กิจกรรม(formula)
เปิดวิสัยทัศน์ 100 ปีข้างหน้าของ บีเอมดับเบิลยู
บีเอมดับเบิลยู บริษัทที่ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ผลิตรถยนต์ขับสนุก และเป็นนักบุกเบิกนวัตกรรมใหม่ๆ กำลังมองไป 20 ปีข้างหน้า ซึ่งบนท้องถนนอาจเต็มไปด้วย “ยานยนต์ไร้คนขับ” รถยนต์ในอนาคตจะเป็นอย่างไร จะยังคงความสนุกในการขับขี่อยู่หรือไม่ และการเดินทางจะเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างไร งานนี้น่าสนใจ และน่าติดตามครับ
บีเอมดับเบิลยู ฉลองครบรอบ 100 ปี พร้อมแถลงวิสัยทัศน์ ยานยนต์อีก 100 ปีต่อจากนี้
7 มีนาคม 1916 บีเอมดับเบิลยู (BAYERISCHE MOTOREN WERKE) จดทะเบียนบริษัทขึ้นเป็นครั้งแรก ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ในเครือ บีเอมดับเบิลยู กรุพ (BMW GROUP) ประกอบไปด้วย บีเอมดับเบิลยู มีนี และ โรลล์ส-รอยศ์ นอกจากนั้นยังมีธุรกิจมอเตอร์ไซค์ บีเอมดับเบิลยู มอเตอร์ราด (BMW MOTORRAD) ธุรกิจการเงิน และ โมบิลิที เซอร์วิศ (MOBILITY SERVICE) มีโรงงานประกอบ 30 แห่งใน 14 ประเทศ หรือมีเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายในกว่า 140 ประเทศทั่วโลก ปีก่อน บีเอมดับเบิลยู กรุพ มียอดจำหน่ายรถยนต์รวม 2.247 ล้านคัน และมอเตอร์ไซค์อีกประมาณ 137,000 คัน มีพนักงานทั้งสิ้น 116,324 คน และทำรายได้รวมกว่า 3.20 ล้านล้านบาท (80.40 พันล้านยูโร)งานฉลอง 100 ปีของ บีเอมดับเบิลยู จัดขึ้นที่สนามกีฬาโอลิมปิค เมืองมิวนิค ในวันที่บริษัท ฯ เปิดทำการมาครบ 100 ปีพอดี
บีเอมดับเบิลยู เชิญแขกร่วมงานกว่า 2,000 คน มีทั้งตัวแทนจากภาครัฐ ผู้บริหารระดับสูง ซัพพลายเออร์ พนักงาน โรงงาน ตัวแทนจำหน่าย ลูกค้าแฟนพันธุ์แท้ และสื่อมวลชน เราเป็น 1 ใน 2 สื่อมวลชนจากไทย ที่ได้รับเกียรติเข้าร่วมงานเฉลิมฉลองในครั้งนี้ หลังจากนี้ เขาจะเดินสายจัดงานแบบนี้ต่อในอีก 3 ประเทศ ได้แก่ จีน อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา โดยจะมีการเปิดตัวรถแนวคิด บีเอมดับเบิลยู วิชัน เนกซ์ 100 (VISION NEXT 100) เป็นครั้งแรกในเอเชีย ที่ปักกิ่ง ประเทศจีน และรถแนวคิด วิชัน (VISION) ของ มีนี และ โรลล์ส-รอยศ์ จะเผยโฉมที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ และ บีเอมดับเบิลยู มอเตอร์ราด (BMW MOTORRAD) ที่ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา ภายในปีนี้ บีเอมดับเบิลยู จัดงานแถลงข่าวครั้งนี้ขึ้นที่ MOOSACHER STRABE 66 โรงงานเก่าที่เคยใช้ผลิตเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบิน เมื่อ 100 ปีก่อน ซึ่งเร็วๆ นี้จะถูกพัฒนาเป็นศูนย์ปรับสภาพ คืนชีพรถโบราณในช่วงเฉลิมฉลองนี้ที่ บีเอมดับเบิลยู มิวเซียม การจัดแสดงนิทรรศการ 100 ผลงานมาสเตอร์พีศ และประวัติของค่ายใบพัดสีฟ้าขาว
