พิเศษ(formula)
ฮอนดา วันนี้
การเดินทางไปญี่ปุ่นครั้งนี้ นอกจากจะได้เข้าชมรถยนต์รุ่นใหม่ๆ
และบรรยากาศภายในงานมหกรรมยานยนต์ โตเกียว ครั้งที่ 37 แล้ว บริษัท ฮอนด้า ฯ
ยังนำคณะสื่อมวลชนไปชมการทดสอบการชนระหว่าง ฮอนดา เลเจนด์ (LEGEND) กับ ฮอนดา ฟิท
(FIT) หรือที่คนไทยรู้จักกันในนาม แจซซ์ (JAZZ) และทดลองขับรถ ฮอนดา มากกว่า 20 รุ่น
ไฮไลท์ของการเยือนศูนย์โตชิกิ ของบริษัท ฮอนดา อาร์แอนด์ดี จำกัด คือ
การทดสอบการชนระหว่างรถครอบครัวขนาดใหญ่ กับรถขนาดเล็ก ในวันนั้นเป็นคู่ของ เลเจนด์ กับ ฟิท
ขับรถทั้ง 2 คันวิ่งเข้าปะทะกันแบบครึ่งหน้าที่ความเร็ว 64+64 กม./ชม. หุ่นผู้ขับและผู้โดยสารภายใน
เลเจนด์ และฟิท ปลอดภัย งานนี้ทำให้ได้ข้อสรุปถึงการพัฒนามาตรฐานรถยนต์ของ ฮอนดา ว่า
"ขนาดตัวอาจจะใหญ่หรือเล็ก แตกต่างกันไป แต่เรื่องของความปลอดภัยของผู้โดยสารนั้น
ต้องใกล้เคียงกัน"
ภายในศูนย์โตชิกิ ยังมีสถานีทดสอบรถภาคสนามอีกหลายสถานี ซึ่งเราได้มีโอกาสใช้ 4 สถานี
และทดลองขับรถถึง 15 โมเดล มากกว่า 20 รุ่น
สถานีทดสอบความเร็วสูง
สถานีทดสอบนี้ คล้ายสนามแข่ง เดย์ โทนา แต่ออกแบบให้สามารถรองรับความเร็วสูงถึง 200 กม./ชม.
โดยเริ่มจากรถอเนกประสงค์รูปแบบใหม่ เอเลเมนท์ (ELEMENT) ฝีมือพัฒนาโดยศูนย์ ฮอนดา
อาร์แอนด์ดี อเมริกา และผลิตในสหรัฐอเมริกา รูปทรงทึบ ดูแปลกตา
และมีโครงสร้างตัวถังแบบไร้เสากลาง บานประตูทั้ง 2
ฝั่งเปิดออกในแบบเดียวกับรถกระบะฟรีสไตล์แคบ เปิดกว้างได้ถึง 90 องศา
เหมาะกับการขนสิ่งของที่มีขนาดใหญ่และยาว เครื่องยนต์ 4 สูบ 16 วาล์ว ไอ-วีเทค ขนาด 2.4 ลิตร
160 แรงม้า และเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ พร้อมระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ เรียล-ไทม์ (REAL-TIME)
เหมือนกับ ซีอาร์-วี จึงออกตัวได้อย่างเบาแรงและประหยัดน้ำมัน
รถคันที่สองเป็น เอมดีเอกซ์ (MDX: MULTI DIMENSION X) รถอเนกประสงค์แบบ 7 ที่นั่ง
ที่ผลิตในประเทศแคนาดา ใช้เครื่องยนต์แบบวี 6 สูบ วีเทค 3.5 ลิตร 260 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 35.2
กก.-ม. เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ มีจุดเด่นตรงเทคโนโลยีระบบขับเคลื่อน 4 ล้ออัตโนมัติ VTM-4
ที่ควบคุมการกระจายแรงบิดสู่ล้อขับเคลื่อนทั้ง 4 ด้วยระบบอีเลคทรอนิคส์ พร้อมด้วยระบบคลัทช์คู่
ที่ติดตั้งอยู่ตรงกลางและด้านท้ายในการปรับเปลี่ยนการกระจายแรงบิดอย่างเหมาะสม (100:0 ถึง
50:50) จึงทำให้ความเร็วปลายไหลลื่นดีกว่าเจ้า เอเลเมนท์
