ความท้าทายของการสืบทอดตำนานที่มีมาหลายปี กับ DEFENDER ที่ครบเครื่องกว่าเดิม
รุ่นที่เราได้ทดลองขับเป็นตัวถัง 5 ประตู รหัส 110 (รุ่น 3 ประตู จะมีรหัส 90) ขนาดตัวใหญ่โตเกินคาด (ความยาว 5,018 มม. และระยะฐานล้อ 3,022 มม.) ตัวถังเน้นความเรียบเนียน โดยเฉพาะด้านข้างตัวรถ ไฟส่องสว่างทรงกลม ถูกติดตั้งกรอบไฟทรงเหลี่ยม มีส่วนคล้าย DEFENDER (ดีเฟนเดอร์) รุ่นดั้งเดิม สิ่งหนึ่งที่ถูกรักษาเอาไว้ คือ การติดตั้งยางอะไหล่ที่ด้านนอกท้ายรถ เป็นสิ่งที่หาได้ยากในรถเอสยูวียุคปัจจุบัน
ห้องโดยสารของ LAND ROVER DEFENDER (แลนด์ โรเวอร์ ดีเฟนเดอร์) เป็นจุดที่น่าสนใจไม่น้อย การออกแบบโดยรวมเน้นความเรียบง่าย มีความดิบในตัว การเลือกใช้วัสดุตกแต่งจึงไม่เน้นความหรูหราเหมือนบรรดา RANGE ROVER (เรนจ์ โรเวอร์) แต่มีความลงตัว มีความดิบห้าวคล้ายกับรูปทรงภายนอก สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ บรรดาอุปกรณ์ใช้งาน รวมถึงจอแสดงผลแบบดิจิทอล บนคอนโซลกลางเป็นหน้าจอระบบสัมผัส ความละเอียดคมชัด ปุ่มใช้งานมากมายบนคอนโซลกลาง รวมถึงคันเกียร์ที่ติดตั้งในระดับค่อนข้างสูง
การทดลองขับเริ่มต้นขึ้น ณ สนามฝึกขับและทดสอบกรมการขนส่งทางบก จ. กาญจนบุรี การขับขี่ผ่านเส้นทางสมบุกสมบันพอสมควร (แม้จะเป็นระยะทางสั้นๆ) เพื่อพิสูจน์สมรรถนะการลุยอุปสรรคของ DEFENDER ที่ไม่เป็นรองใคร รุ่นที่เราทำการทดสอบ คือ รุ่นย่อย D240 ใช้เครื่องยนต์ดีเซล เทอร์โบ ขนาด 2.0 ลิตร กำลังสูงสุด 240 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 43.9 กก.-ม. เกียร์อัตโนมัติ 9 จังหวะ พร้อมระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา มีโหมดขับเคลื่อนที่หลากหลาย ในส่วนแรกเราขับผ่านเส้นทางฝุ่น แล่นผ่านแอ่งน้ำเล็กน้อย ตัวรถสามารถแล่นผ่านได้สบายๆ มีอาการไถลบนพื้นเปียกลื่นเพียงเล็กน้อย แต่ไม่เสียการควบคุมแต่อย่างใด ตัวถังขนาดใหญ่ไม่มีผลต่อความคล่องแคล่วของการขับเคลื่อนด้วยพละกำลัง และการส่งกำลังที่ลงตัว ขณะที่พวงมาลัยมีน้ำหนักค่อนข้างเบา แต่ยังตอบสนองได้แม่นยำ
