พิเศษ(formula)
ควันหลง แรลลีโลก UAE DESERT CHALLENGE 2002
ครั้งนี้ มิตซูบิชิ เชิญให้ไปทำข่าวการแข่งขัน ยูเออี เดเสิร์ท ชาลเลนจ์ 2002 (UAE DESERT CHALLENGE 2002) ณ เมือง ดูไบ (DUBAI) ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรทส์และเปิดโอกาสให้คนธรรมดาอย่างพวกเราได้นั่งรถแข่งตัวแรงแต่งเพียบคันเดียวกับที่เพิ่งผ่านศึกเส้นทางโหด แรลลีโลกโดยให้เรานั่งที่ตำแหน่งผู้นำทางร่วมกับนักแข่งมือระดับโลก
เส้นทางที่จัดไว้เป็นช่วงทดสอบพิเศษ ไม่ไกลจากตัวเมืองดูไบ เป็นเส้นทางกลางทะเลทรายมีเนินทรายลูกเล็กใหญ่สลับไปมา ทำความเร็วสูงสุดกันไม่ต่ำกว่า 160 กม./ชม. และช่วงบ่ายวันเดียวกันจัดให้คณะสื่อมวลชนเข้าฝึกอบรมการขับขี่รถขับเคลื่อน 4 ล้อในทะเลทราย
โดยใช้รถ มิตซูบิชิ ปาเจโร และ กรันดิส วีจี เทอร์โบ คันที่นำมาจากบ้านเราเป็นรถสาธิต ส่วนช่วงเย็นให้ลองวิชาพิสูจน์ความแกร่งของทั้งคนและรถ คว้ากุญแจแล้วมุ่งหน้าสู่ แคมพ์กลางทะเลทราย
ควันหลง แรลลีโลก
สเตฟาน ปีเตอร์ฮันเซล (STEPHAN PETERHANSEL) ควบ มิตซูบิชิ ปาเจโร เอโวลูชันเข้าเส้นชัยด้วยเวลาดีที่สุด 15 ชั่วโมง 21 นาที 01 วินาที ทิ้งห่างอันดับสองและสาม เพื่อนร่วมทีม มิตซูบิชิ แรลลีอาร์ท ฌอง-ปิแอร์ ฟนเตอเนย์ (JEAN-PIERRE FONTENAY) และ มิกิ บีอาซีอน (MIKI BIASION) 42 นาที ส่วน ฮิโรชิ มาซูโอกะ (HIROSHI MASUOKA) นักแข่งชาวญี่ปุ่นแชมพ์รายการดาการ์ ปี 2002 เข้าตำแหน่งที่ 20 ในครั้งนี้ เพราะมีปัญหาในช่วงแรกๆ แต่ในช่วงทดสอบสุดท้าย 405 กม. เขาทำคะแนนดีที่สุด ใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมง 41 นาที 15 วินาที ทำความเร็วสูงสุดได้ 191 กม./ชม. ในทะเลทราย !! ทิ้งห่างอันดับสอง ช่วงเดียวกันถึง 11 นาที
รายการแข่งขันแรลลี ยูเออี เดเสิร์ท ชาลเลนจ์ จัดติดต่อกันเป็นปีที่ 12 ที่เมืองดูไบประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรทส์ เป็นรายการแข่งสะสมคะแนน แรลลี ครอสส์คันทรี ชิงแชมพ์โลกที่ได้รับการรับรองจาก FIA ตั้งแต่ปี 1993 และ FIM ตั้งแต่ปี 1995 และยังถือเป็นรายการแข่งแรลลีเส้นทางวิบากส่งท้ายปี ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลางอีกด้วย
การแข่งขันครั้งนี้จัดโดยได้รับการสนับสนุนจาก ชีค คารีฟา บิน ซาเยค อัล-นาห์ยาน (SHEIKH KHARIFA BIN ZAYED AL-NAHYAN) มกุฎราชกุมารแห่งเมือง อาบู ดาบี (ABU DHABI) และ ชีค โมฮัมเมด บิน ราชิด อัล-มาคตุม (SHEIKH MOHAMMED BIN RASHID AL-MAKTOUM) มกุฎราชกุมารแห่งเมือง ดูไบ โดยมี โมฮัมเมด เบน ซูลาเยม (MOHAMMED BEN SULAYEM) เป็นประธานจัดการแข่งขัน
