เล่นเป็นทีม(formula)
บีเอมดับเบิลยู คือ หัวใจของเรา
ในโอกาสครบรอบ 7 ปี ของ บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู ประเทศไทย จำกัด "เล่นเป็นทีม"เจาะลึกการทำงานของ ทีมประชาสัมพันธ์ บีเอมดับเบิลยู ตั้งแต่เริ่มต้นรุกตลาดในประเทศไทยโดยบริษัทแม่จากเยอรมนี จากคนเพียงคนเดียว จนขยายเป็นทีมประชาสัมพันธ์ในที่สุด
ดร. วิทย์ สิทธิเวคิน ผู้อำนวยการบริหารงานประชาสัมพันธ์
การศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล จากนั้นได้ศึกษาต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาการปกครอง พอจบก็ศึกษาต่อระดับปริญญาโท ที่ LONDON SCHOOL OF ECONOMICS วิชาปรัชญาการเมือง ซึ่งปีแรกไม่ประสบความสำเร็จจึงเปลี่ยนเป็นภาควิชาอุตสาหกรรมสัมพันธ์ ศึกษาเรื่องการจัดการทรัพยากรบุคคลในโรงงานจนจบปริญญาโททั้ง 2 ใบ หลังจากนั้นได้ศึกษาต่อปริญญาเอกด้านปรัชญาการเมือง ที่มหาวิทยาลัย UNIVERSITY OF SOUTHAMPION
ช่วง 3 ปีแรก ได้ทำงานด้านสื่อสารมวลชน โดยเป็นผู้สื่อข่าวกีฬา ให้หนังสือพิมพ์โลกกีฬาในเครือ บ.วัฏจักร จำกัด (มหาชน) และหนังสือพิมพ์เดลินิวส์
หลังจากจบการศึกษาได้สมัครงานหลายแห่ง โดยเฉพาะบริษัทต่างประเทศ จนกระทั่งได้ทำงานที่ NATION CHANNEL ช่วงแรกได้ทำข่าวการเมือง แต่ไม่ชอบ จึงเปลี่ยนมาทำข่าวเศรษฐกิจรวมทั้งดำเนินรายการสมาร์ทมันนี จนวันหนึ่งได้มีโอกาสสัมภาษณ์ มร. เยซุส โคร์โดบา ผู้บริหาร บริษัทบายเยอริชเช่อ ฯ หรือ บีเอม ฯ ปัจจุบัน จึงได้ชวนไปร่วมงานด้วย
"การทำงานใน บีเอมดับเบิลยู เริ่มต้นจากการมีแค่เพียงพนักงาน 2 คน โดยผมเป็นคนที่ 2 เพราะก่อนหน้านี้มี พี่พิสมัย เตียงพาณิชย์ ทำอยู่ก่อนแล้วโดยหน้าที่หลักของประชาสัมพันธ์เป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อมูล เอกสารข่าวรวมถึงการติดต่อประสานงานกับสื่อมวลชน ซึ่งช่วงแรกก็มีปัญหาบ้างเพราะผมไม่เคยทำประชาสัมพันธ์มาก่อน และตอนที่เป็นนักข่าวก็ไม่เคยสังเกตว่าประชาสัมพันธ์ทำงานกันอย่างไร
เมื่อเข้ามาทำงานก็ต้องศึกษาว่าเพื่อนร่วมงาน มีความถนัดด้านไหน บริษัทต้องการอะไรซึ่งถือว่าโชคดีเพราะ พี่พิสมัย ทำด้านนี้มานาน และสื่อมวลชนก็ให้ความเคารพนับถือดังนั้นเรื่องการติดต่อประสานงานกับสื่อมวลชนก็ต้องเรียนรู้งานจากพี่พิสมัยหลังจากนั้นเริ่มต้นเรียนรู้งานทุกอย่าง สร้างความผูกพัน ความเชื่อถือรวมถึงต่อเติมถึงทิศทางที่จะดำเนินต่อไปอย่างไร โดยอาศัยคนที่มีความรู้อยู่แล้วจากจุดเริ่มต้นของการขยายธุรกิจ และความก้าวหน้าของทีมประชาสัมพันธ์ จาก 2 คน ทีมก็เพิ่มเป็น 3 คน
การคัดเลือกคนอีกหนึ่งคน มองที่จุดขายของ บีเอมดับเบิลยู ที่ว่าไม่ใช่แค่รถแต่มีเรื่องเทคโนโลยีมาเกี่ยวข้องจึงต้องหาบุคลากรที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีมาประสานงานกับสื่อมวลชนดูแลเรื่องตรวจเชครถทดสอบก่อนส่งมอบ
