ธุรกิจ
ฝรั่งเศส-เปอโฌต์ (PEUGEOT) ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของเมืองน้ำหอม กำลังจะเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของตนเอง โดยนำ SPORT UTILITY VEHICLE (SUV) หรือ "รถกิจกรรมกลางแจ้ง" ติดตรา "สิงห์เผ่น" ออกจำหน่ายเป็นครั้งแรกในช่วงเวลามากกว่า 100 ปี นับแต่เริ่มผลิตรถยนต์คันแรกเมื่อปี 1890
รถกิจกรรมกลางแจ้ง ติดเครื่องหมายสิงห์เผ่น ออกจำหน่ายกลางปีหน้า
ฝรั่งเศส-เปอโฌต์ (PEUGEOT) ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของเมืองน้ำหอม กำลังจะเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของตนเอง โดยนำ SPORT UTILITY VEHICLE (SUV) หรือ "รถกิจกรรมกลางแจ้ง" ติดตรา "สิงห์เผ่น" ออกจำหน่ายเป็นครั้งแรกในช่วงเวลามากกว่า 100 ปี นับแต่เริ่มผลิตรถยนต์คันแรกเมื่อปี 1890
แม้ว่ายังเหลือเวลาอีกเกือบปี ก่อนที่จะออกจำหน่ายในยุโรปเดือนกรกฎาคม 2007 แต่ค่าย "สิงห์เผ่น" ก็เปิดเผยรายละเอียดของรถกิจกรรมกลางแจ้งแบบดังกล่าวแล้วว่า เป็นผลงานจากสัญญาความร่วมมือกับค่าย มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์พอเรชัน (MITSUBISHI MOTORS CORPORATION) แห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตั้งต้นเมื่อต้นปี 2005 โดยกำหนดให้ฝ่ายญี่ปุ่นซึ่งมีประสบการณ์มากมายในการออกแบบ และผลิตรถประเภทนี้ เป็นผู้พัฒนาพแลทฟอร์ม ส่วนฝ่าย เปอโฌต์-ซีตรอง (PEUGEOT-CITROEN) จะรับผิดชอบในส่วนอื่นๆ รวมทั้งระบบรองรับ ระบบห้ามล้อ ระบบพวงมาลัย ล้อ และเครื่องยนต์
เฉพาะในส่วนของเครื่องยนต์ ค่าย "สิงห์เผ่น" ให้รายละเอียดว่า เครื่องยนต์ที่จะนำมาใช้กับรถกิจกรรมกลางแจ้งแบบใหม่นี้ เป็นเครื่องเทอร์โบดีเซลคอมมอนเรล ผลงานจากความร่วมมือกับค่าย ฟอร์ด (FORD) ของสหรัฐอเมริกา ออกแบบ และพัฒนาขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อให้มีคุณสมบัติเหมาะสมกับรถขับเคลื่อน 4 ล้อ มีขนาดความจุ 2.2 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 156 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 38.8 กก.-ม. เป็นเครื่องยนต์ประหยัดเชื้อเพลิง ให้ไอเสียที่มีไอพิษต่ำ และออกแบบให้ใช้ได้กับเชื้อเพลิงไบโอดีเซล 30 % ส่วนระบบเกียร์ที่ใช้ จะเป็นเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ
จะมีจำหน่ายทั้งรถที่ติดตรา "สิงห์เผ่น" ของ เปอโฌต์ และติดตรา "จ่าโท" ของ ซีตรอง ในกรณีแรก ชื่อที่จะใช้ คือ เปอโฌต์ 4007 (PEUGEOT 4007) ดังที่เห็นในภาพประกอบทั้ง 3 ภาพ ส่วนในกรณีหลัง ยังไม่มีการเปิดเผยว่าจะใช้ชื่ออะไร
นับแต่ต้นศตวรรษหลังปี 1990 เป็นต้นมา ตลาดของรถขับเคลื่อน 4 ล้อในยุโรปเติบโตรวดเร็วมาก ในปี 2005 รถประเภทนี้มียอดขายมากกว่า 1 ล้านคัน หรือมากกว่าร้อยละ 6 ของยอดขายรถยนต์นั่งโดยรวม สำหรับรถกิจกรรมกลางแจ้งขับ 4 ล้อแบบใหม่ที่จะเริ่มจำหน่ายกลางปีหน้านี้ ค่าย เปอโฌต์-ซีตรอง ตั้งเป้าหมายการขายไว้ที่ระดับ 30,000 คัน/ปี
