เรื่องเด่น Quattroruote
JEEP GRAND CHEROKEE
รุ่น 4XE SUMMIT RESERVE
เอสยูวีสัญชาติอเมริกัน ลำดับที่ 5 ของสายพันธุ์ กับการประเดิมทำตลาดด้วยขุมพลังแบบพลัก-อิน ไฮบริด ตัวถังมีพื้นที่กว้างขวาง และการโดยสารที่สะดวกสบาย แต่ยังมีสมรรถนะที่ฉับไวทันใจ หากต้องการประหยัดเชื้อเพลิง ผู้ขับจำเป็นต้องอาศัยการชาร์จกระแสไฟฟ้าเป็นประจำ
ราคาของรถทดสอบ
• 106,000 ยูโร (ประมาณ 4,561,000 บาท ไม่รวมภาษีนำเข้า)
เครื่องยนต์
• เบนซิน เทอร์โบ 4 สูบเรียง + มอเตอร์ไฟฟ้า
• ความจุ 1,995 ซีซี
• กำลังสูงสุด 381 แรงม้า
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
• จากผู้ผลิต 34.5 กม./ลิตร
• จากการทดสอบ 30.1 กม./ลิตร
ความคุ้มค่าโดยรวม
• 12.88 ยูโร/ 100 กม.
ความคุ้มค่าเมื่อชาร์จไฟฟ้า
• 13.97 ยูโร/ 100 กม.
อัตราการปล่อยไอเสีย
• จากการทดสอบ 69 กรัม/กม.
จุดแข็ง
คุณภาพการประกอบโดยรวม และอุปกรณ์ใช้งานที่ติดตั้งเข้ามาในรถคันนี้ บ่งบอกการเป็นรถยนต์ที่มีความเพียบพร้อม และครบครัน นอกจากนี้ สมรรถนะก็ทำได้น่าพอใจเช่นกัน เป็นผลดีจากการทำงานร่วมกันอย่างลงตัวของเครื่องยนต์สันดาป และมอเตอร์ไฟฟ้า
จุดอ่อน
การหักเลี้ยวของพวงมาลัยมีความเหมาะสมสำหรับการเลี้ยวที่ความเร็วต่ำ รวมถึงการใช้งานในตัวเมือง จากน้ำหนักที่เบามือ และการทดอัตราการเลี้ยวที่เหมาะสม แต่ในแง่ของการขับขี่แล้ว ควรเพิ่มน้ำหนักพวงมาลัยมากกว่านี้เพื่อความมั่นคงยิ่งขึ้น นอกจากนี้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงจะสูงขึ้นมาก หากระดับของแบทเตอรีหมดลง
JEEP (จีพ) คือ บแรนด์รถยนต์ที่มักจะซ่อนความโดดเด่นเอาไว้ข้างใน รวมถึงรุ่นล่าสุดของ GRAND CHEROKEE (กแรนด์ เชอโรคี) ที่ยังคงสร้างความแตกต่างด้วยจุดเด่นใหม่ๆ หลายประการ หนึ่งในสิ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือ ส่วนท้ายฝั่งขวามือของห้องโดยสาร บริเวณที่เก็บสัมภาระท้าย มีการพิมพ์ลวดลายบ่งบอกชื่อของรถรุ่นนี้ สืบทอดรูปแบบจากรุ่นก่อนหน้านี้ทุกประการ นอกจากนี้ เส้นสายโดยรวมมีความกลมกลืนต่อเนื่อง และเปี่ยมด้วยสันเหลี่ยมที่คมชัด ดูลงตัวไม่น้อย ผสมผสานกับเส้นสายที่ยังดูคุ้นเคยกันดีจากรุ่นก่อนหน้านี้ เมื่อเทียบกับทายาทลำดับที่ 5 ของรุ่นล่าสุด กับรุ่นแรกที่ทำตลาดในปี 1992 นับแต่นั้นมา เอสยูวีที่เน้นความหรูหราก็พบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยผู้ที่มีตำแหน่งเป็นหัวเรือใหญ่ของค่ายในเวลานั้น คือ BOB LUTZ เป็นผู้นำเสนอรถยนต์รุ่นนี้เป็นครั้งแรกในเวลานั้น