บทความ
เกรย์ มาร์เกท
"ผู้นำเข้าอิสระ" หรือ "ผู้ค้ารถยนต์นำเข้า" เป็นคำเรียกบริษัทที่นำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศ โดยไม่ได้ผ่านบริษัทที่ได้รับการแต่งตั้งจากค่ายรถยนต์นั้นๆ ให้เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ
ผู้นำเข้าอิสระนั้น มีมานานแล้ว แต่การนำเข้าโดยตรงไม่ผ่านบริษัทที่ได้รับการแต่งตั้ง หายไปในช่วงที่รัฐบาลประกาศบังคับการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศ และลดการนำเข้า เพื่อรักษาดุลการค้ากับต่างประเทศ
แต่ปัญหาก็เกิด เมื่อรถมือสองจากต่างประเทศทะลักเข้ามาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีปริมาณความต้องการของผู้ใช้รถสูงกว่าจำนวนการผลิตในประเทศ ประกอบกับรถใหม่ขณะนั้นราคาแพง
ต่อมาในสมัยรัฐบาลนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปัญญารชุน ได้เปิดการค้าเสรี ยกเลิกการกำหนดชิ้นส่วนในประเทศและกำแพงภาษี ทำให้ผู้ค้ารถยนต์นำเข้า มีอิสระมากขึ้น บริษัทผู้นำเข้าอิสระผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ทั้งเล็กและใหญ่ แข่งกันนำเข้ารถยนต์รุ่นที่ต่างไปจากรถยนต์ที่ประกอบในประเทศ
เมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทผู้นำเข้าอิสระส่วนใหญ่ต้องปิดตัวไป เพราะเจอปัญหาค่าเงินบาทลอยตัว ซึ่งส่งผลให้ต้องจ่ายราคาค่าตัวรถนำเข้าแพงขึ้นกว่าเท่าตัว จึงเหลือเพียงกลุ่มที่มีสายปานยาวจริงเท่านั้น ที่สามารถปรับตัวรับสถานการณ์ฟันฝ่าเอาตัวรอดมาได้
ปัจจุบันบริษัทผู้นำเข้าอิสระต่างๆ ยังคงใช้กลยุทธ์เดิม คือ ความแปลกและแตกต่างของรถที่นำเข้า และรถรุ่นใหม่ มาจำหน่ายก่อนบริษัทตัวแทนจำหน่าย แต่เปลี่ยนจากรถสปอร์ทญี่ปุ่น มาเป็นรถหรู ราคาแพง อย่าง เมร์เซเดส-เบนซ์ รถ เอมพีวี หรู รถไฮบริด ในขณะที่บางรายนำรถตู้เดิมๆ มาตกแต่งใส่อุปกรณ์อำนวยความสะดวก ตามความต้องการของผู้ซื้อรถยนต์
ตลาดรถนำเข้าเหล่านี้ อาจเป็น "เกรย์ มาร์เกท" หรือ ตลาดสีเทา ที่บางคนมีเครื่องหมายการค้าในเรื่องความน่าเชื่อถือ และบริการหลังการขาย แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า "เกรย์ มาร์เกท" ไม่ใช่สีสันอิสระ ที่ฉูดฉาดบาดตาในตลาดรถยนต์ขณะนี้
ผู้นำเข้าอิสระรายใหม่
ผู้นำเข้าอิสระส่วนใหญ่จะสั่งรถที่บริษัทแม่มิได้นำเข้ามาจำหน่าย เพื่อสร้างสีสันในวงการตลาดรถยนต์ได้มิใช่น้อย หากคุณนิยมความแตกต่าง ต่อไปนี้คือ บริษัทผู้นำเข้ารถยนต์อิสระรายใหญ่ที่ดำเนินการมานานจนได้รับความเชื่อถือในด้านบริการ
บริษัท อีตั้น อิมพอร์ท จำกัด