บีเอมดับเบิลยู ก่อตั้งเมื่อ 7 มีนาคม 1916 สมัยนั้นผลิตแต่เครื่องยนต์สำหรับเครื่องบิน เครื่องยนต์ที่มีชื่อเสียง คือ เครื่อง 6 สูบ 19.1 ลิตร ให้กำลังต่อเนื่อง 185 แรงม้า ในยุคนั้นผู้คนเริ่มรู้จักการเดินทางด้วยเครื่องบิน และเป็นยุคที่ทหารต้องการใช้เครื่องยนต์สำหรับเครื่องบินรบ ในปี 1923 บีเอมดับเบิลยู หันมาทำรถจักรยานยนต์ 2 ล้อ เป็นครั้งแรก บีเอมดับเบิลยู อาร์ 32 (R32) ขึ้นชื่อด้วยเครื่องยนต์สูบคู่นอนยัน บอกเซอร์ 8.5 แรงม้า ทำความเร็วสูงสุดได้ 95 กม./ชม. แกนเพลาต่อตรง แบบไม่ใช้โซ่ ทำให้มีจุดศูนย์ถ่วงต่ำ เกาะถนนดี ทนทาน ภายในปีเดียวขายไปกว่า 1,500 คัน 10 ปีหลังจากนั้น (1933) บีเอมดับเบิลยู เริ่มสนใจทำรถยนต์สมรรถนะสูงระดับพรีเมียม ขนาดกลาง เปิดตัวรุ่น 303 พร้อมกับเครื่องยนต์ 6 สูบแถวเรียง 1.2 ลิตร ให้กำลัง 30 แรงม้า นับเป็นหนึ่งในจำนวนเครื่องยนต์ 6 สูบ ที่มีขนาดเล็กสุดจนถึงปัจจุบัน และยังมีกระจังหน้าทรงไตคู่ เอกลักษณ์ของ บีเอมดับเบิลยู เป็นครั้งแรกอีกด้วย หลังจากไม่ประสบความสำเร็จในการทำตลาดรถเก๋งขนาดใหญ่ในยุคนั้น บีเอมดับเบิลยู หันมาลองทำรถขนาดจิ๋ว เพื่อเอาใจตลาดคนหนุ่มสาว ที่เพิ่งมีครอบครัว ต้องการแค่รถเล็ก ขับข้ามเทือกเขาแอลป์เพื่อไปเที่ยวอิตาลี หลังสงครามเพิ่งสงบลงในปี 1955 อีเซตตา (ISETTA) โดดเด่นด้วยประตูเปิดข้างหน้า ใช้เครื่องยนต์ 4 จังหวะ สูบเดียว จากมอเตอร์ไซค์ ให้กำลัง 12 แรงม้า ความเร็วสูงสุด 85 กม./ชม. บีเอมดับเบิลยู ซื้อลิขสิทธ์มาจากบริษัทอิตาเลียนชื่อ อีโซ ริโวลตา (ISO RIVOLTA) ซึ่งจริงๆ แล้วบริษัทนี้เคยผลิตตู้เย็นจนถึงต้นยุค 50 และเชื่อหรือไม่ว่า ที่จับเปิดประตูของ อีเซตตา ก็คือ อันเดียวกับที่ใช้เปิดตู้เย็นในยุคนั้นนั่นเอง เพียงแค่ 6 เดือนแรก บีเอมดับเบิลยู ขาย อีเซตตา ไปกว่า 10,000 คัน และทั้งหมดกว่า 160,000 คัน เมื่อสิ้นสุดสายการผลิตรถรุ่นนี้ในปี 1962 ตอนต้นยุค 60 บีเอมดับเบิลยู ผลิตรถรุ่นใหม่สู่ตลาด นั่นคือ รุ่น 1500 มันคือรถครอบครัวที่ผสมความสปอร์ท และสร้างชื่อจากนั้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ในปี 1972 มิวนิคถูกใช้เป็นสถานที่จัดงานโอลิมปิคฤดูร้อน ผู้จัดขอร้องให้ บีเอม ดับเบิลยู ทำรถต้นแบบไฟฟ้าล้วนขึ้น 2 คัน โดยใช้โครงสร้างของรุ่น 1602 ใส่แบทเตอรีตะกั่วที่มีน้ำหนักกว่า 350 กก. มอเตอร์ให้กำลัง 32 กิโลวัตต์ รัศมีทำการ 60 กม. ที่ความเร็วคงที่ 50 กม./ชม. ออกแบบให้ยกเปลี่ยนได้ เมื่อแบทเตอรีก้อนเดิมหมดลง ช่วงปีเดียวกันนี้ (1972) BMW MOTORSPORT GMBH ถือกำเนิดขึ้น ส่งผลให้ บีเอมดับเบิลยู