กรมการขนส่งทางบก แนะนำของรถเก๋ง รถกระบะ หรือรถตู้ ที่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 7 ปี และรถจักรยานยนต์มีอายุการใช้งานไม่เกิน 5 ปี ชำระภาษีรถประจำปีผ่านเวบไซท์ สะดวก รวดเร็ว รอรับเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีได้ทางไปรษณีย์
จันทิรา บุรุษพัฒน์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบกพัฒนาการให้บริการประชาชนในทุกด้านเพื่อสร้างมาตรฐานคุณภาพการบริการภาครัฐที่สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีส่วนสำคัญในการลดขั้นตอน ลดระยะเวลา ปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกมีบริการรับชำระภาษีรถประจำปีผ่านระบบอินเตอร์เนทที่เวบไซท์ https://eservice.dlt.go.th/ ซึ่งได้รับความนิยมจากประชาชนเพิ่มมากขึ้น เฉพาะเดือนกุมภาพันธ์ 2562 สัดส่วนการรับชำระภาษีรถประจำในเขตกรุงเทพมหานคร มีผู้ใช้บริการผ่านระบบอินเตอร์เนทจำนวน 18,181 คัน จัดเก็บภาษีรถประจำปีได้ 25,562,052.08 บาท ส่วนการใช้บริการ ณ สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-5 ยังคงได้รับความนิยมสูงสุดจำนวน 388,631 คัน จัดเก็บภาษีรถประจำปีได้ 551,445,658.87 บาท รองลงมา คือ การชำระภาษีรถประจำปีผ่านช่องทาง “เลื่อนล้อ ต่อภาษี (Drive Thru for Tax)” ซึ่งตั้งอยู่ภายในสำนักงาน จำนวน 49,110 คัน จัดเก็บภาษีได้ 88,549,924.45 บาท และหน่วยเคลื่อนที่รับชำระภาษีรถประจำปีในวันเสาร์-อาทิตย์ ตามโครงการ “ชอพให้พอ แล้วต่อภาษี (Shop Thru for Tax)” ที่ห้างสรรพสินค้า มีผู้มาชำระภาษีรถประจำปีจำนวน 47,581 คัน จัดเก็บภาษีได้ 69,712,764.17 บาท ส่วนที่ศูนย์บริการร่วมคมนาคม เชิงสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินให้บริการในวันจันทร์-ศุกร์ มีผู้มาชำระภาษีรถประจำปี 7,691 คัน จัดเก็บภาษีได้ 9,952,241.48 บาท
รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ การให้บริการชำระภาษีรถประจำปีผ่านอินเตอร์เนทมีเงื่อนไขต้องเป็นรถเก๋ง รถกระบะ หรือรถตู้ ที่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 7 ปี และรถจักรยานยนต์มีอายุการใช้งาน ไม่เกิน 5 ปี ต้องมีกรมธรรม์ประกันภัยตาม พรบ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เมื่อดำเนินการชำระภาษีรถประจำปีเรียบร้อยแล้ว กรมการขนส่งทางบกจะจัดส่งใบเสร็จรับเงิน และเครื่องหมายแสดงการเสียภาษี ให้ผู้ชำระเงินทางไปรษณีย์ภายใน 10 วันทำการ นับจากวันชำระเงิน โดยมีค่าจัดส่งเอกสาร 32 บาททั่วไทย หลังจากนั้นเจ้าของรถสามารถนำใบคู่มือจดทะเบียนรถไปปรับรายการได้ที่สำนักงานขนส่งทั่วประเทศ สำหรับรถเก๋ง รถกระบะ และรถตู้ที่มีอายุการใช้งานเกิน 7 ปี และรถจักรยานยนต์ที่มีอายุการใช้งานเกิน 5 ปี ต้องนำรถเข้ารับการตรวจสภาพกับสถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) โดยรถที่ผ่านการตรวจสภาพแล้วสามารถชำระภาษีรถประจำปีได้ทั้งที่สำนักงานขนส่งจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ เพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดจากสภาพตัวรถ โดยรถที่นำมาใช้งานบนท้องถนนต้องมีความมั่นคงแข็งแรง มีสภาพพร้อมใช้งาน มีค่าควันดำจากท่อไอเสียรถยนต์ อยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลต่อสุขภาวะในระบบทางเดินหายใจรองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวในที่สุด
-------------