ณ COBO HALL เมืองดีทรอยท์ โดยมีป้ายขนาดใหญ่บริเวณทางเข้าของสถานที่จัดงาน มีภาพที่ถูกระบุเอาไว้อย่างชัดเจน ซึ่ง CEO คนนี้ไม่ลังเลที่จะนำเสนอออกมา นั่นคือ รูปของดาว และเส้นยาวที่เรียงตัวเป็นแถบ บ่งบอกระดับของเอสยูวีระดับหรูรุ่นนี้ ยกระดับขึ้นมาอีกขั้นจากรุ่น CHEROKEE แต่ยังอัดแน่นด้วยจุดเด่นการเป็นรถสายพันธุ์ลุยของ JEEP
เอสยูวีหรูรุ่นนี้ สามารถรวมเอาจุดเด่นด้านความหรูหราเทียบชั้นซีดานหรู และความแข็งแกร่งบึกบึนในแบบเอสยูวี ถือเป็นหนึ่งในบรรทัดฐานใหม่ของรถยนต์สายพันธุ์ลุยก็ว่าได้ และจุดเด่นที่กล่าวมาก็ได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น เสริมการพัฒนาความโดดเด่นในแง่มุมอื่นๆ อีกมากมายตามยุคสมัย แต่ยังไม่ละทิ้งประสิทธิภาพการลุยทางสมบุกสมบันที่อยู่ในระดับสูงเสมอมา
เมื่อพิจารณาห้องโดยสาร ผู้ขับจะถูกรายล้อมด้วยการตกแต่งด้วยชุดหนังแท้อย่างดี ผสมกับวัสดุผ้าเนื้อดีรอบห้องโดยสารเช่นกัน เสริมด้วยวัสดุไม้แท้ติดตั้งบริเวณคอนโซลหน้า และบริเวณปุ่มใช้งานต่างๆ ซึ่งเรามีความเห็นว่า ทำให้เราหวนนึกถึงภาพความทรงจำจากอีกหนึ่งตัวลุยระดับตำนานร่วมค่าย นั่นคือ JEEP GRAND WAGONEER (จีพ กแรนด์ แวกอเนียร์) กับการตกแต่งที่หรูหราด้วยวัสดุชั้นดีไม่แพ้กัน เสริมด้วยเบาะนั่งพร้อมระบบนวดในตัว และระบบปรับอากาศประสิทธิภาพดี ขับกล่อมเสียงเพลงผ่านลำโพงของ McINTOSH จำนวน 19 ตัว ก่อนที่จะเคลิ้มไปกับบรรยากาศที่หรูหรา เราหันมาพิจารณาบรรดาปุ่มปรับโหมดการขับขี่ โดยเฉพาะการขับบนทางสมบุกสมบัน บ่งบอกว่า เอสยูวีตัวนี้มีประสิทธิภาพการลุยไม่แพ้เอสยูวีรุ่นไหน พิสูจน์มาแล้วจากการทดสอบบนสนาม RUBICON TRAIL กับระยะทางกว่า 35 กม. ที่เต็มไปด้วยทางสมบุกสมบันในระดับที่ตัวลุยขนานแท้เท่านั้นจึงจะสามารถบุกตะลุยผ่านมาได้ ซึ่งทางค่าย JEEP ระบุว่า GRAND CHEROKEE สามารถลุยผ่านอุปสรรคได้อย่างไม่มีปัญหา และเป็นการขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าอีกด้วย
ประเดิม พลัก-อิน ไฮบริด
กว้างขวางแบบ BUSINESS CLASS
ตัวลุยลำดับที่ 5 ของสายพันธุ์มีความเป็นอเมริกันอยู่ทุกอณู (ไม่ว่าจะในแง่ของเชื้อชาติ และถิ่นกำเนิดจากเมืองมิชิแกน) และเป็นครั้งแรกของการหันมาวางขุมพลังที่มีรหัส คือ 4XE กับรูปแบบพลัก-อิน ไฮบริด บลอคเดียวกับที่ใช้งานในรุ่น WRANGLER (แรงเลอร์) มาแล้ว เป็นระบบไฮบริดที่ประกอบไปด้วยการส่งกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้า และเครื่องยนต์เบนซิน เทอร์โบ ขนาด 2.0 ลิตร มีกำลังสูงสุดทั้งระบบที่ 381 แรงม้า กับแบทเตอรีที่มีความจุมากพอสำหรับการแล่นด้วยไฟฟ้าล้วนเป็นระยะทางสูงสุดที่ 45 กม. เมื่อชาร์จแบทเตอรีเต็ม เป็นจุดสำคัญที่จะทำให้ผู้ขับใช้ประสิทธิภาพของขุมพลังบลอคนี้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