บริษัท อีตั้น อิมพอร์ท จำกัด ดำเนินกิจการมาแล้วไม่ต่ำกว่า 9 ปี ด้วยบริการ และคุณภาพที่ดี ทำให้ลูกค้าให้ความเชื่อถือ และไว้วางใจมาโดยตลอด
อีตั้น ฯ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2539 เดิมใช้ชื่อ NCC AUTO SALE เป็นบริษัทที่ร่วมลงทุนระหว่างกลุ่มผู้นำเข้ารถยนต์ เน้นรถยุโรปเป็นหลัก หลังจากนั้น ชาญชัย ตันติยันกุล ได้ซื้อหุ้นทั้งหมดแล้วเปิดบริษัทใหม่ โดยใช้ชื่อว่า บริษัท อีตั้น อิมพอร์ท จำกัด
นโยบายหลักของบริษัทคือ "ความพอใจของลูกค้าถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด" เน้นหนักในเรื่องการบริการหลังการขาย และมีการรับประกันรถทุกคันเป็นเวลา 1 ปี ไม่จำกัดระยะทาง ที่สำคัญยังมีบัตร ETON EXCLUSIVE CARE บัตรสมาชิกสำหรับช่วยเหลือฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง ฟรี 1 ปี สำหรับลูกค้าที่ออกรถใหม่จากบริษัท ด้วยเครือข่ายช่วยเหลือกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ
รถที่นำเข้าส่วนใหญ่จะเน้นไปที่รถยุโรปอย่าง เมร์เซเดส-เบนซ์ และโฟล์ค ฯ ตู้ เป็นหลัก นอกจากนี้ยังนำเข้ารถญี่ปุ่นอีกหลายรุ่น เช่น โตโยตา เพื่อเพิ่มช่องทางในการจำหน่าย และรองรับความต้องการของลูกค้าทุกระดับอย่างทั่วถึง
ด้านศูนย์บริการ และเครื่องมือซ่อมบำรุง บริษัท ก็ให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าด้านการตลาด โดยได้ใช้เครื่องมือที่ถือว่าทันสมัยที่สุดในยุคนี้ เป็นเครื่องมือวิเคราะห์เครื่องยนต์จากประเทศญี่ปุ่น ชื่อ S2000 ซึ่งในเมืองไทยมีอยู่เพียง 2 เครื่องเท่านั้น
ขณะนี้ อีตั้น ฯ มีทั้งหมด 4 สาขา มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ ศรีนครินทร์ และสาขารัชดาภิเษก ส่วนต่างจังหวัดมี 2 สาขา คือ เชียงใหม่ และขอนแก่น ซึ่งบริษัทมีแผนที่จะขยายสาขาใหม่ในแถบฝั่งธนบุรี และปริมณฑล โดยแต่ละศูนย์บริการจะยึดมั่นในอุดมการณ์เดิมคือ "ความพอใจของลูกค้าถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด"
บริษัท เอส.อี.ซี. กรุ๊ป จำกัด
ย้อนหลังกลับไปเมื่อปี 2534 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจนำเข้ารถยนต์ โดยการนำของ สมพงษ์ วิทยารักษ์สรรค์ ได้ให้กำเนิด บริษัท เอส.อี.ซี.กรุ๊ป จำกัด เพื่ออิมพอร์ทรถรุ่นพิเศษ มาบริการลูกค้าที่ต้องการใช้รถรูปแบบใหม่ๆ และเราคงต้องยอมรับว่า การดำเนินธุรกิจของเขา เป็นการจุดประกายให้แก่วงการรถยนต์ตื่นตัวขึ้น
