สังคมรถโบราณ(formula)
ขวัญชัย ปภัสร์พงษ์
ในเมืองไทยก็มีผู้นิยมสะสมและอนุรักษ์รถโบราณจำนวนไม่น้อย และได้รวมตัวกันก่อตั้งเป็นสมาคมรถโบราณแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2516 กระทั่งมีสมาชิกเป็นจำนวนมาก และมีขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ประธาน บริษัท สื่อสากล จำกัด เป็นนายกสมาคมรถโบราณแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน
ฟอร์มูลา : อะไรคือจุดเริ่มต้นของการเข้ามาร่วมกับสมาคมรถโบราณแห่งประเทศไทย ?
ขวัญชัย : ความจริงเรื่องรถโบราณโดยส่วนตัวแล้วเป็นสิ่งที่ชอบอยู่ในใจมานานแล้ว และก็ทวีความชอบขึ้นมาเรื่อยๆ หลังจากนั้นได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกในสมาคม ฯ โดยได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการสมาคม ฯ ซึ่งในช่วงนั้นยังไม่มีรถเป็นของตัวเองด้วยซ้ำ เนื่องจากตัวผมเองมีธุรกิจเกี่ยวกับการทำนิตยสารรถยนต์ และยังไม่มีเวลาพอสำหรับการดูแล เพราะรถโบราณนั้นอันดับแรกต้องมีการบูรณะ และต้องดูแลอย่างดี จึงได้แต่ชื่นชมอยู่ในใจเฉยๆ
จนกระทั่งสุดท้ายเมื่อผมได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกของสมาคม ฯ เลือกให้เป็นนายกสมาคมทำให้เกิดความคิดว่าถึงแวลาแล้วที่จะต้องมีรถโบราณสักคันหนึ่ง ประกอบกับมีกรรมการหลายท่าน เช่น คุณศิริพงษ์ บูรณะพันธุ์ ที่เป็นอุปนายกสมาคม ฯ และคุณอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการสมาคม ฯ อาสาที่จะเป็นที่ปรึกษา หากมีปัญหา รวมถึงจะช่วยบูรณะรถให้ทำให้สนใจมากขึ้น
ฟอร์มูลา : เมื่อมีความคิดว่าจะมีรถสักคัน ไปหารถจากที่ไหน ?
ขวัญชัย : เป็นช่วงของความพอดีที่คุณศิริพงษ์ไปพบรถ บีเอมดับเบิลยู 503 คูเป คันหนึ่งเข้าส่วนตัวผมด้วยความรักที่มีต่อรถ บีเอมดับเบิลยู มาตั้งแต่ในอดีตก็เลยเกิดความอยากได้ และตัดสินใจว่าจะต้องเป็นเจ้าของให้ได้ จึงได้ตัดสินใจซื้อ
ฟอร์มูลา : ตอนซื้อมารถมีสภาพเป็นอย่างไรบ้าง ?
ขวัญชัย : รถนับว่าอยู่ในสภาพดีพอสมควร เพราะเจ้าของเดิมดูแลเป็นอย่างดี แต่ก็ต้องมีการบูรณะใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างบูรณะ ซึ่งก็ได้คุณศิริพงษ์ และคุณอรรถวิชช์ อีกเช่นกันที่ช่วยประกอบ ตกแต่ง รวมถึงให้คำแนะนำต่างๆ ไม่ว่าจะเรื่องของการไปซื้ออะไหล่
หรือของต่างๆ ที่จะนำมาใส่เข้าไปในรถคันนี้ ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง
ขณะนี้ได้ลงทุนกับรถคันนี้ไปแล้วประมาณ 3 ล้านบาท คิดว่าเสร็จสมบูรณ์คงต้องใช้เงินอีกประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งนับว่าเป็นการลงทุนที่สูงมากคือ 4 ล้านบาท แต่ถ้าถามว่าหากมีคนมาขอซื้อแล้วให้ 10 ล้านบาท ขายไหม ผมตอบได้คำเดียวคือ ไม่ขาย หรือแม้แต่จะให้ 100 ล้านบาทก็ไม่ขาย
เพราะการลงทุนสำหรับรถ บีเอมดับเบิลยู 503 คูเป คันนี้ เป็นความตั้งใจอย่างมาก และอยากที่จะเก็บรถคันนี้ไว้ให้ลูกหลานได้ดู ให้ประเทศชาติได้ชื่นชม และคนเอเชียได้ภูมิใจ ไม่ได้อยากเก็บไว้เฉพาะตัวเอง เพราะเหลืออยู่เพียงคันเดียวในเอเชีย
รถรุ่นนี้ผลิตเพียง 412 คันเท่านั้น แล้วก็เลิกผลิต ครึ่งหนึ่งของรถรุ่นนี้จะไปอยู่ที่อเมริกาในเอเชียมีน้อยมาก เนื่องจากในช่วงนั้นญี่ปุ่นยังไม่ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้รถรุ่นนี้ในญี่ปุ่นแทบจะไม่มีเลย ทำให้พูดได้ว่าเหลือเพียงคันเดียวในเอเชีย
ฟอร์มูลา : ก่อนหน้าที่จะได้รถคันนี้ รู้สึกชอบรถหรืออยากได้รถอะไรมากที่สุด ?
