เรื่องเด่น Quattroruote
TESLA CYBERTRUCK เทคโนโลยีสุดล้ำสมัย
จากตัวถังความยาวกว่า 5 ม. และอีก 70 ฟุต ของวัสดุโลหะภายนอก แล้วยังมีวัสดุโลหะบริสุทธิ์ที่เสริมความแข็งแกร่งรอบคัน จัดเป็นรูปแบบที่อยู่เหนือตรรกะทั้งหลาย เส้นสายที่ตรงไปตรงมา หรือปราศจากความซับซ้อนของการออกแบบรถยนต์ เส้นสายเรียบง่าย ถือเป็นความเรียบง่ายอย่างแท้จริง การออกแบบลักษณะนี้ถูกวิจารณ์โดยวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ไม่ว่าจะแง่ดี หรือแง่ร้ายก็ได้รับการยอมรับว่านี่อาจจะเป็นมาตรฐานใหม่ในอนาคต ทำให้ TESLA CYBERTRUCK (เทสลา ไซเบอร์ทรัค) เป็นรถยนต์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากจนไม่จำเป็นต้องอวดโลโกด้วยซ้ำ หากสมมติว่ารถยนต์คันนี้ไม่มีตัวอักษรโลโก T ให้เห็นไม่ว่าจะภายใน หรือภายนอก เพื่อย้ำเตือนว่า นี่คือ รถยนต์ของ TESLA จุดเด่นที่ถูกเน้นย้ำเสมอมาจากค่ายรถแห่งนี้ผ่านรถยนต์ที่ผลิตขึ้น หรือในผลิตภัณฑ์ที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัยใดๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว คุณจะไม่สังเกตเห็นจนกว่าจะมองลึกลงไปให้มากยิ่งขึ้น เพราะ CYBERTRUCK เป็นมากกว่ารถกระบะธรรมดา นับเป็นก้าวสำคัญในโลกยานยนต์ ด้วยรูปทรงที่เป็นชิ้นเดียวกันกับขนาดที่ใหญ่ขึ้น และยิ่งไปกว่านั้นยังมีเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการเปิดตัวอีกด้วย รายละเอียดที่สามารถเปลี่ยนแปลงวิธีการสร้างรถยนต์อย่างสิ้นเชิง
บางทีสิ่งที่สำคัญที่สุดอาจอยู่ใต้ตัวถังภายนอก นั่นคือ ระบบไฟฟ้าแบบ 48 โวลท์ อุปกรณ์ที่ช่วยให้ผู้ผลิตรายนี้เลิกใช้ระบบไฟฟ้าแบบ 12 โวลท์แบบดั้งเดิม (ซึ่งใช้มาหลายทศวรรษเพื่อจ่ายไฟให้กับการใช้งานหลักทั้งหมดของรถยนต์ ตั้งแต่มอเตอร์ไฟฟ้า ไดสตาร์ท ไปจนถึงที่ปัดน้ำฝน) โดยไม่จำเป็นต้องใช้แบทเตอรีตะกั่วหนักๆ และสามารถส่งพลังงานไฟฟ้าบนสายไฟที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางที่เล็กลง เพื่อการประหยัดต้นทุนที่ชัดเจน (มีการใช้วัสดุทองแดงน้อยลงมาก) และช่วยให้มีน้ำหนักที่เบาลง บริษัทสัญชาติอเมริกันแห่งนี้ยังพูดถึงการลดมวลรวมของระบบลงถึง 70 % โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ CYBERTRUCK ที่มีน้ำหนักโดยรวมถึง 3,104 กก. ซึ่งในที่สุดทีมงานของเราก็มีโอกาสได้สัมผัสด้วยตัวเอง หลังจากที่ติดตามรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้มาเกือบ 5 ปี นับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2019 แน่นอนว่า มันไม่มีความแตกต่างใดๆ มากนัก แต่ถ้าเป็นรุ่นที่เบากว่านั้นก็อาจเป็นจุดเปลี่ยนได้ไม่น้อยเช่นกัน และอีลอน มัสก์ ก็รู้เรื่องนี้ดี เพราะเขาส่งกระดาษขาวไปให้ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ทุกราย