บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เชิญเราร่วมสัมผัสเทคโนโลยีสุดล้ำของรถต้นแบบรุ่นล่าสุด รวมถึงอนาคตของพลังงานสะอาดรูปแบบใหม่ ในงาน JAPAN MOBILITY SHOW 2023 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 ตุลาคม-5 พฤศจิกายน 2566 ณ โตเกียว บิก ไซท์ เวสต์ เอกซิบิชัน ฮอลล์ (TOKYO BIG SIGHT WEST EXHIBITION HALL) งานนี้จัดโดย JAMA: JAPAN AUTOMOBILE MANUFACTURERS ASSOCIATION, INC.
เกริ่นให้ฟังก่อนครับว่า งาน JAPAN MOBILITY SHOW 2023 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 47 ชื่อเดิมที่เราคุ้นเคยกันดี คือ TOKYO MOTOR SHOW ปีนี้ท่านประธาน อากิโอะ โตโยดะ เป็นประธานจัดงาน โดยมีค่ายรถยนต์เข้าร่วมหลากยี่ห้อ ได้แก่ TOYOTA (โตโยตา), MAZDA (มาซดา), SUBARU (ซูบารุ), MITSUBISHI FUSO (มิตซูบิชิ ฟูโซ), ISUZU (อีซูซุ), UD TRUCKS (ยูดี ทรัคส์), HINO (ฮีโน), TOYOTA AUTO BODY (โตโยตา ออโท บอดี), HONDA (ฮอนดา), LEXUS (เลกซัส), BYD (บีวายดี), SUZUKI (ซูซูกิ), BMW (บีเอมดับเบิลยู), MITSUBISHI (มิตซูบิชิ) และ NISSAN (นิสสัน) ส่วนค่ายรถจักรยานยนต์ที่เข้าร่วม เช่น AIDEA (ไอเดีย), KAWASAKI (คาวาซากิ) และ YAMAHA (ยามาฮา) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีบริษัทที่ผลิตเทคโนโลยียานยนต์ และสตาร์ทอัพต่างๆ เข้าร่วมกว่า 475 บริษัท ซึ่งมากกว่างาน TOKYO MOTOR SHOW 2019
แนวคิดของงานปีนี้ คือ “A PLACE TO ENVISION THE FUTURE, TOGETHER” โดยเน้นคีย์เวิร์ด 3 คำนี้เป็นแกนในการจัดงาน อนาคต, สีเขียว และความฝัน (FUTURE, GREEN, DREAM) ส่วนโลโกของงานออกแบบเรียบง่าย แต่สื่อให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของยานพาหนะที่จะใช้สำหรับการเดินทางในอนาคต ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เน้นพลังงานสะอาด และคายมลพิษต่ำ
โมเดล และนวัตกรรมที่จัดแสดงภายในงาน JAPAN MOBILITY SHOW 2023 ของบูธ TOYOTA มียานยนต์หลากหลายรุ่น อาทิ
TOYOTA FT-3E
เป็นรถแนวคิดเอสยูวีพลังไฟฟ้า 100 % เจเนอเรชันใหม่ ที่ยกระดับการออกแบบใหม่หมด ตัวรถมีเส้นสายที่ลงตัว แลดูสวยงาม ต้องการสื่อให้เห็นถึงความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งรุ่นใหม่ของ TOYOTA จะเน้นเรื่องพลังงานสะอาด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รายละเอียดเกี่ยวกับตัวรถ ยังไม่เปิดเผยอะไรมากนัก แต่มีจุดเด่นตรงจอแสดงผลดิจิทอลที่แสดงข้อมูลต่างๆ เช่น ระดับแบทเตอรี, อุณหภูมิภายในห้องโดยสาร และคุณภาพอากาศภายในรถเมื่อผู้ขับขี่เข้าใกล้ตัวรถ
TOYOTA FT-SE
นี่คือรถแนวคิดในรูปแบบของรถสปอร์ท ที่หลายคนคาดเดาว่าจะเป็นโฉมใหม่ของ 86 GR ตัวรถออกแบบให้มีเส้นสายที่เฉียบคม มีความลงตัวอย่างมาก จนหลายคนรู้สึกว่า TOYOTA น่าจะผลิตเป็นพโรดัคชันคาร์ในไม่ช้านี้ รถคันนี้จะเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกของรถสปอร์ท ในยุคแห่งความเป็นกลางทางคาร์บอน ตามแนวคิดของ TOYOTA GAZOO RACING ในการสร้างสรรค์ยนตรกรรมที่ดี ผ่านเกมกีฬามอเตอร์สปอร์ท
