มาตรฐานรถไฟฟ้าที่เรากำลังจะพูดถึง คือ มาตรฐานการวัดระยะทางที่วิ่งได้เมื่อชาร์จไฟเต็ม หรือ Range ซึ่งปัจจุบันมีถึง 4 มาตรฐาน ได้แก่ EPA, NEDC, WLTP และ CLTC มาตรฐาน EPA เป็นการทดสอบโดยหน่วยงานเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ หรือ U.S. Environmental Protection Agency (EPA) ซึ่งว่ากันว่าผลลัพธ์ของการทดสอบในรูปแบบของ EPA มีค่าใกล้เคียงการใช้งานในชีวิตจริงมากที่สุด
มาตรฐาน NEDC มาจากคำว่า The New European Driving Cycle หรือ “วัฐจักรการขับขี่ใหม่ของยุโรป” ซึ่งแม้จะมีคำว่า “ใหม่” แต่มาตรฐานนี้ใช้งานมาตั้งแต่ปี 1970 และมีการอัพเดทครั้งล่าสุดไปเมื่อปี 1997 เรียกได้ว่า ค่อนข้างจะล้าสมัย และมักจะให้ผลทดสอบที่ดีกว่าในชีวิตจริงมาก
มาตรฐาน WLTP ย่อมาจาก Worldwide Harmonised Light Vehicle Test Procedure หรือ “กระบวนการทดสอบสากลสำหรับรถน้ำหนักเบา” ซึ่งเป็นความร่วมมือในการกำหนดรูปแบบการทดสอบระหว่าง สหภาพยุโรป อินเดีย กับญี่ปุ่น เพื่อแทนที่มาตรฐาน NEDC เริ่มใช้งานมาตั้งแต่ปี2015 และเป็นมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับกันในอินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และยุโรป ให้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกับการใช้งานในชีวิตจริง
สุดท้าย มาตรฐาน CLTC ย่อมาจาก China Light-Duty Vehicle Test Cycle หรือ “วัฐจักรการทดสอบรถน้ำหนักเบาของจีน” เป็นมาตรฐานที่ศูนย์วิจัยแห่งชาติของจีน คิดค้น และนำมาใช้งานเมื่อปี 2020 นี้เอง เพื่อแทนที่มาตรฐาน NEDC ที่ผลคลาดเคลื่อนสูง โดยให้ผลลัพธ์การทดสอบใกล้เคียงการใช้งานในชีวิตจริงมากกว่า NEDC พอสมควร เมื่อเทียบผลทดสอบที่ได้ กับการใช้งานจริง พบว่ามาตรฐานที่ใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุด
เรียงตามลำดับ ได้แก่ มาตรฐาน EPA ตามด้วย WLTP ซึ่งมักจะได้ตัวเลขระยะทางวิ่งมากกว่า EPA ราว 22 % อันดับ 3 CLTC ซึ่งจะได้ตัวเลขระยะทางวิ่งมากกว่า EPA ราว 35 % และสุดท้าย คือ NEDC ที่หากเทียบกับ EPA แล้วจะได้ตัวเลขดีกว่าเกือบ 50 % ดังตารางการทดสอบของ Volkswagen e-Golf ที่หากใช้มาตรฐาน EPA จะวิ่งได้ 190 กม. ส่วนมาตรฐาน WLTP ได้ระยะทาง 231 กม. ขณะที่เมื่อทดสอบด้วยมาตรฐาน NEDC จะได้ระยะทางมากถึง 300 กม. เลยทีเดียว