โดยอธิบายรายละเอียดการทำงานของระบบอย่างละเอียด พร้อมเชิญชวนให้พวกเขาใช้ระบบไฟฟ้าดังกล่าวด้วย เทคโนโลยีการสื่อสารแบบดั้งเดิม (ซึ่งเป็นที่นิยมตั้งแต่ยุค 1980) ช่วยประหยัดสายเคเบิลได้อีกหลายเมตร และหันมาใช้สิ่งที่เรามีอยู่ที่บ้านทุกคนแทน นั่นคือ สายอีเธอร์เนท ซึ่งเป็นสายที่เราใช้เชื่อมต่อโมเดมกับคอมพิวเตอร์ สายอีเธอร์เนทเป็นสิ่งที่ไม่มีใครเคยใช้ในรถยนต์ที่ผลิตจริงมาก่อน แต่รับประกันความเร็วในการรับส่งข้อมูลที่เร็วกว่าหลายพันเท่า และสามารถลดความซับซ้อนของการเดินสายได้อย่างมาก (แน่นอนว่าช่วยลดต้นทุนการผลิตด้วย)
ตัวโหดพลังไฟฟ้า
ถึงตรงนี้อาจมีคนสงสัยว่าทำไมไม่มีใครในอุตสาหกรรมยานยนต์เคยใช้วิธีการเหล่านี้มาก่อน มีหลายสาเหตุ และไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับแนวทางการคิด “นอกกรอบ” ของบแรนด์สัญชาติอเมริกันเท่านั้น ประการแรก วิธีการเหล่านี้เป็นมาตรฐานที่ไม่อยู่ในโลกของการผลิตรถยนต์ ซึ่งหมายความว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะมีประวัติการทำงานผิดพลาด หรือปัญหาที่อาจเกิดขึ้น และสิ่งนี้ทำให้ผู้ผลิตแบบดั้งเดิมหวาดกลัว ซึ่งก่อนที่จะลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ และออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ทั้งหมด พวกเขาต้องการความชัดเจนที่เป็นรูปธรรม ดังนี้แล้วด้วยเหตุผลเดียวกัน คุณสมบัติด้านการผลิตกับรถยนต์รุ่น CYBERTRUCK จึงไม่เคยถูกใช้งานจริงมาก่อน หนึ่งในนั้น คือ พวงมาลัยที่ควบคุมด้วยระบบไฟฟ้า หรือพูดง่ายๆ คือ พวงมาลัยที่ไม่ต้องเชื่อมต่อกับคันส่งใดๆ (แม้แต่ระบบสำรอง ตามที่เราได้อธิบายไว้ในรอบกรอบหน้าถัดไป) ระหว่างพวงมาลัย (ซึ่งหมุนได้ 170 องศาด้านข้าง) และล้อ นี่คือ คุณสมบัติเฉพาะอย่างหนึ่งของรถกระบะที่เปี่ยมด้วยเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ เพื่อให้คล่องตัวยิ่งขึ้นยังมีระบบบังคับเลี้ยวแบบใหม่อีกด้วย โดยเพลาขับล้อคู่หลังทำให้สามารถปรับมุมของล้อได้ตามความเร็ว และประเภทของโค้ง เดิมทีองศาการเลี้ยวจะอยู่ที่ 3 องศาเท่านั้น แต่ด้วยการควบคุมแบบไร้สาย ตอนนี้การเลี้ยวสามารถทำได้ถึง 10 องศา โดยไม่ต้องมีการเชื่อมต่อทางกายภาพระหว่างมือของคนขับกับล้อหน้า และล้อหลัง มีเพียงสายไฟ และชุดควบคุมอีเลคทรอนิคส์เท่านั้น ก่อนหน้านี้การบังคับเลี้ยวแบบตรงไปตรงมาจัดเป็นแนวคิดสำหรับโลกของยานยนต์ที่ถูกยึดถือเสมอมา ในขณะที่วิธีการประเภทนี้มีมาหลายทศวรรษแล้วในสาขาอื่นๆ เช่น การบังคับควบคุมเครื่องบินสมัยใหม่ยังทำงานได้ด้วยระบบไฟฟ้าดังกล่าว ทำให้มีจุดเด่นในแง่ของความแม่นยำจากการตอบสนองโดยรวม มีความปลอดภัยอยู่ที่ระดับสูงสุดเสมอ เพราะหากชิ้นส่วนหนึ่งเสียหาย ชิ้นส่วนอื่นก็จะสามารถแทนที่ได้