นโยบายของบริษัท คือ "ทำให้ลูกค้าพึงพอใจ" ให้บริการตรงตามจุดประสงค์ของลูกค้า และให้เหมาะสมกับสภาพสถานการณ์ต่างๆ เช่น เรื่องของผลิตภัณฑ์ ที่เน้นความทันสมัย โดยพยายามใช้จุดเด่น คือ ความคล่องตัวในการบริการลูกค้า การวางแผนของ เอส.อี.ซี. กรุ๊ป ฯ ก็จะทันสมัย ใช้ความคล่องตัวของตัวผลิตภัณฑ์ ที่ออกมาใหม่ อาจเสียเวลาไปบ้างในการวิเคราะห์พิจารณาที่จะนำรถมาขายภายในประเทศ แต่ข้อดีก็คือ ทำให้ทราบว่ารถคันนี้เหมาะกับตลาดบ้านเราเพียงใด ตัวอย่างเช่น รถ ไฮบริด ที่เป็น ผลิตภัณฑ์ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นรุ่น เอสตีมา/อัลฟาร์ด และ ปรีอุส บริษัทก็ได้ทดสอบก่อน จนคิดว่าเหมาะสมแก่ลูกค้า และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
เกณฑ์ในการเลือกนำเข้ารถ จะพิจารณาหลายด้าน เช่น สเปค ราคา ออพชัน รวมทั้งต้องทำแบบสอบถามลูกค้า โดยที่จะสังเกตได้จากรถในตลาด มีอยู่หลายรุ่น แต่จะไม่นำเข้าทุกรุ่น เจาะจงเลือกรุ่นที่เห็นว่าเหมาะสมที่สุดเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ซึ่งปัจจุบันบริษัทนำรถเข้ามาจำหน่ายประมาณ 22 รุ่น สำหรับรุ่น ไฮบริด จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งขณะนี้มีรถ ไฮบริด จำหน่ายอยู่ 2 รุ่น และคาดว่าในอนาคตอาจจะมีทั้งรถ เอมพีวี/เอสยูวี และซีดาน
ขณะนี้ เอส.อี.ซี. กรุ๊ป ฯ มีศูนย์บริการ และโชว์รูม 5 แห่ง คือ โชว์รูม สำนักงานใหญ่พระราม 9/ทองหล่อ/บางนาตราด/เพชรบุรี และพหลโยธิน ซึ่งแต่ละศูนย์มีมาตรฐานเดียวกันคือ "ทำให้ลูกค้าพึงพอใจ"
บริษัท โฟล์คธนบุรี จำกัด
10 กว่าปีที่ผ่านมา ชื่อเสียงของ "โฟล์คธนบุรี" เป็นที่ยอมรับจากบรรดาผู้ที่ชื่นชอบความแปลกใหม่ และผู้ที่รักความสะดวกสบายในการเดินทาง ด้วยออพชันที่เพียบพร้อม การออกแบบห้องโดยสารที่หรูหรา ทำให้ โฟล์คสวาเกน ที่นำเข้าโดย โฟล์คธนบุรี ฯ ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง
ก่อนที่จะมาเป็น บริษัท โฟล์คธนบุรี จำกัด ธุรกิจเดิมเป็นการตกแต่งภายในรถใช้ชื่อว่า "หลี หยู่ ฮวด" ก่อนจะเปลื่ยนชื่อมาเป็น "พระราม 2 ยนตรการ" รับตกแต่งภายในรถยนต์ให้แก่ ค่ายยนตรกิจ กรุพ หลังจากนั้นไม่นานก็นำเข้ารถ โฟล์คสวาเกน มาขายเอง โดยมุ่งเน้นไปที่รถ โฟล์ค ฯ ตู้ โดยเฉพาะ ซึ่งบริษัทมีความชำนาญด้านการออกแบบรถประเภทนี้อยู่แล้ว ไม่ว่าลูกค้าต้องการอย่างไร ก็สามารถทำออกมาได้ จนพูดกันปากต่อปาก จนกลายมาเป็น "โฟล์คธนบุรี" ทุกวันนี้ ภายใต้การนำของ ศักดิ์ชัย จิระวิชฎา
นโยบายของบริษัท คือ "ความต้องการของลูกค้าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด" และสิ่งที่ยึดมั่นมาโดยตลอดคือเอาใจเขามาใส่ใจเรา และแนะนำแต่สิ่งดีๆ ให้แก่ลูกค้า เรื่องการรับประกันสินค้า มาตรฐานอยู่ที่ 1 ปี ไม่จำกัดระยะทางซึ่งต่างจากรายอื่นๆ เพราะการการันตีหมายถึง ต้นทุน เพราะฉะนั้นการการันตีจะถูกบวกเข้าไปกับราคาขายอยู่แล้ว เพียงแต่ลูกค้าไม่ทราบเท่านั้นเอง