หนึ่งในความล้ำสมัยที่ถูกติดตั้งเข้ามาใน GRAND CHEROKEE รุ่นที่ 5 คือ โครงสร้างตัวถังที่ถูกปรับแต่งมาอย่างลงตัว มีการปรับปรุงทั้งในแง่ของระบบรองรับ และระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา รวมถึงการเสริมระบบต่างๆ ให้การลุยมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น รวมถึงระบบเหล็กกันโคลงด้านหน้ารูปแบบเดียวกับที่ใช้มาแล้วในรุ่น WRANGLER สามารถปลดการทำงานได้โดยอัตโนมัติ เพิ่มความหลากหลายของการขับเคลื่อน เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่น่าสนใจ มีติดตั้งในรุ่นย่อย TRAILHAWK (ทเรลฮอว์ค) ที่เน้นการลุยเป็นพิเศษ นอกจากนี้ รุ่นที่เรานำมาทดสอบมีการเสริมอุปกรณ์สำหรับการลุยทางสมบุกสมบันอีกขั้น มีชื่อเรียกว่า SUMMIT RESERVE เป็นอุปกรณ์เลือกติดตั้งที่ต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก 106,000 ยูโร เลยทีเดียว (ชุดอุปกรณ์เสริมดังกล่าวมีราคาเริ่มต้นที่ 82,000 ยูโร ในรุ่นย่อยแบบ LIMITED)
ความกว้างขวางของห้องโดยสารจากรถเอสยูวี สะท้อนจากมิติตัวถังที่ใหญ่โต (ความยาว 4,910 มม.) พร้อมความหรูหรา และครบครันของการใช้งาน การออกแบบห้องโดยสารอยู่ภายใต้แนวคิดดังกล่าวแทบทุกสัดส่วน นอกจากนี้ เสียงรบกวนจากยางขณะกำลังแล่นก็มีน้อยมาก เสริมคุณสมบัติด้านความสะดวกสบายได้มากกว่าที่เคย ห้องโดยสารมีระดับเสียงรบกวนต่ำมาก เป็นสิ่งที่น่าประทับใจไม่น้อย เสียงลมปะทะตัวถังก็ลดน้อยลงมาก ไม่ว่าจะเป็นเสียงจากยางขณะแล่น หรือเสียงลมปะทะตัวถัง รวมถึงช่วงล่างแบบถุงลมที่ให้ความหนึบนุ่มอย่างเหมาะสมขณะเข้าโค้ง มีจุดสังเกต คือ ระบบรองรับอาจดูดซับแรงสั่นสะเทือนได้ไม่ดีนัก ในกรณีที่แล่นผ่านพื้นถนนที่มีความขรุขระค่อนข้างมาก นอกจากนี้ ระบบรองรับสามารถตอบสนองตามแต่สภาวะต่างๆ ได้อย่างน่าพอใจ ผ่านระบบควบคุมแบบอีเลคทรอนิค ทำให้ GRAND CHEROKEE ขับขี่ได้นุ่มนวล สะดวกสบายยิ่งขึ้นบนพื้นถนนทางเรียบทั่วไป เป็นคุณสมบัติที่ถูกพัฒนาให้ดีขึ้นในแต่ละรุ่น เมื่อเทียบกับรุ่นแรกที่เปิดตัวในช่วงปี 1990 ระบบรองรับยังเน้นการลุยทางสมบุกสมบัน แต่มีผลในแง่ลบ คือ การขับขี่บนทางเรียบที่ทำได้ไม่ดีนัก สิ่งที่กล่าวมามีความแตกต่างเป็นอย่างมากกับรุ่นล่าสุด