รุ่นนี้พอมีเหลือ
ภาพยนตร์กับชีวิต
และเมื่อข้าพเจ้าเข้ามาเรียนหนังสือต่อที่กรุงเทพ ฯ บ้านพักก็บังเอิญอยู่หน้าวิกบ้านขมิ้น
ตกเวลาประมาณสี่โมงเย็นจะได้ยินเครื่องขยายเสียงดังจากวิกเข้ามาถึงในบ้านทุกวัน เป็นเพลงจากกรมโฆษณาการ
ต่อมาอีกไม่นานก็จะได้ยินเสียงหวูดจากกรมอู่ทหารเรือ ใกล้วัดระฆังเป็นสัญญาณบอกเวลาห้าโมงเย็น
วิกหนังบ้านขมิ้น อยู่บนถนนอรุณอมรินทร์ บ้านพักข้าพเจ้าเป็นบ้านเช่า ด้านหนึ่งติดกับลำคลองบ้าน
ช่างหล่อ ก่อนนี้เรียกบ้านชาวเหนือเป็นข้าในกรมพระราชวังหลัง
ข้าพเจ้าเป็นนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย การเดินทางไปเรียนหนังสือต้องข้ามฟากที่ท่าเรือ
พรานนก ข้ามไปท่าวังหลัง ขึ้นรถรางผ่านท่าราช ท่าเตียน ปากคลองตลาด จนถึงโรงเรียนซึ่งอยู่ติดกับ
สะพานพุทธ และโรงไฟฟ้าวัดเลียบ
ข้าพเจ้าเป็นแฟนวิกหนังบ้านขมิ้น แต่ได้ดูเพียงไม่กี่เรื่อง ไม่ค่อยตื่นเต้นเหมือนเมื่อครั้งได้เป็นแฟนหนัง
วิกหน้าองค์พระที่นครปฐม
สมัยข้าพเจ้ายังเป็นเด็กเล็ก เคยตามพี่ชายเข้ามากรุงเทพ ฯ และจำได้ว่าพี่ชายพาเข้าโรงหนังใหญ่
น่าจะเป็นศาลาเฉลิมกรุง จำได้แต่ว่าเป็นลำแสงพวยพุ่งออกมาจากที่มืดๆ มาตื่นอีกทีก็เป็นหน้าต่างใน
วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ ติดกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บ้านพักข้าพเจ้าหน้าวิกบ้านขมิ้น ยังเป็นสตูดิโอของช่างปั้น และได้เห็นช่างปั้นกำลังปั้นพระรูปของ
สมเด็จกรมหลวงสงขลานครินทร์ ซึ่งต่อมาทราบว่าได้นำไปประดิษฐาน ณ โรงพยาบาลศิริราช
ใต้ถุนบ้านพักเป็นที่อยู่ของอาบังพุงอ้วน ข้าพเจ้าชอบดูการรับประทานอาหารเย็นของเขาบนถาด
ทองเหลืองใบโต
กับคลองบ้านช่างหล่อ ข้าพเจ้าอาศัยเป็นที่ซักผ้าและว่ายน้ำเล่นเป็นประจำแทบทุกคืน เพราะติดสาว
นักเรียนโรงเรียนราชินี (ล่าง)
ข้าพเจ้าอยู่บ้านช่างหล่อเพียงสองปี ต่อจากนั้นคุณพ่อย้ายเข้ามารับราชการที่กรุงเทพ ฯ เป็นสมุห์บัญชี
ประจำอำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย แถวหลานหลวง และได้ซื้อบ้านอยู่ที่ถนนพรานนก สี่แยกพรานนก
สี่แยกพรานนกเป็นสี่แยกที่ไกลไปจากสี่แยกอรุณอมรินทร์
และค่อนข้างเปลี่ยวถึงขนาดสามล้อที่จอดอยู่
ท่าเรือพรานนกไม่ยอมถีบเข้าไปในเวลากลางคืน
ถึงตอนนั้นข้าพเจ้าก็เข้าเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว และยังอยู่ท่าพระจันทร์เป็นหลัก อาศัยทั้ง
รถเมล์บุญผ่อง รถราง และรถส่วนตัวของเพื่อนๆ
ช่วงนี้ ข้าพเจ้าก็เริ่มทำตัวเป็นคนกรุงเทพ ฯ นุ่งกางเกงขาสั้น โชว์ถุงเท้าสีต่างๆ เรียกว่ากางเกงหนีน้ำ
สวมเสื้อแอโรว์ตัวละ 70 บาท ซื้อที่ร้านค้าของ อจส. สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง
ที่ซื้อได้ขนาดนั้น เพราะข้าพเจ้าเริ่มทำงานเป็นสมุห์บัญชีของโรงภาพยนตร์ควีนส์ วังบูรพา
ได้เงินเดือนละพันห้าร้อยบาท
ข้าพเจ้ายังไม่ห่างจากภาพยนตร์ ตอนเป็นนักศึกษาก็ต้องนั่งรถรางจากท่าพระจันทร์ไปที่ราชวงศ์
เยาวราช เพื่อเข้าไปดูหนังในโรงภาพยนตร์ศรีเยาวราช และศรีราชวงศ์
ข้าพเจ้าได้ดูภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น "วิมานรัก" "ระบำสายฝน" "สามทหารเสือ" และ "ไนแอการา"
ล้วนเป็นหนังคลาสสิคที่ข้าพเจ้าประทับใจ รวมทั้ง "วิมานลอย" ส่วนที่โรงภาพยนตร์แคพปิตอล
ถนนเจริญกรุง ข้าพเจ้าได้ดูเรื่อง "รักด้วยเลือด" (DUEL IN THE SUN) และหนังใหญ่ของวิกเตอร์
เมเจอร์หลายเรื่อง รวมทั้ง "แซมซันและเดไลลาห์"
ข้าพเจ้าได้ดูหนังหลายเรื่อง และโชคดีที่เสียค่าดูราคาพิเศษ คือ เสียแต่ค่าอากรแสตมป์
ราคาบัตรเข้าชมภาพยนตร์นั้น ต้องบวกค่าอากรแสตมป์ตามราคา แต่ที่ข้าพเจ้าได้สิทธิ์พิเศษ ก็เพราะ
ได้รับบัตรสมนาคุณ เนื่องจากบิดาข้าพเจ้าเป็นสมุห์บัญชีในพื้นที่ เจ้าของโรงภาพยนตร์จึงเอื้อเฟื้อ
บัตรพิเศษให้เป็นประจำทุกปี
โรงหนังของกรุงเทพ ฯ บนเจริญกรุงเริ่มแต่ศรีอยุธยา สะพานดำ ผ่านศาลาเฉลิมกรุงมาก็เป็นสี่แยก
เอสเอบี มีแคพปิตอล เฉลิมนคร พัฒนากร และบรอดเวย์สามแยก ถัดมาก็เป็นศาลาเฉลิมบุรี
และเป็นเทกซัส ตรอกแปลงนามซึ่งฉายภาพยนตร์อินเดียเป็นประจำ
โรงหนังบรอดเวย์สามแยก ต่อมาได้กลายเป็นสถานที่ทำงานของข้าพเจ้า
ก็เลยได้กินข้าวมันไก่สามแยกแทบทุกมื้อกลางวัน ที่โรงภาพยนตร์แห่งนี้ข้าพเจ้ามีตำแหน่งช่วยโฆษณา มีหนังดีๆ หลายเรื่อง เช่น "วายร้ายแห่งนคร" และ "สาวนาเกลือ" เจ้าของโรงภาพยนตร์ชื่อ สรบุศย์ ธีระโกเมน
และต่อมาชีวิตข้าพเจ้าก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ไปโดยปริยาย ได้ทำงานกับโรงภาพยนตร์
หลายต่อหลายแห่งของกรุงเทพ ฯ ในตำแหน่ง ผู้จัดการฝ่ายโฆษณา
คุณสรบุศย์ มีโอกาสไปทำโรงภาพยนตร์ควีนส์ต่อจากคุณบัณฑูร องควิสิษฐ์ หรือที่เรียกกันว่า
เสี่ยเซียวก้ก ซึ่งต่อมาก็ได้เป็นเจ้าของโรงหนังเอมไพร์ สะพานพุทธ
ข้าพเจ้าก็ทำหน้าที่ฝ่ายโฆษณา ทั้งเป็นผู้ตั้งชื่อภาพยนตร์ภาคภาษาไทย สมัยนั้น วังบูรพาเป็นแหล่ง
ชุมนุมวัยรุ่น มีโรงหนังควีนส์, แกรนด์ และคิงส์ สำนักงานบริษัทภาพยนตร์ที่รู้จักในนาม บริษัทเมเจอร์
เช่าอาคารอยู่ติดกันกับวังบูรพา ทั้ง เมโทร, ยูเอ, โคลัมเบีย และพาราเมาท์
หนังฝรั่งที่เข้ามาฉายที่ควีนส์ มีทั้ง "โลกเมื่อ 25 น." "ป้อมปืนนาวาโรน" "เอล ซิด" และ
"ลอว์เรนศ์แห่งอราเบีย" ซึ่งเป็นหนังฟอร์มใหญ่
ถัดจากวังบูรพา ก็เป็นศาลาเฉลิมกรุง เลยไปที่ถนนราชดำเนินตรงผ่านฟ้า ก็มีศาลาเฉลิมไทย ซึ่งเปลี่ยน
รูปแบบจากโรงละครเวที มาเป็นโรงภาพยนตร์ เนื่องจากความนิยมละครเวทีได้มาถึงจุดจบ