เจ้าของเครื่องหมายการค้า "สิงห์เผ่น" นับเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ซึ่งมีประวัติความเป็นมายาวนานที่สุดในโลก จุดเริ่มต้นของผู้ผลิตรถยนต์รายนี้ สามารถย้อนหลังไปได้ไกลจนถึงยุคหลังการปฏิวัติครั้งใหญ่ในประเทศฝรั่งเศส เมื่ออดีตนายพันของกองทัพบก
ผู้มีนามว่า ชอง-ปิแอร์ เปอโฌต์ (JEAN-PIERRE PEUGEOT) ได้ก่อตั้งกิจการซึ่งมีชื่อว่า SOCIETE PEUGEOT FRERES AINES ขึ้นเมื่อปี 1832 เพื่อผลิตสินค้าโลหะนานาชนิด ตั้งแต่สปริงนาฬิกา โครงร่ม เลื่อยเหล็ก ไปจนถึง ค้อน และเครื่องมืออื่นๆ
กิจการที่ว่านี้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่อตกทอดจนถึงมือรุ่นลูก ก็กลายสภาพจากผู้ผลิตสินค้าโลหะสารพัดชนิด เป็นผู้ผลิตจักรยานถีบ ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลก และเมื่อถึงมือรุ่นหลาน ก็สามารถพัฒนาอีกขั้นหนึ่ง จนกลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังจากเครื่องยนต์เบนซินในที่สุด
รถยนต์แบบแรกที่ค่าย "สิงห์เผ่น" ผลิตสำเร็จเมื่อปี 1890 เป็นรถ 4 ล้อ ติดตั้งเครื่องยนต์วางท้าย เป็นเครื่องยนต์ วี-ทวิน ที่ออกแบบโดย ไดมเลร์ (DAIMLER) แห่งเยอรมนี แต่ผลิตในฝรั่งเศส ต้องรอจนถึงนปี 1896 นั่นแหละ ค่าย "สิงห์เผ่น" จึงสามารถผลิตเครื่องยนต์ของตนเองได้ เป็นเครื่องยนต์ วี-ทวิน ขนาด 8 แรงม้า
หนึ่งศตวรรษผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน เปอโฌต์ เป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 2 ของเมืองน้ำหอม ในปี 2004 สามารถสร้างสถิติใหม่ให้แก่ตนเอง โดยทำยอดขายในตลาดทั่วโลกได้มากกว่า 2,000,000 คัน เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ก่อนจะลดลงเล็กน้อยเป็น 1,995,000 คัน ในปี 2005 อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลากว่าหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เปอโฌต์ ไม่เคยทำรถกิจกรรมกลางแจ้งออกขายเลย จนกระทั่ง เปอโฌต์ 4007 ที่กล่าวข้างต้น
* สหรัฐอเมริกา-ข่าวเล่าลือเกี่ยวกับการรวมกิจการของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่กำลังแพร่สะพัดอยู่ในขณะนี้ คือ การรวมตัวกันระหว่าง เจเนอรัล มอเตอร์ส คอร์พอเรชัน (GENERAL MOTORS CORPORATION) หรือ จีเอม(GM) บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในโลก กับค่าย เรอโนลต์-นิสสัน (RENAULT-NISSAN) และที่พิลึกพิลั่นยิ่งกว่านั้น ก็คือ การรวมกิจการของ จีเอม และ ฟอร์ด มอเตอร์ คัมพานี (FORD MOTOR COMPANY) เข้าด้วยกัน อย่างไรก็ตาม หากไปถามผู้บริหารของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ทั้ง4 รายนี้ คำตอบที่จะได้รับ คือ NO COMMENT
