ระเบียงรถใหม่
มหกรรมยานยนต์ต่างประเทศ
ทีมงานของ "ฟอร์มูลา" เดินทางไปเหยียบแผ่นดินเมืองน้ำหอมเพื่อทำข่าว "มหกรรมยานยนต์ปารีส"
เป็นครั้งแรกเมื่อปี 1990 และทุกๆ 2 ปีหลังจากนั้น คือในปี 1992, 1994, 1996, 1998, 2000, 2002 และ 2004 เราก็ส่งทีมงานไปทำข่าวงานแสดงรถยนต์รายการนี้เป็นประจำ ติดต่อกันโดยไม่เคยขาดตอน การเดินทางไปเยือนเมืองน้ำหอมครั้งนี้ จึงเป็นครั้งที่ 9
ฝรั่งเศสเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 2 ของยุโรป คือ เป็นรองแค่เยอรมนีเพียงประเทศ
เดียว ตามตัวเลขของ ORGANISATION INTERNATIONALE DES CONSTRUCTEURS
D'AUTOMOBILE หรือองค์การผู้ผลิตรถยนต์นานาชาติ ซึ่งเรียกกันย่อๆ ว่า OICA ในรอบปี 2005 ทวีป
ยุโรปผลิตรถยนต์นานาชนิดได้รวมทั้งสิ้น 20,801,468 คัน หรือเท่ากับร้อยละ 31.3 ของยอดผลิตทั่ว
โลกซึ่งอยู่ที่ระดับ 66,465,408 คัน ในจำนวนนี้ 5,757,710 คัน หรือร้อยละ 27.8 เป็นยอดผลิตของเยอรมนี และ 3,549,008 คัน หรือร้อยละ 17.1 เป็นยอดผลิตของฝรั่งเศส
ในบรรดารถยนต์จำนวน 3,549,008 คัน ที่ฝรั่งเศสผลิตได้ในปี 2005 นี้ หากแบ่งตามประเภทรถ ก็จะ
แบ่งออกได้เป็น รถยนต์นั่งจำนวน 3,112,961 คัน หรือร้อยละ 87.7 รถเพื่อการพาณิชย์จำนวน 382,201
คัน หรือร้อยละ 10.8 รถบรรทุกขนาดใหญ่ 50,159 คัน หรือร้อยละ 1.4 และรถโดยสาร 3,687 คัน หรือ
ร้อยละ 0.1
ฝรั่งเศสมีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อยู่เพียง 3 ราย คือ ซีตรอง (CITROEN) เปอโฌต์ (PEUGEOT)
และ เรอโนลต์ (RENAULT) ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2006 โรงงานทั้งในและนอกประเทศของ 3 เจ้านี้ ผลิตรถออกสู่ตลาดได้รวมทั้งสิ้น 3,197,010 คัน คือ ลดลงร้อยละ 1.4 จากช่วงเดียวกันเมื่อปี 2005 ผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด คือ เรอโนลต์ ซึ่งมียอดผลิตสูงถึง 1,402,324 คัน รองลงไป คือ เปอโฌต์ 1,007,500 คัน และ ซีตรอง 787,186 คัน
ในยุโรป รถฝรั่งเศสนับเป็นรถที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2006 ที่เพิ่ง
ผ่านพ้นไปนี้ มีรถฝรั่งเศสที่ขายดีติดอันดับ "ทอพเทน" ของยุโรปอยู่ถึง 4 แบบ คือ เรอโนลต์ เมกาน
(RENAULT MEGANE) เป็นรถขายดีอันดับหนึ่ง ด้วยยอดขาย 248,176 คัน เรอโนลต์ กลีโอ (RENAULT CLIO) ติดอันดับ 4 ด้วยยอดขาย 204,532 คัน เปอโฌต์ 307 (PEUGEOT 307) อันดับ 6 ด้วยยอดขาย 156,089 คัน และ เปอโฌต์ 206 (PEUGEOT 206) อันดับ 8 ด้วยยอดขาย 143,588 คัน
ทำตามที่สัญญาไว้ในเดือนที่แล้ว โดยนำเรื่องราวของรถแนวคิด ที่ปรากฏตัวในงาน มหกรรมยานยนต์
ปารีส ครั้งล่าสุด มานำเสนอ โปรดพลิกไปอ่านได้เลยครับ
เรอโนลต์ เนปตา