รถที่บริษัทนำเข้าส่วนมากจะเน้นยี่ห้อ โฟล์คสวาเกน และล่าสุดที่นำเข้ามาคือรุ่น ตูอเรก นอกจากนี้ดีเลอร์ในเยอรมนีมองว่าตลาดรถโฟล์ค ฯ ตู้ เป็นกลุ่มเดียวกันกับ เมร์เซเดส-เบนซ์ เลยส่งมาให้บริษัททำตลาดร่วม รุ่นที่บริษัทนำเข้ามานั้นจะมีออพชันมากกว่ารุ่นที่ประกอบภายในประเทศ แต่ปีนี้ค่าเงินยูโร และภาษีนำเข้าอัตราใหม่ ทำให้ตลาดรถยนต์ เมร์เซเดส-เบนซ์ มียอดจำหน่ายที่ค่อนข้างช้า
ขณะนี้ บริษัทมีโครงการขยายสาขาเพิ่มขึ้นอีก ราวต้นเดือน เมษายน 2548 อยู่แถวถนนประดิษฐ์ มนูญธรรม แยกโรงแรม เอสซี ปาร์ค ซึ่งเป็นจุดที่มีแหล่งรถนำเข้าค่อนข้างมาก และอีกแห่งกำลังดำเนินการอยู่ ตั้งอยู่บริเวณถนนสุขสวัสดิ์ และมีแผนที่จะขยายโชว์รูม พร้อมศูนย์บริการ 4 มุมเมืองทั่วกรุงเทพ ฯ
บริษัทแม่คิดอย่างไร ?
รถที่นำเข้าโดยผู้นำเข้าอิสระจะมีเพียงไม่กี่ยี่ห้อเท่านั้น ที่ได้รับความนิยม อย่างเช่น เมร์เซเดส-เบนซ์/โตโยตา/นิสสัน และฮอนดา ซึ่งล้วนแล้วแต่มีตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการภายในประเทศไทย "ฟอร์มูลา" จึงสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารบริษัทเหล่านั้นเกี่ยวกับตลาดเกรย์มาร์เกท ซึ่งมีเพียง เมร์เซเดส-เบนซ์ และโตโยตา เท่านั้นที่ให้คำตอบ
ฉัตวิทัย ตันตราภรณ์ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท เดมเลอร์ไครสเลอร์ (ประเทศไทย) จำกัด
ฟอร์มูลา : บริษัทมีความคิดเห็น หรือนโยบายอย่างไรเกี่ยวกับผู้นำเข้าอิสระ ?
ฉัตวิทัย : การนำเข้ารถยนต์อิสระในบางประเทศจะทำไม่ได้ เช่น ออสเตรเลีย เนื่องจากมีกฎหมายระบุไว้ชัดเจน แต่ประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียสามารถทำได้ แต่ถ้ามองในแง่ของธุรกิจแล้ว บริษัทไม่สนับสนุน ทั้งนี้เนื่องจากรถที่นำเข้ามาไม่ได้ถูกปรับให้เหมาะสมกับภูมิภาค โดยผู้นำเข้าอิสระสามารถนำเข้ามาจากประเทศต่างๆ ซึ่งอาจจะไม่เหมาะสมกับบ้านเรา เช่น รถ เมร์เซเดส-เบนซ์ จะมีโคดเฉพาะของประเทศนั้นๆ รวมถึงสเปคอยู่ด้วย แต่ก็ห้ามไม่ได้ แต่สิ่งที่บริษัทต้องการ คือ สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคให้มาซื้อรถจากบริษัท
สิ่งที่บริษัทจะสามารถดำเนินการได้คือ การใช้นโยบายสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคเพื่อซื้อรถจากดีเลอร์ เพราะเป็นรถที่ได้รับการประกอบตามความเหมาะสมของประเทศ รวมถึงการเกี่ยวเนื่องในเรื่องอะไหล่ และเทคนิค ซึ่งบางอย่างรถที่นำเข้าโดยผู้นำเข้าอิสระยังมีปัญหาอยู่
ฟอร์มูลา : รถที่นำเข้าจากผู้นำเข้าอิสระ บริษัทจะรับบริการหรือไม่ ?
