รุ่นนี้พอมีเหลือ
MEGA-อารมณ์
ผมเขียนหนังสือมาก ถ้านับเป็นแรมปีก็เกือบจะครึ่งศตวรรษ ทำให้คนรุ่นเดียวกันมีคำถามกับผมทุกครั้งว่า ผมมีอารมณ์เขียนหนังสือออกได้อย่างไร ?
การเขียนหนังสือเป็นการระบายอารมณ์ชนิดหนึ่ง เมื่อรู้สึกโกรธก็เขียนหนังสือได้และเมื่อรู้สึกเมตตาก็เขียนหนังสือได้อีก เช่นเดียวกับรู้สึกขบขัน รู้สึกเศร้าสลดหดหู่สังเวชในใจ รู้สึกตื่นเต้นและแปลกๆ ในชีวิต ก็จะลงมือเขียนได้
นักเขียนหนังสือที่มีชื่อเสียงหลายท่านเท่าที่ผมรู้จัก ต่างมีความเป็นส่วนตัวไม่เหมือนกันส่วนใหญ่แล้วพอแนะนำนักเขียนใครขึ้นมาสักคน เราก็จะตีความล่วงหน้าก่อนด้วยการยิงคำถามไปว่า
"วันหนึ่งๆ สูบบุหรี่กี่ซองครับ ?"
เหมือนกับเจอ ท. ทหาร แล้วก็ต้องเข้าใจว่า วันหนึ่งถองเหล้าไปกี่ขวด จึงจะเข้าบทกลอนไทยโบราณที่ว่า "เป็นเมียทหารนับขวด เป็นเมียตำรวจนับแบงค์"
นักเขียนอย่าง สมชาย อาสนจินดา หรือ ส. อาสนจินดา "สุภาพบุรุษนักประพันธ์" ผมเห็นท่านเขียนหนังสือไม่เคยให้มือข้างหนึ่งหลุดจากปากกาดินสอ พร้อมกันนั้นก็ใช้นิ้วมืออีกข้างหนึ่งเป็นประโยชน์ต่อการสูบบุหรี่ สูบจนกระทั่ง วัตถุดิบสองประเภทมาเข้ากันได้คือ พี่ ส. ในบางครั้งจะเขียนบทภาพยนตร์บนซองบุหรี่นั่นละครับ
บุหรี่ ค่อนข้างจะเป็นเชื้อการเขียนหนังสือของนักเขียนมากที่สุด รองลงไปก็คือ กาแฟดำถ้าไม่มีกาแฟดำร้อนตั้งข้าง ๆ ก็จะเขียนหนังสือไม่ได้ กาแฟดำที่ว่านี้ไม่ใช่กาแฟดำทั่วๆ ไป แต่เป็นกาแฟดำที่แก่จัด ยิ่งแก่ยิ่งเขียนหนังสือได้ดี
ออนอร์ เดอ บัลซัก (HONORE DE BALZAC) เป็นนักเขียนหนังสือชาวฝรั่งเศส (1799-1850) ชอบเขียนเรื่องเบาสมอง ขบขันแบบทะลึ่ง เมืองฝรั่งเศสนั้น ไม่ได้มีชื่อเสียงไปในทางน้ำหอมเพียงอย่างเดียว เรื่องรสนิยมของการจิบกาแฟ ก็ถือว่าระดับโลก ร้านขายกาแฟที่มีลูกค้านั่งริมถนนที่มีชื่อเสียงของโลกไม่มีที่ไหนโด่งดังเท่าฝรั่งเศส
บัลซักไม่ได้ใช้คนรับใช้วิ่งออกไปซื้อโอยัวะแก่ๆ ที่ปากตรอก แต่เขามีวิธีนุ่มนวลกว่านั้นตระเวนอย่างพิถีพิถันหากาแฟไปทั่วเมืองปารีส เพื่อให้ได้รสชาติของกาแฟที่ดี ก่อนจะลงมือเขียนหนังสือ เขาสดุดีความดีงามของกาแฟไว้ตอนหนึ่งว่า
"เมื่อกาแฟมันไหลเข้าท้อง มันจะทำให้ทุกสิ่งเริ่มทำงาน ความคิดเริ่มคึกคัก โปร่งใสความทรงจำก็แม่นยำอย่างมีรสชาติ ตัวละครในเรื่องก็จะเริ่มโลดแล่นไปอย่างมีชีวิตบนหน้ากระดาษ พักเดียวก็จบไปบทหนึ่งแล้ว"
นิยายหลายเรื่องสั้นของเขา เข้าทำเนียบ RIBALD CLASSIC ของนิตยสารเพลย์บอยบัลซักเป็นนักเขียนในศตวรรษที่ 18 ก่อนมาถึง กีย์ เดอ โมปาสซองต์ (GUY DE MAUPASSANT) และ ออสการ์ ไวลด์ (OSCAR WILDE)