ตามด้วยรถขนาดกลาง 3 รุ่น คือ อินสไปร์ (INSPIRE) แอคคอร์ด ซีดาน และแอคคอร์ด แวกอน
อินสไปร์ เป็นรถระดับหรู ที่ใช้โครงสร้างเดียวกับ แอคคอร์ด ในบ้านเรา
แต่เสริมด้วยเทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัย เช่น ระบบลดความเสี่ยงของการขับที่ก่อให้เกิดอันตราย เอชไอดีเอส
(HIDS: HONDA INTELLIGENT DRIVER SUPPORT SYSTEM) และระบบเตรียมพร้อมก่อนเกิดอุบัติเหตุ
ซีเอมเอส (CMS: COLLISION MITIGATION SYSTEM)
ระบบลดความเสี่ยงของการขับที่ก่อให้เกิดอันตรายนี้ ช่วยให้ผู้ขับเพิ่มความปลอดภัยขณะขับบนไฮเวย์
ด้วยระบบรักษาช่องทาง แอลเคเอเอส (LKAS: LANE-KEEPING ASSIST SYSTEM)
โดยอาศัยภาพที่มาจากกล้อง ซี-มอส (C-MOS) ซึ่งติดตั้งอยู่ภายในกระจกบังลมหน้า
โดยระบบนี้จะสั่งระบบเพาเวอร์แบบอีเลคทรอนิคของพวงมาลัยให้ส่งแรงต้านการหมุน
เพื่อให้ผู้ขับรักษาตำแหน่งพวงมาลัยให้อยู่ในช่องทางของตนเอง
และระบบควบคุมความเร็วและรักษาระยะห่างจากรถยนต์คันหน้า ไอเอชซีซี (IHCC: INTELLIGENT
HIGHWAY CRUISE CONTROL) โดยอาศัยข้อมูลที่ส่งมาจากเรดาร์คลื่นความถี่สูงที่ติดตั้งอยู่กับกระจังหน้า
วัดระยะห่างของตัวรถกับรถยนต์คันหน้า นำมาประมวลผลกับข้อมูลจากเซนเซอร์ตรวจจับความเร็ว
และเซนเซอร์รักษาตัวรถให้อยู่ในช่องทาง เพื่อรักษาระดับความเร็วให้ตรงกับที่ถูกตั้งไว้
โดยทำงานร่วมกับระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติครูสคอนโทรล (CRUISE CONTROL)
ปรับระดับความเร็วของรถและระยะห่างจากรถยนต์ที่วิ่งอยู่ในช่องทางเดียวกันโดยอัตโนมัติ
ระบบเตรียมพร้อมก่อนเกิดอุบัติเหตุ ทำงานร่วมกับระบบเข็มขัดนิรภัยอัตโนมัติ อี-พรีเทนชันเนอร์ (E-
PRETENSIONER) ช่วยเตือนให้ผู้ขับได้ทราบก่อน ด้วยเสียง แต่ถ้าอุบัติเหตุนั้นไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
ก็จะมีการเตรียมระบบต่างๆ ให้พร้อมก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุ เพื่อลดความเสียหายให้ตัวรถ
และอันตรายที่จะเกิดแก่ผู้โดยสาร เช่น ระบบเสริมแรงเบรคจะทำงานเพื่อชะลอความเร็ว
และเข็มขัดนิรภัยรัดกระชับตัวโดยอัตโนมัติ
ในเรื่องการประหยัดเชื้อเพลิง ฮอนดา ได้นำระบบแปรผันการทำงานของจำนวนลูกสูบ เวริเอเบิล ไซลินเดอร์
แมเนจเมนท์ ซิสเตม (VARIABLE CYLINDER MANAGEMENT SYSTEM) มาใช้กับเครื่องยนต์ วี 6 สูบ ไอ-
วีเทค 3.0 ลิตร 250 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 30.2 กก.-ม. ของ อินสไปร์
ระบบดังกล่าวจะลดจำนวนการทำงานของลูกสูบลงเหลือเพียง 3 สูบ โดยอัตโนมัติ ในขณะขับด้วยความเร็วคงที่