RENAULT NEPTA หนึ่งในบรรดารถแนวคิดจำนวน 4 คัน ที่ยักษ์ใหญ่เมืองน้ำหอมนำออกแสดงใน
งานนี้ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถเปิดประทุน 4 ที่นั่ง รูปทรงองค์เอววิลิศมาหรา และเชื่อได้ว่าไม่
มีวันที่จะเปลี่ยนสภาพเป็นรถตลาด นอกจากรายละเอียดในบางจุด เช่น แผงกระจังหน้า และดวงโคม
ไฟหน้า ที่อาจนำไปใช้กับรถตลาด คือ เรอโนลต์ ลากูนา (RENAULT LAGUNA) รุ่นใหม่ ซึ่งจะออก
จำหน่ายในปี 2007 หรือ 2008
ตัวถังยาว 4.995 ม. กว้าง 1.955 ม. และสูง 1.330 ม. ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ซึ่งเป็นวัสดุสังเคราะห์
มวลเบา มีจุดเด่นสะดุดตาอยู่หลายจุด และที่สะดุดตาสะดุดใจที่สุด ก็คือ แผงประตูข้าง และหลังคาซึ่ง
ทำเป็นชิ้นเดียวกัน และเปิด/ปิดแบบปีกนกด้วยระบบไฟฟ้า ในขณะที่ปิดหลังคาจึงดูราวกับว่าเป็นรถที่ไม่มี
ประตูข้างทั้ง 2 ด้าน อีกจุดหนึ่งที่แปลกไปจากรถที่เห็นกันอยู่ทั่วๆ ไป คือ พแลทฟอร์ม ซึ่งมีช่วงยื่นหลัง
(REAR OVERHANG) ยาวกว่าช่วงยื่นหน้า (FRONT OVERHANG) เป็นอย่างมาก ดังที่เห็นได้อย่าง
ชัดเจนในภาพล่างขวามือ
ห้องโดยสารตกแต่งหรูหรา และมีรายละเอียดบางอย่างดูน่าตื่นตาตื่นใจสมเป็นรถแนวคิด ติดตั้งเก้าอี้ที่
นั่งแบบตัวใครตัวมันรวม 4 ตัว ทุกตัวหุ้มด้วยหนังแท้ที่คัดเลือกมาอย่างพิถีพิถัน แผงหน้าปัดอุปกรณ์ออก
แบบให้ดูเหมือนกับแขวนลอยอยู่ในอากาศ มาตรวัดต่างๆ ผสมผสานระบบดิจิทอล และอนาลอกเข้า
ด้วยกันอย่างลงตัว
เป็นรถขับเคลื่อนล้อหลัง ด้วยพลังจากเครื่องยนต์ไบเทอร์โบ วี 6 สูบ 24 วาล์ว 3.5 ลิตร 420 แรงม้า
ถ่ายทอดกำลังสู่ล้อขนาดโตถึง 23 นิ้ว ผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ ที่เปลี่ยนจังหวะเกียร์ด้วยมือก็
ได้
เรอโนลต์ โกเลโอส คอนเซพท์
RENAULT KOLEOS CONCEPT รถแนวคิดอีกคันหนึ่ง ที่ยักษ์ใหญ่เมืองน้ำหอมนำออกอวดตัวต่อสา
ธารณชนเป็นครั้งแรกในงานนี้ เป็นต้นแบบของ SUV หรือ รถกิจกรรมกลางแจ้ง รหัส เซด 45 (Z45) ที่
ค่ายนี้จะนำออกสู่ตลาดในปี 2008 โดยใช้โรงงานของ เรอโนลต์ ซัมซุง (RENAULT SAMSUNG) ใน
เกาหลีใต้เป็นที่ผลิต
ตัวถังทรง 2 กล่อง ยาว 4.520 ม. กว้าง 1.890 ม. และสูง 1.700 ม. เป็นผลงานจากความร่วมมือของ
ทีมงาน เรอโนลต์ ในฝรั่งเศส และศูนย์ออกแบบของ เรอโนลต์ ซัมซุง ในเมืองโสม โดยอาศัยเทคโนโลยี
บางส่วนของหุ้นส่วนในญี่ปุ่น คือ นิสสัน โดยเฉพาะการออกแบบพแลทฟอร์ม และระบบขับ 4 ล้อ เป็น
การทำงานในลักษณะ "ยิงนกสองตัวด้วยกระสุนนัดเดียว" เพราะค่าย นิสสัน ก็จะทำรถ SUV ขนาดนี้
ออกจำหน่ายเช่นกัน โดยใช้ชิ้นส่วนร่วมกันประมาณร้อยละ 40-50
เป็นรถกิจกรรมกลางแจ้งที่พรั่งพร้อมไปด้วยอุปกรณ์อำนวยความสุขความสะดวก ตั้งแต่ระบบนำทาง