แม้เอาเข้าจริงแล้ว JEEP ไม่สามารถ (และไม่มีความจำเป็นใดๆ) เทียบชั้นในเรื่องความหนึบแน่นกับเอสยูวีมาดสปอร์ทอย่าง STELVIO (สเตลวีโอ) แต่ยังคงเป็นเอสยูวีที่มีการขับขี่อย่างลงตัวในระดับที่น่าพอใจ เข้าโค้งได้ดีเมื่อพิจารณาในแง่ของรูปทรงโดยรวม และมิติตัวถังที่ใหญ่โต บ่งบอกการเป็นรถยนต์ที่สามารถคาดหวังได้กับความสะดวกสบายในระดับสูง หนึ่งในคุณสมบัติที่พิสูจน์ได้ คือ น้ำหนักของพวงมาลัย การตอบสนองที่แม่นยำ และฉับไว แต่ยังมีลักษณะของเอสยูวีที่คุ้นเคยกันดี นั่นคือ น้ำหนักพวงมาลัยที่เบาในช่วงความเร็วต่ำ และการตอบสนองขณะบังคับเลี้ยวแบบค่อยเป็นค่อยไป อาจต้องอาศัยการหักเลี้ยวค่อนข้างมากขณะเข้าโค้งในบางครั้ง แต่เป็นบุคลิกที่สมกับการเป็นเอสยูวีขนาดใหญ่เช่นกัน นอกจากอุปกรณ์ที่ทันสมัยในรถรุ่นนี้ ยังคงมีคุณสมบัติด้านการลุยที่ยอดเยี่ยมเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นมุมต่างๆ ของตัวรถที่ลงตัว (มุมปะทะ 28 องศา มุมคร่อม 21 องศา และมุมจาก 30 องศา) โดยมีความสูงจากพื้นถนนสูงสุดที่ 290 มม. และระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา พร้อมโหมดการขับขี่ 5 รูปแบบ และชุดเกียร์แบบเน้นแรงบิดที่ความเร็วต่ำ
น้ำหนักมาก แต่ยังฉับไว
สำหรับการขับขี่บนทางเรียบ สิ่งที่เอสยูวีรุ่นนี้ทำได้ดีเกินคาด คือ สมรรถนะของอัตราเร่ง GRAND CHEROKEE เป็นรถยนต์ที่เน้นความกว้างขวาง แต่หากผู้ขับต้องการเรียกอัตราเร่งขณะออกตัว รถคันนี้สามารถทำได้เร้าใจไม่น้อย ค่ายรถสัญชาติอเมริกันระบุว่า อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ในเวลา 6.3 วินาที นับว่าน่าทึ่งพอสมควรกับน้ำหนักโดยรวมในระดับ 2,600 กก. ภายใต้พละกำลังระ ดับดังกล่าว และแรงบิดที่สูง (รวมทั้งระบบที่ 65.0 กก.-ม.) อัตราเร่งจึงมีความฉับไวเอาเรื่อง เสริมพละกำลังด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า กำลังสูงสุด 136 แรงม้า เป็นหนึ่งในสิ่งที่ขาดไม่ได้ พละกำลังถูกเสริมเข้ามาอย่างได้ผลจากการหมุนเวียนพลังงานไฟฟ้าในจังหวะที่ลงตัว ช่วยให้เครื่องยนต์สันดาปประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงในตัว อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า บางครั้งการทำงานของเครื่องยนต์เทอร์โบ มอเตอร์ไฟฟ้า และชุดเกียร์ ยังไม่ไหลลื่นเสียทีเดียว การขับขี่ที่ความเร็วต่ำในบางครั้ง ขณะรอบเครื่องยนต์ต่ำ และหลังจากสตาร์ทเครื่องยนต์ การทำงานของทั้ง 3 ระบบไม่ไหลลื่นเท่าที่ควร
อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าล้วนมีความเรียบเนียนที่น่าพอใจ สามารถเลือกใช้งานได้สะดวกผ่านปุ่มควบคุม การขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ตัวรถสามารถเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างนุ่มนวล ปราศจากเสียงรบกวนใดๆ สามารถไต่ความเร็วได้ดีเมื่อกดคันเร่งเพิ่ม ไปจนถึงช่วงความเร็วสูง (มอเตอร์ไฟฟ้ารองรับความเร็วสูงสุดที่ 135 กม./ชม.) ชุดแบทเตอรีมีความจุมากพอสำหรับการแล่นเป็นระยะทางสูงสุด 45 กม. ในทุกสภาวะ ทั้งในเมือง และทางด่วน ช่วยให้ JEEP รุ่นนี้มีตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่ประมาณ 30 กม./ชม. หากระดับไฟฟ้าในแบทเตอรีหมดลง การทำงานของเครื่องยนต์จะเหมือนกับระบบพลัก-อิน ไฮบริด ทั่วไป (เนื่องจากการเสริมกำลังด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าจำเป็นต้องพร้อมสำหรับการใช้งานเสมอ) ในกรณีที่เครื่องยนต์ต้องทำหน้าที่ขับเคลื่อนเป็นส่วนใหญ่ ต้องเข้าใจด้วยว่าเครื่องยนต์พละกำลังสูง กำลังขับคลื่อนเอสยูวีขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักมาก การขับในตัวเมืองมีตัวเลขที่ 12.3 กม./ลิตร แม้จะไม่เลวร้ายมากนัก แต่หากขับบนการจราจรที่หนาแน่น ตัวเลขอาจลดลงมาที่ 8.0 กม./ลิตร เท่านั้น พึงระลึกเสมอว่า ระบบพลัก-อิน ไฮบริดต้องถูกใช้งานอย่างเหมาะสมเท่านั้น ไม่เช่นนั้น พลังงานไฟฟ้าที่ถูกกักเก็บในแบทเตอรีจะไม่ถูกนำมาใช้งานเพื่อการขับเคลื่อนเลย
เครื่องยนต์สันดาป และ 2 มอเตอร์
ทางเลือกของขุมพลังในภูมิภาคยุโรปมีเพียงแบบเดียวเท่านั้นสำหรับ GRAND CHEROKEE เป็นบลอคเดียวกับที่ใช้งานกับ WRANGLER รุ่น 4XE ในส่วนเครื่องยนต์สันดาป คือ เบนซิน เทอร์โบ แบบ 4 สูบเรียง ขนาด 2.0 ลิตร พัฒนาโดยกลุ่มธุรกิจยานยนต์ STELLANTIS มีกำลังสูงสุดที่ 272 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 40.8 กก.-ม. และมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ชุด โดยชุดแรกมีกำลังสูงสุดที่ 45 แรงม้า เชื่อมต่อกับชุดสร้างกระแสไฟฟ้าด้วยสายพาน แทนที่ส่วนสร้างกระแสไฟฟ้าแบบดั้งเดิม ทำหน้าที่สำหรับระบบสตาร์ท/ดับเครื่องยนต์อัตโนมัติ และทำหน้าที่ส่งกระแสไฟฟ้าไปยังมอเตอร์ขับเคลื่อน และชุดแบทเตอรี มอเตอร์ชุดถัดมา ทำหน้าที่ขับเคลื่อนเป็นหลัก มีกำลังสูงสุด 136 แรงม้า และเชื่อมต่อกับชุดเกียร์อัตโนมัติ แทนที่ระบบแปรผันแรงบิด กระแสไฟฟ้ามาจากแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน แบบ 