เกาะกระแส (cso)
SMART VEHICLE
ระบบขนส่ง และการเดินทางของมวลมนุษยชาติ กำลังจะถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ คือ การพัฒนาสู่ยานยนต์ ที่สามารถขับเคลื่อนบนท้องถนนได้ด้วยตัวเอง ยานยนต์ไร้คนขับใกล้ความจริง หลังพัฒนา และทดลองใช้งานมานานกว่า 6 ปีจากรถยนต์คันแรก ที่ขับเคลื่อนด้วยมนุษย์เมื่อ 100 กว่าปีก่อน ผ่านมาถึงปี 2015 เราได้เห็นรถยนต์ต้นแบบ ที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง กำลังทดสอบวิ่งจริง ทั้งในสนามจำลอง และบนท้องถนน โดยคาดว่าจะพร้อมผลิตออกเพื่อจำหน่าย ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า GOOGLE ผู้บุกเบิก กรณียานยนต์ไร้คนขับ พัฒนามาถึงวันนี้ได้ ต้องยกความดีความชอบให้ค่าย GOOGLE ที่เปิดแนวคิดนี้ และทดลองอย่างจริงจัง ภายใต้พโรเจค "GOOGLE SELF-DRIVING CAR" ตั้งแต่ปี 2009 โดยพัฒนาควบคู่ไปกับ GOOGLE MAP เนื่องจากสภาพเส้นทางเสมือนจริง เป็นกุญแจสำคัญของระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ อีกทั้งระบบที่ติดตั้งในรถยนต์ ไม่สามารถประเมินสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวได้ทั้งหมด จึงต้องอาศัยแผนที่ และสภาพเส้นทางจากดาวเทียม ทั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากบริษัทผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ อย่าง โตโยตา เลกซัส และ เอาดี นำรถในไลน์ผลิตมาประกอบเป็นรถต้นแบบ อาทิ โตโยตา ปรีอุส/เลกซัส แอลเอส 460 และ อาร์เอกซ์ 450 เอช และ เอาดี ทีที เพื่อเป็นรถสำรวจเส้นทาง และพัฒนาระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติไปพร้อมกัน นอกจาก GOOGLE แล้ว ยังมีค่ายผลิตรถยนต์หลายค่าย ตั้งใจพัฒนาระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติของตัวเองเช่นกัน อาทิ ฟอร์ด นิสสัน เมร์เซเดส-เบนซ์ เอมจี และ เอาดี รวมถึงผู้ประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ อย่าง คอนทิเนนทัล อย่างไรก็ตามจนถึงวันนี้ รถไร้คนขับค่ายใด ที่สมบูรณ์แบบ 100 เปอร์เซนต์ แต่คาดว่าทุกค่ายจะวางแผนผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง ออกจำหน่ายภายใน 2-5 ปีนี้ ระบบการทำงาน รถต้นแบบแต่ละคัน ประกอบไปด้วยชิ้นส่วนอีเลคทรอนิคส์มากมาย โดยหลักการ คือ เลเซอร์ เรดาร์ เซนเซอร์ กล้องบันทึกภาพเคลื่อนไหว ระบบประมวลผล ซึ่งต้องเชื่อมต่อแผนที่ผ่านดาวเทียม เพื่อบอกตำแหน่งของตัวรถ เน้นความปลอดภัยเป็นหลัก เลเซอร์ ระบบตรวจจับสภาพแวดล้อมโดยรอบ ติดตั้งในตำแหน่งบนสุด อาทิ บนหลังคา การทำงานจะหมุนรอบตัวเอง 360 องศา 10 รตน. เพื่อตรวจจับสิ่งต่างๆ รอบตัวรถ แสดงข้อมูลเป็น 3 มิติ เรดาร์ ระบบตรวจจับช่วงว่างด้านหน้ารถ ทำงานร่วมกับเครื่องยนต์ ติดตั้งบริเวณด้านหน้ารถ เพื่อประเมินความเร็วของรถยนต์คันหน้า ประมวลผลปรับความเร็วของรถให้เหมาะสม และปลอดภัย เซนเซอร์ ระบบป้องกัน ติดตั้งรอบตัวถัง เพื่อตรวจจับวัตถุแปลกปลอมบนท้องถนน เช่น รถคันหน้า และด้านข้าง รักษาระยะห่างรถระหว่างรถ ตรวจจับแสงไฟ แยกความแตกต่างระหว่างไฟท้ายรถ กับสัญญาณไฟจราจร หรือเซนเซอร์ตรวจจับช่องทางจราจร เพื่อรักษาตำแหน่งรถให้อยู่ในเลนของตัวเอง กล้องบันทึกภาพเคลื่อนไหว ตรวจจับภาพจริงบนท้องถนน เพราะการใช้ระบบนำทางผ่านดาวเทียมแต่เพียงอย่างเดียว จะแสดงแต่เส้นทางที่อัพเดทล่าสุดจากการสำรวจ หรือแม้ในแบบเรียลไทม์ ก็ไม่อาจมั่นใจได้ว่าเป็นภาพจริง ภาพจากกล้องจึงนำมาประมวลผลได้อย่างแม่นยำมากกว่า รวมถึงทำหน้าที่ตรวจสอบสัญญาณไฟจราจร สัญญาณป้ายต่างๆ รวมทั้งสัญญาณมือของคนขับจักรยาน ระบบประมวลผล เป็นหัวใจหลักในการรวบรวมข้อมูลจากระบบต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อวิเคราะห์สภาพท้องถนน (STREET VIEW) และสภาพเส้นทางเสมือนจริง (VIRTUAL TRACK) มันสามารถประมวลผลออกมาได้เป็นภาพ 3 มิติ กินพื้นที่กว้างกว่า 2 สนามฟุตบอลทีเดียว ระบบขับเคลื่อน ในขณะที่รถยนต์ระบบไฟฟ้าล้วนๆ ยังไม่เสถียร ระบบขับเคลื่อนในรถยนต์ไร้คนขับ จึงมีทั้งแบบไฮบริด กับระบบมอเตอร์ไฟฟ้าล้วนๆ ที่กำลังพัฒนาไปพร้อมกัน ซึ่งในอนาคตคาดการณ์ได้ว่า ยานยนต์ไร้คนขับ จะเป็นระบบไฟฟ้าล้วนๆ ซึ่งไม่ต้องการความเร็วสูง ประหยัดพลังงาน และปลอดภัย การควบคุม ทำได้ง่ายเพียงปลายนิ้วสัมผัส เริ่มตั้งแต่ เปิดระบบรวม เลือกเส้นทางที่ต้องการเดินทาง, เปิดระบบขับเคลื่อน และปิดระบบรวมเมื่อถึงที่หมาย ในระหว่างเดินทาง เจ้าของรถ และผู้โดยสาร สามารถสนทนา ชมทัศนียภาพ หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ได้โดยไม่ต้องกังวลกับสภาพเส้นทาง ความสำเร็จ GOOGLE เปิดตัว POD รถยนต์ต้นแบบขนาดเล็ก 2 ที่นั่ง ปราศจากพวงมาลัย คันเร่ง และเบรค มันมีเพียงปุ่มเปิดระบบ และหยุดรถ ใช้ระบบซอฟท์แวร์ ทำงานร่วมกันกับเซนเซอร์อัจฉริยะ ที่พัฒนาจนเกือบสมบูรณ์แบบ ทำความเร็วได้ 40 กม./ชม. และคาดว่าในปี 2017 จะได้เห็นของจริงกัน บททดสอบต่อไป ก่อนจะผลิตเพื่อจำหน่าย คือ การขับเคลื่อนในอุปสรรคต่างๆ เช่น ขณะฝนตกหนัก, มีหิมะ, เส้นทางทุระกันดาร, ลุยน้ำ หรือมีเหตุการณ์เฉพาะหน้า อย่างเช่น การตัดหน้าจากสิ่งต่างๆ สุดท้าย คือ ปรับความเร็วให้อยู่ในระดับมาตรฐาน สามารถวิ่งได้ 80-120 กม./ชม. ความปลอดภัย แม้ GOOGLE จะทดลองนำรถต้นแบบ วิ่งจริงบนท้องถนนกว่า 1.7 ล้านไมล์ แต่ก็ยังมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 