ทำให้ อินสไปร์ ใหม่ มีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันอยู่ที่ 11.6 กม./ลิตร เทียบเท่ากับเครื่องยนต์ 4 สูบ 2.4 ลิตร
แอคคอร์ด อีก 2 โมเดล เป็นรุ่นที่จำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นและยุโรป ซึ่งมีขนาดตัวเล็กกว่า แอคคอร์ด
ในบ้านเรา แต่ใช้เครื่องยนต์ 2.4 ลิตรเหมือนกัน
สถานีทดสอบการใช้งานทั่วไป
เส้นทางทั้งหมดสร้างเลียนแบบถนนในสภาพต่างๆ และใช้เป็นสถานีสำหรับกลุ่มรถครอบครัวขนาดเล็ก
ที่ถือว่าเป็นตลาดหลักของรถยนต์นั่ง ในกลุ่มนี้ ฮอนดา มี "ฟิท" ครองส่วนแบ่งสูงสุดในญี่ปุ่นอยู่
ส่วนในเมืองไทย ฮอนดา เปิดตัวปลายปีที่ผ่านมา โดยใช้ชื่อ "แจซซ์" เหมือนในยุโรป
ฟิท มีอยู่ 2 โมเดลหลัก คือ รถครอบครัว 5 ประตูขนาดเล็ก และฟิท เอรีอา (FIT ARIA) รถแบบ 4 ประตู
ที่ผลิตจากโรงงานโรจนะ
ด้วยรูปร่างที่คล้ายกับรถอเนกประสงค์เป็นทุนเดิม บวกกับหน้าตาและหลังคาสูงเต็มของ ฟิท ในแบบ 5
ประตู จึงดูลงตัว สวยกว่า ฟิท เอรีอา มากพอควร โดยเฉพาะส่วนท้าย
ภายในคล้ายกับ ซิที แต่ต่างกันเล็กน้อย ในส่วนของแผงข้างประตู เบาะนั่ง
และที่วางของใต้คอนโซลหน้า หลังคาที่ยาวจนสุดท้ายรถ และประตูหลังที่สามารถเปิดได้เต็มบาน
ทำให้ได้พื้นที่เหนือศีรษะและห้องโดยสารด้านหลังกว้างขวางกว่าและเข้าออกสะดวก
พร้อมเบาะนั่งแบบ อุลทราซีทส์ (ULTRA SEATS) พับเก็บและปรับขึ้น เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บสัมภาระ
และฝาหลังที่ใช้งานได้แบบรถอเนกประสงค์
ส่วนเครื่องยนต์ที่ใช้เป็นแบบ 4 สูบ ซิงเกิลโฮเวอร์เฮดแคมชาฟท์ หัวเทียนคู่ ที่เรียกว่า ไอ-ดีเอสไอ (I-
DSI) 2 ขนาด คือ 1.3 ลิตร 86 แรงม้า กับ 1.5 ลิตร เครื่องตัวเดียวกับ ซิที แต่มีกำลัง 90 แรงม้า ในรุ่น
เอรีอา และ 110 แรงม้า ในรุ่น ที (T) แทนที่จะเป็น 88 แรงม้า โดยใช้ระบบส่งกำลังอัตโนมัติ ซีวีที (CVT:
CONTINUOUSLY VARIABLE TRANSMISSION) ที่มีจุดเด่นเรื่องความประหยัดน้ำมัน โดยเฉพาะรุ่น
1.3 ลิตร มีอัตราสิ้นเปลืองต่ำสุด 23 กม./ลิตร และ 18.2 กม./ลิตร ในรุ่น 1.5 ลิตร
ถ้าเทียบสมรรถนะระหว่าง ฟิท 1.3 กับ ฟิท เอรีอา 1.5 กำลังที่ต่างกันเพียง 4 แรงม้า แรงบิด 12.1 กก.-
ม. ที่ 2,800 รตน. และ 13.4 กก.-ม. ที่ 2,700 รตน. ประกอบกับน้ำหนักตัวที่น้อยกว่า 60 กก. นั้น
ไม่หนีกันเท่าไร แต่ถ้าเป็นรุ่นที ที่ใช้เครื่องยนต์ขนาดเท่ากัน บอกได้เลยว่า ฟิท ดีกว่า
ไม่เพียงเท่านั้นส่วนท้ายที่สั้นกว่า ซิที นอกจากช่วยเพิ่มความคล่องตัว เมื่อใช้งานในเมืองแล้ว
จากการทดลองขับ พบว่า ฟิท ทรงตัวดี แม้จะใช้ความเร็วเกิน 120 กม./ชม.