ขวัญชัย : ตอนเป็นหนุ่มรถที่ชอบมากที่สุดคือ รถสปอร์ท เอมจี จนถึงปัจจุบันก็ยังชอบอยู่ซึ่งถ้ามีโอกาสก็อยากที่จะซื้อมาเป็นเจ้าของเหมือนกัน แต่ที่ไม่ได้ซื้อเพราะขนาดจะเล็กเกินไปสำหรับเรา ซึ่งถ้าเข้าไปนั่งอยู่ใน เอมจี คงจะดูตลกไปหน่อย เพราะตอนนี้ตัวเราใหญ่ และก็บังเอิญได้ บีเอมดับเบิลยู 503 คูเป คันนี้มาก่อน ซึ่งขนาดของเขามันเหมาะสมพอดีและก็เป็นรถรุ่นหลังสงครามที่หรูหรามากคันหนึ่งของโลกในสมัยนั้น ตัวถังก็ออกแบบได้อย่างดีเยี่ยมคือในสมัยนั้นต้องถือว่า บีเอมดับเบิลยู 503 คูเป คันนี้เป็นรถที่เด่นที่สุดในโลก ซึ่งในตอนนั้นประมาณปี 2498 ซึ่งถือว่าเป็นวัยที่ใกล้เคียงกัน ปินินฟารีนา เคยวิจารณ์ว่ารถคันนี้เป็นรถที่สวยที่สุดในโลก เพราะฉะนั้นก็เลยคิดว่าน่าจะเหมาะกับเรามากที่สุด
ฟอร์มูลา : รถคันนี้เคยอยู่ที่ไหนมาก่อน ?
ขวัญชัย : เจ้าของเดิมเป็นคนไทย ที่ซื้อมาโดยถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่าง โดยเข้ามาตั้งแต่เริ่มเปิดตัว ผมถือว่าเป็นเจ้าของคนที่สอง
ฟอร์มูลา : หลังจากที่นำมาบูรณะแล้ว รู้สึกอย่างไรบ้างกับรถคันนี้ ?
ขวัญชัย : รู้สึกภูมิใจมาก เพราะผมเป็นคนที่ชอบรถ บีเอมดับเบิลยู อยู่แล้ว เมื่อมีโอกาสเป็นเจ้าของรถเก่าคันนี้ มันก็เหมือนเป็นเนื้อคู่ คือเหมือนเกิดมาเพื่อกันและกัน และถ้าคันนี้เป็นคันเดียวในเอเชียอย่างที่ว่า มันก็ยิ่งเป็นความภูมิใจอย่างมาก
ฟอร์มูลา : รถคันนี้มีเครื่องยนต์ขนาดเท่าไหร่ ?
ขวัญชัย : เครื่องยนต์ขนาด 3,200 ซีซี 8 คิว อลูมิเนียม ตัวถังเป็นอลูมิเนียม โครงสร้างเป็นเหล็ก ในสมัยนั้นต้องถือว่าทันสมัยมาก เพราะโครงตัวถังที่เป็นอลูมิเนียมก็หายาก แล้วมีระบบไฟฟ้า เช่น กระจกไฟฟ้า หน้า-หลัง โดยขั้นตอนการบูรณะรถคันนี้คือ ต้องนำรถไปโชว์ในงาน "มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 21" ซึ่งจะจัดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ 1-12 ธันวาคมนี้ หลังจากนั้นก็จะมีงาน หัวหิน วินเทจ คาร์ ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 16-18 ธันวาคม ที่หัวหิน ซึ่งการบูรณะรถคันนี้ครั้งแรกทำเพื่อให้อยู่ในสภาพพอดูได้ หลังจากนั้นก็จะนำมารื้อใหม่หมดเพื่อแต่งให้ละเอียดอีกครั้ง
ฟอร์มูลา : รถคันนี้ใช้เวลาบูรณะนานเท่าไหร่ ?
