พิเศษ
ย้อนรอย 10 ข่าวเด่นในรอบปี '49
ในรอบปี 2549 ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ต่างๆ ในแวดวงยานยนต์เกิดขึ้นมากมาย
4 WHEELS ขอทำหน้าที่ย้อนกลับไปทบทวนเหตุการณ์เหล่านั้น
1. ลดภาษี ซีเอนจี เหลือ 22 %
ครม. ให้เวลาผู้ผลิตรถปรับตัว 2 ปีครึ่ง
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบมาตรการประหยัดพลังงาน ตามที่กระทรวงการคลัง และ
กระทรวงพลังงานเสนอ โดยรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสาร ที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน มีความจุ
กระบอกสูบไม่เกิน 3,000 ซีซี ได้นำรถยนต์ไปติดตั้งอุปกรณ์เพื่อใช้แกสซีเอนจี จะได้รับการ
ลดภาษีสรรพสามิตจากอัตราร้อยละ 30 เหลือ ร้อยละ 22 แต่ต้องไม่เกิน 50,000 บาท
เป็นระยะเวลา 2 ปี 6 เดือน
มาตรการดังกล่าวเป็นการให้เวลาผู้ผลิตรถยนต์ ในการปรับปรุงสายการผลิตให้ติดตั้งอุปกรณ์
ซีเอนจีแบบสำเร็จรูป มาตั้งแต่โรงงานผลิตรถยนต์ โดยที่ผู้ซื้อรถยนต์ใหม่ต้องมาติดตั้งอุปกรณ์
ซีเอนจีภายหลัง ซึ่งเมื่อผู้ผลิตรถยนต์สามารถผลิตรถยนต์ที่ใช้แกสซีเอนจีได้ ก็จะได้รับการลด
ภาษีสรรพสามิตลงเหลือ ร้อยละ 22
ทั้งนี้ มาตรการการลดภาษีสำหรับรถยนต์นั่งที่นำไปติดตั้งอุปกรณ์ซีเอนจี เป็นมาตรการระยะสั้น
ที่รัฐบาลต้องการให้ประชาชนหันมาใช้พลังงานทดแทน และประหยัดพลังงานมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม คาดว่า เมื่อนำมาตรการดังกล่าวมาใช้จะมีรถยนต์มาติดตั้งอุปกรณ์แกสซีเอนจี
เพิ่มขึ้นประมาณ 18,000 คัน/ปี ซึ่งสามารถลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงได้ประมาณปีละ
760 ล้านบาท
คาดว่าเมื่อค่ายรถยนต์สนใจผลิต ซึ่งปัจจุบันมีผู้ผลิตรถยนต์ ติดตั้งเพื่อจำหน่ายแล้ว
และใน 3 ปีข้างหน้า ไทยจะเป็นฐานผลิตรถยนต์นั่งซีเอนจี จำหน่ายในประเทศ และส่งออกได้ด้วย
โดยคาดว่าใน 5 ปีข้างหน้าจะมีรถที่ใช้ซีเอนจี ไม่ต่ำกว่า 500,000 คัน
2. มาซดา-ฟอร์ด แต่งตั้งผู้บริหารใหม่
มาซดา มอเตอร์ คอร์พอเรชัน ประเทศญี่ปุ่น และฟอร์ด มอเตอร์ แต่งตั้งผู้บริหารใหม่
ทั้งนี้เพื่อต้องการความแข็งแกร่ง และผนึกกำลังในการบริหาร รวมทั้งความร่วมมือในภูมิภาค
เอเชียให้เป็นหนึ่งเดียว โดยประกาศให้ จอห์น พาร์เคอร์ เป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัท
ฟอร์ด มอเตอร์ ประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค และแอฟริกา สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพ ฯ
ประเทศไทย พร้อมกันนี้ยังคงเป็นกรรมการบริหาร และรองประธานกรรมการคณะผู้บริหาร มาซดา
นอกจากนี้ยังแต่งตั้ง โรเบิร์ท เจ กราซีอาโน ให้ดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส
มาซดา มอเตอร์ ฯ ควบคู่กับตำแหน่งรองประธานกรรมการ ฟอร์ด มอเตอร์ แอฟริกาใต้
3. มหกรรมยานยนต์ย้ายที่ใหม่ ใหญ่กว่าเดิม
บริษัท สื่อสากล จำกัด ผู้จัดงาน มหกรรมยานยนต์ หรือ MOTOR EXPO ได้ย้ายสถานที่จัดงาน
จาก ฮอลล์ 1-8 ของอิมแพคท์ เมืองทองธานี ข้ามฟากมาสู่นิวาสถานแห่งใหม่ ที่อลังการ
ยิ่งใหญ่ และสวยงามทั้งภายใน/นอกอาคาร คือ อาคารชาลเลนเจอร์ ซึ่งเป็นฮอลล์สำหรับการ
จัดนิทรรศการแห่งใหม่ของอิมแพคท์ เมืองทองธานี พื้นที่ต่างๆ ของฮอลล์สามารถอำนวยความ
สะดวกสบายแก่ผู้ชมงานได้อย่างยอดเยี่ยม และที่สำคัญ ฮอลล์แห่งนี้เป็นอาคารเอกซิบิชัน
ที่ไม่มีเสาภายในอาคารที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีพื้นที่รวมกว่า 60,000 ตรม.