ด้วยดาวเทียม ระบบมัลทิมีเดีย มาตรวัดที่ให้ข้อมูลอันจำเป็น เช่น ความดันอากาศ ระดับความสูง และ
ความเอียงของพื้นถนน ฯลฯ ไปจนถึง ระบบห้ามล้อฉุกเฉิน ระบบควบคุมเมื่อวิ่งลงเขา (HILL DOWN
CONTROL) และระบบช่วยเมื่อเริ่มวิ่งขึ้นเขา (HILL START ASSIST)
ใช้ระบบขับ 4 ล้อ ด้วยพลังจากเครื่องยนต์เทอร์โบดีเซลฉีดตรง DOHC 4 สูบเรียง 16 วาล์ว 2.0 ลิตร
180 แรงม้า ซึ่งเป็นผลงานจากความร่วมมือกับค่าย นิสสัน ซึ่งยักษ์ใหญ่ เรอโนลต์ ถือหุ้นอยู่ร้อยละ
44.4 ส่วนระบบเกียร์เพื่อถ่ายทอดกำลังสู่ล้อคู่หน้าและคู่หลัง เป็นเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ
เรอโนลต์ ทวิงโก คอนเซพท์
RENAULT TWINGO CONCEPT หน้าตาเหมือนรถตลาด แต่ที่จริงเป็นรถแนวคิดคันที่ 3 ที่ยักษ์ใหญ่
ของเมืองน้ำหอมนำออกอวดตัวต่อสายตาผู้คนเป็นครั้งแรกที่งานนี้ และเป็นต้นแบบของรถตลาด เรอ
โนลต์ ทวิงโก (RENAULT TWINGO) รุ่นที่ 2 ที่มีกำหนดออกจำหน่ายในฤดูร้อนปี 2007 นี้
เรอโนลต์ ทวิงโก รุ่นแรก ที่เริ่มจำหน่ายเมื่อปี 1993 นับเป็นรถขนาดมีนีที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
จากผู้ใช้รถวัยหนุ่มวัยสาวในเมืองน้ำหอม ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2006 ติดอันดับรถขายดีอันดับ 10
ด้วยยอดขายรวม 21,799 คัน สำหรับรถรุ่นที่ 2 นี้ เดิมมีกำหนดออกตลาดในปี 2006 แต่โครงการต้องล่าช้าไป1 ปีเต็ม เพราะปัญหาหลายอย่าง รวมทั้งความพยายามที่จะยกระดับรถ ให้อยู่ในฐานะที่พอจะสู้กันได้กับรถ มีนี (MINI) ของ บีเอมดับเบิลยู (BMW) และรถ ฟอร์ทู (FORTWO) ของค่าย สมาร์ท (SMART) แต่ในที่สุดก็ต้องล้มเลิกความคิดไป เพราะไม่ตรงกับนโยบายของ CEO คนใหม่ คือ การ์โลส โกสน์
(CARLOS GHOSN) ที่ต้องการให้รถแบบนี้ ยังคงเป็นรถราคาย่อมเยา ที่ผลิตด้วยต้นทุนต่ำ เหมือนรถรุ่นแรก แต่ที่จะไม่เหมือนกับรุ่นแรกที่มีแต่แบบพวงมาลัยซ้าย ก็คือ จะมีทั้งรถพวงมาลัยซ้าย และรถพวงมาลัยขวา
ตัวถังทรง 2 กล่อง ยาว 3.600 ม. กว้าง 1.725 ม. และสูง 1.410 ม. มีรายละเอียดหลายจุด ที่ได้รับ
อิทธิพลจากรถอนุกรมพี่ คือ เรอโนลต์ กลีโอ (RENAULT CLIO) กับ เรอโนลต์ โมดุส (RENAULT
MODUS) เป็นรถพขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยพลังจากเครื่องยนต์เทอร์โบ DOHC 4 สูบเรียง 16 วาล์ว 100
แรงม้า
เปอโฌต์ 908 แอร์เซ
PEUGEOT 908 RC หนึ่งในบรรดารถแนวคิดจำนวน 2 คัน ที่ค่าย "สิงห์เผ่น" นำออกอวดตัวเป็นครั้ง
แรกที่งานนี้ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถเก๋งซีดาน 4 ประตู 4 ที่นั่ง วางเครื่องหลังขับเคลื่อนล้อหลัง
