เรามาเปิดโลกการเชื่อมต่อไปพร้อมกับแนวคิด "INTERNET OF THINGS" ซึ่งแอบซึมซาบอยู่ในชีวิตประจำวันกันอย่างไม่รู้ตัว โดยการนำระบบเชื่อมต่อเข้ามาสั่งงานอุปกรณ์อีเลคทรอนิค ผ่านสมาร์ทโฟน แทนการกดปุ่มโดยตรง แนวคิด "ทุกสิ่งเชื่อมต่อได้ด้วยอินเตอร์เนท" ประเดิมศตวรรษใหม่ ช่วงเดียวกับการทดลองใช้ระบบ 3Gหลายคนคงเคยได้ยินคำว่า "INTERNET OF THINGS" มาบ้าง แต่มันไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าที่ควร เพราะดูจะไกลตัว แต่ความจริงสิ่งนี้กำลังคืบคลานเข้ามาหาเราอย่างเงียบๆ และคนส่วนใหญ่ได้ใช้งานไปแล้วโดยไม่รู้ตัว... จุดเริ่มต้น ปี 1999 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญด้านเทคโนโลยี เควิน แอชทัน (KEVIN ASHTON) นักบุกเบิกด้านเทคโนโลยีชาวอังกฤษ เป็นเจ้าของแนวคิด INTERNET OF THINGS หรือ (IOT) "ทุกสิ่งเชื่อมต่อได้ด้วยอินเตอร์เนท" ช่วงเดียวกันกับการสื่อสารระบบ 3G เริ่มทดลองใช้ แสดงว่า แอชทัน คาดการณ์ล่วงหน้าไว้ หรือไม่ก็มีข้อมูลอยู่ในมือ ว่าระบบสื่อสารนั้นใช้งานได้จริง และต้องประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว แต่สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่เพียงการเชื่อมต่อ แต่ต้องควบคุมอุปกรณ์ทุกอย่างผ่านอินเตอร์เนทได้ด้วย ภายใต้แนวคิดดังกล่าว มันซ่อนระบบการทำงานเอาไว้อย่างลึกซึ้ง เพราะด้วยอินเตอร์เนท เนทเวิร์คอย่างเดียว ไม่สามารถเสริมสร้างความฝันให้เป็นจริงได้ ต้องอาศัยตัวเซนเซอร์ที่มีชื่อว่า RFID (RADIO FREQUENCY IDENTIFICATION) ทำงานโดยระบุคลื่นความถี่วิทยุ ผ่านอุปกรณ์ 2 ตัว คือ TAG สำหรับติดตั้งบนอุปกรณ์ และ READER เพื่ออ่านค่าของอุปกรณ์ดังกล่าว จุดเชื่อมต่อ ระบบการทำงานที่สำคัญ คือ ไวร์เลสส์ เซนเซอร์ เนทเวิร์ค หรือ (WSN: WIRELESS SENSOR NETWORK) เป็นระบบตรวจจับสภาพแวดล้อม อาทิ แสง, อุณหภูมิ หรือความดัน ส่งค่าต่างๆ เหล่านั้น ไปยังอุปกรณ์ในระบบร่วมกับอินเตอร์เนท เนทเวิร์ค เพื่อให้ทำงาน หรือสั่งการอื่นๆ ได้ แบบเรียลไทม์ นั่นคือ จุดเริ่มต้นที่สิ่งของต่างๆ สื่อสารกันเองได้ ปี 2005 หลังจากที่ระบบ 3G มีเสถียรภาพมากขึ้น และเริ่มทดลองระบบ 4G การสื่อสารเติบโตอย่างรวดเร็ว บริษัทผู้ผลิตสินค้ายักษ์ใหญ่หลายราย โดยเฉพาะอุปกรณ์สื่อสาร ให้ความสนใจกับแนวคิดนี้ และเริ่มพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์ ให้รองรับระบบสั่งงานแบบไร้สาย ปี 2010 