THE ALL-NEW SUBARU FORESTER-FUEL EFFICIENCY MEDIA DRIVE PENANG-BANGKOK 2019 กิจกรรมพิสูจน์อัตราสิ้นเปลืองของ ซูบารุ ฟอเรสเตอร์ (SUBARU FORESTER) ใหม่ กว่า 1,000 กม. จากประเทศมาเลเซียมาประเทศไทย โดยใช้เส้นทางปีนัง-กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นกิจกรรมร่วมกันของสื่อมวลชนจากทั้งไทย และมาเลเซีย ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5-8 สิงหาคม 2562คณะสื่อมวลชนไทย 18 คน เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติปีนัง ประเทศมาเลเซีย 5 สิงหาคม เพื่อเตรียมตัวก่อนเริ่มกิจกรรม และเดินทางพร้อมกับสื่อมวลชนมาเลเซียอีก 6 คน ในวันรุ่งขึ้น โดยขบวนรถ ซูบารุ ฟอเรสเตอร์ ใหม่ 10 คัน ซูบารุ ฟอเรสเตอร์ ใหม่ มีไฟหน้าดูโฉบเฉี่ยว หลอดไฟหน้าแบบเอชไอดี ปรับระดับลำแสงอัตโนมัติ แม้จะไม่ใช่แบบพโรเจคเตอร์ แต่ทันสมัยด้วยไฟดีอาร์แอล แอลอีดี แบบเส้นนำแสง ที่จะสว่างขึ้นเมื่อเปิดไฟหรี่ ไฟตัดหมอกหน้าแบบแอลอีดี และยังมีระบบฉีดน้ำล้างไฟหน้า ติดตั้งระบบเปิด/ปิดไฟหน้าอัตโนมัติ ไฟเลี้ยวขนาดใหญ่ กระจังหน้าทรงสี่เหลี่ยมคางหมู กระจกมองข้างพับไฟฟ้า พร้อมไฟเลี้ยวแบบแอลอีดี สปอยเลอร์หลังคา เสาอากาศแบบครีบฉลาม ซันรูฟขนาดใหญ่ และแผ่นกันกระแทกใต้กันชนหน้า/หลัง สีเงิน กาบกันกระแทกด้านข้าง สีเงิน ราวหลังคาพร้อมรู สำหรับติดอุปกรณ์เสริม ล้อขนาด 18 นิ้ว พร้อมยางขนาด 225/50 R18 รับกับขนาดตัว ภายในโทนสีดำ ดูสปอร์ท เรียบง่าย เบาะนั่งหุ้มด้วยหนัง ปรับไฟฟ้าคู่หน้า ออกแบบกระชับเข้ารูป แต่ไม่สามารถปรับดันหลังได้ ส่วนเบาะหลัง ดูไม่ค่อยลงตัวนัก สไตล์เรียบๆ ไม่มีปีกเบาะ หรือหลุมเว้า สำหรับช่วยรับสรีระ แต่ยังสามารถปรับเอนและปรับพับได้ 60:40 ทั้งจากการดึงสลักที่ตัวเบาะ หรือการกดปุ่มบริเวณห้องเก็บสัมภาระท้าย แบบวันทัช มีราวอลูมิเนียมผ้าใบมาให้ เครื่องยนต์สูบนอน บอกเซอร์ ขนาด 2.0 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 156 แรงม้า ที่ 6,000 รตน. แรงมากกว่ารุ่นเดิมและใช้รอบเครื่องยนต์น้อยลงเล็กน้อย (รุ่น 2015 อยู่ที่ 150 แรงม้า ที่ 6,200 รตน.) แรงบิดสูงสุด 20.0 กก.-ม. ที่ 4,000 รตน. ใกล้เคียงรุ่นเดิม (รุ่น 2015 แรงบิดสูงสุด 20.2 กก.-ม. ที่ 4,200 รตน.) ขับเคลื่อนด้วยระบบเกียร์อัตโนมัติ ซีวีที แบบลิเนียร์ทรอนิค ส่งกำลังลงสู่ล้อทั้ง 4 ข้างด้วยระบบ AWD แบบสมมาตร อันลือชื่อของ ซูบารุ ถ่ายโอนกำลังไปยังล้อทั้ง 4 ข้างอย่างสมดุล พร้อมโหมด SNOW/DIRT และ DEEP SNOW/MUD ออกเดินทางจาก JEN HOTEL PENANG BY SHANGRI LA ตั้งแต่เช้า เวลา 9.00 น. ตระเวนถ่ายภาพอาคารเก่า ก่อนจะข้ามสะพานปีนัง 2 สะพานสวยงามเชื่อมเกาะปีนังแห่งที่ 2 ในประเทศมาเลเซีย สะพานปีนัง 2 (SECOND PENANG BRIDGE) หรือที่รู้จักกันอีกชื่อหนึ่ง คือ SULTAN ABDUL HALIM MUADZAM SHAH