รถที่เข้าแข่งขันมี 121 คัน แบ่งเป็นรถยนต์ 50 คัน รถจักรยานยนต์ 69 คัน และรถบรรทุกทีมเซอร์วิศอีก 2 คัน ปัจจุบันการแข่งขันแรลลีโหดเส้นทางทุรกันดาร นิยมให้ทีมเซอร์วิศร่วมแข่งขันในเส้นทางเดียวกัน แทนที่จะขนส่งอุปกรณ์ช่วยเหลือต่างๆ ทางอากาศเหมือนในอดีต
การแข่งขัน ยูเออี เดเสิร์ท ชาลเลนจ์ ใช้เส้นทางฝ่าดงทะเลทรายแถบ รูบู อัล ฮารี (RUBU AL HARI) และเลาะขอบอ่าวเปอร์เซีย ในช่วงแรกเป็นการสะสมคะแนนเพื่อจัดอันดับ เริ่มจากคืนวันที่ 29 ตุลาคมที่ดูไบ ส่วนพิธีปล่อยรถเริ่มต้นเช้าวันรุ่งขึ้น ที่เมือง อาบู ดาบี และหยุดพักคืนแรกที่ใกล้ๆ เมือง ลีวา โอเอซิส (LIWA OASIS) ช่วงที่สองเริ่มออกสตาร์ทเช้าตรู่วันพฤหัสสภาพเส้นทางเป็นทะเลทรายทุรกันดารในภาคตะวันออกของรัฐ รับ อัล การี (RUB AL KHALI) เพื่อทดสอบความทรหด ความแข็งแกร่งของทั้งคนและรถ ซึ่งเส้นทางช่วงนี้โหดมาก ช่วงที่สามมุ่งหน้าสู่ลีวา โอเอซิส เส้นทางแบ่งออกเป็นสองส่วน สำหรับรถบรรทุกทีมเซอร์วิศ จะมุ่งหน้าสู่ฝั่งตะวันตกใช้อีกเส้นทางเพื่อไปรอก่อนล่วงหน้า บริเวณนี้ถือเป็นทะเลทรายที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของโลกช่วงสุดท้ายเริ่มออกจากที่ ลีวา โอเอซิส ส่วนทีมเซอร์วิศ ออกจาก รามิ อัล บูฮัท (RAMI AL BUHUTH) ไปจบใกล้ๆ กับตัวเมืองดูไบ
สเตฟาน ปีเตอร์ฮันเซล ควบ มิตซูบิชิ ปาเจโร เอโวลูชัน คันใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวในงานมหกรรมยานยนต์ปารีส ปีก่อน คว้าชัยชนะรายการนี้และยังถือเป็นการนำลงแข่งครั้งแรกในโลก เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนส่งลงแข่งรายการใหญ่ แรลลีดาการ์ เดือนมกราคมปีนี้ การแข่งขันครั้งนี้แม้ว่ารถของเขาจะเสียหายบริเวณกันชนหน้าขวาจากการกระแทกกับเนินทราย แต่ก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพื่อนร่วมทีม มิตซูบิชิ ปาเจโร ตัวแข่งรุ่นปี
2002 อีก 2 คัน ครองตำแหน่งที่สองและสาม ฌอง-ปิแอร์ ฟนเตอเนย์ และมิกิ บีอาซีอน ตามลำดับส่วนฮิโรชิ มาซูโอกะ มีปัญหาอุบัติเหตุและความร้อนที่เฟืองท้าย เข้าตำแหน่งที่ 20 ในการแข่งขัน
[table]
ผลการแข่งขันอย่างเป็นทางการ ประเภทรถยนต์
อันดับ ,รถหมายเลข ,ผู้ขับ/ผู้นำทาง ,รถรุ่น ,ประเภท ,เวลา
1, 201, สเตฟาน ปีเตอร์ฮันเซล/ฌอง-ปอล คอตเตรต ,มิตซูบิชิ ปาเจโร เอโวลูชัน ,T2 ,15:21:01
2, 205, ฌอง-ปิแอร์ ฟนเตอเนย์/กิลเลส ปิการ์ด ,มิตซูบิชิ ปาเจโร ,T2 ,16:03:21
3, 212, มิกิ บีอาซีอน/ทีซีอาโน ซีวีเอโร ,มิตซูบิชิ ปาเจโร ,T2 ,16:10:47
4, 222, ซาอีด อัล ฮาเมลี/อาห์เมด จูมา มาลิค ,นิสสัน แพทโรล ,T2 ,19:43:07
5, 221, มาร์ค โพเวลล์/พอล ริชาร์ดส์ ,แลนด์ โรเวอร์ ดีเฟนเดอร์ ,T2 ,20:07:07
6, 215, เอสซา อัล ฮัมรานี/วาเอล เมอร์แจน ,มิตซูบิชิ ปาเจโร วี 55 ,T1 ,20:36:31
7, 207, โจเซ หลุยส์ มนเตร์เด/ราเฟล โตร์นาเบลล์ ,มิตซูบิชิ ปาเจโร ,T2 ,20:54:12