นวัตกรรมของ TESLA CYBERTRUCK ไม่ได้จบเพียงแค่นี้ ยังมีเทคโนโลยีการเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ตัวถังภายนอก และตัวถังที่ใช้วัสดุแบบสเตนเลสส์ ซึ่งบริษัทเรียกว่าโครงภายนอก รวมไปถึงชุดแบทเตอรีที่ถูกแบบโครงสร้างขึ้นมาใหม่ แต่เมื่อวิเคราะห์ TESLA แล้ว มีอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เช่น โครงสร้างของรถที่ได้มาจากการอัดขึ้นรูปแรงดันสูง (นั่นคือ เทคนิคการหล่อโลหะที่ลดจำนวนชิ้นส่วน และเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่โครงสร้าง) หรือระบบส่งกำลังไฟฟ้าซึ่งมีกำลังสูงถึง 800 โวลท์ ซึ่งพบเห็นในรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นต่างๆ เช่น PORSCHE TAYCAN (โพร์เช ไทคาน) หรือรถยนต์ไฟฟ้าของค่าย HYUNDAI/KIA (ฮันเด/เกีย) และมีให้เลือกหลายระดับพลังงาน รุ่นที่มีมอเตอร์ 3 ตัว (ด้านหน้า 1 ตัว ด้านหลัง 2 ตัว) ในหน้านี้สร้างกำลังสูงสุดที่ 845 แรงม้า อัตราเร่งจาก 0-100 กม./ชม. ใน 2.7 วินาที และทำระยะทำการสูงสุดทางได้มากกว่า 515 กม. จากการรับรองมาตรฐานของประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ยังมีรุ่นกำลังสูงสุด 600 แรงม้า แบทเตอรีมีความจุ 132 กิโลวัตต์ชั่วโมง (ประกอบด้วยแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน จำนวน 4,680 เซลล์) สามารถทำระยะทำการสูงสุดเพิ่มขึ้นประมาณ 30 กม. แต่อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ช้ากว่ากัน 1.6 วินาที หลังจากนี้จะมีทางเลือกกับรุ่นขับเคลื่อนล้อหลังซึ่งเป็นรุ่นเริ่มต้นก็จะมาถึงเช่นกัน โดยมีแบทเตอรีที่มีความจุน้อยกว่า (ระยะทำการสูงสุดที่ 400 กม.) มาพร้อมประสิทธิภาพที่เหมาะสม (กำลังสูงสุด 315 แรงม้า อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใน 6.5 วินาที) และแน่นอนว่ามีราคาที่ถูกกว่ามาก หากใครต้องการทางเลือก 2 รุ่นแรก จะมีราคาใกล้เคียงกันที่ 92,000 ยูโร และ 74,000 ยูโร ตามลำดับ สำหรับรุ่นย่อยหลังสุดที่จะมาภายหลัง จะมีราคาที่ประมาณ 56,000 ยูโร แต่ในภูมิภาคอื่นๆ อาจจะต้องอดใจรอไปก่อน เพราะตอนนี้ CYBERTRUCK มีจำหน่ายเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น และไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการส่งไปทำตลาดในประเทศอื่นๆ อย่างน้อยก็ในตอนนี้
ไฟส่องสว่างที่มีเอกลักษณ์
CYBERTRUCK คือ รถยนต์ที่มีจุดเด่นหลายประการ หนึ่งในนั้น คือ ไฟส่องสว่างด้านหน้าแบบ MATRIX LED โดยมีไฟส่องสว่างเวลากลางวันถูกติดตั้งเข้ากับชุดไฟหน้าในแนวตั้ง มีการส่องสว่างตลอดเวลาเมื่อรถทำการเคลื่อนที่ ขณะที่ไฟส่องสว่างหลัก (มีลวดลายเป็นรูปหัวลูกศร) จะถูกซ่อนอยู่ในบริเวณกันชนหน้า มีรูปทรงที่เรียวบางมากๆ และประกอบด้วยไฟส่องสว่างแบบ แอลอีดี จำนวน 3 ดวงสำหรับชุดไฟต่ำ และอีก 4 ดวงสำหรับไฟสูง