4. โตโยตา มอเตอร์ คอร์พอเรชัน ตั้งบริษัทใหม่
โตโยตา มอเตอร์ คอร์พอเรชัน ประกาศแต่งตั้ง บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด
(TMAP-THAILAND) ขึ้นในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่ง
ทางด้านการผลิตของ โตโยตา ในภูมิภาคอาเซียน และเครือข่ายผู้ผลิตชิ้นส่วน ได้แก่ ไทย
อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไต้หวัน และอินเดีย รวมถึงให้การส่งเสริมสนับสนุน
การปรับปรุงการผลิตของบริษัทแต่ละแห่ง ให้สามารถผลิตได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
สูงขึ้น พร้อมกับเป็นการเสริมความเข้มแข็งให้สอดคล้องกับ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค
จำกัด (ประเทศสิงคโปร์) ซึ่งสนับสนุนการตลาดและการขายในทวีปเอเชียของ โตโยตา
5. บีโอไอ รื้อแผน เอศคาร์
หลังจากผลุบๆ โผล่ๆ อยู่นาน โครงการเอศคาร์ ก็กลับมามีความหวังอีกครั้ง เมื่อ บีโอไอ (BOI)
ได้สรุปเกณฑ์สนับสนุนรถยนต์ประหยัดพลังงาน หรือ เอศคาร์ (ACES CAR) โดยผู้ประกอบการ
ที่จะยื่นขอผลิตรถยนต์ดังกล่าว จะมีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. ต้องเสนอแผนงานประกอบด้วย โครงการประกอบรถยนต์ โครงการผลิตเครื่องยนต์
และโครงการผลิตหรือจัดหาชิ้นส่วนยานยนต์
2. เสนอแผนการลงทุนและแผนการผลิตระยะยาว 5 ปี โดยต้องมีปริมาณการผลิตไม่น้อยกว่า
1 แสนคัน/ปี ตั้งแต่ปีที่ 5 เป็นต้นไป
3. ต้องเป็นรถยนต์ที่มีคุณสมบัติประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง โดยมีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมัน
เชื้อเพลิงไม่ต่ำกว่า 5 ลิตร/100 กม. รักษาสิ่งแวดล้อม มีมาตรการความปลอดภัยตามที่
กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนด ทั้งนี้ เอศคาร์ ให้รวมถึงรถยนต์แบบผสม ที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิง
และไฟฟ้า (ไฮบริด) และรถยนต์ที่สามารถใช้พลังงานทดแทนเป็นเชื้อเพลิงได้
แต่ก็มีผู้ผลิตรถยนต์บางรายให้ความเห็นว่า ตามเกณฑ์ส่งเสริมรถประหยัดพลังงานของบีโอไอ
กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศเห็นว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่มีกำลังผลิตสูงถึงแสนคัน
ปริมาณขนาดนี้คงพึ่งตลาดในประเทศอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องมีตลาดต่างประเทศรองรับ
แต่ในความเป็นจริงรถประเภทนี้ ตลาดใหญ่อย่าง ยุโรป หรืออเมริกาใต้ ได้ผลิตเพื่อรองรับอยู่แล้ว
ประกอบกับปริมาณการผลิตจำนวนมาก และเป็นรถประหยัดพลังงานที่ต้องใช้เทคโนโลยีทันสมัย
ย่อมต้องมีการลงทุนสูง และส่งผลให้ราคาสูงตามไปด้วย ซึ่งในต่างประเทศราคาของรถเล็ก
ประหยัดพลังงานก็ไม่ได้ถูกแต่อย่างใด ดังนั้นบีโอไอต้องมองให้ชัดว่า จริงๆ แล้วมีโอกาสตรงนี้
หรือเปล่า
6. เลิกขายเบนซิน 95
ภาครัฐมีมาตรการยกเลิกจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 95 ในวันที่ 1 มกราคม 2550 โดยจุดประสงค์