มีแผนก M ที่เตรียมไว้สำหรับแฟนๆ ที่ชอบความแรงพิเศษ ปี 1999 เปิดตัว บีเอมดับเบิลยู เอกซ์ 5 (X5) แนวคิดรถยนต์เซกเมนท์ใหม่ SAV (SPORTS ACTIVITY VEHICLE) ที่รวมเอาความสนุกของการขับขี่บนถนนหลวง และการขับขี่ในเส้นทางทุรกันดารเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว ปี 2013 บีเอมดับเบิลยู ริเริ่มโครงการ BMW I คือ โครงการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า แบบที่เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นรถไฟฟ้าโดยเฉพาะ เป็นความคิดใหม่หมดจดในเรื่องการเลือกใช้วัสดุโครงสร้างตัวถังคาร์บอนไฟเบอร์ ระบบรองรับอลูมิเนียมน้ำหนักเบา ปี 2016 หน้าจอ HEAD-UP DISPLAY ถูกพัฒนาต่อมาเป็นกระจกหน้าอัจฉริยะ ที่ส่งข้อมูลที่จำเป็นให้คนขับใน บีเอมดับเบิลยู วิชัน เนกซ์ 100 รถแนวคิดคันล่าสุดบีเอมดับเบิลยู วิชัน เนกซ์ 100
รถแนวคิดที่ตั้งใจทำขึ้นเพื่อมองไปข้างหน้าว่ายานยนต์จะเป็นอย่างไร เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยน การใช้ชีวิตของผู้คน และการเดินทางของเราจะเป็นอย่างไร ในอีกสัก 20 ปีข้างหน้า มีการคาดการณ์ว่าในปี 2050 ไม่น้อยกว่า 75 % ของคนยุโรป และมากกว่า 90 % ของคนอเมริกัน จะอาศัยอยู่ในตัวเมือง และความต้องการในการเดินทางของแต่ละบุคคลก็จะเพิ่มมากขึ้น แน่นอนปัญหาที่ตามมา คือ ถนนเต็มไปด้วยรถยนต์ ที่จอดรถไม่เพียงพอ มลภาวะในตัวเมือง แน่นอนว่าในอนาคต “ยานยนต์ไร้คนขับ” จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบนท้องถนนแน่ๆ แต่คำถามอยู่ที่ จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ สำหรับค่าย บีเอมดับเบิลยู แล้ว คนขับจะยังเลือกขับเองได้เมื่อต้องการความสนุกในการขับขี่ ประสบการณ์ของการเดินทางจะต้องสนุกเหมือนเคย ความแรงของลมปะทะใบหน้า แรงสั่นสะเทือนของเครื่องยนต์ขณะเร่งรอบสูง ยังคงเป็นเสน่ห์ของยานยนต์อนาคตในสายตาของ บีเอมดับเบิลยู วัสดุที่ใช้สร้างรถยนต์ในอนาคต จะเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้การประกอบรถยนต์รวดเร็วขึ้น และเทคโนโลยีการพิมพ์ 4D จะทำให้การเชื่อมโยงวัสดุต่างๆ เข้ากับชิ้นส่วนต่างๆ ได้อย่างที่ไม่เคยเห็น รถยนต์จะเรียนรู้ และพัฒนาความฉลาดอย่างต่อเนื่อง (AI) รถยนต์ในอนาคต จะเชื่อมต่อกับโลกภายนอกตลอดเวลา อย่างเต็มรูปแบบ เพราะเทคโนโลยีดิจิทอล จะฝังรากลึกในแทบทุกส่วนของวิถีชีวิตเรา มันจะเป็นการผสาน “โลกเสมือน” ให้เป็น “ชีวิตจริง” การแสดงผล และหน้าจอสัมผัส จะทำให้การสื่อสาร และการโต้ตอบระหว่างมนุษย์กับเครื่องยนต์ สรุปได้ว่าเทคโนโลยีที่ว่านี้ มันจะมีจิตใจ และความเป็นมนุษย์มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ บริษัทรถยนต์ชั้นนำ ที่มีคำขวัญชัดเจนว่า SHEER DRIVING PLEASURE จะทำอย่างไร ถ้าอนาคตยานยนต์จะไร้คนขับ โจทย์นี้ช่างท้าทายยิ่งนัก เขาเริ่มการออกแบบรถแนวคิดคันนี้จากภายในก่อนเป็นอันดับแรก เริ่มจากข้างในห้องโดยสาร ตำแหน่งคนขับ การโต้ตอบสื่อสารระหว่างหน้าจอบนกระจกหน้า และใช้แผงแดชบอร์ดในการสื่อสารแบบแอนาลอก ให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตในรถยนต์มากขึ้น ดังนั้นจึงมี EASE MODE เปลี่ยนผู้ขับเป็นผู้โดยสาร นั่งพักผ่อน และปล่อยให้รถยนต์ขับไปเอง ห้องโดยสารเปลี่ยนสีเป็นโทนเย็นสบาย ปรับตำแหน่งนั่งของเบาะโดยสารพับเก็บพวงมาลัย เพิ่มพื้นที่ห้องโดยสาร ส่วน BOOST MODE เมื่อคิดสนุก และอยากจะขับเอง พวงมาลัยจะกางออกด้วยเวลาอันรวดเร็ว และพร้อมให้ควบคุมบังคับ COMPANION MODE รถยนต์จะเรียนรู้ และสนับสนุนข้อมูลต่างๆ เพื่อให้เป็น ULTIMATE DRIVER ทั้งขับสนุก และปลอดภัยยิ่งขึ้น จุดเด่นที่เห็นได้จากภายนอก คือ พื้นผิวตัวถังของรถคันนี้ ขยับและยืดหยุ่นได้ ซุ้มล้อหน้าที่ซ่อนล้อไว้ข้างใน ยืดออกเมื่อหมุนพวงมาลัย คล้ายๆ กับผิวหนังที่สามารถขยับได้ และมันจะทำให้อากาศพลศาสตร์ลดต่ำลงอย่างมาก นักออกแบบมีสมมติฐานว่า ในอนาคตกระจังหน้ารถยนต์อาจไม่จำเป็นต้องเปิดเอาอากาศเข้ามาระบายความร้อนเครื่องยนต์ เพราะมันอาจไม่มีเครื่องยนต์อยู่ในนั้น เลยเปลี่ยนกระจังหน้าทรงไตคู่ ไฟหน้าเอกลักษณ์ของ บีเอมดับเบิลยู และไฟท้ายทรง L-SHAPED เป็นที่สำหรับการสื่อสารข้อมูลกับคนภายนอกแทน ไม่ว่าจะเป็นคนเดินถนน คนขี่จักรยาน เพื่อให้รู้ว่าขณะนั้นรถคันนี้กำลังอยู่ในโหมดการขับเคลื่อนแบบใด (มนุษย์กำลังขับ หรือรถยนต์ขับเอง) การออกแบบรถคันนี้ยังคำนึงถึงคนขับเป็นหลัก การติดต่อเชื่อมโยงกับโลกดิจิทอล จะช่วยสนับสนุนข้อมูลให้คนขับยิ่งเป็นนักขับที่สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น แม้ว่าโลกจะเปลี่ยนไป แต่ว่าความสนุกในการขับขี่ยังคงอยู่ แถมยังสนุกกว่าที่เคย เมื่อรถยนต์เชื่อมคน ข้อมูลนัดหมาย แผนที่การเดินทาง ข้อมูลสถานที่ปลายทาง ข้อมูลการจราจร ความเร็วที่เหมาะสมในการเดินทางเพื่อให้ถึงจุดหมายตามเวลาที่กำหนด แผงคอนโซลที่ฝังสามเหลี่ยมเล็กๆ กว่า 800 ตัว เพื่อใช้ในการสื่อสารระหว่างรถยนต์กับคนขับ มันจะกระพือเมื่อต้องการให้คนขับระมัดระวังถนนข้างหน้า เตือนให้เบรค ได้ดีกว่าการเตือนด้วยเสียง หรือหน้าจอ (คล้ายๆ กับการสั่นเตือนใน APPLE WATCH) ส่วนพวกเราเตรียมปรับตัวจาก ULTIMATE DRIVING MACHINE สู่ ULTIMATE DRIVER อีกไม่นานเกินรอABOUT THE AUTHOR
ช
ชลัทชัย ปภัสร์พงษ์
ภาพโดย : ชลัทชัย ปภัสร์พงษ์นิตยสาร 399 ฉบับเดือน พฤษภาคม ปี 2559
คอลัมน์ Online : กิจกรรม(formula)