ไม่ต้องอาศัยผลศึกษาวิจัยที่ไหนมายืนยัน คนทั่วไปก็คงยอมรับกันอยู่แล้วว่า “กลิ่น” เป็นสิ่งที่ส่งผลต่อความรู้สึก และอารมณ์ของเราเป็นอย่างมาก แถมกลิ่นเดียวกัน ยังให้ความรู้สึกต่างกันในแต่ละคนอีกด้วยตัวอย่างคลาสสิคมีมากมาย เช่น ทุเรียน กับปลาร้า ที่มีทั้งคนบอกหอมหวนชวนหิว กับคนที่เหม็นจนแทบจะคายของเก่าทุกครั้งที่ได้กลิ่น สรุปแล้ว กลิ่นอะไรที่ว่าหอม จะมีคนรู้สึกเหม็น เช่นเดียวกับกลิ่นที่คนส่วนใหญ่เหม็น ก็จะมีคนส่วนหนึ่งบอกหอมดี และหลายคนก็ชอบสูดดมกลิ่นที่ไม่เหมือนใคร เช่น กลิ่นรถใหม่ กลิ่นน้ำมันเบนซิน กลิ่นยาขัดรองเท้า แม้กระทั่งกลิ่นกาว ! ขณะที่บางคนก็แพ้ (ทาง) กลิ่นบางกลิ่น ทำให้เกิดอาการแปลกๆ อย่างผมกับเพื่อนๆ รุ่นเดียวกัน ถ้าได้ “กลิ่นใหม่” จะรู้สึกคึกคักผิดปกติ พูดง่ายๆ ว่า “ผิดกลิ่น” เมื่อไร เป็นได้เรื่อง ! ส่วนกลิ่นที่ผมไม่แพ้ แต่รักเลย คือ กลิ่นหนังสือ รู้สึกหอม และคุ้นเคย นับเป็น “กลิ่นเก่า” ที่ “กลิ่นใหม่” ทั้งกลิ่นเวบไซท์ กลิ่นเฟศบุค กลิ่นทิคทอค กลิ่นทวิทเตอร์ หรือกลิ่นไอจี สู้ไม่ได้ และไม่มีทางสู้เลยทีเดียว ที่สำคัญ การชอบ หรือ “ติด” กลิ่นหนังสือไม่ใช่เรื่องอารมณ์ล้วนๆ แต่ยังมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์รองรับอีกด้วยเพราะเยื่อกระดาษทำมาจากต้นไม้ ซึ่งมีสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายประเภท LIGNIN และ CELLULOSE เหมือนในกาแฟ และชอคโคแลท ที่คนส่วนใหญ่รู้สึกว่ามันหอม และสุดท้ายก็ “ติด” เมื่อมาผสมกับกลิ่นหมึกพิมพ์ กลิ่นกาวทาสันหนังสือ กลิ่นด้ายสำหรับเย็บเล่ม และกลิ่นสารเคมีต่างๆ ในระบบการพิมพ์ ทำให้เกิดเป็น “กลิ่นหนังสือ” ที่มีลักษณะเฉพาะตัว ชวนหลงใหลจนถึงขั้น “ติดงอมแงม” พอๆ กับผิวสัมผัสของกระดาษที่นุ่มนวล รวมถึง สำบัดสำนวนของนักเขียนคนโปรด และเนื้อหาที่คัดสรรมาอย่างดี ซึ่งทั้งหมดนี้หลอมรวมเป็นเหตุผลที่ทำให้หนังสือยังเป็นสื่ออันดับหนึ่ง สำหรับผู้รักการอ่าน อย่างไรก็ตาม กลิ่นเป็นเรื่องความชอบส่วนบุคคล ฉะนั้น คนรักการอ่านสมัยนี้อาจไม่พิศมัยกลิ่นหนังสือก็ได้ จึงหันไป “อ่าน” จากสื่ออื่นๆ แทน ซึ่งก็ไม่ผิดอะไร เพียงแต่ผมมีความเชื่อส่วนตัวว่า ในยุคลุงพล ป้าแต๋น ถ้าไม่อ่านหนังสือจาก “หนังสือ” คุณจะไม่ได้พลาดแค่ “กลิ่นหนังสือ” เท่านั้น