ฉัตวิทัย : การให้บริการจะไม่มีปัญหา อาจติดปัญหาเรื่องอะไหล่ และอาจเกี่ยวเนื่องไปถึงเรื่องการรับประกัน ซึ่งรถแต่ละคันจะมีเงื่อนไขวารันตี เพราะการนำเข้ารถที่ไม่ได้ผลิตขึ้นมาเพื่อประเทศนั้นๆ วารันตีจะหมดโดยอัตโนมัติ ซึ่งกฎของวารันตีค่อนข้างละเอียด รวมถึงลูกค้าก็จะขาดความสะดวกสบาย ซึ่งเป็นการรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ในอีก 5 ปีข้างหน้า รถจะมีการพัฒนาเทคนิคหรือส่วนต่างๆ ไปตามอนาคต ซ่อมปกติไม่ได้ต้องผ่านระบบที่มีการพัฒนา โดยระบบนั้นจะเกิดขึ้นในแต่ละยี่ห้อ ซึ่งอาจจะมีข้อมูลศูนย์กลางอยู่ต่างประเทศ
ฟอร์มูลา : บริษัทมีความคิดเห็น และนโยบายอย่างไรเกี่ยวกับผู้นำเข้าอิสระ ?
วุฒิกร : นโยบายของบริษัทถ้าเป็นยี่ห้อ โตโยตา จะรับผิดชอบทั้งหมด แต่ถ้ามองโดยภาพรวมแล้วผู้ที่นำเข้าอิสระต้องมีความพร้อมในการดูแลลูกค้า หลังจากที่ขายไปแล้ว เพราะรถยนต์ไม่เหมือนสินค้าอื่นๆ มีเทคโนโลยี ต้องได้รับการดูแล บำรุงรักษาตามระยะ ผู้นำเข้าก็ต้องมั่นใจว่าจะสามารถให้บริการได้อย่างเต็มที่
ฟอร์มูลา : มีข้อแนะนำสำหรับผู้ที่จะซื้อรถ โตโยตา อย่างไร ?
วุฒิกร : การซื้อรถยนต์ต้องมองในระยะยาว เพราะเป็นสินค้าที่มีราคาแพง ผู้ซื้อจะต้องคิดอย่างรอบคอบ
ดังนั้นการซื้อสินค้าจากตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการจะสามารถสร้างความมั่นใจได้อย่างเต็มที่ว่าจะไม่มีกรณีใดๆ เกิดขึ้น บริษัทตัวแทนจำหน่ายต้องมีการเตรียมความพร้อมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น มาตรฐานคุณภาพของสินค้า ศักยภาพของฝีมือช่าง อะไหล่ เป็นต้น
สำหรับ โตโยตา การนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายจะต้องมีการศึกษาตลาดก่อนถึงความเป็นไปได้ รวมถึงการเตรียมเครือข่ายการให้บริการอย่างครบถ้วนด้วย
ฟอร์มูลา : รถที่นำเข้าจากผู้นำเข้าอิสระ บริษัทจะรับบริการหรือไม่ ?
วุฒิกร : บริษัทจะดูแลในสิ่งที่ดูแลได้ เพราะรถบางรุ่นบริษัทไม่ได้นำเข้ามาจำหน่าย จึงทำให้ไม่มีความพร้อมในเรื่องของการให้บริการ อย่างเช่น ปัญหาในเรื่องของอะไหล่ หรือในรถบางรุ่นที่มีเทคโนโลยีสูงมากๆ บางครั้งต้องใช้เครื่องมือพิเศษในการแก้ไขปัญหา ซึ่งบริษัทไม่ได้เตรียมความพร้อมไว้ก็จะไม่สามารถให้บริการได้
ABOUT THE AUTHOR
ก
กองบรรณาธิการ
ภาพโดย : ฝ่ายภาพนิตยสาร 399 ฉบับเดือน พฤษภาคม ปี 2548
คอลัมน์ Online : บทความ