เปิดตัวครั้งแรกในโลก กับครอสส์โอเวอร์ที่มีความอเนกประสงค์กว่าเดิม ขุมพลังไฮบริด ประหยัดเชื้อเพลิงหายห่วง
รูปทรงภายนอกของ TOYOTA COROLLA CROSS (โตโยตา โคโรลลา ครอสส์) เป็นครอสส์โอเวอร์ที่มีความบึกบึนกว่าเพื่อนร่วมค่ายอย่าง C-HR (ซี-เอชอาร์) สันเหลี่ยมชัดเจน ให้อารมณ์ใกล้เคียงกับเอสยูวี กระจังหน้าขนาดใหญ่ ไฟหน้าทรงเรียว ล้อแมกขนาด 18 นิ้ว (ในรุ่นทอพ ไฮบริด พรีเมียม เซฟที) การใช้โครงสร้างตัวถัง TSGA (ทีเอสจีเอ) ร่วมกับ C-HR ทำให้ระยะฐานล้อของ COROLLA CROSS เท่ากันที่ 2,640 มม. แต่ความยาวของตัวถังจะมากกว่าเล็กน้อย เนื่องจากส่วนท้ายเน้นพื้นที่ใช้สอยมากกว่าเดิม เสริมความอเนกประสงค์ด้วยชุดราวหลังคา โดยรวมแล้วจัดเป็นครอสส์โอเวอร์ที่มีเส้นสายเฉพาะตัว ไม่ซ้ำใคร
COROLLA CROSS ได้พิสูจน์คุณลักษณะที่โดดเด่นอีกประการ นั่นคือ “ทัศนวิสัย” ด้วยช่องกระจกทรงสามเหลี่ยม บริเวณเสาเอถูกออกแบบมาให้มีขนาดใหญ่เพียงพอ มีประโยชน์ยามเมื่อเข้าโค้งต่อเนื่อง หรือหากใช้ความเร็วต่ำก็มีประโยชน์ในการมองเห็นขอบถนนด้านข้าง (ติดกับผู้ขับ) ได้ดีเช่นกัน ตามหลักการที่ว่า การมองเห็นที่ดี นำมาสู่การเข้าโค้งที่แม่นยำ และนี่คือ อีกหนึ่งจุดเด่นของรถรุ่นนี้
เรายังมีโอกาสนั่งเป็นผู้โดยสารบนเบาะด้านหลัง และพบว่า COROLLA CROSS มีความกว้างขวางที่ทำได้น่าพอใจ พนักพิงหลังทำมุมเอนได้พอเหมาะ นั่งได้สบายโดยเฉพาะการนั่งเป็นระยะเวลานานๆ ในแง่ของการเดินทางไกล และสำคัญที่สุด คือ ทัศนวิสัยโดยรวมที่ปลอดโปร่ง มองเห็นได้รอบตัว ทีมงานของเรามีความสูงประมาณ 170 ซม. พบว่าพื้นที่เหนือศีรษะยังเหลืออีก 1 กำปั้นกว่าๆ จึงให้ความรู้สึกปลอดโปร่งเป็นอย่างดี ขอบล่างของกระจกหน้าต่างอยู่ในระดับเหนือหัวไหล่เล็กน้อย สามารถมองเห็นทิวทัศน์ด้านนอกได้ชัดเจน ไม่อึดอัด (ต่างจาก C-HR ที่เน้นรูปทรงแบบ COUPE ทำให้มุมมองของผู้โดยสารด้านหลังค่อนข้างอับ และอึดอัด) เสริมด้วยการติดตั้งหลังคาซันรูฟ ช่วยเพิ่มความรู้สึกปลอดโปร่งได้อีก
TOYOTA COROLLA CROSS ที่เราได้ทดลองขับเป็นรุ่นทอพ เครื่องยนต์ระบบไฮบริด ประกอบด้วยเครื่องยนต์เบนซิน 1.8 ลิตร และมอเตอร์ไฟฟ้า ให้กำลังทั้งระบบที่ 122 แรงม้า เป็นระบบไฮบริดที่ถูกใช้งานใน C-HR และ COROLLA ALTIS (โคโรลลา อัลทิส) นั่นเอง สเปคเหมือนกันทุกประการ การทดสอบอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. (ตามเข็มบนหน้าปัด) อยู่ที่ประมาณ 