และเป็นต้นแบบของรถธงคันใหม่ คือ เปอโฌต์ 608 (PEUGEOT 608) ซึ่งจะออกจำหน่ายในปี 2008 แทนที่รถธงคันปัจจุบัน คือ เปอโฌต์ 607 (PEUGEOT 607) ซึ่งอยู่ในสายการผลิตมาตั้งแต่กลางปี 2000
เป็นผลงานของศูนย์ออกแบบของค่าย "สิงห์เผ่น" ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงปารีส และเป็นรถยนต์นั่งระดับสุดหรูที่
ค่ายนี้รังสรรค์ขึ้นเพื่ออวดเทคโนโลยีเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งนิยมใช้กันมากในยุโรป เทคโนโลยีที่ว่านี้ส่งผล
ลัพธ์เป็นเครื่องยนต์เทอร์โบดีเซลฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง วี 12 สูบ 5.5 ลิตร ที่ให้กำลังสูงถึง 700 แรงม้า
และเป็นเครื่องยนต์ที่ค่ายนี้จะนำไปใช้ในรถแข่งรุ่นใหม่ ที่จะส่งเข้าร่วมการชิงชัยในการแข่งขันรถทางไกล เลอมองส์ ซีรีส์ (LE MANS SERIES) ที่ค่าย เอาดี เคยชนะการแข่งขันมาแล้วในปี 2006 ด้วยรถแข่งเครื่องยนต์ดีเซล เอาดี อาร์ 10 (AUDI R10)
ตัวถัง ยาว 5.125 ม. กว้าง 2.155 ม. สูง 1.370 ม. และมีช่วงฐานล้อยาว 3.150 ม. เป็นผลลัพธ์ของ
การออกแบบโดยตั้งใจให้ดูใหญ่กว่าที่เป็นจริง นอกจากรูปทรงองค์เอวโดยรวมที่ดูหรูหราสง่างามผิด
จากรถติดตรา "สิงห์เผ่น" แบบอื่นๆ ตัวถังภายนอกยังมีจุดเด่นสะดุดตาอยู่มากมายหลายจุด รวมทั้งดวงโคมไฟหน้ารูปสามเหลี่ยมฐานกว้างขนาดโตมหึมา แผงกระจังหน้าที่ดูน่าเกรงขาม และกระจกบานหน้าที่
กว้างขวางสุดลูกหูลูกตา แถมยังพาดยาวไปจนสุดเก้าอี้ที่นั่งแถวหน้า
เปอโฌต์ 207 เอปืร์
PEUGEOT 207 EPURE รถแนวคิดอีกคันหนึ่ง ที่ค่าย "สิงห์เผ่น" นำออกแสดงต่อสายตาสาธารณชน
เป็นครั้งแรกที่งานนี้ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถเก๋งเปิดประทุน 2 ประตู 4 ที่นั่งขนาดเล็ก
กะทัดรัด และเป็นต้นแบบของรถเปิดประทุนประเภท คูเป-กาบริโอเลต์ (COUPE-CABRIOLET) ที่ค่าย
นี้จะนำออกสู่ตลาดตอนปลายปี 2007 โดยใช้ชื่อว่า เปอโฌต์ 207 เซเซ (PEUGEOT 207 CC) เพื่อสู้
กับรถประเภทเดียวกันของคู่แข่ง ซึ่งมีจำหน่ายอยู่ในตลาดยุโรปมากมายหลายแบบ
อย่างไรก็ตาม มีอยู่สิ่งหนึ่งในรถแนวคิดคันนี้ ซึ่งรับประกันได้เลย ว่าคงจะไม่พบในรถตลาดคันที่ว่า ก็
คือ ระบบขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า โดยไม่มีเครื่องยนต์เบนซิน หรือดีเซลทำงานร่วมด้วย ระบบขับ
เคลื่อนที่ว่านี้ ใช้ FUEL CELL หรือ เซลล์เชื้อเพลิง เป็นที่ก่อเกิดปฏิกิริยาทางคมีระหว่างไฮโดรเจนและออกซิเจน ได้ผลลัพธ์เป็นน้ำและกระแสไฟฟ้า กระแสไฟฟ้าที่ว่านี้จะประจุเข้าสู่แบทเตอรีแบบ ลิเธียม-อีออน (LITHIUM-ION) ซึ่งจะทำหน้าที่ป้อนพลังงานไฟฟ้าให้แก่มอเตอร์ขนาด 70 กิโลวัตต์ เพื่อใช้ขับล้อคู่
หน้าอีกทอดหนึ่ง
รายละเอียดนอกเหนือจากนี้ ก็คือ รถไฟฟ้าขนาดตัวถังยาว 4.035 ม. กว้าง 1.750 ม. และสูง 1.385 ม.