บีเอมดับเบิลยู เคยทำโครงการเกี่ยวกับการศึกษา โดยนำนักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาฝึกงาน จึงได้ จีรอาจ มาร่วมงาน เหตุผลที่เลือกเพราะมีความรู้ด้านวิศกรรม มีมนุษย์สัมพันธ์ดี
การแบ่งหน้าที่การทำงานดูที่ความสามารถ และความถนัด ซึ่งไม่ยากเพราะทีมมีเพียงแค่ 3 คน โดยหน้าที่หลักของประชาสัมพันธ์จะแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ
1. การศึกษาเกี่ยวกับ ผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี
2. ธุรกิจในประเทศไทย และ
3. การตลาด ซึ่งจุดนี้จะเน้นหนักที่ฝ่ายการตลาดซึ่งประชาสัมพันธ์ก็จะมีหน้าที่นำสิ่งที่การตลาดดำเนินรายการ มารวบรวมให้เป็นข้อมูลที่ดีแก่สื่อมวลชน
นอกจากนี้ยังมีเรื่องการประสานงานกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการต่างๆส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเชิงนโยบาย เช่น การนำรถ บีเอมดับเบิลยู เข้าไปร่วมในการประชุมเอเปคการสนับสนุนรถรับรองแขกต่างประเทศ จุดนี้อาจจะไม่ต้องทำประชาสัมพันธ์โดยตรง แต่เมื่อนึกถึงรถของระดับผู้นำ ก็จะนึกถึง บีเอมดับเบิลยู
สำหรับการทำงานเป็นทีมให้ประสบความสำเร็จสิ่งสำคัญที่สุด คือ ความเข้าใจ มีปัญหาพูดกันตรงๆอย่างเช่น มีสิ่งไหนที่ทีมงานไม่พอใจในตัวเรา เขาก็ต้องพูดออกมา หรือว่าเราในฐานะหัวหน้าก็ต้องถามผู้ร่วมงานด้วยว่าตัวเรามีอะไรที่ผิดพลาด ช่วยเหลือหาแนวทางแก้ไขปัญหา ให้ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน
เป้าหมายสำคัญของ ทีมประชาสัมพันธ์ บีเอมดับเบิลยู คือ ทำให้สื่อมวลชน และบุคคลภายนอกมองว่าเราเป็นบริษัทที่น่าเชื่อถือ พูดตรงไปตรงมา เป็นที่ยอมรับในเรื่องความเป็นจริง ไม่หลอกลวง"
พิสมัย เตียงพาณิชย์
การศึกษาคณะครุศาสตร์ เอกจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มต้นทำงานหลังจบการศึกษาที่บริษัท เหมืองบ้านปู จำกัด ประมาณ 5 ปี หลังจากนั้นย้ายมาร่วมงานกับ บริษัท โซนี่ ประเทศไทย จำกัด และบริษัท พรีเมียร์ โกลบอล จำกัด ซึ่งงานในแต่ละแห่งก็จะแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น การเงินองค์กรสัมพันธ์
"เริ่มงานกับ บีเอมดับเบิลยู ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัท ฯ ในแผนกประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่ครอบคลุมงานทุกอย่างตั้งแต่ ติดต่อหน่วยงานราชการ สื่อมวลชน ไม่ได้แบ่งหน้าที่ว่าใครทำอะไร เพียงแต่ทำอะไรได้ก็ทำ หลังจากนั้นก็มีการจัดตั้งเป็นแผนก ฝ่าย จนถึงปัจจุบันครบ 7 ปี ของการดำเนินงานของ บีเอ็มดับเบิลยู ประเทศไทย