400 โวลท์ ความจุ 17.3 กิโลวัตต์ชั่วโมง ติดตั้งบริเวณข้างใต้ของเบาะหลัง ส่วนระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา QUADRA DRIVE II จะมีให้เลือกติดตั้งในรุ่นย่อย TRAILHAWK และชุดอุปกรณ์เสริม SUMMIT RESERVE เท่านั้น โดยจะมีระบบชุดเฟืองท้ายควบคุมการทำงานด้วยอีเลคทรอนิค นอกจากนี้ ยังมีชุดควบคุมการทำงานของเฟืองส่งกำลัง โดยจะส่งกำลังไปยังล้อแต่ละคู่ เพื่อการยึดเกาะถนนที่หนึบยิ่งขึ้น และชุดปรับรอบการทำงานของชุดส่งกำลัง อุปกรณ์ที่ติดตั้งเข้ามาใหม่ คือ ระบบปลดการทำงานของเฟืองขับเคลื่อนล้อคู่หน้า หากอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม ตัวรถสามารถขับเคลื่อนด้วยล้อคู่หลังล้วนๆ ได้ ระบบรองรับแบบแปรผันการตอบสนองได้บางส่วนด้วยอีเลคทรอนิค ควบคุมความหนึบแข็งของช่วงล่างได้ตามแต่สภาวะการขับขี่ และสามารถปรับความสูงของระบบรองรับได้ด้วยโดยอัตโนมัติ แต่การทำงานของระบบสามารถควบคุมผ่านผู้ขับได้ด้วยปุ่มควบคุมบริเวณคอนโซลเกียร์
การส่งกำลังด้วยไฟฟ้า
ระบบเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะของ ZF เชื่อมต่อการทำงานกับมอเตอร์ไฟฟ้าผ่านชุดคลัทช์จำนวน 2 ชุด ควบคุมการส่งกำลังของเครื่องยนต์สันดาป และการเชื่อมต่อการทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า
เทอร์โบประสิทธิภาพสูง
เครื่องยนต์เบนซิน เทอร์โบ แบบ 4 สูบเรียง ขนาด 2.0 ลิตร ฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง เป็นหนึ่งในขุมพลังที่ถูกใช้งานในรถยนต์ของกลุ่มค่ายรถของ STELLANTIS ภาพด้านบนแสดงให้เห็นถึงชุดส่งกำลังของเฟืองขับเคลื่อนทั้ง 2 ชุด
ข้อมูลจำเพาะ
ข้อมูลของรถทดสอบจากผู้ผลิต
เครื่องยนต์
• เบนซิน เทอร์โบ วางตามยาว
• แบบ 4 สูบเรียง
• กระบอกสูบ 84.0 มม.
• ช่วงชัก 90.0 มม.
• ความจุ 1,993 ซีซี
• กำลังสูงสุด 272 แรงม้า ที่ 5,250 รตน.
• แรงบิดสูงสุด 40.8 กก.-ม. ที่ 3,000 รตน.
• เสื้อสูบใช้วัสดุโลหะน้ำหนักเบา
• ดับเบิลโอเวอร์เฮดแคมชาฟท์ ระบบวาล์วไอดีแปรผัน 4 วาล์ว/ลูกสูบ (สายพานโซ่)
• ฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง เทอร์โบ พร้อมอินเตอร์คูเลอร์
ระบบไฮบริด
• ระบบส่งกำลังแบบคู่ขนาน
• มอเตอร์ไฟฟ้า แบบแม่เหล็ก (เชื่อมต่อกับเกียร์อัตโนมัติ)
• กำลังสูงสุด 136 แรงม้า
• แรงบิดสูงสุด 27.0 กก.-ม.
• เชื่อมต่อมอเตอร์ด้วยสายพาน
• กำลังสูงสุด 45 แรงม้า
• แรงบิดสูงสุด 5.4 กก.-ม.
กำลังสูงสุดทั้งระบบ
• กำลังสูงสุด 381 แรงม้า
• แรงบิดสูงสุด 65.0 กก.-ม.