ขวัญชัย : เริ่มบูรณะมาตั้งแต่เดือนตุลาคม ซึ่งนับว่าเร็วมากสำหรับเวลาเพียง 2 เดือน ซึ่งหลังจากนี้จะใช้เวลานานเท่าไหร่ไม่ใช่เรื่องสำคัญแต่ตั้งใจจะทำให้ดีที่สุด ซึ่งตอนนี้ได้ ROBERT HOLNSTEINER กรรมการสมาคม ฯ อีกท่านหนึ่ง มาช่วยดูแลเครื่องยนต์ช่วงล่าง และยังแนะนำร้านผลิตชิ้นส่วนของรถเก่า แต่จะมีราคาแพงเนื่องจากมีจำนวนน้อย และหายาก
ฟอร์มูลา : รถคันนี้เดิมมีสีอะไร ?
ขวัญชัย : สีเดิมเป็นสีขาว แต่ผมคิดว่าจะเปลี่ยนเป็นสีเงิน เพราะรถ บีเอมดับเบิลยู ในใจผมจะต้องเป็นสีเงิน ที่ผ่านมารถที่ผมใช้ส่วนใหญ่จะเป็นสีเงิน และรถ บีเอมดับเบิลยู คันนี้ถือเป็นคันที่ 7 แล้ว
ฟอร์มูล่า : คันที่ 8 จะมีไหม ?
ขวัญชัย : ถ้ามีที่ถูกใจมาอีกก็คงจะมีแน่นอน
ฟอร์มูลา : โดยส่วนตัวแล้วคุณเป็นคนชอบรถ บีเอมดับเบิลยู ใช่หรือไม่ ?
ขวัญชัย : ผมชอบรถ บีเอมดับเบิลยู ตั้งแต่อยู่เมืองนอกแล้วเพราะมีความรู้สึกว่าเป็นรถที่ขับแล้วสนุกเกาะถนนดีมีอัตราเร่งที่ดีเมื่อเทียบกับรถยี่ห้ออื่นแล้วคนละเรื่อง เป็นรถที่สร้างมาเพื่อขับจริงๆ ไม่ได้สร้างมาเพื่อนั่ง ซึ่งตอนนี้เริ่มมีอายุแล้วก็ต้องนั่ง แต่ก็นั่งได้นะ ถ้าไม่ชอบจริงคงไม่เลือกเป็นคันที่ 7 อย่างแน่นอน
ฟอร์มูลา : บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู ฯ ได้เข้ามาช่วยเหลืออะไรในการบูรณะบ้างหรือเปล่า ?
ขวัญชัย : ก็มีบ้างในเรื่องของข้อมูลโดย บีเอ็มดับเบิลยู ฯ ได้ส่งแคทาลอกมาให้ มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ซึ่งก็ได้ให้ความช่วยเหลือตามที่ขอไป ส่วนหนึ่งก็ไปหาเองในตลาด ดูจากรถโมเดล แคทาลอก ซึ่งราคาแพงมากแผ่นละประมาณ 4-5 พันบาทโดยนำมาศึกษาเปรียบเทียบว่าของเดิมเป็นอย่างไร
ฟอร์มูลา : คุณมีความคิดเห็นอย่างไรที่คนหันมาสนใจรถโบราณ และรถคลาสสิคมากขึ้น ?
ขวัญชัย : นับว่าดีนะ เพราะถ้าว่ากันตามกฎหมายการนำรถเข้ามาเมืองไทยค่อนข้างยาก คือต้องเป็นคนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศเกิน 2 ปี หรือเป็นเจ้าของรถคันนั้นเกินปีครึ่งถึงจะมีสิทธิ์นำรถเข้ามาได้ ต้องเสียภาษีตามพิกัด ไม่เหมือนรถโชว์ที่เสียภาษีพิเศษ แต่ว่าทางออกของรถเหล่านี้มันเหมือนเป็นหม้อเป็นไห คือตอนนี้รถขายได้โดยอิสระ จึงมีคนจากทั่วโลกที่เห็นแล้วชอบก็มาซื้อไป เจ้าของเห็นว่าได้ราคาดีก็ขายไปสิ่งเหล่านี้ก็จะหายไปเรื่อยๆ แต่ปัจจุบันนับว่าดีที่คนรุ่นใหม่มีความรู้สึกอยากอนุรักษ์มากขึ้น ซึ่งก็ลำบากหน่อยเพราะต้องไปหารถเหล่านี้แล้วนำมาบูรณะ จากนั้นต้องพยายามรักษาให้อยู่เมืองไทยให้นานที่สุด เพราะสิ่งเหล่า
นี้นอกจากจะเป็นทรัพย์สมบัติของตัวเองแล้วยังเป็นของมีค่ากับประเทศและโลก
ฟอร์มูลา : การดูแล และบำรุงรักษา และราคา จะแตกต่างจากรถทั่วไปหรือไม่ ?