เพื่อลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะลดได้มากกว่า 4,000 ล้านบาท/ปี
ปลายปี '47 กระทรวงพลังงานสั่งยกเลิกตรึงราคาน้ำมันเบนซิน ทั้ง 91 และ 95 ทำให้ราคาขาย
น้ำมันเบนซินปรับตัวสูงขึ้น รัฐบาลผลักดันให้ใช้ แกสโซฮอล โดยส่งเสริมให้ประชาชนใช้
4 ล้านลิตร/ปี โดยเพิ่มแรงจูงใจด้วยการให้ส่วนต่างของราคาเบนซินกับแกสโซฮอล ห่างกันถึง
1.50 บาท สถานีบริการน้ำมันส่วนใหญ่เดินหน้าเลิกขายเบนซิน 95 เพื่อตอบสนองนโยบาย
ของภาครัฐ
หลายฝ่ายยังไม่มั่นใจว่าจะสามารถยกเลิกการจำหน่ายได้ทันตามกำหนดเดิมหรือไม่ เนื่องจาก
ปริมาณเอธานอลที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งานที่สูงถึงวันละ 800,000 ลิตร เพราะ
โรงงานผลิตเอธานอลที่มีเพียง 5 แห่ง มีกำลังการผลิตรวมเพียงแค่ 500,000 ลิตร/วัน เท่านั้น
แต่คาดว่าภายในสิ้นปี 2549 จะมีโรงงานผลิตเอธานอลเพิ่มขึ้นอีก 4 แห่ง ทำให้กำลังการผลิต
รวมจะเพิ่มขึ้นมาใกล้เคียงที่ 800,000 ลิตร/วัน แต่ปัญหาที่อาจพบในช่วงแรกนั้น คือ
โรงงานใหม่ๆ ยังไม่สามารถเดินเครื่องผลิตได้เต็มกำลัง ในขณะที่โรงงานเก่าๆ จะต้องหยุดซ่อม
บำรุงชั่วคราว
แต่เมื่อรัฐบาลชุดใหม่เข้ามา กระทรวงพลังงานได้ประกาศเลื่อนการยกเลิกการใช้น้ำมันเบนซิน 95
ออกไปอย่างน้อย 3 เดือน เนื่องจากโรงงานผลิตเอธานอลส่วนใหญ่ไม่พร้อมในการผลิต
และเพื่อให้โรงงานผลิตเอธานอลและปั๊มน้ำมันรายเล็กมีความพร้อมกำหนดราคาที่เหมาะสม
ในขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์บางค่ายได้เสนอให้คงการจำหน่ายเบนซิน 95 ต่อไป เพื่อเป็นทางเลือก
สำหรับผู้ใช้รถยนต์บางรุ่น บางยี่ห้อ
7. ไฮบริด บุกตลาดเมืองไทย
สำหรับภาวะน้ำมันแพงแบบนี้ ผู้นำเข้ารถยนต์อิสระทั้ง บริษัท เอส.อี.ซี. ออโต้เซลส์ แอนด์
เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอสอีซี กรุพ/บริษัท อีตั้น คาร์ จำกัด และบริษัท เค วี เอ
ออโต้เซ็นเตอร์ จำกัด ได้นำรถพลังงาน 2 ระบบ "ไฮบริด" ซึ่งเป็นการผสมผสานการทำงาน
ระหว่างน้ำมันเบนซิน กับมอเตอร์ไฟฟ้า เข้ามาจำหน่ายในเมืองไทยเพิ่มมากขึ้นจากปีก่อน
เริ่มจาก โตโยตา เอสตีมา ไฮบริด (TOYOTA ESTIMA HYBRID) โดยเครื่องยนต์เบนซิน 2.4 ลิตร
4 สูบ 16 วาล์ว 150 แรงม้า มอเตอร์ไฟฟ้าด้านหน้าให้กำลังสูงสุด 143 แรงม้า ส่วนด้านหลัง
มีกำลัง 68 แรงม้า เมื่อรวมกำลังทั้งหมดในขณะที่เครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าทำงานพร้อมกัน
จะให้กำลังสูงสุด 190 แรงม้า ต่อด้วย โตโยตา อัลฟาร์ด ไฮบริด (TOYOTA ALPHARD HYBRID)
เครื่องยนต์เบนซิน 2.4 ลิตร 4 สูบ ระบบขับเคลื่อน E-FOUR
สุดท้าย โตโยตา ปรีอุส ไฮบริด (TOYOTA PRIUS HYBRID) ส่วนแรกเป็นเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร
4 สูบ 16 วาล์ว VVT-I ระบบจุดระเบิดแบบ TDI หรือ TOYOTA DIRECT IGNITION พลังงาน
ส่วนที่ 2 เป็นมอเตอร์ ชนิดแม่เหล็กถาวร ทำหน้าที่เป็นมอเตอร์สตาร์ท และอัลเทอร์เนเตอร์
หรืออุปกรณ์ปั่นไฟในตัว เพื่อชาร์จไฟเข้าสู่แบทเตอรี มีกำลัง 44 แรงม้า ที่รอบการหมุน
1,040-5,600 รตน.