ชุดแบทเตอรี
• แบบลิเธียม-ไอออน
• ระบบไฟฟ้า 400 โวลท์ ความจุ 17.3 กิโลวัตต์ชั่วโมง
รองรับการชาร์จ
• การชาร์จไฟฟ้าสูงสุด 7.2 กิโลวัตต์
ระบบส่งกำลัง
• ขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา พร้อมชุดควบคุมอัตโนมัติ
• ระบบเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ และชุดควบคุมการทำงาน
• ชุดเฟืองท้ายส่งกำลังควบคุมด้วยอีเลคทรอนิค
รูปแบบตัวถัง
• ตัวถังใช้วัสดุโลหะ 2 กล่อง 5 ประตู 5 ที่นั่ง
• ระบบรองรับด้านหน้า แบบปีกนกคู่ คอยล์สปริง และเหล็กกันโคลง
• ระบบรองรับด้านหลัง แบบมัลทิลิงค์ คอยล์สปริง และเหล็กกันโคลง
• ชอคอับแบบไฮดรอลิค ควบคุมด้วยอีเลคทรอนิค
• ระบบเบรคแบบจาน เอบีเอส อีเอสพี
• พวงมาลัย ฟันเฟือง และตัวหนอน แปรผันด้วยไฟฟ้า
• ความจุถังน้ำมัน 72 ลิตร
ยาง
• PIRELLI P-ZERO 275/45 R21 110H
• ยางอะไหล่
มิติตัวถัง และน้ำหนัก
• ระยะฐานล้อ 2,960 มม.
• ความกว้างของฐานล้อ ด้านหน้า 1,660 มม. ด้านหลัง 1,660 มม.
• ความยาว 4,910 มม. กว้าง 1,970 มม. สูง 1,800 มม.
• น้ำหนักโดยรวม 2,498 กก. น้ำหนักบรรทุกสูงสุด 3,130 กก. น้ำหนักลากจูงสูงสุด 2,722 กก.
• ความจุที่เก็บสัมภาระ ไม่ระบุ
ผลิตที่
• เมืองดีทรอยท์ (ประเทศสหรัฐอเมริกา)
ประวัติของสายพันธุ์
เอสยูวีระดับหรู ยาวนานกว่า 30 ปี
รุ่นที่ 1-ZJ/ZG 1992
รุ่นที่ 2-WJ/WG 1998
รุ่นที่ 3-WK/WG 2004
รุ่นที่ 4-WK2 2010
รุ่นที่ 5-WL 2022
แนวคิดเริ่มต้นของการพัฒนา GRAND CHEROKEE ขึ้นมา คือ การเป็นรุ่นสืบทอดของอีกตำนาน นั่นคือ CHEROKEE (ปัจจุบันยังคงทำตลาดอยู่) การริเริ่มดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงปี 1980 ในช่วงเวลาที่ค่าย JEEP อยู่ในการครอบครองของบริษัทแม่ที่มีชื่อว่า AMERICAN MOTOR CORPORATION หรือ AMC อย่างไรก็ตาม เวลาก็ล่วงเลยไปหลายปี จนกระทั่งปี 1987 ทาง AMC ที่ถือครองยี่ห้อ CHRYSLER และรถยนต์ที่อยู่ในโครงการพัฒนาอีกหลายรุ่น (ในช่วงเวลาดังกล่าว เน้นการพัฒนารถยนต์สไตล์มีนีแวน) เวลาจึงล่วงเลยมาอีกระยะจนถึงปี 1992 ณ มหกรรมยานยนต์ดีทรอยท์ จึงจะได้รถต้นแบบที่ถูกพัฒนาขึ้นมา รหัสของรุ่นที่ 1 คือ ZJ หรือ ZG ในภูมิภาคยุโรป โดยรุ่นแรกนี้มีจุดเด่นที่โครงสร้างตัวถังเป็นชิ้นเดียวกันทั้งหมด ขณะที่บรรดาคู่แข่งยังคงใช้ตัวถังแบบวางบนแชสซีส์ และยังเสริมด้วยการติดตั้งระบบใช้งาน และความทันสมัยเหนือกว่าคู่แข่งอีกด้วย เครื่องยนต์ที่ใช้ในตอนแรกเป็นแบบ 