8, 209, ยาห์ยา อัล เฮไล/คาลิด อัล เคนดี ,เชฟโรเลต์ ตาโฮ ,T2 ,20:59:10
9, 248, มิเชล กรีกิส/โทนี จูโด ,นิสสัน แพทโรล จีอาร์ ,T2 ,22:01:47
10, 218, ลูคัส โคโมร์นิคกี/ราฟาล มาร์ทอน ,มิตซูบิชิ วี 60 ,T2 ,22:53:17
[/table]
"เทคนิคขับรถในทะเลทราย"
ในสภาพทางทะเลทราย การปล่อยแรงดันลมยางมีผลอย่างมากต่อการควบคุมบังคับรถลมยางที่ใช้ควรลดลงครึ่งหนึ่งหรือสองในสาม เพื่อให้หน้ายางสัมผัสได้มากขึ้นในสภาพทรายร่วนควรปล่อยลมยางเหลือเพียง 12 พีเอสไอ และอย่าลืมคิดถึงจุดเติมลมด้วยเพราะถ้าลมยางอ่อน คุณจะไม่สามารถทำความเร็ว และวิ่งระยะทางไกลๆ ได้ในสภาพถนนปกติ
เกียร์ที่เลือกใช้ควรเป็นเกียร์ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ 4H ใช้เกียร์ 1, 2 จนกว่ารอบเครื่องเริ่มตกถึงเปลี่ยนมาใช้ 4L พยายามใช้เกียร์สูง 3, 4 เพราะจะไม่ทำให้ล้อปั่นเร็วเกินไปแต่การเปลี่ยนจากเกียร์ 4H มา 4L นั้นจำเป็นต้องหยุดรถสนิท จึงควรวางแผนในการเปลี่ยนล่วงหน้าและหาบริเวณพื้นที่ทรายแน่น และการเปลี่ยนเกียร์ควรยกคลัทช์เบาๆ เพื่อไม่ให้ล้อขุดทราย
การควบคุมทิศทาง ควรรักษาทิศทางให้ตรงเพื่อลดโอกาสที่ล้อจะขุดและถ้าจำเป็นต้องเลี้ยวก็ควรเลี้ยวเป็นวงกว้าง
"เมื่อต้องขับผ่านภูเขาทะเลทราย"
ในทะเลทราย สภาพเนินทรายจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาการขับในทะเลทรายในช่วงเวลากลางวันนั้น ยากลำบากกว่าช่วงเช้า/บ่าย เพราะไม่มีแสงเงาเนินทรายต่างๆ จะดูหลอกตาทำให้คาดเดาองศาได้ลำบากขึ้น ในช่วงที่อุณหภูมิสูงอากาศร้อนจัดจะทำให้สภาพทรายร่วนกว่าปกติ
เนื่องจากสภาพเส้นทางในทะเลทรายนั้นเปิดกว้างให้คุณเลือกได้อย่างอิสระพึงระลึกเสมอว่าอาจจะมีใครกำลังขับสวนมาบนเนินทรายลูกเดียวกับคุณ จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษบางครั้งแก้ปัญหานี้โดยติดเสาธงสูงไว้หน้ารถ
ก่อนขึ้นเนินทรายให้ประมาณรอบเครื่องและความเร็วให้มากพอที่แรงเฉื่อยจะพารถผ่านพ้นเนินได้พยายามรักษาแรงเฉื่อยสม่ำเสมอ โดยใช้รอบเครื่องสูงกว่าธรรมดาเล็กน้อย ให้สังเกตอาการรอบเครื่องถ้ารอบเริ่มตกให้เลี้ยววกกลับลงมาตั้งหลักก่อนที่รถจะหมดแรงส่งควรทำการเปลี่ยนเกียร์ลงต่ำทันทีเมื่อเห็นว่ารถวิ่งช้าลง และก่อนที่จะสายเกินไปการขับรถขึ้นเนินทรายควรที่จะขับอ้อมเนิน ลักษณะคล้ายๆ กับการโต้คลื่น พยายามไม่ตัดเนินเพราะจะทำให้หมดแรงส่งและจมลง
การหยุดที่ปลอดภัย คือหยุดบนยอดสุดของเนินค่อนมาทางลงเล็กน้อยเพราะคุณสามารถออกรถครั้งต่อไปได้และรถคันที่ตามมาก็สามารถมองเห็นไม่ควรหยุดคาอยู่กลางเนินเพราะจะทำให้รถจมและแขวน ในกรณีที่มีเนินสูง 2 ลูกติดกันไม่แนะนำให้หยุดบริเวณฐานล่างระหว่างเนินเพราะจะไม่มีพื้นที่ส่งในการหยุดรถควรที่จะหยุดอย่างช้าๆ เพื่อให้ล้อหมุนกลิ้งได้ในครั้งต่อไปหลีกเลี่ยงการหยุดรถกะทันหันเพราะจะทำให้ล้อหน้าจม