คันนี้ มีถังบรรจุแกสไฮโดรเจนรวม 5 ถัง ติดตั้งไว้ตรงท้ายรถ แต่ละถังสามารถบรรจุแกสไฮโดรเจน
จำนวน 15 ลิตร และเก็บอัดไว้ที่ระดับความดัน 700 เท่าของความดันบรรยากาศ เติมแกสเต็มทุกถังแต่ละครั้ง สามารถเดินทางได้ไกล 350 กม./ชม. โดยทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใน 15.0 วินาที และสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 130 กม./ชม.
ซีตรอง เซ-เมติสส์
CITROEN C-METISSE จุดโฟคัสสายตาในบูธของค่าย "จ่าโท" เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถส
ปอร์ทคูเป 4 ประตู 4 ที่นั่ง ขับเคลื่อนด้วยระบบพันทาง (HYBRID DRIVE) โดยใช้เครื่องยนต์เทอร์โบ
ดีเซลฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง วี 6 สูบ 3.0 ลิตร 208 แรงม้า ขับล้อคู่หน้าผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ
และใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 20 แรงม้า 2 ชุดขับล้อคู่หลัง (METISSE เป็นคำฝรั่งเศส ตรงกับ HYBRID ในภาษาอังกฤษ)
ลักษณะการทำงานอธิบายได้โดยสังเขปว่า ในสภาพการขับขี่ปกติ รถจะวิ่งด้วยพลังจากเครื่องยนต์
เบนซินเพียงอย่างเดียว แต่ในกรณีที่จำเป็นต้องเร่งความเร็ว เช่นขณะที่แซงรถคันหน้า มอเตอร์ไฟฟ้าก็จะเริ่มทำงานโดยอัตโนมัติ ซึ่งนอกจากช่วยเพิ่มกำลังขับแล้ว ยังช่วยเพิ่มสมรรถนะการขับขี่ในลักษณะของรถขับ 4 ล้ออีกต่างหาก นอกจากนั้นในกรณีที่รถสูญเสียแรงขับ หรือมีแรงขับลดต่ำผิดปกติ ระบบขับล้อหลังด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าก็จะเริ่มทำงานโดยอัตโนมัติด้วยเช่นกัน
ตัวถัง ยาว 4.740 ม. กว้าง 2.000 ม. สูง 1.240 ม. และมีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศ 0.30 วางตัว
อยู่บนช่วงฐานล้อที่ยาวถึง 3.000 ม. ในห้องโดยสารซึ่งติดตั้งเก้าอี้ที่นั่งแบบตัวใครตัวมันรวม 4 ตัว จึง
กว้างขวางนั่งยืดแข้งยืดขาสบายเหมือนรถยนต์นั่งประเภทลีมูซีน ส่วนภายนอกตัวถัง จุดเด่นสะดุดตา คือ
ประตูข้างทั้ง 2 ด้าน ซึ่งมีระบบเปิด/ปิดไม่เหมือนรถคันใดในโลก คือ ประตูข้างคู่หน้าเปิด/ปิดแบบปี
กนก แต่คู่หลังเปิดโดยหมุนขึ้นตรงๆ โดยมีจุดหมุนตรึงอยู่กับเสาค้ำหลังคาคู่หลัง ซึ่งเรียกในภาษา
อังกฤษว่า C-PILLARS เวลาเปิด/ปิดหลังคาจึงมองดูเกะกะเก้งก้างพิกล
ฟอร์ด ไอโอสิส เอกซ์
FORD IOSIS X "ดาวดวงเด่น" ในบูธของ ฟอร์ด ยุโรป เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของ CROSSOVER
VEHICLE หรือ "รถผสานพันธุ์" ซึ่งนำคุณสมบัติของรถเก๋งคูเป และรถกิจกรรมกลางแจ้ง 4x4 มาต้มยำ
ทำแกงไว้ในรถคันเดียวกัน และมีคำประกาศยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรว่า เป็นเพียงรถแนวคิด ซึ่งไม่มี
ความตั้งใจที่จะเปลี่ยนสภาพเป็นรถตลาด แต่มีบางอย่าง ที่บ่งบอกแนวทางการออกแบบของรถ ฟอร์ด ใน
