พิเศษ(cso)
แนวทาง และวิธีเลือก...เครื่องเสียงติดรถยนต์
สินค้าเครื่องเสียงติดรถยนต์นั้นมีอยู่ด้วยกันหลายระดับราคา และมาจากหลายแหล่งผลิต
ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น อเมริกา ยุโรป ไต้หวัน มาเลเซีย ไทย ฯลฯ สินค้าประเภทดังกล่าว
สามารถตรวจสอบกันได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นที่ ร้านตัวแทนจำหน่ายที่ไปซื้อหรือได้ไป
ติดตั้งมา, จากผู้นำเข้า, ที่ข้างกล่องสินค้า ถ้าเป็นสินค้าที่มียี่ห้อ เป็นที่รู้จักกันทั่วไป
หรือมีจำหน่ายในบ้านเรามานาน ก็จะเป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถการันตีในเบื้องต้นได้ว่า เป็นสินค้า
ที่มีคุณภาพ และน่าเชื่อถือ ในครั้งนี้จะนำท่านมารู้จักถึงแนวทาง และวิธีเลือกเครื่องเสียง
ติดรถยนต์กันแบบมืออาชีพ
รู้ข้อมูลสินค้า
ก่อนตัดสินใจ
มีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ไม่แน่ใจว่าจะเลือกและเล่นเครื่องเสียงติดรถยนต์อย่างไร
และสินค้าที่สนใจอยู่นั้น มีคุณภาพมาก-น้อยแค่ไหน มีแนวเสียงเป็นอย่างไร เราสามารถศึกษา
และหาข้อมูลของสินค้าต่างๆ เหล่านั้นได้จากหลายแหล่ง อาทิเช่น เพื่อน, แคทาลอก, ร้านค้า,
ผู้นำเข้า หรือนิตยสารเครื่องเสียงรถยนต์ โดยมีหลักเกณฑ์ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ คือ การ
เปรียบเทียบสินค้าในแต่ละยี่ห้อที่คุณได้มองเอาไว้ก่อนแล้ว (2-3 ยี่ห้อ) หลังจากนั้นเป็นขั้นตอน
ในการทดสอบ และทดลองใช้งานในเบื้องต้นว่า มีวิธีใช้งานยาก-ง่ายมากน้อยแค่ไหน
เฮดยูนิท
ที่สามารถรองรับสื่อดิจิทอลต่างๆ
เครื่องเล่นประเภท วิทยุ/ซีดี, วิทยุ/ดีวีดี, ดีวีดี/ทีวี ในปัจจุบันได้ออกแบบให้รองรับการใช้งาน
กับสื่อดิจิทอล ออดิโอ และวีดีโอ ที่มีอยู่ด้วยกันหลายฟอร์แมทในรูปแบบของไฟล์ต่างๆ
(WMA/WAV/MP3/DIVX/JPEG/MPEG1/2) ทั้งนี้เพื่อเป็นการสนับสนุนการเชื่อม
ต่อใช้งานกับสื่อบันทึกระบบดิจิทอลต่างๆ อาทิเช่น IPOD, USB, SD CARD หรือ
เทคโนโลยี BLUETOOTH ในโทรศัพท์มือถือ ที่มีการออกแบบให้ใช้สายเชื่อมต่อ
เข้ากับวิทยุ และควบคุมการใช้งานได้โดยตรง หรือใช้อุปกรณ์เสริมต่อการใช้งานร่วมกัน
และถ้าหากคุณกำลังมองหาวิทยุดังกล่าว เพื่อการใช้งานในอนาคต ก็ควรจะตรวจสอบข้อมูล
เบื้องต้นของสินค้า รวมถึงฟังค์ชันของวิทยุว่ามีอะไรบ้างที่คุณต้องการ โดยเปรียบเทียบ
จุดเด่นต่างๆ ของสินค้าสัก 2-3 ยี่ห้อ ก่อนที่จะตัดสินใจ
การจัดระบบ
สำหรับอุปกรณ์ขยายเสียง
การจัดระบบขยายเสียง มีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบ อาทิเช่น ไฮเพาเวอร์, ซิงเกิล-แอมพ์,
ไบ-แอมพ์, ไทร-แอมพ์ และระบบเซอร์ราวน์ด คุณควรที่จะทำความเข้าใจว่าระบบต่างๆ
เหล่านั้นเป็นอย่างไร เพื่อที่จะได้ออกแบบระบบเสียงของคุณ โดยเลือกอุปกรณ์แยกชิ้นของ
ชุดเครื่องเสียงที่จะนำมาเข้าชุดกันได้อย่างเหมาะสม และตรงตามความต้องการของคุณ