ในการลงเนินทรายสูงชันนั้น ควรรักษาตัวรถให้ตรงเวลาเพื่อกันไม่ให้รถพลิกคว่ำและควรเข้าเกียร์ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ 4L โดยใช้เกียร์ตำแหน่ง 1, 2 แตะคันเร่งเบาๆเพื่อส่งให้รถวิ่งลงเนินอย่างช้าๆ เป็นการรักษาล้อหน้าให้หมุนกลิ้งบนทรายขณะลงเนิน
"เมื่อรถติดหล่มในทะเลทราย"
สิ่งแรกที่ไม่ควรทำคือ การเร่งเครื่อง เพราะมันจะไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นซ้ำร้ายจะยิ่งทำให้รถคุณจมทรายมากขึ้น ทำให้การช่วยเหลือทำได้ลำบากขึ้นอีก ควรทำดังนี้ คือขุดทรายที่พอกอยู่ทั้ง 4 ล้อให้มีพื้นที่เพียงพอสำหรับกลิ้งไปมาสร้างแรงเฉื่อยเพื่อนำรถให้หลุดพ้นจากอุปสรรคได้อาจจำเป็นต้องเดินหน้า ถอยหลัง ไปๆ มาๆ หลายครั้งจนกว่าจะเกิดทางวิ่งและพยายามออกรถโดยไม่ให้ล้อหมุนฟรี
การช่วยเหลือด้วยวินช์ เป็นวิธีปลอดภัยสุด แต่การที่จะหาหลักยึดในทะเลทรายไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลยครูฝึกแนะนำว่าให้ขุดและฝังยางอะไหล่ลงบนพื้นทรายบริเวณหน้ารถห่างออกไปสัก 7-8 เมตรให้ลึกพอสมควร ดึงวินช์มาเกี่ยวและลากตัวเองให้พ้นจากอุปสรรคได้
การช่วยเหลือด้วยรถอีกคัน โดยใช้เชือกลากหรือเชือกกระตุกถ้าเป็นไปได้รถคันที่ให้การช่วยเหลือควรมีน้ำหนักเท่ากันหรือมากกว่าคันที่ติดหล่มเพราะถ้าน้ำหนักน้อยกว่าอาจจะทำให้ติดทั้งคู่
"เมื่อหลงกลางทะเลทราย"
เทคนิคการหาทิศเหนือ
1. เข็มทิศ ถ้าคุณโชคดีนำเข็มทิศไปด้วย เข็มจะชี้ที่ทิศเหนือเสมอ ให้หมุนตำแหน่ง N ให้ตรงกับเข็มที่ชี้ไป
2. นาฬิกา ใช้ได้แก้ขัดในกรณีที่คุณไม่มีอย่างอื่นแต่ต้องให้แน่ใจว่านาฬิกาของคุณเป็นนาฬิกาเข็มและที่สำคัญยังบอกเวลาได้เที่ยงตรง ให้คุณเอาเลข 12 ชี้ไปที่ตำแหน่งพระอาทิตย์ แล้วแบ่งครึ่งระหว่างเข็มชั่วโมงกับเลข 12 นั่นก็จะเป็นทิศเหนือ
3. ตำแหน่งดวงอาทิตย์ พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก และตกทางทิศตะวันตกเสมอเท่านี้คุณก็สามารถหาทิศเหนือได้แล้ว
4. เงาแสงอาทิตย์ สังเกตการทอดของแสงเงาจะได้ทิศตะวันออกและตะวันตก
5. ตำแหน่งดาว วิธีนี้มีประโยชน์ในเวลากลางคืนเท่านั้น
6. จีพีเอส เครื่องมือหาพิกัดตำแหน่งบนพื้นผิวโลก ใช้บอกทิศทางได้ทั้งกลางวันและกลางคืนรุ่นที่เหมาะสำหรับการใช้งาน สนนราคาประมาณ 8,000-20,000 บาทให้ความแม่นยำสูงเพราะสามารถบันทึกเส้นทางที่ผ่านมาได้ จึงหมดห่วงเรื่องหลงทาง
ขอขอบคุณ บริษัท เอ็มเอ็มซี สิทธิผล จำกัด ที่อำนวยความสะดวกในการทำข่าวครั้งนี้ตลอดการเดินทาง
ABOUT THE AUTHOR
ช
ชลัทชัย ปภัสร์พงษ์
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน มีนาคม ปี 2546
คอลัมน์ Online : พิเศษ(formula)