8. ควายลาก รถขับสี่
กลับมาอีกครั้งกับข่าวประท้วงผู้ผลิตรถยนต์ หลังจากเมื่อปีที่แล้วแฟชันทุบรถประท้วง
เป็นข่าวใหญ่โตทางสื่อต่างๆ
ครั้งนี้เป็นนักธุรกิจไอที ชาวไต้หวัน นำควายมาลากรถยนต์ยี่ห้อ แลนด์ โรเวอร์ ดิสคัฟเวอรี 2
แห่ประจานเนื่องจากซื้อรถมาแล้วประสบปัญหาตลอดการใช้งาน ทำให้ บริษัท ไทยอัลติเมท
คาร์ จำกัด ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ แลนด์ โรเวอร์ ประเทศไทย ต้องรีบออกมาชี้แจง เพื่อไม่ให้
เกิดความเข้าใจผิด หรือสับสนในหมู่ผู้บริโภคทั่วไป โดยกรณีที่มีผู้มาร้องเรียนเรื่องปัญหาที่พบ
ในรถยนต์ แลนด์ โรเวอร์ ดิสคัฟเวอรี 2 ผ่านทางสื่อมวลชน
บริษัท แลนด์โรเวอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้มีการเจรจาเบื้องต้นระหว่างลูกค้า ตัวแทนจำหน่ายบริษัท
ไทยอัลติเมท คาร์ จำกัด และผู้แทนจาก แลนด์โรเวอร์ ประเทศไทย ต่อหน้าผู้แทน สคบ.
โดยลูกค้ามีความประสงค์ที่จะเปลี่ยนรถคันใหม่ หรือคืนเงินเต็มจำนวน ทางเจ้าหน้าที่ สคบ.
จึงได้ช่วยไกล่เกลี่ยเพื่อขอโอกาสในการซ่อมและแก้ไขรถคันดังกล่าว หลังจากนั้นทางศูนย์
ได้ติดต่อลูกค้าทันทีเพื่อนัดหมายให้นำรถเข้ามาเชคและตรวจสอบอย่างละเอียด แต่ไม่ได้
รับการตอบรับจากลูกค้า
หลังจากที่มีการเจรจาเบื้องต้นที่ สคบ. ทางศูนย์บริการ ฯ ได้พยายามติดตามอีกหลายครั้ง
ตลอดระยะเวลา 2 เดือน แต่ลูกค้าไม่ได้รับสาย ไม่ได้โทรกลับ และไม่รับการเจรจาใดๆ ทั้งสิ้น
ทำให้บริษัท ฯ ไม่มีโอกาสได้ตรวจสอบ และเชครถยนต์คันดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์บริการ ฯ ได้ส่งจดหมายถึงลูกค้า สำเนาส่ง สคบ. และแลนด์โรเวอร์
ประเทศไทย ฯ โดยแสดงความรับผิดชอบและเสนอที่จะดูแลแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งขอให้
ลูกค้านำรถมาเชคที่ศูนย์บริการ โดยทางบริษัท ฯ จะให้รถยนต์สำรองใช้ระหว่างซ่อม แต่ทาง
ลูกค้าได้ตอบกลับมา ยืนยันว่าต้องการให้บริษัท ฯ ชดใช้เปลี่ยนรถคันใหม่ หรือคืนเงินตาม
ราคาที่ซื้อ
9. นิสสัน เปลี่ยน ผู้บริหาร
นิสสันมอเตอร์ ประกาศแต่งตั้ง เทียร์รี วีอาดิว ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ของ บริษัท
สยามนิสสัน ออโตโมบิล จำกัด ในประเทศไทย แทน โคซาคุ โฮโซคาวา