รวมถึงงบประมาณที่ตั้งไว้
ไฮเพาเวอร์: เป็นระบบที่ง่ายที่สุด โดยใช้ภาคขยายในตัววิทยุที่มีกำลังขับตั้งแต่ 45-70
วัตต์x4 แชนแนล (MAX) สามารถนำไปขับลำโพงชุดหน้า และชุดหลังที่ติดมากับรถ
นอกจากนี้ยังสามารถเปลี่ยนลำโพงชุดใหม่ที่มีคุณภาพดีกว่าเดิม โดยเลือกลำโพงที่มี
ความไวไม่ต่ำกว่า 90 ดีบี (1 วัตต์/1 เมตร) เพื่อไม่ให้ภาคขยายเสียงในตัววิทยุทำงาน
หนักมากเกินไป
ซิงเกิล-แอมพ์: การจัดระบบเสียงในลักษณะดังกล่าว เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ
ด้านกำลังขับเสียงที่สูงขึ้น โดยใช้ภาคขยายในตัววิทยุขับลำโพงชุดหลัง และติดตั้ง
เพาเวอร์แอมพ์ 4 แชนแนล สำหรับขับลำโพงชุดหน้า ส่วนแชนแนลที่เหลือนำไปบริดจ์
ขับลำโพงซับวูเฟอร์ (1 ข้าง) ซึ่งระบบซิงเกิล-แอมพ์จะช่วยเพิ่มเสียงกลาง, แหลมให้กับ
ลำโพงชุดหน้าให้มีความชัดเจน รวมถึงรายละเอียดเสียง และประสิทธิภาพด้านความดัง
ที่สูงขึ้น นอกจากนี้ยังได้เสียงเบสส์ที่หนักแน่น และลึกจากลำโพงซับวูเฟอร์ที่เพิ่มเติม
เข้าไปในระบบ
ไบ-แอมพ์: การจัดชุดในลักษณะนี้จะใช้เพาเวอร์แอมพ์ (2 ตัว) โดยใช้เพาเวอร์แอมพ์
4 แชนแนล ที่มีวงจรครอสส์โอเวอร์ไฮพาสส์, โลว์พาสส์ในตัว นำไปตัดความถี่เสียงแหลม
เข้าทวีเตอร์ และโลว์พาสส์เข้าวูเฟอร์ ทำให้ลำโพงชุดหน้าแยกความถี่เสียงกลาง และ
แหลมได้อิสระ (ระบบ 2 ทาง) และเพาเวอร์แอมพ์ 2 แชนแนล ที่มีครอสส์โอเวอร์ชนิด
โลว์พาสส์ เพื่อนำไปตัดความถี่ต่ำให้ซับวูเฟอร์ ส่วนที่เหลือให้ใช้ไฮเพาเวอร์ในวิทยุขับ
ลำโพงชุดหลัง
ทไร-แอมพ์: ระบบดังกล่าวสามารถใช้เพาเวอร์แอมพ์ 2 หรือ 3 ตัว ด้วยการตัดความถี่เสียง
ออกเป็น 3 ช่วง (3 ทาง) เพื่อแยกเสียงทุ้ม, กลาง, แหลม ขับลำโพงแต่ละดอก โดยมีลำโพง
วูเฟอร์, มิดเรนจ์ และทวีเตอร์ ขับแยกเสียงอย่างอิสระ
ระบบเซอร์ราวน์ด: สำหรับระบบเสียงประเภทนี้ สามารถใช้เพาเวอร์แอมพ์ 2-3 ตัว
หรือตัวเดียวก็ได้ เช่น แอมพ์แบบมัลทิแชนแนล (5.1 CH) เพื่อนำไปต่อกับลำโพงได้
ครบทั้งชุด (หน้า/เซนเตอร์/หลัง/ซับ) สำหรับความบันเทิงในการฟังระบบเสียงรอบทิศทาง
หรือฟังเพลงในระบบสเตริโอ โดยมีภาคถอดรหัสระบบเสียง DTS/DOLBY DIGITAL
และอื่นๆ อยู่ภายในตัว และผู้ผลิตสามารถออกแบบให้มีวงจรถอดรหัสอยู่ในเครื่องเล่น
วิทยุ/ดีวีดี, ดีวีดี/ทีวี หรืออุปกรณ์ต่อพ่วง ซึ่งขึ้นอยู่กับการเลือกใช้งาน และงบประมาณ
ของคุณ
วิธีเลือกลำโพงติดรถยนต์
พื้นฐานของหูมนุษย์จะมีขอบเขตของการได้ยินเสียงระหว่างช่วงความถี่ 20-20,000 HZ
แต่ช่วงการได้ยินจริงๆ นั้น ส่วนมากจะอยู่ที่ความถี่ 30-15,000 HZ ดังนั้นการออกแบบ
ลำโพงส่วนใหญ่จะตั้งอยู่บนพื้นฐานในแนวอุดมคติ โดยลำโพงที่มีโครงสร้างกรวยขนาดใหญ่
จะตอบสนองได้ดีในช่วงความถี่ต่ำ ส่วนกรวยที่มีขนาดเล็กจะตอบสนองในช่วงความถี่สูง
ดังนั้นลำโพงที่ดีจะต้องมีประสิทธิภาพในการตอบสนองความถี่ได้ตลอดย่าน
ลำโพงที่ดีควรเป็นอย่างไร ?