อนาคต
ตัวถังทรงลิ่ม ซึ่งมีขนาดโตพอๆ กับรถตลาด ฟอร์ด โฟคัส (FORD FOCUS) มีจุดเด่นสะดุดตาอยู่หลาย
จุด ตัวอย่าง คือ BELT LINE หรือ "เส้นสะเอว" ซึ่งค่อนข้างสูง จนเหลือพื้นที่กระจกหน้าต่างแคบนิดเดียว
ล้อขนาดโตมหึมา และกระทะล้อที่รูปลักษณ์ดูดุดันน่าสะพรึงกลัว กระจกมองข้างที่ติดตั้งอยู่บนเสาค้ำ
หลังคาคู่หน้า และอยู่สูงเกือบถึงหลังคา และประตูข้างทั้ง 2 ด้าน ที่เปิดแยกออกจากกันโดยไม่มีเสาค้ำ
ยันกลาง อย่างที่เรียกกันในยุโรปว่า SUICIDE DOOR หรือ "ประตูฆ่าตัวตาย" แต่ใครบางคนที่ "ฟอร์มูลา" นิยมเรียกว่า "ประตูตู้กับข้าว"
ส่วนภายในห้องโดยสารซึ่งติดตั้งเก้าอี้ที่นั่งแบบตัวใครตัวมันรวม 4 ตัว และเป็นผลงานออกแบบของ
ทีมงานภายใต้การนำของ NIKOLAUS VIDAKOVIC ก็มีแนวคิดการออกแบบที่น่าสนใจอยู่มากมาย
ตัวอย่างเช่น พื้นรถเจาะช่องกระจกใส ทำให้ผู้ขับสามารถมองเห็นว่ารถกำลังวิ่งอยู่บนอะไร และ
คอนโซลกลางขนาดใหญ่ ที่พาดยาวจากแผงหน้าปัดอุปกรณ์ จนถึงเก้าอี้ที่นั่งคู่หลัง และออกแบบใน
ลักษณะของแมลงป่องที่กำลังชูหาง
โฟล์คสวาเกน อีรค
VOLKSWAGEN IROC รถแนวคิดเพียงคันเดียว ที่ยักษ์ใหญ่ของเมืองเบียร์นำออกอวดตัวในงานนี้
เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถสปอร์ทคูเปขนาดเล็กกะทัดรัด และเป็นต้นแบบของรถตลาดรุ่นใหม่
ที่ค่ายนี้จะเริ่มการจำหน่ายในปี 2008 โดยใช้ชื่อว่า โฟล์คสวาเกน ชีรคโค (VOLKSWAGEN
SCIROCCO) โดยมีลูกค้าวัยหนุ่มวัยสาวรสนิยมสูง แต่มีเงินในกระเป๋าไม่มากพอที่จะซื้อรถราคาแพง
อย่าง โพร์เช (PORSCHE) หรือ บีเอมดับเบิลยู (BMW) เป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
ขอบอกไว้หน่อยตรงนี้ว่า ชีรคโค (SCIROCCO) ไม่ใช่ชื่อใหม่ของผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่รายนี้ เมื่อ 3
ทศวรรษก่อน คือ ในช่วงปี 1974-1982 โฟล์คสวาเกน เคยผลิตรถชื่อนี้ออกจำหน่ายมาแล้วครั้งหนึ่ง
และขายได้ดีพอสมควร ตัวถังของรถรุ่นดังกล่าว เป็นผลงานออกแบบของพระอาจารย์ โจร์เกตโต จูจา
โร (GIORGETTO GIUGIARO) เจ้าสำนัก อีตัลดีไซจ์น จูจาโร (ITALDESIGN GIUGIARO) สำหรับรถ
รุ่นใหม่นี้ ยักษ์ใหญ่ของเมืองเบียร์บอกแล้วว่า กำหนดค่าตัวไว้ที่ระดับ 25,000 ยูโร
ตัวถังทรง 2 กล่อง ยาว 4.240 ม. กว้าง 1.800 ม. และสูง 1.400 ม. มีจุดเด่นสะดุดตาอยู่ 2-3 จุด
คือ แผงกระจังหน้ารูปสี่เหลี่ยมคางหมูขนาดโตสะใจ ล้อขนาดโต 19 นิ้ว และสีตัวถังซึ่งทำได้แสบตา
แสบใจ เป็นสีเขียวสะท้อนแสงมองเห็นได้แต่ไกล ใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยพลังจากเครื่องยนต์ 4 สูบเรียง 1,390 ซีซี ติดเทอร์โบชาร์เจอร์ และซูเพอร์ชาร์เจอร์ ให้กำลังสูงสุด 210 แรงม้า อัตราเร่ง 0-100
กม./ชม. ใช้เวลา 6.8 วินาที ส่วนความเร็วสูงสุดอยู่ที่ระดับ 240 กม./ชม.