ขวัญชัย : ต้องแตกต่างจากรถทั่วไปอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นรถเก่าที่นำมาบูรณะใหม่ ต้องลงทุนมากกว่ารถใหม่ รวมถึงราคาก็จะเป็นไปตามความนิยม อย่างรถที่ซื้อมาถ้าอยู่ในมาตรฐานทั่วไปในต่างประเทศ รุ่น และปีเดียวกัน และอยู่ในสภาพที่ดีจะมีราคาประมาณล้านกว่าบาทแต่ผมซื้อมาในสภาพไม่ค่อยดีนักแต่มีราคาสูงกว่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับความรัก ความชอบและมีกำลังเงินที่พอซื้อได้ แต่ถ้าสู้ไม่ได้ก็อย่าบีบบังคับตัวเอง
ฟอร์มูลา : การอนุรักษ์ การเก็บรักษา และการดูแลเป็นอย่างไร ?
ขวัญชัย : อยากให้คนรุ่นใหม่หันมาดูแลรถโบราณ หรือรถคลาสสิคมากขึ้น คือ พยายามมีจิตใจอนุรักษ์ไว้ เพราะสิ่งเหล่านี้จะไม่มีเกิดขึ้นใหม่อีกแล้ว ทุกอย่างที่มีมาในอดีตมีจำนวนจำกัด และก็มีอยู่แค่นั้น ไม่มีการผลิตใหม่แล้ว สิ่งที่อนุรักษ์ และสามารถบูรณะได้ก็ช่วยกันทำดีกว่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้เกิดความภูมิใจ ความมีศักดิ์ศรี โดยจะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ
ฟอร์มูลา : สำหรับรถคันนี้ต้องมีการสร้างที่เก็บใหม่ด้วยหรือไม่ ?
ขวัญชัย : สำหรับผมคงไม่ถึงกับต้องทำขนาดนั้น เพียงแค่เอาผ้าคลุมไว้ก็พอแล้วนำมาวิ่งอาทิตย์ละครั้งสองครั้ง ผมไม่อยากบูชา เพราะตามหลักที่ถูกต้องรถเหล่านี้จะต้องนำมาใช้งาน ไม่ใช่จอดเอาไว้ดูสวยๆ ต้องนำมาวิ่งบ้าง ไม่อย่างนั้นก็จะมีสภาพเหมือนรถใหม่ที่ไม่ใช้งาน ทำให้เสื่อมสภาพ
ฟอร์มูลา : ในส่วนของเครื่องยนต์มีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ?
ขวัญชัย : มีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากของเดิมไม่ใช่ของแท้ ต้องไปหาซื้อของแท้มาใส่เข้าไป ซึ่งต้องเป็นคาบูเรเตอร์ของ เซนิก
ฟอร์มูลา : หลังจากบูรณะคันนี้แล้วจะมีคันที่สองไหม ?
ขวัญชัย : เรื่องนี้กำหนดไม่ได้ เพราะถ้ามีของที่ชอบ ถูกใจ สู้ราคาได้ก็อาจจะมี รถไม่ใช่ภรรยาถ้าเป็นภรรยาต้องมีคนเดียว แต่ถ้าเป็นของสะสมอย่างนี้มีได้เรื่อยๆ ถ้าถูกใจ และสามารถเป็นเจ้าของได้
ฟอร์มูลา : นอกจากรถโบราณแล้วยังชอบของเก่าประเภทอื่น หรือสะสมอะไรอีกหรือเปล่า ?