ความเจริญของกรุงเทพ ฯ ก็ขยายไปเป็นลำดับ จากวังบูรพามีโรงหนังกำเนิดใหม่อีกสามที่
สยามสแควร์ ซึ่งวัยรุ่นสมัยนั้นร้องเจี๊ยวจ๊าวเพราะรู้สึกว่าไกลมากๆ เริ่มต้นด้วยโรงภาพยนตร์สยามเป็นโรงแรก
ฉายเรื่อง "รถถังประจัญบาน" ก่อนจะมีลิโด และสกาลา ในเครือเอเพกซ์ ของคุณนงนุช ตันสัจจา
กรุงเทพ ฯ จึงมีโรงภาพยนตร์แตกฉานออกไปแทบทุกอำเภอ ที่ข้าพเจ้าเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยก็มี
โรงหนังเอเธนส์ เปิดโรงด้วยเรื่อง "ตะวันเพลิง" โรงหนังเพชรรามา เปิดโรงด้วย "กองเกวียนมหาภัย"
เป็นหนังใหญ่ ระบบเทคนิคใหม่เอี่ยมเรียกว่า ระบบซีเนรามา เลนส์เดียว
ที่เรียกเช่นนั้น เพราะสมัยนั้นมีระบบซีเนรามา ฉายภาพบนจอขนาดยักษ์และต้องฉายพร้อมกันด้วยเครื่อง
ฉายสามเครื่อง เรื่องยิ่งใหญ่ที่ฉายในระบบนี้ก็คือ "พิชิตตะวันตก" ดูเหมือนต้องฉายที่สวนลุมพินี
เพราะต้องการพื้นที่ในการติดตั้งจอภาพยนตร์มหึมา
และข้าพเจ้ายังทำงานประชาสัมพันธ์ให้กับโรงหนังสุขุมวิท เจ้าของโรงภาพยนตร์ คือ คุณอดิศร
โฆวินทะ และต่อมาก็ทำงานให้โรงหนังออสการ์ ที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ประเดิมโพรแกรมเรื่องแรกด้วยเรื่อง
"รักต้องห้ามของเจนแอร์"
เมืองกรุงเทพ ฯ สมัยนั้นยังไม่มีคนมากเหมือนเดี๋ยวนี้ คนในวงการภาพยนตร์และโรงหนังก็ล้วนแต่รู้จัก
กันทั้งสิ้น สะพานลอยข้ามสี่แยกประตูน้ำ เป็นสะพานลอยแห่งแรก ตื่นเต้นกันทั้งเมือง
ลงจากสะพานลอยข้ามแยกไปก็ถึงโรงหนังเพชรรามา กลับสวนขึ้นมาฝั่งนี้ก็เป็นโรงหนังพาราเมาท์ และฮอลลีวูด
ตรงวงเวียนน้ำพุราชเทวี
ชีวิตข้าพเจ้ากับภาพยนตร์ ยังรวมไปถึง การเขียนเรื่องราวสำหรับการสร้างหนังไทยอีกต่างหาก
ข้าพเจ้าเขียนเรื่อง "ทอง ภาค 1" เขียนเป็นเอาท์ไลน์ สตอรี ความยาวหน้าครึ่งของกระดาษขนาด A4
เขียนไว้นานหลายเดือน ไม่มีใครกล้าเอาไปสร้าง จนกระทั่งถึงมือ คุณฉลอง ภักดีวิจิตร อ่านแล้วก็
ตัดสินใจสร้างทันที โดยมอบให้ ส. อาสนจินดา เป็นผู้เขียนบทภาพยนตร์
ในสถานะเป็นนักดูภาพยนตร์
ข้าพเจ้าจำได้ว่าเคยพาคู่รักไปนั่งดูภาพยนตร์ในโรงหนังย่านสยามสแควร์
ระหว่างนั่งดูภาพยนตร์ ข้าพเจ้าจับมือเธอแน่น เป็นบทลวนลามทางเพศเพียงแค่นั้นมิได้เกินเลยกว่า
นั้นเลย แต่เมื่อข้าพเจ้ากลับถึงบ้านก็พบว่า กางเกงชั้นในของข้าพเจ้าเปียกเป็นบางพื้นที่
ชีวิตถึงวันนี้ การดูภาพยนตร์ของข้าพเจ้าก็เปลี่ยนไป ส่วนใหญ่อาศัยเทคโนโลยีของโลก เริ่มด้วยการดู
ผ่านทางแผ่นเลเซอร์ จนถึง ดีวีดี และคลิพวีดีโอโป๊ผ่านทางอินเตอร์เนท
โอกาสที่จะได้จับมือผู้หญิงในฝันระหว่างดูหนังในโรงหนังไม่มีอีกเลย...พับผ่าสิ !
ABOUT THE AUTHOR
ไ
ไก่อ่อน
ภาพโดย : -นิตยสาร 417 ฉบับเดือน มิถุนายน ปี 2550
คอลัมน์ Online : รุ่นนี้พอมีเหลือ