ในสถานีทดสอบนี้ ยังมีรถอีก 4 รุ่น ให้ลองขับ ประกอบด้วย ไลฟ์ (LIFE) รถครอบครัวขนาดจิ๋ว โมบิลีโอ
(MOBILIO) มีนีแวนขนาดเล็ก 7 ที่นั่ง และโมบิลีโอ สไปค์ (MOBILIO SPIKE) มีนีแวน 5 ที่นั่ง
ไลฟ์ ใช้เครื่องยนต์ ไอ-ดีเอสไอ บลอคใหม่ 3 สูบ ขนาด 660 ซีซี 52 แรงม้า และรุ่นเทอร์โบ 64 แรงม้า
พร้อมระบบส่งกำลังแบบอัตโนมัติ 4 จังหวะ
แม้มีขนาดตัวเล็กใกล้เคียงกับ ไดฮัทสุ มิรา แต่ด้วยหน้าตาและหลังคาทรงสูงคล้ายรถการ์ตูน
ประกอบกับอุปกรณ์ที่เกินตัว อย่างเช่น หน้าจอแสดงข้อมูล มัลทิ-อินฟอร์เมชัน ดิสเพลย์ (MULTI-
INFORMATION DISPLAY) แสดงไฟสัญญาณเตือนรูปแบบต่างๆ อัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง
มาตรวัดรอบความเร็ว มาตรวัดระยะทาง และระบบแจ้งเตือนให้รับทราบเมื่อถึงเวลานำรถเข้าตรวจเชค
นอกจากนั้นยังแสดงข้อมูลเกี่ยวกับวันเกิด และปฏิทินซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับข้อมูลต่างๆ ทำให้ ไลฟ์
มีความน่าสนใจสูง
โมบิลีโอ เป็นรถ มีนี แวนขนาดกะทัดรัด รูปทรงกล่อง ยาว 4 เมตร สามารถรองรับผู้โดยสารผู้ใหญ่ได้ถึง
7 คน และใช้เครื่องยนต์ขนาด 1.5 ลิตร 90 แรงม้า พร้อมเกียร์อัตโนมัติ ซีวีที ตัวเดียวกับ ฟิท
และเพิ่มกำลังเป็น 110 แรงม้า ในรุ่น โมบิลิโอ สไปค์ มีนี แวนหน้าเหลี่ยม 5 ที่นั่ง
ทั้งสองตัว ตกแต่งภายในเหมือนกัน คันเกียร์ติดตั้งอยู่บริเวณแผงหน้าปัด
ใช้งานง่ายและเปิดทางสะดวกเมื่อต้องการเดินผ่านที่นั่งจากข้างหนึ่งไปอีกข้างหนึ่ง
หัวเกียร์จับเหมาะมือพอดี แต่ในรุ่น โมบิลีโอ จะมีเบาะหลัง
สถานีทดสอบเทคโนโลยีใหม่
นับเป็นครั้งแรกที่เราได้สัมผัสและทดลองขับรถพลังงานไฮโดรเจน เอฟซีเอกซ์ (FCX) ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน
ฟูเอล เซลล์ เทคโนโลยี (FUEL CELL TECHNOLOGY)
เอฟซีเอกซ์ อาศัยพลังงานไฟฟ้าจากกล่องตัวนำที่เรียกว่า ฮอนดา เอฟซี สแตค (HONDA FC STACK)
ที่อาศัยปฏิกิริยาทางเคมีจากการรวมตัวของไฮโดรเจนและออกซิเจน เป็นพลังงานหลัก
และส่งกลับพลังงานไฟฟ้า ด้วยเจเนอเรเตอร์ที่ติดตั้งไว้ที่ระบบขับเคลื่อน เป็นพลังงานเสริม
ซึ่งนอกจากจะมีเพียงน้ำออกมาแทนไอเสีย และใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนน้อยมาก
เมื่อเทียบกับรถไฮโดรเจนแบบเดิม โดยมีระยะทำการถึง 395 กม.
ส่วนสมรรถนะอัตราเร่งใกล้เคียงกับเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร ความเร็วปลายถึง 160 กม./ชม.