การลุยทางสมบุกสมบันอย่างจริงจังเริ่มต้นขึ้นในส่วนถัดไป การลุยแอ่งน้ำที่เป็นพื้นโคลนเลน ผู้ฝึกสอนแนะนำให้เราเปลี่ยนมาใช้โหมดขับเคลื่อน 4 ล้อแบบเน้นแรงบิด และรองรับการลื่นไถลได้ดีขึ้น การแล่นผ่านเป็นไปอย่างง่ายดาย โดยที่แทบไม่ต้องกดคันเร่งแม้แต่น้อย การส่งกำลังไปยังล้อแต่ละข้างเป็นไปอย่างลงตัว นับเป็นอีกหนึ่งการรังสรรค์ที่น่าสนใจของ LAND ROVER DEFENDER ที่ปรับแต่งการส่งกำลังสำหรับการลุยให้ทำได้อย่างง่ายดาย ไม่ต้องใช้ทักษะมากเกินควร ถัดมาเป็นการลุยน้ำลึก ประสิทธิภาพการลุยน้ำลึกของรถรุ่นนี้อยู่ที่ 900 มม. เราเปลี่ยนมาใช้โหมดสำหรับลุยน้ำลึกโดยเฉพาะ การแสดงผลบนหน้าจอจะสามารถแสดงระดับน้ำให้เห็นด้วย ทำให้เราทราบว่าน้ำในสถานีทดลองขับมีความลึกทั้งหมด 600 มม. ตัวรถแล่นผ่านได้อย่างเรียบเนียนที่ความเร็วต่ำ มีความมั่นคงดีมาก ไม่มีอาการโคลงให้สัมผัส แล่นผ่านพื้นน้ำได้สบาย รวมถึงการแล่นออกจากพื้นน้ำที่เป็นทางลาดชันทำได้ไม่ยากเย็น จากมุมปะทะ 38.0 องศา และมุมจาก 28.0 องศา (ในโหมดออฟโรด ที่จะยกความสูงของตัวรถขึ้นมา)
หนึ่งในสถานที่ที่ LAND ROVER DEFENDER ถูกใช้งานเป็นประจำ เหมือนกับรุ่นคลาสสิคในอดีต คือ การขึ้นเนินเขาสูงชัน ทางผู้จัดงานให้ผู้ทำการทดลองขับแล่นขึ้นเนินเขาที่มีความสูงถึง 45 % แรงบิดของเครื่องยนต์ดีเซล และการส่งกำลังทำให้การขึ้นเนินทำได้อย่างง่ายดาย ไม่ต้องกดคันเร่งมากเกินไป ผนวกกับระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน ป้องกันการไหลลงเนินอย่างได้ผล นอกจากนี้การลงจากเนินเป็นส่วนที่มีความลาดชันถึง 60 % เป็นความชันสูงสุด การแล่นลงเนินต้องอาศัยระบบควบคุมความเร็วลงทางลาดชันที่ลงตัว DEFENDER สามารถแล่นลงเนินได้อย่างมั่นคง ระดับความเร็วต่ำคงที่ (สามารถปรับตั้งได้) ไม่รู้สึกหวาดเสียวแต่อย่างใด เหมาะสำหรับการแล่นขึ้น/ลงบนเนินเขาได้ดีมาก
แม้เป็นระยะเวลาสั้นๆ กับ LAND ROVER DEFENDER เรารู้สึกทึ่งกับคุณสมบัติการลุยทางสมบุกสมบันที่ล้ำสมัย สามารถผ่านอุปสรรคได้ไม่ยากเย็น ไม่แพ้ตัวลุยแบบดั้งเดิม ภายใต้ระบบขับเคลื่อนในโหมดต่างๆ ที่หลากหลาย เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับตัวลุยระดับตำนานรุ่นนี้ ภายใต้ตัวถังทรงเหลี่ยมมีกลิ่นอายของรุ่นดั้งเดิม แต่มีเส้นสายที่ร่วมสมัยมากขึ้น ห้องโดยสารกว้างขวาง เน้นความอเนกประสงค์ และการใช้งานที่หลากหลาย เพียงเท่านี้ก็ถือว่ามีความครบเครื่องการเป็นตัวลุยระดับหัวแถว พร้อมการประกาศในการกลับมาของตัวลุยระดับตำนานที่ไม่เป็นสองรองใคร !
การผสมผสานความทันสมัยกับประสิทธิภาพการลุยอันเหลือเชื่อ คือ จุดเด่นที่ไม่ธรรมดาของ LAND ROVER DEFENDER รุ่นล่าสุด