ตัวรถออกแบบให้เน้นความคล่องตัวตามหลักอากาศพลศาสตร์ ด้วยการใช้ชิ้นส่วนหลักๆ ร่วมกับ FT-3E เส้นสายของรูปทรงภายนอกมีสัดส่วนที่กว้าง และลาดลงต่ำ ทำให้รถมีรูปทรงโฉบเฉี่ยว และล้ำสมัย อีกทั้งพื้นที่ห้องโดยสารภายในมีการออกแบบคอกพิท หรือพื้นที่สำหรับผู้ขับ ให้แผงหน้าปัดอยู่ในตำแหน่งต่ำลง ส่งผลให้มีทัศนวิสัยในการขับที่ดีขึ้น
TOYOTA LAND CRUISER SE
เป็นรถเอสยูวีพลังไฟฟ้า 100 % มาพร้อมดีไซจ์นหรูหรา สมกับเป็นรถธงของค่าย มีคาแรคเตอร์โดดเด่นในเรื่องการใช้งานทั้งบนทางเรียบ และทางวิบาก LAND CRUISER SE (แลนด์ ครูเซอร์ เอสอี) มีการออกแบบให้ห้องโดยสารมีความเงียบมาก และมีสิ่งอำนวยความสะดวกในห้องโดยสารที่ครบครัน อีกทั้งโครงสร้างตัวถังเป็นแบบโมโนคอก ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบสนองการขับขี่ที่ดียิ่งขึ้น LAND CRUISER SE มีมิติตัวถัง กว้าง 1,990 มม. ยาว 5,150 มม. สูง 1,705 มม. ระยะฐานล้อ 3,050 มม. รองรับผู้โดยสารได้มากถึง 7 คน เป็นรถแนวคิดเอสยูวีอีก 1 รุ่นที่แฟนพันธุ์แท้รถลุยตัวจริงเสียงจริง ต่างรอคอยกับการปรากฏตัวในงานนี้
TOYOTA EPU
เป็นรถกระบะแนวคิด 4 ประตูคันล่าสุด มาพร้อมตัวถังแบบโมโนคอกที่มีความทนทานสูง มีสไตล์การออกแบบสุดล้ำ ห้องโดยสารด้านหลังมีพื้นที่เชื่อมต่อกับกระบะท้าย เพื่อรองรับกิจกรรมกลางแจ้งทุกรูปแบบ และที่สำคัญ เป็นรถกระบะ BEV ที่ออกแบบเพื่อให้ใช้งานได้แบบสมบุกสมบันจริงๆ ตัวรถมีมิติ กว้าง 1,910 มม. ยาว 5,070 มม. สูง 1,710 มม. จุดเด่นอยู่ที่ตัวรถมีจุดศูนย์ถ่วงต่ำ ช่วยเพิ่มเสถียรภาพในการขับขี่ที่ดียิ่งขึ้น
TOYOTA LAND HOPPER
เป็นรถจักรยานยนต์ขนาดเล็ก 3 ล้อ ส่งกำลังด้วยไฟฟ้า โดย 2 ล้อหน้าสามารถพับได้ ช่วยให้จัดเก็บในห้องบรรทุกสัมภาระท้ายรถได้ง่าย แม้ว่าจะมีพื้นที่จำกัดก็ตาม ตัวรถมีขนาดตัวถังเล็กกะทัดรัด และเบาะนั่งต่ำ ทำให้ก้าวขึ้น/ลงรถทำได้อย่างง่ายดาย ให้ความคล่องตัวในการใช้งาน มิติตัวรถ กว้าง 600 มม. ยาว 1,355 มม. สูง 930 มม. และมีระยะฐานล้อ 1,020 มม.
TOYOTA JUU
รถเข็นวีลแชร์ไฟฟ้าคันนี้ เป็นการผสมผสานสไตล์สุดล้ำเข้ากับความสามารถในการขับขี่ เป็นคอนเซพท์การขับเคลื่อนรูปแบบใหม่ ที่ออกแบบมาเพื่อการเดินทางไปยังทุกพื้นที่ โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ช่วย และเมื่อผู้ใช้งานต้องการขึ้น หรือลงบันได ล้อไฟฟ้าขนาดใหญ่ 2 ล้อ ที่ด้านข้างจะเคลื่อนไปตามขั้นบันได ในขณะที่ส่วนหางสามารถหดกลับโดยพลิกลงด้านหลังพนักพิง เพื่อช่วยการทรงตัว ป้องกันการพลิกคว่ำ และสามารถก้าวขึ้น/ลงบันไดได้สูงถึง 16 ซม. อนาคตอันใกล้นี้วิศวกรของ TOYOTA เตรียมพัฒนาให้ JUU สามารถเคลื่อนตัว และบรรจุตัวเองเข้าไปที่ท้ายรถได้โดยอัตโนมัติ หลังจากที่ผู้ใช้ขึ้นรถ และเคลื่อนกลับสู่ที่นั่งคนขับ เมื่อผู้ใช้ต้องการลงจากรถ มิติตัวรถมีความกว้าง 680 มม. ยาว 1,110 มม. สูง 1,040 มม.