BRIDGE สะพานปีนังแห่งที่ 2 มีความยาว 24 กม. ความยาวเหนือระดับน้ำทะเล 16.9 กม. จำกัดความเร็วอยู่ที่ 80 กม./ชม. เช่นเดียวกันกับสะพานปีนังแห่งแรก เป็นสะพานเชื่อมเกาะที่ยาวที่สุดในประเทศมาเลเซีย และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SOUTHEAST ASIA) ซึ่งประเทศที่อยู่ในภูมิภาคนี้มีทั้งหมด 11 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เมียนมาร์ สปป. ลาว กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน และสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต สะพานปีนังแห่งที่ 2 ถูกใช้เชื่อมต่อระหว่างเกาะปีนัง และเมือง BATU KAWAN ใน SEBERANG ซึ่งอยู่บนแผ่นดินใหญ่ ใช้เพื่อการคมนาคมขนส่ง งบประมาณการก่อสร้างทั้งสิ้น 4.5 พันล้านริงกิตมาเลเซีย ใช้เวลาก่อสร้างทั้งหมด 6 ปี ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2008 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2014 ส่วนอัตราค่าธรรมเนียมผ่านทางโทลล์เวย์ของสะพานปีนัง 2 สำหรับรถจักรยานยนต์ 1.70 ริงกิตมาเลเซีย รถยนต์ส่วนบุคคล 8.50 ริงกิตมาเลเซีย ถึงด่านตรวจคนเข้าเมือง BUKIT-KAYU HITAM และผ่านด่านสะเดา เข้าสู่ประเทศไทย เดินทางถึงอําเภอหาดใหญ่ 14.30 น. แวะเติมน้ำมัน ปั๊ม ปตท. ถนนกาญจนวณิช ก่อนเชคอิน CRYSTAL HOTEL ระยะทางช่วงแรก 215.9 กม. อัตราสิ้นเปลืองอยู่ที่ 7.4 ลิตร/100 กม. หรือ 13.5 กม./ลิตร ใช้น้ำมันไป 20 ลิตร วันที่ 7 สิงหาคม หลังรับประทานอาหารเช้าในโรงแรม ถ่ายภาพร่วมกัน และออกเดินทางเวลา 8.30 น. แวะพัก รับประทานอาหารกลางวัน ร้านอาหาร DEE COFFEE FOOD AND DRINK เดินทางต่อ 13.30 น. ช่วงนี้ค่อนข้างไกลกว่า 750 กม. ประกอบกับมีรถร่วมทางมากกว่าในวันแรก ทำความเร็วได้เพียง 80-100 กม./ชม. ทำให้เข้าถึงที่พักช้ากว่ากำหนด โดยเชคอินที่พัก HINN NAMM HOTEL HUAHIN อำเภอหัวหิน 19.00 น. อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยอยู่ที่ 5.0 ลิตร/100 กม. หรือ 20.0 กม./ลิตร และยังสามารถขับต่อไปได้อีก 440 กม. วันที่ 8 สิงหาคม วันสุดท้ายของการเดินทางในครั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาจราจรติดขัดในช่วงเข้าของกรุงเทพฯ ทีมงานตัดสินใจเติมน้ำมันหลังจากผ่านแยกจังหวัดเพชรบุรี ก่อนถึงวังมะนาว ที่ระยะทาง 818 กม. และยังสามารถขับต่อไปได้อีก 380 กม. ซึ่งตัวเลขบนมาตรวัดยังคงอยู่ที่ 5.0 ลิตร/100 กม. ใช้น้ำมันไป 42.29 ลิตร คิดเป็นอัตราสิ้นเปลือง 19.35 กม./ลิตร แม้ว่าจะไม่ได้ทำอย่างที่ได้ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก ว่าจะขับเข้ามาจนถึงจุดสิ้นสุดการเดินทางที่โชว์รูมเสรีไทยก่อนที่จะเติมน้ำมัน แต่ถ้าดูจากตัวเลขอัตราสิ้นเปลือง และปริมาณน้ำมันที่เหลืออยู่ ประกอบกับระยะทางที่สามารถขับต่อไปได้ ก็น่าจะถึงจุดหมายได้สบาย