11 ครั้ง โดย 8 ครั้ง โดนชนจากรถคันหลัง แม้จะไม่ร้ายแรงมาก แต่ก็เป็นข้อมูลสำคัญ เนื่องจากรถยนต์ต้นแบบยังทำความเร็วได้ไม่มาก และความรุนแรงของอุบัติเหตุมักแปรผันตรงกับความเร็ว ในอนาคต หากเราได้มีโอกาสใช้งานจริง ก็ไม่ควรประมาท ตำแหน่งการโดยสาร ไม่จำเป็นต้องหันไปด้านหน้ารถ อาจหันมาสนทนากันตลอดการเดินทาง หากไม่ต้องการชมทัศนียภาพภายนอก ก็ปรับกระจกทึบ เพื่อทำกิจกรรมอื่นๆ ได้ ในระหว่างเดินทาง เจ้าของรถ และผู้โดยสาร สามารถสนทนา, ชมวิวทิวทัศน์ หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ได้โดยไม่ต้องกังวลกับสภาพเส้นทาง สรุป ยานยนต์ไร้คนขับ กำลังจะกลายเป็นความจริงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แต่ละคันจะเชื่อมต่อกันด้วยระบบคลาวด์ เพื่อการทำงานที่สมบูรณ์แบบ และปลอดภัยถึงขีดสุด UP-TO-DATE AUDI PROLOQUE PILOTED DRIVING: รถต้นแบบที่สามารถขับเคลื่อนด้วยตัวเอง เปิดตัวในงาน CES 2015 พร้อมทดลองใช้งานจริงบนท้องถนน BMW: เปิดตัวเทคโนโลยี ยานยนต์ไร้คนขับที่ดริฟท์ได้ด้วยตัวเอง ในงาน CES 2014 ออกแบบระบบติดตั้งใน บีเอมดับเบิลยู เอม 235 I สามารถทำความเร็ว และควบคุมพวงมาลัยได้ด้วยตัวเอง CATAPULT TRANSPORT SYSTEMS: บริษัทวางระบบขนส่งยักษ์ใหญ่แห่งประเทศอังกฤษ ผลิตรถขนส่งขนาดเล็กในงานแสดงต่างๆ และวางระบบรถขนส่งในสนามบิน โดยไม่ต้องใช้คนขับ NISSAN AUTONOMOUS DRIVE: รถต้นแบบไร้คนขับ ที่พัฒนาต่อยอดจาก NSC-2015 เปิดตัวในงาน "มหกรรมยานยนต์โตเกียว 2015" โดยจะผลิตจำหน่ายในปี 2020 MERCEDES-BENZ HIGHWAY PILOT: โครงการรถบรรทุกไร้คนขับ โดยจะผลิตจำหน่ายในปี 2025/F 015 LUXURY IN MOTION: รถต้นแบบสุดหรูเปิดตัวในงาน CES 2015 และทดลองวิ่งจริงบนท้องถนนแล้ว POD: รถต้นแบบขนาดเล็ก 2 ที่นั่ง จากค่าย GOOGLE ปราศจากพวงมาลัย, คันเร่ง และเบรค ทำความเร็วได้ 40 กม.ชม. และคาดว่าจะผลิตเพื่อจำหน่ายในปี 2017 ROBOT TAXI: ยักษ์ใหญ่ด้านอินเตอร์เนท DENA และเทคโนโลยี ZMP จับมือผลิตแทกซีไร้คนขับตอบรับระบบขนส่งมวลชน อำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุ พร้อมทดลองวิ่งปีหน้า และผลิตจริงในปี 2020 SMART: ประเทศสิงคโปร์เปิดโครงการยานยนต์ไร้คนขับ เดินหน้าเพื่อระบบขนส่งมวลชน เน้นแก้ปัญหาการจราจร, ประหยัดพลังงาน และความปลอดภัย TOYOTA HIGHWAY TEAMMATE: รถต้นแบบที่พัฒนามาจาก เลกซัส จีเอส ภายใต้คอนเซพท์ "MOBILITY TEAMMATE" ความสัมพันธ์ระหว่างคนขับกับรถยนต์ พร้อมผลิตเพื่อจำหน่ายในปี 2020
ABOUT THE AUTHOR
ชูศักดิ์ ดำคำเพราะ
ภาพโดย : อินเตอร์เนทนิตยสาร 409 ฉบับเดือน ธันวาคม ปี 2558
คอลัมน์ Online : เกาะกระแส (cso)