TOYOTA SPACE MOBILITY
นี่คือยานพาหนะต้นแบบสุดล้ำ ออกแบบมาเพื่อใช้งานบนดวงจันทร์ และในอวกาศ ล้อแต่ละล้อมีมอเตอร์ และพวงมาลัยของตัวเอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเพื่อการขับขี่ที่ปลอดภัย แม้ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมนอกโลกที่สมบุกสมบัน ตัวรถขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า สามารถเคลื่อนตัวบนก้อนหินที่มีความสูงถึง 50 ซม. และไต่ทางลาดชัน 25 องศาได้สบายๆ มิติตัวรถมีความกว้าง 2,175 มม. ยาว 3,460 มม. สูง 1,865 มม. บรรทุกผู้โดยสารได้ 2 คน
TOYOTA KAYOIBAKI
รถแนวคิดคันนี้มีดีไซจ์นที่ไม่ธรรมดา ตามแนวคิดที่ระบุว่า เป็นรถที่ตอบทุกโจทย์ของผู้ใช้งาน “ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ ตามที่ต้องการ” KAYOIBAKI (คาโยอิบากิ) เหมาะกับการใช้งานในเชิงธุรกิจ รวมถึงการใช้งานแบบส่วนบุคคล หน้าตาของรถมีความฟรุ้งฟริ้ง น่ารัก น่าเอ็นดู และน่าสนใจ
ตัวรถออกแบบให้มีพื้นที่ใช้สอยกว้างขวาง เหมาะกับการใช้งานในเชิงธุรกิจ เช่น ใช้เป็นรถขนส่งสินค้า สำหรับการใช้งานส่วนบุคคล สามารถปรับแต่งได้ตามไลฟ์สไตล์ที่หลากหลาย เช่น ออกแบบให้ผู้ใช้รถวีลแชร์ สามารถเข้า/ออกจากตัวรถได้ง่าย เป็นต้น ตัวรถมีมิติกว้าง 1,790 มม. ยาว 3,990 มม. สูง 1,855 มม. ระยะฐานล้อ 2,800 มม.
TOYOTA IMV 0
รถกระบะต้นแบบ ที่พร้อมผลิตเพื่อจำหน่ายจริงในเร็วๆ นี้ เป็นรถที่นำเสนอไอเดียในการปรับแต่งรูปแบบของตัวรถที่แตกต่าง และหลากหลายตามการใช้งานของลูกค้า ทั้งในเชิงธุรกิจ หรือกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างลงตัว IMV 0 (ไอเอมวี ซีโร) มีมิติตัวรถ กว้าง 1,785 มม. ยาว 5,300 มม. สูง 1,740 มม. ระยะฐานล้อ 3,085 มม. รองรับผู้โดยสารได้ 2 คน
ส่วนเทคโนโลยีสุดล้ำที่ TOYOTA นำมาโชว์ในงานครั้งนี้ เช่น NEO STEER เป็นแนวคิดการออกแบบพวงมาลัยบังคับเลี้ยวรูปแบบใหม่ มีรูปทรงแปลกตา ใช้มือจับแบบรถจักรยานยนต์ โดยมีคันเร่ง และแป้นเบรคอยู่บนพวงมาลัย จุดเด่น คือ ทำให้ผู้ขับขี่มองเห็นทัศนวิสัยที่กว้างไกล และพื้นที่วางเท้ากว้าง ไม่มีแป้นเหยียบเบรค และคันเร่ง เหมาะกับผู้พิการส่วนล่างของร่างกาย เพราะพวงมาลัยแบบใหม่นี้ จะช่วยให้ควบคุมรถได้อย่างง่ายดาย
นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอเทคโนโลยีเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ที่ TOYOTA ตั้งใจพัฒนาให้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนที่มีความสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเริ่มทดลองใช้แล้วในรถแข่งทีม TOYOTA ORC ROOKIE GR COROLLA H2 CONCEPT
ขอขอบคุณ :
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ที่เชิญมาสัมผัสเทคโนโลยีล้ำอนาคตของโลกยานยนต์