แกร่งดั่งรถหุ้มเกราะ
ตัวถังภายนอกมีความแปลกตา ถูกออกแบบราวกับรถยนต์จากโลกอนาคต วัสดุที่ใช้เป็นโลหะสแตนเลส ปราศจากการพ่นสีใดๆ หากต้องการสีตัวถังที่แตกต่าง ต้องเพิ่มเงินอีก 6,000 ยูโร สำหรับการ WRAP สีเพิ่มเติม โดยมีทางเลือก 11 เฉดสีด้วยกัน) นอกจากนี้วัสดุโลหะมีความแข็งแกร่งในระดับที่สามารถกันกระสุน กับขนาดของกระสุนที่ 4.5-9.0 มม. เลยทีเดียว
ปรับความสูงได้ตามต้องการ
ระบบรองรับแบบถุงลมสามารถปรับความสูงได้อัตโนมัติตามน้ำหนักของการบรรทุก นอกจากนี้ผู้ขับสามารถปรับความสูงได้ตามต้องการ สามารถลดความสูงลงมาได้ในกรณีที่ต้องการความสะดวกของการขึ้น/ลงห้องโดยสาร และสามารถเพิ่มความสูงได้สูงสุดที่ 150 มม. สำหรับการแล่นผ่านทางสมบุกสมบัน
ข้อมูลทางเทคนิค ระบบบังคับเลี้ยวสมองกล
เป็นเวลากว่าหลายทศวรรษแล้ว ล้อคู่หน้าของรถยนต์จะถูกเชื่อมโยงด้วยชุดคันชักคันส่งจากพวงมาลัย ต่อมาค่าย TESLA ทำการคิดใหม่ทำใหม่ และออกแบบระบบบังคับเลี้ยวรูปแบบใหม่ โดยการปราศจากระบบกลไลใดๆ ที่เชื่อมต่อระหว่างมือของผู้ขับบนพวงมาลัย และการบังคับเลี้ยวของล้อ แม้ก่อนหน้านี้มีค่ายรถบางเจ้าพัฒนาระบบบังคับเลี้ยวดังกล่าวขึ้นมา เช่น ค่าย INFINITI (อินฟินิที) อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดทางเทคโนโลยีหลายประการ ทำให้ระบบดังกล่าวไม่เคยถูกนำมาใช้จริง จนกระทั่ง TESLA และ ZF มีการพัฒนาร่วมกันของระบบบังคับเลี้ยวที่มีชุดผ่อนแรงแยกต่างหาก แต่ในระยะแรกการนำมาใช้งานจริงก็ยังไม่เกิดขึ้นทันที การควบคุมระบบังคับเลี้ยวแบบใหม่ดังกล่าวมาจากหน่วยประมวลผลถึง 3 ชุดด้วยกัน 2 ชุดแรกจะทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูล จากการบังคับเลี้ยวของพวงมาลัย และการขยับทิศทางของล้อแต่ละตำแหน่ง ระบบจะนำข้อมูลทางกล่าวไปเปรียบเทียบพร้อมกัน เพื่อประเมินว่าการหักเลี้ยวจากผู้ขับมีความเที่ยงตรงอย่างเหมาะสมแค่ไหน ขณะที่หน่วยประมวลผลอีกหนึ่งชุดจะทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของการตอบสนอง เปรียบเสมือนการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ถูกป้อนข้อมูลเข้าไป และแปรผันข้อมูลให้ถูกต้องตามการคำนวณ นำมาสู่การหักเลี้ยวของตัวรถที่ถูกต้องตามแนวโค้งของถนน นอกจากนี้ยังมีการนำข้อมูลจากภายนอกมาประมวลผลร่วมกัน ซึ่งเป็นแนวคิดที่เคยถูกพัฒนาขึ้นมาสำหรับระบบข้อมูลออนไลน์ของรถบัสยุคอนาคต
การจ่ายพลังงานไฟฟ้าสู่ภายนอก
หากระยะทำการสูงสุดเมื่อชาร์จเต็ม คือ 500 กม. ของ TESLA CYBERTRUCK ยังไม่เพียงพอสำหรับผู้ใช้งานบางคน ตัวรถสามารถติดตั้งระบบแบทเตอรีเพิ่มเติมได้อีก (ตามภาพด้านล่าง จำลองการติดตั้งจากศูนย์บริการโดยตรง) โดยชุดแบทเตอรีเสริมจะกินเนื้อที่เพียง 1 ใน 3 ของกระบะท้ายเท่านั้น มีความจุแบทเตอรีเพิ่มขึ้นอีก 47 กิโลวัตต์ชั่วโมง ทำให้มีระยะทำการสูงสุดเป็น 700 กม. นอกจากนี้ยังมีช่องจ่ายกระแสไฟฟ้าสู่ภายนอก รองรับอุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดเล็ก ไปจนถึงรถยนต์ไฟฟ้าด้วยกันก็ได้ กับการจ่ายไฟฟ้าสูงสุดที่ 9.6 กิโลวัตต์