และมีการทรงตัวดี เพราะ ฮอนดา ติดตั้งชุดพลังทั้งหมดไว้ใต้พื้นรถ
สถานีทดสอบความแรง
ปิดท้ายด้วยรถแรงอย่าง ซีวิค และอินเทกรา ไทพ์ อาร์ (TYPE R) แอคคอร์ด ยูโร อาร์ (EURO R) เอส
2000 และเอนเอสเอกซ์ ที่เราได้ลองขับในสนามทดสอบสมรรถนะ ที่มีทั้งโค้งกว้างและแคบ โค้งหักศอก
โค้งรูปตัว เอส
ในสนามที่มีโค้งมากอย่างนี้ อินเทกรา ไทพ์ อาร์ 220 แรงม้า ทำได้ดี น่าพอใจกว่า ซีวิค ไทพ์ อาร์ และ
แอคคอร์ด ยูโร อาร์ ที่ใช้เครื่องยนต์รหัสเดียวกัน แต่เสียเปรียบเรื่องส่วนสูงและน้ำหนัก ขณะที่ เอส
2000 ขับสนุก กับอาการท้ายปัด และ เอนเอสเอกซ์ มาแบบแรงเหลือๆ
ผ่านไปครบ 4 สถานี ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ได้ขับรถกว่า 20 คัน พวกเรายังไม่รู้สึกเหนื่อย
ตรงกันข้ามกลับรู้สึกเสียดาย ที่มีเวลาน้อยไปสักหน่อย แต่ก็ต้องขอบคุณบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล
(ประเทศไทย) จำกัด สำหรับกิจกรรมมันๆ ในครั้งนี้
ศูนย์โตชิกิของบริษัท ฮอนดา อาร์แอนด์ดี จำกัด
ฮอนดาใช้งบประมาณ 6,800 ล้านเยนในการก่อสร้างศูนย์ทดสอบแห่งนี้
ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นศูนย์ทดสอบแห่งแรกในโลกที่สามารถทำการทดสอบการชนที่ใช้สิ่งกีดขวางยึดติดกับ
ที่และการทดสอบที่ให้รถยนต์สองคันชนกันในสภาพการณ์ที่จำลองจากอุบัติเหตุจริง
ศูนย์ทดสอบ ฯ มีพื้นที่ใช้สอยรวม 41,000 ตารางเมตร และมีเส้นทางทดสอบ 8
เส้นทางสร้างเป็นแนวรัศมีรอบจุดศูนย์กลาง
เส้นทางเหล่านี้เปิดโอกาสให้วิศวกรความปลอดภัยสามารถจำลองการชนจากเกือบทุกทิศทางด้วยการเ
พิ่มมุมชนทีละ 15 องศา นอกจากนี้ยังสามารถทดสอบการชนระหว่างรถยนต์ 2 คัน
ซึ่งเคลื่อนที่ด้วยความเร็วต่างกัน การชนระหว่างรถยนต์ซึ่งมีขนาดต่างกัน เช่น
ระหว่างรถยนต์นั่งกับรถบรรทุก อีกทั้งยังจำลองอุบัติเหตุรถยนต์ชนคนเดินถนนได้ด้วย
โดยการทดสอบแบบหลังนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบวิเคราะห์สถานการณ์การชนหลายลักษณะของ
ฮอนดา ศูนย์ทดสอบฯ ในร่มช่วยให้สามารถทดสอบได้โดยไม่ต้องห่วงเรื่องสภาพอากาศ
ซึ่งเป็นการช่วยย่นระยะเวลาการวิจัยและพัฒนาให้สั้นลงอีก
นอกจากนี้ ศูนย์ทดสอบแห่งนี้ ยังมีการทดสอบตามสถานีต่างๆ ภายนอกอาคาร
ทั้งสภาพเลียนแบบถนน สนามทดสอบความเร็วสูง และสมรรถนะการขับขี่ ในหลากหลายรูปแบบ ซึ่ง
ฮอนดา ให้ความสำคัญอย่างยิ่งทั้งในเรื่องความปลอดภัย
การอบรมวิธีขับขี่และวิธีลดการบาดเจ็บขณะเกิดอุบัติเหตุ
ABOUT THE AUTHOR
ธ
ธนสาร เสาวมล
ภาพโดย : ธนสาร เสาวมล และโรงงานนิตยสาร 399 ฉบับเดือน มกราคม ปี 2547
คอลัมน์ Online : พิเศษ(formula)