สโกดา จอยสเตอร์
SKODA JOYSTER จุดโฟคัสสายตาในบูธของผู้ผลิตรถยนต์แห่งสาธารณรัฐเชค เป็นรถแนวคิดในรูป
ลักษณ์ของรถ 3 ประตูแฮทช์แบคขนาดเล็กกะทัดรัด และน่าจะจำหน่ายได้ในราคาอันย่อมเยาหาก
เปลี่ยนสภาพเป็นรถตลาด รูปทรงองค์เอวซึ่งดูน่าจะเป็นรถตลาดมากกว่าเป็นรถแนวคิด ทำให้คาดเดา
ได้ว่า จุดจบของรถแนวคิดคันนี้คงไม่ได้อยู่ในพิพิธภัณฑ์ แต่คงปรับโน่นนิดนี่หน่อย แล้วกลายสภาพ
เป็นรถตลาด ที่ซื้อหาได้ด้วยเงิน
ตัวถัง 3 ประตูทรง 2 กล่อง ขอหยิบขอยืมชิ้นส่วนหลายชิ้นรวมทั้งพแลทฟอร์มจากรถตลาด สโกดา ฟา
บีอา (SKODA FABIA) ที่คนรักรถในบ้านเราคงคุ้นเคยกันดี รูปทรงตัวถังโดยเฉพาะส่วนท้ายและหลังคา ดู
แปลกตาพิกล โดยเฉพาะเมื่อมองจากด้านข้างตรงๆ เพราะเสาค้ำหลังคาคู่หน้าเคลือบสีที่ดูกลืนหายไปกับ
พื้นที่กระจก ทำให้ส่วนหลังคาเหมือนยื่นลอยไปข้างหน้า เหมือนหลังคาอัฒจันทร์ดูกีฬา อย่างที่เรียกกันใน
ภาษาอังกฤษว่า CANTILIVER ส่วนประตูบานท้ายซึ่งแยกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนบนซึ่งเป็นบานกระจก กับส่วนล่างซึ่งเป็นบานทึบ ก็มีแนวคิดการออกแบบที่น่าสนใจ คือ บานล่างสามารถทำเป็นเบาะที่นั่งได้ด้วย ดังที่เห็นได้อย่างชัดเจนในภาพประกอบ
เป็นรถที่ออกแบบสำหรับผู้ใช้รถวัยหนุ่มวัยสาว ภายในห้องโดยสารจึงมี "ลูกเล่น" อยู่หลายรายการที่น่า
จะโดนใจผู้ใช้ประเภทนี้ ตัวอย่าง คือ คอมพิวเตอร์แบบ HANDHELD หรือ มือถือ ซึ่งทำหน้าที่เป็น
ระบบนำทาง และปรับบรรยายกาศแสงสีภายในห้องโดยสาร แถมยังสามารถเป็นอินเตอร์เนทและส่ง
จดหมายอีเลคทรอนิคหรือ E-MAIL ได้อีกต่างหาก
ไดฮัทสุ ดี-คอมแพคท์ เอกซ์-โอเวอร์
DAIHATSU D-COMPACT X-OVER รถแนวคิดเพียงคันเดียวที่ยักษ์เล็กเมืองยุ่น นำออกอวดตัวต่อ
สายตาของสาธารณชนเป็นครั้งแรกที่งานนี้ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของ CROSSOVER VEHICLE
หรือ "รถผสานพันธุ์"ที่นำคุณลักษณ์ของรถยนต์นั่งขนาดมีนี และรถกิจกรรมกลางแจ้งมารวมเข้าด้วย
กันในรถคันเดียว และเป็นต้นแบบของรถตลาดขนาดมีนี ที่ค่ายนี้จะนำออกจำหน่ายทั่วทวีปยุโรปตอน
ปลายปี 2007 นี้ โดยมีรถคู่แฝด ซูซูกิ เอสเอกซ์ 4 (SUZUKI SX4) และเฟียต เซดีซี (FIAT SEDICI) เป็น
คู่ต่อสู้เป้าหมาย
ตัวถัง 5 ประตูทรง 2 กล่อง ยาว 3.750 ม. กว้าง 1.695 ม. และสูง 1.575 ม. เป็นผลงานรังสรรค์
จากความร่วมมือกับสำนัก อีตัลดีไซจ์น จูจาโร (ITALDESIGN GIUGIARO) แห่งอิตาลี ซึ่งมีพระ