แรงดันไฟฟ้ามากขึ้น 4 เท่า
ในรถยนต์ทั่วไป รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้ายุคปัจจุบันด้วย ระบบไฟฟ้าโดยรวมจะเป็นแบบแรงดันต่ำที่ 12 โวล์ท สำหรับส่งกำลังไฟฟ้าไปยังอุปกรณ์ใช้งานต่างๆ ได้แก่ ไดสตาร์ท จนถึง ชุดไฟส่องสว่าง กระจกหน้าต่าง และระบบความบันเทิง แต่สำหรับ CYBERTRUCK มีรูปแบบของระบบไฟฟ้าที่แตกต่างโดยสิ้นเชิง แม้แต่ระบบไฟฟ้าแบบ 16 โวล์ทที่ใช้งานกับรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นอื่นๆ ของ TESLA ก็ถูกยกเครื่องใหม่ แทนที่ด้วยระบบไฟฟ้าแบบ 48 โวล์ท การเพิ่มแรงดันไฟฟ้ามากขึ้นช่วยให้การส่งกระแสไฟฟ้าในปริมาณที่เท่ากันสามารถทำได้โดยที่มีแรงต้านกระแสไฟฟ้าลดลง ผู้ผลิตสามารถลดจำนวนของสายไฟลงได้ ช่วยลดต้นทุนโดยรวมได้เช่นกัน (ระบบดังกล่าวใช้สายไฟฟ้าแบบทองแดงลดลงถึง 60 %) และลดน้ำหนักโดยรวมของตัวรถ ขณะที่ระบบส่งกำลัง (ตามภาพทางขวามือ) จะเป็นแบบระบบไฟฟ้าแบบ 800 โวล์ท ถูกใช้งานครั้งแรกโดย TESLA เช่นเดียวกับชุดแบทเตอรี (ประกอบด้วย 4,680 เซลส์) ส่งกำลังไปยังมอเตอร์ขับเคลื่อนทั้งหมด 3 ชุด โดย 1 ชุดถูกติดตั้งด้านหน้า และอีก 2 ชุดถูกติดตั้งด้านหลัง นอกจากนี้การใช้งานระบบส่งข้อมูลสมัยใหม่ช่วยลดจำนวนอุปกรณ์เชื่อมต่อลงได้อีกมาก ทำให้ CYBERTRUCK ใช้สายไฟฟ้าทั้งหมด 155 ชุด เทียบกับรุ่น MODEL 3 ที่ใช้ถึง 490 ชุด และมีระบบอีเลคทรอนิคที่ล้ำสมัยติดตั้งเข้ามาอีกหลายรายการ
ระบบบังคับเลี้ยวแบบอีเลคทรอนิคเต็มตัว ทำให้ไม่จำเป็นต้องมีจุดเชื่อมต่อโดยตรงจากพวงมาลัย
หน่วยประมวลจำนวน 2 ชุดของระบบบังคับเลี้ยวแบบอีเลคทรอนิค หากชุดประมวลผลแรกไม่มีการตอบสนอง ชุดประมวลที่ 2 จะเข้ามาทำหน้าที่แทนเพื่อความปลอดภัยสูงสุด
ตัวถังที่เน้นสันเหลี่ยม นอกเหนือจากความแปลกตาแล้ว ยังมีผลดีในเรื่องความแข็งแกร่งของตัวถังโดยรวม ตัวถังภายนอกใช้วัสดุโลหะสแตนเลส ทนทานต่อรอบขีดข่วน รวมถึงกันกระสุนได้ด้วย การพัฒนาโลหะที่มีความแข็งแรง มีชื่อว่า TESLA ARMOR ทางผู้ผลิตระบุว่าสามารถทนแรงกระแทกของลูกเบสบอลที่พุ่งมากระทบที่ความเร็ว 110 กม./ชม. ได้สบาย
ระบบไฟฟ้าแบบ 48 โวล์ท ช่วยลดจำนวนของสายไฟฟ้าที่ใช้งานกับตัวรถลงได้มาก และมีผลดีเพิ่มเติม คือ ลดต้นทุนโดยรวม รวมถึงน้ำหนักโดยรวมของตัวรถ
ชุดแบทเตอรีถูกติดตั้งภายในโครงสร้างตัวถังที่ถูกเสริมความแข็งแรงมาเป็นอย่างดี การติดตั้งจะแนบสนิทไปกับโครงสร้างตัวถังโดยรอบ นอกจากนี้รูปแบบของห้องโดยสารก็มีจุดน่าสนใจเช่นกัน เบาะนั่งของผู้โดยสารถูกยึดติดเข้ากับโครงสร้างตัวถังด้วย