หลังจากนั้นปี 2543 ดร. วิทย์ เข้ามาดูแล และมี จีรอาจ ก็จะแบ่งหน้าที่การทำงานชัดเจนมากขึ้น เช่น ขณะนี้ก็จะดูแลเรื่องของการจัดการด้านต่างๆ ติดต่อประสานงานกับสื่อมวลชน ในเรื่องข้อมูลข่าวสาร
รู้สึกภูมิใจกับงานที่ทำ เพราะที่ผ่านมาในเรื่องการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคล ถือว่าประสบความสำเร็จไม่เคยมีปัญหากับสื่อ ได้รับความร่วมมือย่างดี ทำแล้วรู้สึกสบายใจ ส่วนบริษัทถือว่าเป็นการทำงานในระบบสากล เป็นอินเตอร์เนชันแนล การวางระบบดี รวมถึงรับฟังปัญหา และสามารถแสดงความคิดเห็นได้
การทำงานเป็นทีม สิ่งสำคัญ คือ ทุกคนต้องแชร์ข้อมูลกัน สามารถช่วยเหลือกัน เมื่อใครไม่อยู่ต้องทำงานแทนกันได้ อีกอย่างต้องเปิดเผย จริงใจ พูดคุยกันได้ ไม่กล่าวว่ากันลับหลัง ต้องเข้าใจและไว้วางใจกัน เมื่อเกิดปัญหาก็คุยกัน แล้วร่วมกันแก้ปัญหา
ส่วนความสำเร็จของ บีเอมดับเบิลยู ภูมิใจเพราะถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จ ได้เริ่มทำงานตั้งแต่ก่อตั้ง และบริษัทก็ให้ความสำคัญแก่เรา"
จีรอาจ ศิริภานุมาศ
การศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ เครื่องยนต์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหลังจบการศึกษาเริ่มงานแผนก RESERT DEVELOPMENT ของรถ ทแรคเตอร์ คูโบตาซึ่งถือว่าตรงกับที่เรียน ไม่นานก็ได้มาร่วมงานกับ บีเอมดับเบิลยู
"ก่อนหน้าไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า ประชาสัมพันธ์ทำงานอย่างไรบ้าง แต่ที่ตัดสินใจมาทำงานเพราะรู้สึกอิ่มตัวกับงานเก่า และคิดว่างานนี้เปิดโอกาสให้ตัวเองได้รู้จักโลกกว้างขึ้น น่าสนใจ และท้าทาย
ถือว่าเป็นการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หมด เมื่อทำแล้วรู้สึกสนุก มีทีมที่ดี ดร. วิทย์ เป็นหัวหน้าที่ดีสอนงานทุกอย่าง พร้อมกับพี่พิสมัย ก็ช่วยเหลือในทุกเรื่อง เพราะทั้งคู่มีประสบการณ์มาเป็นเวลานานอีกอย่างหนึ่งประชาสัมพันธ์เป็นงานที่กว้างไม่ได้จำกัดแต่เพียงเรื่องประชาสัมพันธ์อย่างเดียวแต่จะมีงานที่เกี่ยวข้องกับ หน่วยงานราชการ รัฐบาล เศรษฐกิจ ดีเลอร์ ฯลฯ
หน้าที่หลัก คือ ดูแลการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีของผลิตภัณฑ์ ทำเอกสารข่าว และข้อมูลทางเทคนิค ให้ผู้สื่อข่าว
การทำงานที่ผ่านมาภูมิใจที่ได้มีส่วนติดต่อประสานงานกับหน่วยงานราชการรวมถึงได้มีส่วนให้การต้อนรับผู้นำระดับชาติ แต่ก็ยังมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้อีกมากเพราะขณะนี้ทำเพียงแค่การดูแลตลาดในเมืองไทย ต่อไปในอนาคตอาจจะเป็น อาเซียน เอเชีย ยุโรป
สหรัฐอเมริกา
ABOUT THE AUTHOR
น
นุสรา เงินเจริญ/ภูริยา คงอัยรา
ภาพโดย : เอกลักษณ์ จุลสุคนธ์/ราชวัตร แสงจันทรานิตยสาร 399 ฉบับเดือน ธันวาคม ปี 2548
คอลัมน์ Online : เล่นเป็นทีม(formula)