ซึ่งหมดวาระ และกลับไปดำรงตำแหน่งผู้บริหารที่ นิสสันมอเตอร์ สำนักงานใหญ่ ประเทศญี่ปุ่น
สาเหตุการเปลี่ยนผู้บริหารใหม่แบบสายฟ้าแลบ หลายฝ่ายวิจารณ์ว่า น่าจะมาจากการ
ดำเนินงานที่ผ่านมาไม่เข้าเป้า โดยเฉพาะเรื่องยอดขายที่ตกต่ำลงตลอด แม้จะมีรถยนต์ใหม่
เปิดตัวสู่ตลาดไทยอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น นิสสัน เทอานา และนิสสัน ทิอิดา กลับมี
ยอดขายต่ำกว่าเป้าที่วางไว้
ยอดขายที่ตกต่ำมาจากการทำตลาดที่ผิดพลาด ซึ่งมีการวางตำแหน่งสินค้าไม่ชัดเจน
โดยเฉพาะ นิสสัน ทิอิดา ทำให้ลูกค้ามีความเข้าใจในตัวสินค้าผิดพลาดไปหมด
โดยไปเปรียบเทียบกับรถเก๋ง ซับคอมแพคท์ ทั้งที่ ทิอิดา อยู่ในกลุ่มคอมแพคท์คาร์
10. ยุคพิคอัพ คอมมอนเรล
คอมมอนเรล เป็นระบบจ่ายน้ำมันทันสมัยของเครื่องยนต์ดีเซล ที่มีประสิทธิภาพกว่าระบบ
หัวฉีดแบบดั้งเดิม มีใช้ในรถหลายเชื้อชาติ ทั้งญี่ปุ่น ยุโรป เกาหลี และสหรัฐอเมริกา
ทั้งรถพิคอัพ รถเก๋ง และรถอเนกประสงค์
ตลอดปี 2549 มีรถทยอยเปิดตัวเครื่องคอมมอนเรล เช่น บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส
(ประเทศไทย) จัดเปิดตัว ทไรทัน เครื่องยนต์ 3.2 ดีไอ-ดี ไฮเพอร์ คอมมอนเรล เทอร์โบแปรผัน
อินเตอร์คูเลอร์ 165 แรงม้า เครื่องยนต์ 2.5 ดีไอ-ดี ไฮเพอร์ คอมมอนเรล เทอร์โบแปรผัน
อินเตอร์คูเลอร์ ขนาด 2.5 ลิตร 140 แรงม้า เครื่องยนต์ 2.5 ดีไอ-ดี ไฮเพอร์ คอมมอนเรล
เทอร์โบ อินเตอร์คูเลอร์ ขนาด 2.5 ลิตร 116 แรงม้า ต่อด้วย บริษัท เชฟโรเลต เซลส์
(ประเทศไทย) จำกัด ที่เปิดตัว เชฟโรเลต์ โคโลราโด คอมมอนเรล 3.0 ทีดี อินเตอร์คูเลอร์
146 แรงม้า ส่วน มาซดา บีที-50 เครื่องยนต์ดีเซล ไดเรคท์อินเจคชัน เทอร์โบ อินเตอร์คูเลอร์
ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ตัวเดียวกับ ฟอร์ด เรนเจอร์ ใหม่ ให้แรงบิดสูงสุด เริ่มต้นที่รอบเครื่องยนต์ต่ำ
เพียง 1800 รตน.
มี นิสสัน เพียงยี่ห้อเดียวที่ยังไม่ได้ใช้ แต่พิคอัพของ นิสสัน รุ่นใหม่ ได้เตรียมการในปี 2549
เพื่อขายจับคู่กับ เครื่องคอมมอลเรลแน่ๆ ในต้นปีนี้ แม้จะช้าไปหน่อย แต่ก็ดีกว่าไม่มาเสียเลย
ABOUT THE AUTHOR
ถ
ถาวร
ภาพโดย : -นิตยสาร 417 ฉบับเดือน มกราคม ปี 2550
คอลัมน์ Online : พิเศษ(4wheels)