*เยอรมนี-ศาลเมืองมิวนิค ตัดสินให้จำคุก นาย กุนเธร์ ลิงค์ (GUNTHER LINK) อดีตผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของ บีเอมดับเบิลยู (BMW) เป็นเวลา 3 ปี ด้วยข้อหารับสินบนจากผู้ผลิตชิ้นส่วนให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์รายนี้ ลิงค์ ยอมรับต่อศาลว่า ในช่วงปี 2001-2005 เขารับสินบนจากผู้ผลิตชิ้นส่วนหลายราย เป็นเงินประมาณ 900,000 ยูโร หรือประมาณ 34 ล้านบาท และกรณีที่ครึกโครมที่สุด คือ การรับเงินสินบนจาก DRAXLMAIER บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนภายในห้องโดยสารและระบบไฟฟ้าของเยอรมนี เพื่อให้ชนะการประกวดราคาเพื่อเป็นผู้ป้อนชิ้นส่วนให้แก่รถ มีนี (MINI) รุ่นใหม่ ก่อนถูกไล่ออกเมื่อเริ่มการไต่สวนคดีในเดือนกรกฎาคม 2005 ลิงค์ ผู้มีวัย 55 ปี และมีลูก 2 คน ทำงานในหน้าที่ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อให้แก่ บีเอมดับเบิลยู มาแล้ว 12 ปี และมีรายได้ปีละ 120,000 ยูโร หรือประมาณ 4.6 ล้านบาท
* อังกฤษ-โรลล์ส-รอยศ์ (ROLLS-ROYCE) ซึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตรถยนต์ระดับอัครฐานที่ "เท้าไม่ติดดิน" และออกจะ "เจ้ายศเจ้าอย่าง" ดูท่าว่าจะเปลี่ยนไปแล้วนับแต่ตกมาอยู่ในครอบครองของ บีเอมดับเบิลยู (BMW) แห่ง เยอรมนี เรื่องหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นข้อพิสูจน์ คือ ในงานหาทุนสำหรับผู้ป่วยโรคเอดส์ ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิ STAYING ALIVE FOUNDATION ที่กรุงลิสบอนในโปรตุเกสเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา ผู้ผลิตรถยนต์รายนี้ร่วมสนับสนุน โดยส่งรถสุดหรู โรลล์ส-รอยศ์ แฟนทอม (ROLLS-ROYCE PHANTOM) คันใหม่เอี่ยมไปที่งาน 1 คัน แล้วให้บรรดาผู้มีชื่อเสียงที่อยู่ในงานเขียนลายเซ็นลงบนเบาะหลังของรถ 2 ในบรรดาผู้มีชื่อเสียงที่ว่านี้ คือ เจนสัน บัททัน (JENSON BUTTON) ยอดนักขับรถแข่งไม่ติดซิพของทีม ฮอนดา (HONDA) และ ลูอิส ฟิโก (LUIS FIGO) นักเตะทีมชาติโปรตุเกส จากนั้นก็ส่งรถกลับคืนเกาะอังกฤษ ยกเบาะหลังออก แล้วมอบให้แก่ ฮาร์ด รอค คาเฟ (HARD ROCK CAFE) ในลอนดอน ซึ่งบริจาคเงิน 17,500 ยูโร หรือประมาณ 665,000 บาท ให้แก่มูลนิธิ เพื่อแลกกับเก้าอี้ที่นั่งตัวที่ว่า
* อิตาลี-เมื่อบริษัทรถยนต์ลงมือเจรจาหาความเป็นไปได้ ในการร่วมมือกันทำอะไรบางอย่าง จะมีเพียง 1 ใน 10 ครั้งเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ตามคำยืนยันของ นาย อัลฟเรโด อัลตาวีญา (ALFREDO ALTAVILLA) รองประธานฝ่ายพัฒนาธุรกิจของค่าย เฟียต (FIAT) ซึ่งให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ทุกๆ 10 ครั้งที่เจรจากัน 6 ครั้ง การเจรจาจะยุติลงใน 2 สัปดาห์แรก อีก 3 ครั้งจะยืดยาวถึง 3 เดือนก่อนปิดฉากด้วยความล้มเหลว หากยึดตามตัวเลขที่เขาว่า ก็หมายความว่า เฟียต ซึ่งกำลังมีปัญหาด้านการเงิน คงมีรายชื่อการเจรจาที่ล้มเหลวอยู่แล้วไม่น้อยกว่า 81 รายการ เพราะในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมานี้ เฟียต สามารถเจรจากับผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นๆ จนประสบความสำเร็จไปแล้วรวม 9 ครั้ง โดยที่ในจำนวนนี้มี ฟอร์ด (FORD) เปอโฌต์-
ซีตรอง (PEUGEOT-CITROEN) ซูซูกิ (SUZUKI) แห่งประเทศญี่ปุ่น และ ทาทา (TATA) แห่งประเทศอินเดีย รวมอยู่ด้วย
ABOUT THE AUTHOR
ช
ชูศักดิ์ ชมจินดา
นิตยสาร Formula ฉบับเดือน ธันวาคม ปี 2549
คอลัมน์ Online : ธุรกิจ