อาจารย์ โจร์เกตโต จูจาโร (GIORGETTO GIUGIARO) เป็นเจ้าสำนัก รูปทรงองค์เอวและรายละเอียดของตัวถังภายนอก ไม่มีอะไรโดดเด่นสะดุดตาและสมควรจะกล่าวถึง นอกจากกระจกหน้าและหลังคา ซึ่งออกแบบเป็นกระจกชิ้นเดียวยาวต่อเนื่องกันไป กับดวงโคมไฟท้ายรูปครึ่งวงรี ซึ่งออกแบบในลักษณะของ COMBINATION LAMP และติดตั้งในแนวดิ่งภายใต้กระจกบานหลัง
เป็นรถขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยพลังจากเครื่องยนต์ DOHC 4 สูบเรียง 16 วาล์ว ความจุ 1,495 ซีซี ให้
กำลังสูงสุด 130 แรงม้า ที่ 7,000 รตน. และแรงบิดสูงสุด 14.3 กก.-ม. ที่ 4,400 รตน. ถ่ายทอดกำลัง
สู่ล้อคู่หน้าผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ระบบรองรับหน้า อิสระ แมคเฟอร์สันสตรัท/สปริงขด
ระบบรองรับหลัง อิสระ คานบิด/สปริงขด
ซูซูกิ โพรเจคท์ สปแลช
SUZUKI PROJECT SPLASH จุดโฟคัสสายตาในบูธของ ซูซูกิ และรถแนวคิดเพียงคันเดียวที่ยักษ์เล็ก
ของเมืองยุ่นนำออกอวดตัวเป็นครั้งแรกที่งานนี้ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของ MULTI-PURPOSE
VEHICLE (MPV) หรือ รถอเนกประสงค์ ขนาดมีนี ที่ออกแบบโดยมีผู้ใช้รถวัยหนุ่มวัยสาวเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และคาดหมายกันว่า ภายในเวลาไม่เกิน 2 ปีนับจากงานนี้ จะเปลี่ยนสภาพเป็นรถตลาดแน่นอน
ตัวถัง ยาว 3.780 ม. กว้าง 1.780 ม. สูง 1.650 ม. และมีช่วงฐานล้อยาว 2.360 ม. ขอหยิบขอยืม
ชิ้นส่วนหลายชิ้นรวมทั้งพแลทฟอร์มจากรถตลาด ซูซูกิ สวิฟท์ (SUZUKI SWIFT) รุ่นใหม่ ซึ่งกำลังขาย
ดิบขายดีทั้งในญี่ปุ่นและในยุโรป รูปทรงองค์เอว และรายละเอียดของตัวถังภายนอก เมื่อมองตรงๆ จาก
ด้านหน้า จุดเด่นสะดุดตา คือ แผงกระจังหน้ารูปสี่เหลี่ยมคางหมูฐานคว่ำขนาดโตสะใจ กับดวงโคมไฟ
หน้าเรียวยาว มีรูปลักษณ์เหมือนเส้นโค้ง 2 เส้นตัดพาดกัน และเมื่อมองจากด้านข้าง จุดสะดุดตาที่
เห็นได้ชัดเจน คือ ขอบหลังคาที่ดูเหมือนลอยอยู่ในอากาศ เพราะเสาค้ำยันหลังคามีสีกลมกลืนไปกับ
พื้นที่กระจก และเส้นสายอันอ่อนพลิ้วของตัวถัง ซึ่งเอกสารประชาสัมพันธ์ของ ซูซูกิ ระบุว่า ได้อิทธิพล
มาจากรูปลักษณ์ของน้ำที่ซัดกระจาย หรือ SPLASH ซึ่งเป็นที่มาของชื่อรถนั่นเอง
เป็นรถวางเครื่องหน้า/ขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยพลังจากเครื่องยนต์ DOHC 4 สูบเรียง 16 วาล์ว 1.2
ลิตร ที่ค่ายนี้เพิ่งออกแบบและพัฒนาขึ้นใหม่ ส่วนระบบเกียร์ที่ใช้ในรถห้าที่นั่งขนาดเล็กกะทัดรัดคันนี้
เป็นเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ
ABOUT THE AUTHOR
ช
ชูศักดิ์ ชมจินดา
ภาพโดย : ชูศักดิ์ ชมจินดา/ชลัทชัย ปภัสร์พงษ์ และบริษัทผู้ผลิตนิตยสาร 399 ฉบับเดือน มกราคม ปี 2550
คอลัมน์ Online : ระเบียงรถใหม่