ผมเขียนหนังสือออกเสมอ ยิ่งถึงเวลาไฟลนก้นยิ่งเขียนออกมากขึ้น ไม่ค่อยชอบการเขียนหนังสือแบบทิ้งไว้ล่วงหน้านานๆ ซึ่งก็อาจเกิดจากการเป็นนักเขียนหนังสือพิมพ์ที่ต้องอาศัยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน เป็นวัตถุดิบ เป็นความเร่งด่วนที่มีกำหนดเวลา เพราะหนังสือจะต้องขึ้นแท่นพิมพ์ และเข้าไปสู่ระบบการจัดจำหน่าย เอาไปวางขายทั้งในห้างและแบกะดิน
ผมเคยได้รับเชิญให้ไปบอกนักเรียน นักศึกษา และนิสิตว่า เขียนหนังสือออกได้ยังไงบ่อยครั้งทำอย่างไรจึงจะเป็นนักเขียนได้ หรือเขียนหนังสือเป็น ผมก็มักตอบง่ายๆ ว่า
"อยากเป็นนักเขียนหนังสือ ไม่ยาก ภายในรู้สึกอย่างไรเอามันออกมาเขียนให้หมดสิ้น"
พูดอย่างเรียบง่ายก็คือ อยากเขียนอะไรก็จงตั้งหน้าเขียนไปอย่างที่เราต้องการลงมือเขียนได้เลยไม่จำเป็นต้องผ่านสถาบันการสอนการเขียนที่ไหน เอาความรู้ในวิชา "เรียงความ" มาใช้ก็พอแล้ว
ลักษณะการเขียนหนังสือของแต่ละท่าน ย่อมแตกต่างกันไป บางท่านเขียนแต่เรื่องลึกลับสืบสวนสอบสวน บางท่านเขียนแต่การหักเหลี่ยมเฉือนคม บางท่านก็เขียนแต่เรื่องของข้อกฎหมายที่มีช่องโหว่ให้เป็นเรื่อง เพราะคนเขียนเป็นทนายความ เขียนสำนวนมาหลายหมื่นคดีในชีวิต บางท่านก็เขียนแต่เรื่องรักโศก และบางท่านก็เขียนด้วยอารมณ์ขัน เห็นอะไรเป็นเรื่องน่าหัวเราะไปหมด
เช่น ไปกินข้าวตามร้านทั่วไป เข้าห้องส้วมเจอป้าย "อย่าทิ้งก้นบุหรี่ลงโถปัสสาวะ" ถ้าเราคิดสักนิดก็จะอดหัวเราะไม่ได้ เริ่มจากเหตุผลที่ว่า ทำไมทิ้งไม่ได้ แล้วก็สรุปว่า เพราะถ้าไม่เชื่อฟัง จะทำให้บุหรี่ที่ทิ้งไปในโถปัสสาวะแล้ว จุดไฟไม่ติด
ผมชอบ คุณวิลาศ มณีวัต ท่านเป็นนักเขียนประเภทอารมณ์ขัน เห็นอะไรท่านก็คิดเป็นเรื่องขบขันบันเทิงใจของท่านไปทั้งสิ้น และท่านเป็นคนชอบหัวเราะ โดยท่านบอกว่า
"ผมชอบหัวเราะ เพราะเมื่อหัวเราะแล้วทำให้เป็นสุข สนุก สบาย ผมจึงหัวเราะก่อนอาหารสามเวลาและแถมตอนก่อนนอนด้วย"
กาลครั้งหนึ่ง ผมรวบรวมข้อเขียนที่เขียนลงในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ยุคเสียงอ่างทอง รวบรวมออกมาได้เป็นพอคเกทบุคสองเล่ม ผมตั้งชื่อหนังสือว่า "ยิ้มน้อย" หนึ่งเล่ม และ "ยิ้มใหญ่" อีกหนึ่งเล่ม ปรากฏว่าคุณวิลาศชอบชื่อหนังสือจนต้องเขียนถึง
อีกท่านหนึ่ง คุณประยูร จรรยาวงษ์ ท่านเป็นนักเขียนการ์ตูนล้อการเมืองที่ยิ่งใหญ่ของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ของท่านอาจารย์ มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
คุณประยูร เป็นผู้มีอารมณ์ขันเกินร้อย ใบหน้าของท่านเปื้อนยิ้มอยู่ตลอดเวลา ท่านเคยพูดกับผมว่าหัวใจของท่านเหมือนกลองเพล เห็นอะไรท่านก็หัวเราะได้เป็นเรื่องขบขัน แม้การเตะปี๊บ ท่านก็สามารถเขียนออกมาได้ความรู้สึก จนกระทั่งสำนักงานใหญ่ของไทยรัฐต้องเอาไปขยายประดับไว้จนถึงป่านนี้
