXTON) รถกิจกรรมกลางแจ้งที่เอาใจตลาดบน
เรอโนลต์-ซัมซุง
ยักษ์เล็กเมืองโสม
เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษทยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมยานยนต์ฝรั่งเศสกับบริษัทยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรม
อีเลคทรอนิคส์เกาหลี เพิ่งก่อตั้งได้เพียง 3 ปี มีพนักงาน 4,000 คน ในปี 2544
ทำยอดขายได้เป็นอันดับห้า 70,788 คัน มีส่วนแบ่งตลาด 2.4 % ยอดขายเกือบทั้งหมด
เป็นยอดจำหน่ายภายในประเทศ มีรถในสายการผลิตเพียงสองรุ่นได้แก่ เอสเอม 3 และ เอสเอม 5
ซึ่งนำเอาเทคโนโลยีเกือบทั้งหมดมาจาก นิสสัน ซันนี และเซฟีโร ที่เป็นบริษัทเครือญาติสนิทกับ
เรอโนลต์
ขอขอบคุณ บริษัท ยนตรกิจเกียมอเตอร์ จำกัด ที่อำนวยความสะดวกตลอดการเดินทาง
รูป..............
ฮันเด
HIC[0170], HCD-7[0167], TIBURON TUSCANI[0172], SANTAFE[0182], EQUUS[0169]
เกีย
KCV-I [0123], KCV-II [0119], CANIVAL LIMO[0162], CAREN [ ]SORENTO[0078]
0208
จีเอม-แดวู
OTTO[0193,0194], FLEX[0186,0187,0084], LACETTI[0192], MAGNUS[0190],
AUTOMY[0202]
ซังยอง
HEMOS [0176], CROSSUT[0195,0086,0085,0091], AMAO[0087,0090,0197.0198],
REXTON[0175], MUSSO SPORT[00180,0092,0093]
เรอโนลต์ ซัมซุง
SM3[0205,0206], SM5[0168,0207], 0204, 0095, 0099,
ABOUT THE AUTHOR
ช
ชลัทชัย ปภัสร์พงษ์
นิตยสาร Formula ฉบับเดือน เมษายน ปี 2546
คอลัมน์ Online : พิเศษ