12-13 วินาที กับการกดคันเร่งบนทางตรงยาวประมาณ 300 ม. ระดับของแบทเตอรีมีพอสมควรพร้อมเสริมการขับเคลื่อน เมื่อกดคันเร่งลงไปจนสุด จึงมีเสียงหวีดหวิวของมอเตอร์ไฟฟ้า ขับเคลื่อนร่วมกับเครื่องยนต์เบนซิน 1.8 ลิตร ความเร็วไต่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่หวือหวาแบบหลังติดเบาะ แต่เน้นความไหลลื่น อย่างที่เคยสัมผัสมาแล้วกับ C-HR ส่วนอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยในรุ่นไฮบริดอยู่ที่ 23.3 กม./ลิตร (ข้อมูลจาก อีโค สติคเกอร์)
ต่อมาเป็นการทดลองการตอบสนองของการบังคับเลี้ยว และระบบรองรับ ด้วยการเร่งความเร็วขึ้นมาที่ 60 กม./ชม. และแล่นผ่านไพลอนแบบสลาลอม หักเลี้ยวต่อเนื่องซ้าย/ขวา พวงมาลัยที่มีน้ำหนักเบาจากการทดลองขับช่วงแรก แปรเปลี่ยนเป็นความเฉียบคมที่ทำได้ดีอย่างน่าพอใจ น้ำหนักเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังบังคับควบคุมได้แม่นยำ นอกเหนือจากการบังคับควบคุม ระบบรองรับก็ตอบสนองได้ดี (ขอย้ำอีกครั้งว่าระบบรองรับด้านหลังเป็นแบบทอร์ชันบีม) อาการโคลงมีเพียงเล็กน้อย หากใครที่กังวลว่าตัวถังของ COROLLA CROSS ที่มีความเป็นเอสยูวีมากขึ้น จะส่งผลต่อความคล่องแคล่วเมื่อใช้ความเร็วระดับหนึ่ง ก็ขอบอกเลยว่า “สบายใจได้ หายห่วง”
คำว่า ครอสส์โอเวอร์ ต่างก็มีใช้กันอย่างแพร่หลาย จากความนิยมที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่อัตราส่วนของการผสมผสานที่แตกต่าง ทำให้ครอสส์โอเวอร์แต่ละรุ่นมีบุคลิกเฉพาะตัว สำหรับ TOYOTA COROLLA CROSS ถูกเพิ่มดีกรีการเป็นเอสยูวีมากขึ้น ทำให้มีตัวถังที่บึกบึน ใหญ่โต มีมาดความเป็นรถอเนกประสงค์ชัดเจน แต่ไม่เทอะทะแต่อย่างใด ห้องโดยสารกว้างขวาง ทัศนวิสัยยอดเยี่ยม มีอุปกรณ์ใช้สอยเพื่อความสะดวกสบาย มีการประหยัดเชื้อเพลิงที่ดีจากเครื่องยนต์ไฮบริด และสมรรถนะที่ดีสมตัว ภายใต้ราคาที่ไม่ต่างจากคู่แข่ง เชื่อว่ารถรุ่นนี้สามารถดึงความสนใจจากผู้ที่ต้องการอรรถประโยชน์ที่ครบครัน ภายใต้ราคาระดับ 1 ล้านบาทต้นๆ จากค่ายรถที่มีศูนย์บริการแพร่หลาย อย่าได้มองข้ามรถรุ่นนี้ไปเชียว กับทางเลือก 2 เครื่องยนต์ และราคาที่ 989,000-1,199,000 บาท
ทางเลือกที่น่าสนใจมาก สำหรับผู้ที่ต้องการครอสส์-โอเวอร์ ตอบสนองทั้งการใช้งานในเมือง และการใช้งานแบบอเนกประสงค์