ความจริง การหัวเราะของมนุษย์เราเป็นเรื่องดีมาก บรรเทาความเครียดและสามารถเป็นตัวยารักษาโรคไม่ต้องเสียเงินแม้แต่ 30 บาทด้วยซ้ำไป
คุณอาจหัวเราะเพราะได้ดูเรื่องตลก บางทีแม้ภัยมาก็หัวเราะได้ รถไฟฟ้าใต้ดินเปลี่ยนสถานีปลายทางกะทันหัน แทนที่จะไปส่งท่านถึงบางซื่อ ก็เปลี่ยนไปสถานีอื่น ท่านก็ทำอะไรไม่ได้ดีเท่ากับเปล่งเสียงหัวเราะ
แต่อย่าให้ดังเกินขนาด เพราะคนรอบข้างอาจคิดไปว่า ท่านวิกลจริต
บางทีท่านหัวเราะเป็น เพราะท่านเป็นคนอารมณ์ดี บางครั้งเห็นหรือได้ยินเรื่องแปลกประหลาดก็หัวเราะได้ หรือในเวลาที่คนอื่นเขาหัวเราะกันขึ้นมา และท่านเป็นคนหนึ่งในกลุ่ม ท่านก็ควรหัวเราะตามไปกับเขา
ไม่ใช่ว่า เขาหัวเราะกัน และแยกย้ายกลับบ้านไปกันหมดแล้ว ท่านเพิ่งมาหัวเราะเอาในตอนเช้าของวันต่อมา แสดงว่า อารมณ์ขันของท่านลึกเกินขนาดมาตรฐาน
คุณวันจักร วรดิลก เป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ท่านหนึ่งในยุคเดียวกับผม ท่านเล่นกีฬารักบี (RUGBY) ได้เฮี้ยนมาก วันหนึ่งได้พบหน้ากัน ท่านก็ยังอดเล่าให้ผมฟังไม่ได้ว่า มีเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งที่ผมซึ่งเป็นโฆษกบนเวทีนำมาเล่าให้เพื่อนนักศึกษาฟัง คุณวันจักรฟังแล้วหัวเราะตามเพื่อนไม่ทัน
ผมก็จำไม่ได้ว่า ผมเล่าเรื่องอะไร ? คุณวันจักรก็เล่าแบบจำได้ติดหูติดตาว่า"กาลครั้งหนึ่ง นาย ก. ถีบสามล้อ มีนายกิ่งเป็นผู้โดยสาร ถีบมาดีๆ ก็มีเหตุการณ์เฉพาะหน้าเกิดขึ้น รถรางวิ่งตัดหน้า คุณ ก.จึงดีดกระดิ่ง
"พลอยให้มีคำถามออกมาจากผู้เล่า (คือผมนั่นแหละ) ว่า เมื่อ คุณ ก. ดีดกระดิ่งแล้วคุณกิ่งทำอะไร ?"
อารมณ์ขันทำลายล้างและสามารถกำจัดความเครียดออกไปจากร่างกายของเราได้เสมอและสำหรับการเขียนหนังสือของผมด้วยแล้ว ยิ่งเป็นตัวช่วยหลักอย่างมีประสิทธิภาพ
ทำให้ผมเขียนหนังสือออกมามาก เป็นเหตุที่มีคนเพียรถามเสมอว่า ผมเขียนหนังสือออกได้อย่างไรจนวันหนึ่งผมก็มาเกิดความคิดว่า ไม่ค่อยได้ยินใครมาถามบ้างเลยว่า เวลาที่ผมเขียนไม่ออกผมจะทำอย่างไร ?
เรื่องเขียนไม่ออกแล้วทำอย่างไรนี้ คุณวิลาศ มณีวัต เล่าถึง "ยาขอบ" ซึ่งถูกคนถามว่าเขียนไม่ออกทำอย่างไร "ยาขอบ" ตอบทันที
"เข้าส้วมซิว่ะ ประเดี๋ยวก็ออก"
สำหรับคนเขียนหนังสืออย่างผม ถ้าไม่ออกก็เป็นเรื่องใหญ่ถึงขนาด
"ข้าวก็กินแหล่ว บุหรี่ก็สูบแหล่ว เป็นหยัง นอนบ่หลับวะ ?"
ABOUT THE AUTHOR
ไ
ไก่อ่อน
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน กันยายน ปี 2547
คอลัมน์ Online : รุ่นนี้พอมีเหลือ