ขวัญชัย : ผมชอบสะสม ไพพ์ ตอนนี้มีอยู่ 200 กว่าอัน อีกอย่างเป็นของที่เกี่ยวกับม้าและช่วยกันสะสมกับลูกคือ รถเล็ก
เรื่องการสะสมนี่เป็นความชอบ อย่างไพพ์ที่สะสมเพราะว่าเดินทางไปต่างประเทศบ่อย ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะซื้อของที่ระลึก แต่เราคิดว่าซื้อไพพ์ดีกว่า น่ารักดี เพราะมีรูปแบบ ราคาที่ต่างกันแล้วก็ติดไปเองจนเป็นความชอบจนสะสมมาถึงปัจจุบัน
ส่วนของที่เกี่ยวกับม้า เริ่มจากตอนที่ไปจีน เห็นม้าแกะสลักหิน 12 ตัว สีชมพู ชอบมาก คิดว่าราคาคงเป็นแสน แต่ปรากฏว่า 25,000 บาท เลยตัดสินใจซื้อ แล้วแบกกลับมาด้วยความยากลำบาก ถึงกรุงเทพ ฯ ม้าหักแตกเป็นสองส่วน ผมกับลูกต้องช่วยเอากาวทาต่อทุกอย่างให้เหมือนเดิม ทำให้เกิดความผูกพัน ตั้งแต่นั้นมาเห็นม้าทีไรก็ซื้อเรื่อย
ฟอร์มูลา : เริ่มรู้สึกชอบรถมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ?
ขวัญชัย : รู้สึกชอบมาตั้งแต่เด็ก เป็นความผูกพัน และเคยเป็นนักแข่งรถด้วย โดยตอนกลับจากต่างประเทศใหม่ๆ จะแข่งแรลลี แต่ที่ดูเหมือนจะเป็นนักแข่งอาชีพตอนที่ อีซูซุ จัดไปแข่งที่ปารีส-มอสโค-ปักกิ่ง ซึ่งมีโอกาสไปร่วมด้วย แต่การแข่งขันถูกยกเลิกเพราะมีปฏิวัติที่รัสเซียเลยไม่ได้แข่ง แต่ได้ไปสำรวจทางแล้วเกิดปัญหา เกิดอุบัติเหตุมีคนในทีมเสียชีวิต และคนที่เสียชีวิตเป็นเพื่อนเรา เราเป็นคนชวนเขาไปด้วย เลยรู้สึกผิดอยู่ในใจ กลับมาก็เลยเลิก
ฟอร์มูลา : กิจกรรมของสมาคมรถโบราณจะมีอะไรบ้าง ?
ขวัญชัย : งานประจำปี คืองานประกวดรถโบราณ ในเดือนพฤษภาคม ที่เดอะมอลล์ ส่วนงานอื่นๆส่วนใหญ่จะได้รับเชิญไปมากว่า แต่จะเลือกงานที่ทำเพื่อสังคม เช่น งานสุพรรณหงส์ทองคำงานฉลอง 220 ปี กรุงเทพ ฯ, งานกรุงเทพ ฯ เมืองแฟชัน ฯลฯ หรืองานที่สอดคล้องกับอดีตและความหลัง
ฟอร์มูลา : ขณะนี้สมาคม ฯ มีสมาชิกจำนวนเท่าไหร่ ?
ขวัญชัย : ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ประมาณ 600 กว่าคน แต่ที่ร่วมแรงแข็งขันมีอยู่ประมาณ 150 คนล่าสุดผมขอความร่วมมือไปร่วมงานที่หัวหิน ซึ่งต้องการรถ 60 คัน ขณะนี้รถเต็มแล้ว ซึ่งมีสมาชิกสนใจสมัครเข้าร่วมงานเกือบ 80 คัน จึงต้องคัดเลือกให้เหลือ 60 คัน
นอกจากนี้สมาคมยังมีการติดต่อกับประเทศใกล้เคียง เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ซึ่งในงานที่หัวหินครั้งนี้ก็จะมาชมงานด้วย และคนก็ชื่นชมในฝีมือของคนไทย ล่าสุดเจ้าชายจากคูเวตติดต่อมาเพื่อชมรถโบราณ คณะกรรมการพาไปชมรถที่บ้านคุณอรรถวิชช์ ท่านชมว่าฝีมือการบูรณะรถของคนไทยดีมาก และอย่างโรเบิร์ต ที่ทำเรื่องเกี่ยวกับเครื่องยนต์ให้ท่านก็ชวนให้ไปอยู่ด้วยแต่โรเบิร์ตไม่ไป บอกว่าทำเครื่องทำที่นี่ก็ได้
ABOUT THE AUTHOR
น
นุสรา เงินเจริญ
ภาพโดย : ราชวัตร แสงจันทรานิตยสาร 399 ฉบับเดือน มกราคม ปี 2548
คอลัมน์ Online : สังคมรถโบราณ(formula)