6 สูบเรียง ขนาด 4.0 ลิตร ที่ทางกลุ่ม AMC พัฒนาขึ้นมา ถัดมาจึงมีทางเลือกกับเครื่องยนต์แบบ วี 8 สูบ (ขนาด 5.2 และ 5.9 ลิตร) ส่วนภูมิภาคอื่นๆ นอกเหนือจากประเทศสหรัฐอเมริกา มีทางเลือกเครื่องยนต์ดีเซล เทอร์โบ ขนาด 2.5 ลิตร ผลิตจากบริษัทของประเทศอิตาลี ขณะที่ตัวรถผลิตที่เมือง GRAZ ทำให้รหัสของรุ่นจะใช้ตัวอักษรที่ 2 เป็นตัว G แทน จนถึงปี 1998 เป็นช่วงเวลาของการเปิดตัวรุ่นที่ 2 ของสายพันธุ์ รหัส WJ/WG เป็นการพัฒนาขึ้นมาใหม่ โดยแทบไม่มีองค์ประกอบใดๆ จากรุ่นก่อนหน้านี้เลย การออกแบบเส้นสายให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น มิติตัวถังที่ขยายสัดส่วนมากกว่าเดิม พร้อมความหรูหรา และอุปกรณ์ใช้สอยเพื่อความสะดวกสบายสูงสุด จุดเด่นสำคัญ คือ การพัฒนาระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลาแบบใหม่ มีชื่อว่า QUADRA DRIVE เพิ่มประสิทธิภาพการลุยทางสมบุกสมบันอย่างได้ผล โดยผู้ขับไม่ต้องอาศัยทักษะการขับขี่มากมายแต่อย่างใด ในรุ่นทอพ ใช้เครื่องยนต์เบนซิน ขนาด 4.7 ลิตร แบบ วี 8 สูบ และอีกทางเลือก คือ เครื่องยนต์ดีเซล เทอร์โบ ขนาด 2.7 ลิตร ที่พัฒนาจากค่าย MERCEDES-BENZ (เมร์เซเดส-เบนซ์) โดยเป็นช่วงเวลาที่ค่ายรถ 2 แห่งมาร่วมมือกันทางธุรกิจ นั่นคือ DAIMLER (ไดมเลร์) และ CHRYSLER (ไครสเลอร์) รุ่นที่ 3 ของสายพันธุ์อยู่ในยุคของค่ายรถสัญชาติเยอรมัน (รหัส WK/WG) เปิดตัวในปี 2004 พร้อมระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลารุ่นใหม่ (QUADRA DRIVE II) กับเครื่องยนต์เบนซิน (ขนาด 3.7 ลิตร แบบ วี 6 สูบ) และเครื่องยนต์ระดับตำนานของค่าย CHRYSLER ขนาด 5.7 ลิตร แบบ วี 8 สูบ HEMI และอีกทางเลือก คือ เครื่องยนต์ดีเซล เทอร์โบ ขนาด 3.0 ลิตร แบบ วี 6 สูบ พัฒนาโดยทาง MERCEDES-BENZ ถัดมา คือ รุ่นที่ 4 ของสายพันธุ์ รหัส WK2 เปิดตัวในปี 2010 แม้จะถือกำเนิดในช่วงเวลาของการอยู่ภายใต้ร่มเงาของกลุ่มธุรกิจยานยนต์ FCA (ยังเป็นบริษัทจากประเทศสหรัฐอเมริกา) มีองค์ประกอบหลายส่วนที่พัฒนาจากค่าย DAIMLER CHRYSLER มีการปรับปรุงระบบรองรับให้ตอบสนองดีขึ้น วางเครื่องยนต์ดีเซล ขนาด 3.0 ลิตร แบบ วี 6 สูบ พัฒนาขึ้นมาโดยค่ายรถ FIAT (เฟียต) และบริษัทสัญชาติอิตาเลียน โดยมีรุ่นผลิตจำนวนจำกัดกับเครื่องยนต์บลอคใหญ่ ขนาด 6.2 ลิตร วี 8 สูบ กำลังสูงสุดถึง 717 แรงม้า ภายใต้ชื่อรุ่นย่อยใหม่ นั่นคือ TRACKHAWK (ทแรคฮอว์ค)