แนวคิดนี้ เริ่มได้รับความสนใจไปทั่วโลก อุปกรณ์อีเลคทรอนิคเติบโตแบบทวีคูณ โดยเฉพาะสมาร์ทโฟน และของเล่นไฮเทค (GADGET) กลายเป็นสินค้ายอดฮิท มีการจัดอันดับกันอย่างต่อเนื่อง ถึงความล้ำสมัย โดนใจ สมาร์ทพโรดัคท์ครองโลก อุปกรณ์อีเลคทรอนิค ที่ตอบสนองความต้องการได้แบบสุดล้ำ กำลังก้าวเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันมากขึ้นทุกที และสมาร์ทโฟนที่เราใช้กันอยู่ คือ กุญแจดอกสำคัญ ที่สามารถเชื่อมต่อ สั่งงาน กับบรรดาสมาร์ทพโรดัคท์เหล่านั้นได้ แบบไร้สาย ยกตัวอย่าง สมาร์ทโฮม ที่คุณสามารถควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ภายในบ้านได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส ผ่านสมาร์ทโฟน, แทบเลท หรือคอมพิวเตอร์ ได้ด้วยการเชื่อมต่อแบบไร้สาย อาทิ ระบบเปิด/ปิดประตู, น้ำ/ไฟฟ้า/แสงสว่าง, ปรับอากาศ, อุปกรณ์ความบันเทิง, อุปกรณ์ด้านอาหาร และความปลอดภัย เป็นต้น ปัจจุบันมีอุปกรณ์อีเลคทรอนิค ที่เชื่อมต่อการทำงานผ่านอินเตอร์เนท มากกว่า 25 ล้านรายการ และคาดว่าในปี 2020 จะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ความบันเทิง : CARPLAY และ ANDROID AUTO เป็นระบบความบันเทิง OEM ในรถยนต์ ที่ทำงานร่วมกับสมาร์ทโฟน, ลำโพงไร้สาย/บลูทูธ และเฮดโฟนไร้สาย/บลูทูธ สามารถฟังเพลงจากสมาร์ทโฟนได้โดยตรง, สมาร์ททีวีสามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เนท เพื่อดูรายการผ่าน แอพพลิเคชันต่างๆ ได้ การสื่อสาร : สมาร์ทโฟน/แทบเลท/คอมพิวเตอร์ สื่อสารได้หลายรูปแบบ ทั้งภาพ, เสียง และงานเอกสาร อีกทั้งเป็นตัวควบคุมระบบ และอุปกรณ์อีเลคทรอนิคต่างๆ ได้ เพียงปลายนิ้วสัมผัส, ระบบสั่งงานด้วยเสียง สามารถสั่งงานได้โดยตรง หรือพูดโต้ตอบได้, หูฟังไร้สาย/บลูทูธ ไมโครโฟนไร้สาย/บลูทูธ ใช้สื่อสารในระยะใกล้ และผ่านระบบอินเตอร์เนท, อีเลคทรอนิคบอร์ด แสดงชาร์ท หรือรูปภาพจากคอมพิวเตอร์ เขียน และคอพีงานเป็นไฟล์เก็บไว้อ้างอิง หรือส่งอี-เมลได้ การเดินทาง : INKANET ระบบตรวจเชค ควบคุมการทำงานรถยนต์ผ่านสมาร์ทโฟน โดยค่าย เอมจี, GOOGLE MAP แผนที่ ระบบนำทางผ่านดาวเทียม, ระบบค้นหาตำแหน่ง, V-CHARGE ระบบค้นหาที่จอดรถ และชาร์จไฟอัตโนมัติแบบไร้สาย พัฒนาโดยค่าย โฟล์คสวาเกน ความปลอดภัย : ระบบลอคประตูอัจฉริยะ ลอค/ปลดลอคผ่านสมาร์ทโฟน, กล้องวงจรปิดไร้สาย แสดงภาพ และเตือนผู้บุกรุกผ่านสมาร์ทโฟน, ระบบเตือนภัย เซนเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว, ระบบลอค/ปลดลอครถยนต์ผ่านสมาร์ทโฟน, NFC (NEAR FIELD COMMUNICATION) ระบบการส่งข้อมูลระยะสั้น และมีความปลอดภัยสูง เริ่มมีติดตั้งในสมาร์ทโฟนบางรุ่น ใช้งานง่ายเพียงนำอุปกรณ์ 2 ตัวมาแตะกัน ทำงานเหมือนคีย์คาร์ด สุขภาพ : อุปกรณ์ติดตามกิจกรรม (ACTIVITY TRACKER), อุปกรณ์กีฬา อาทิ เฮดโฟนไวร์เลสส์ เครื่องตรวจเชคสภาพแวดล้อมขณะแข่งขัน, อุปกรณ์ตรวจวัดค่าโภชนาการ, อุปกรณ์เพื่อการนอนหลับ ตรวจวัดค่าต่างๆ ขณะหลับ อำนวยความสะดวก : หุ่นยนต์ทำความสะอาด, ระบบควบคุมอุณหภูมิ, ระบบรดน้ำ, ระบบแจ้งเตือนสภาพอากาศ, อุปกรณ์ชาร์จไฟไร้สาย เริ่มผลิตออกมาสำหรับสมาร์ทโฟน และอุปกรณ์อีเลคทรอนิคขนาดเล็ก, หลอดไฟสมาร์ท LED ควบคุมการทำงานผ่านบลูทูธ เปลี่ยนสี ความเข้มแสง และมีลำโพงในตัว, ปลั๊กไฟ WI-FI และกล่องควบคุมอุปกรณ์ภายในบ้านไร้สาย อื่นๆ : อุปกรณ์เซนเซอร์ติดตาม ใช้สำหรับตามหาสิ่งของ อาทิ พวงกุญแจ, กระเป๋า หรือสัตว์เลี้ยง, แหวนอัจฉริยะทำงานร่วมกับสมาร์ทโฟนได้หลายฟังค์ชัน อีกทั้งตั้งค่าปลดลอคประตูได้, สมาร์ทวอทช์ มีทั้งแบบทำงานร่วมกับสมาร์ทโฟน และเป็นอุปกรณ์สื่อสารในตัว, DRONE ของเล่นไฮเทค และอุปกรณ์ถ่ายภาพทางอากาศ นำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้อีกหลายอย่าง อาทิ ส่งของ, ช่วยเหลือผู้ประสบภัย หรือสอดแนม เป็นต้น นี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งเท่านั้น ปัจจุบันมีอุปกรณ์อีเลคทรอนิค ที่เชื่อมต่อการทำงานผ่านอินเตอร์เนท มากกว่า 25 ล้านอุปกรณ์ และคาดว่าในปี 2020 จะเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ หลายคนอาจสงสัยว่า ถ้าระบบเชื่อมต่อล่ม, แบทเตอรีหมด หรือสมาร์ทโฟนหาย เราจะสามารถใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ได้หรือเปล่า ? อุปกรณ์แต่ละอย่าง จะออกแบบให้รองรับการใช้งานแมนวลไว้ด้วย อาทิ ระบบเปิด/ปิดประตูด้วยสมาร์ทโฟน จะมีคีย์คาร์ด และกุญแจสำรองให้มาด้วย ในกรณีที่แบทเตอรีหมด ก็สามารถเปิดประตูได้แบบปกติ สรุป INTERNET OF THINGS กลายเป็นเรื่องจริง ที่ทำให้เกิดสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ มากมาย ทุกคนสามารถใช้งานอุปกรณ์อีเลคทรอนิค และระบบต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ผ่านอินเตอร์เนทได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน รวมถึงขณะเดินทาง หรืออยู่ในสถานที่ห่างไกล