โดยปกติเสียงอะไรก็ตามที่ฟังแล้วรู้สึกได้ถึงความเป็นธรรมชาติ และมีความชัดเจนเหมือน
เสียงจริง ไม่ว่าจะเป็นเสียงเป่าปาก, เสียงพูด, กระซิบ ฯลฯ ถือว่าเสียงเหล่านี้ คือ เสียงที่
เป็นธรรมชาติ ทำให้ผู้ผลิตลำโพงเป็นจำนวนมาก ได้ออกแบบและคัดเลือกวัสดุต่างๆ
หลายประเภท เพื่อนำไปใช้ผลิตกรวยลำโพง ที่สามารถถ่ายทอดเสียงได้ใกล้เคียงกับเสียง
จริง หรือถ่ายทอดเสียงออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ สำหรับวัสดุที่นำมาใช้ในการผลิตเป็น
กรวยขับเสียง มีอยู่ด้วยกันหลายประเภทได้แก่
วัสดุที่ทำจากโลหะ (TITANIUM) ส่วนใหญ่จะนำไปใช้ผลิตลำโพงทวีเตอร์ เพื่อ
ให้ตอบสนองช่วงความถี่สูงได้ดี มีความชัดเจนสูง แม้ในระดับเสียงที่ดังมากๆ โดยให้
ปลายเสียงแหลมที่ระยิบระยับ สามารถหยุดการสั่นตัวได้อย่างรวดเร็ว เมื่อสัญญาณดนตรี
ขาดหายไป
วัสดุที่ทำจากผ้าไหมอาบน้ำยา (SILK) และไมลาร์ (MYLAR) หรือเรียกรวมๆ ว่า
SOFT DOME TWEETER เป็นวัสดุที่มีความเบา และสามารถลดการสั่นค้างของ
เรโซแนนศ์ได้ดี สามารถตอบสนองความถี่สูงได้นุ่มนวล โดยยังคงให้รายละเอียดของ
เสียงดนตรีที่บางเบาได้
วัสดุที่ทำจากกระดาษ (PAPER) ส่วนใหญ่จะใช้กับลำโพงวูเฟอร์ และซับวูเฟอร์ ที่มีการ
เคลือบด้วยเคฟลาร์ หรืออลูมินัม, โพลีโพรไพลีน เพื่อให้โครงสร้างกรวยมีความแข็งแกร่ง
น้ำหนักเบา และไม่เกิดอาการบิดงอ เมื่อขับที่ระดับเสียงดังๆ ส่วนวัสดุที่นำไปเคลือบกับ
กระดาษนั้นยังส่งผลต่อคุณภาพเสียงที่จะทำให้เสียงนั้น มีความเป็นธรรมชาติมาก-น้อย
แค่ไหน
ส่งท้าย
เป็นอย่างไรบ้างกับแนวทาง และวิธีเลือกเครื่องเสียงติดรถยนต์ที่สามารถนำไปใช้เป็น
หลักในการเล่นเครื่องเสียงในปัจจุบัน ที่มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว เพื่อ
ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคได้อย่างทันท่วงที ส่วนฉบับหน้าจะเป็นเรื่องอะไรนั้น
ต้องมาติดตามกัน
ABOUT THE AUTHOR
ก
กองบรรณาธิการ
นิตยสาร 409 ฉบับเดือน ตุลาคม ปี 2550
คอลัมน์ Online : พิเศษ(cso)