รุ่นนี้พอมีเหลือ
เพลย์บอย
เมื่อไม่กี่วันมานี้ มีผู้หญิงคนหนึ่งถามผมว่า ผมเคยเป็นเพลย์บอย ใช่หรือไม่ ผมยอมรับว่าใช่ ถ้าคำว่า
"เพลย์บอย" หมายถึง หนุ่มเจ้าสำราญ
แต่ถ้า "เพลบ์บอย" หมายความถึง ไอ้หนุ่มที่ไล่ล่าหาความเจริญใจให้กับชีวิตอย่างไม่รับผิดชอบ หรือภาวะผูกมัด
ผมก็คงไม่ใช่ เพลย์บอย สักเท่าไรนัก
และก็คงไม่ใช่ผมเพียงคนเดียว ยังสงสัยไปอีกหลายคนที่ผมรู้จัก อย่างเป็นต้นว่า "น้าชาติ" อดีตนายก
รัฐมนตรีของผม ท่านก็เคยได้รับการเรียกขานว่า "เพลย์บอย" แต่ท่านก็เป็นผู้นำของผมที่ช่วยกระเตื้อง
เศรษฐกิจในประเทศได้อย่างวิเศษผู้หนึ่ง
ไม่ใช่สักแต่เที่ยวเตร่หาความสำราญให้กับชีวิต โดยไม่รับผิดชอบ
เพลย์บอย ที่แท้หรือพันธุ์แท้มากๆ ไม่น่าจะเป็นใครอื่นไปได้ นอกจากผู้ชายชาวอเมริกันคนหนึ่งชื่อ
ฮิวจ์ มาร์สตัน เฮฟเนอร์ ผู้ก่อตั้งนิตยสารเพลย์บอย ขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม ปี 1953
54 ปีมาแล้วที่นิตยสารเล่มนี้อยู่กับบรรณพิภพ "เพลย์บอย" เกิดขึ้นด้วยเงินทุนเริ่มแรก 3,600 เหรียญส
รอ. มีความหนาเพียง 48 หน้า มีภาพหน้ากลางเป็นภาพ มาริลีน มอนโร ดาราดาวยั่วของฮอลลีวูด ในรูปแบบเปลือยอย่างมีศิลปะ
เฮฟเนอร์ พิมพ์นิตยสารรายเดือน "เพลย์บอย" เล่มแรกของเขาด้วยการไม่ลงวันเดือนปีบนหน้าปก
เพราะเขาคิดว่าถ้าขายไม่ได้ในเดือนนั้น ก็จะขอวางบนแผงต่อไปอีกสักเดือน
ยอดพิมพ์ของเขาคือ 7 หมื่นเล่ม !
ปรากฏว่า พอวางตลาดได้ไม่ถึงครึ่งเดือน ขายเกลี้ยง กระแสความตื่นตัวของแฟนนิตยสารสำหรับผู้
ชายอเมริกัน ทำให้เขาสามารถมีเงินทุนดำเนินการต่อ
ด้วยการยืมเงินล่วงหน้าจากเอเยนต์ขายหนังสือ ซึ่งส่วนมากต่างก็ยินดีให้เงินสำรองล่วงหน้าแก่ เฮฟ
เนอร์ โดยไม่ต้องคิดมาก
เพลย์บอย ครบ 12 เดือนเป็นครั้งแรก เฮฟเนอร์ เล่าว่า คณะบรรณาธิการของเขามีด้วยกันแค่ 7 คน
สถานที่จัดงานครบรอบปีก็เป็นร้านขายแซนด์วิชเล็กๆ ในเมืองชิคาโก
จากนั้น สัญลักษณ์รูปกระต่ายจากนิตยสารเพลย์บอย ก็เริ่มปลูกฝังค่าความนิยมให้แก่คนทั้งโลก
ผู้หญิงมีสร้อยคอเส้นเล็กซึ่งมีรูปกระต่ายแขวนอย่างสาวมั่นแห่งยุค ส่วนผู้ชายก็คุ้นเคยและรู้ซึ้งถึง
"นางกระต่ายเพลย์บอย" ว่ามีความหมายเนียนใจเพียงไหน
นิตยสารรายสัปดาห์ "ไทม์" พิมพ์ภาพ ฮิวจ์ มาร์สตัน เฮฟเนอร์ ขึ้นปกเป็นครั้งแรกในปี 1967 หรือ 14
ปีหลังจากนิตยสารเพลย์บอยเกิด
"เขาคือ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณาคนแรก" นิตยสารไทม์ กล่าวถึง เฮฟเนอร์ ในเล่ม "ที่เห็นว่า ฟ้าไม่ควรถล่ม คน
ที่เป็นแม่ทั้งโลกไม่ควรกรี๊ด ถ้าเขาพิมพ์ภาพผู้หญิงเปลือยนมในนิตยสารของเขา"
"เขาเป็นผู้ชายที่รู้ดีว่า ประเพณีเก่าแก่ของอเมริกันชนคืออะไร และเขาสามารถพลิกหน้าตาของ
นิตยสารผู้หญิงขี้อายธรรมดาทั่วไป มาเปลือยด้วยศิลปะอย่างมีชั้น พร้อมกับเรื่องราวของวัฒนธรรม
อันเข้ากับยุคสมัย ซึ่งมันได้พิสูจน์ให้เห็นโลกแห่งความสำเร็จอย่างชัดเจน"
ไม่เป็นตำนานที่น่าพิศวงอีกต่อไป เมื่อ เฮฟเนอร์ กลายเป็นต้นฉบับของสังคมอเมริกัน เขาไม่เพียงแต่
เป็นคนที่กลายพันธุ์เป็น มหาเศรษฐี แต่วิถีชีวิตของเขายังกลายเป็นต้นแบบของผู้ชายทั้งโลก และนิตยสารในสไตล์เดียวกันที่ตามมาอีกหลายเล่ม
โลกของ เพลย์บอย เริ่มแผ่ไพศาลประดุจ นโปเลียน โบนาปาร์ต รุกไล่ดินแดน พิชิตหลายต่อหลายเมืองด้วยความองอาจ และด้วยสติปัญญาแห่งการสู้สงคราม
เฮฟเนอร์ มีอาคารในเมืองชิคาโกเป็นสมบัติของนิตยสารเพลย์บอย และยังเปิดสโมสรเพลย์บอย และ
โรงแรมไปตามเมืองต่างๆ ถึง 19 หัวเมือง ทั้ง จาไมกา, วิสคอนซิน, นิวเจอร์ซีย์, ชิคาโก และไมอามี บีช
และเวลาต่อมาไม่นาน เฮฟเนอร์ ก็เป็นเจ้าของเครื่องบินส่วนตัว DC-9 หรูหราอัครเครื่องบิน ซึ่งเขาตั้ง
ชื่อเครื่องบินลำนี้ว่า "BIG BUNNY"
มีคำถามว่า นิตยสารเพลย์บอย ของ เฮฟเนอร์ นั้นได้รับการต่อต้านบ้างหรือไม่ ?
แน่นอน ! การต่อต้านนิตยสารเล่มนี้เริ่มต้นจากกลุ่มผู้เคร่งในศีลธรรมและจรรยา แล้วต่อมาด้วยพระ
สงฆ์ที่วัด รวมความแล้วก็คือ มาจากกลุ่มที่เคร่งครัดในเรื่องของวัด เรื่องของศีลธรรม และเรื่องของจริยธรรม
อย่างไรก็ตามในปี 1965 มูลนิธิเพลย์บอย ก็เกิดขึ้น ด้วยเจตนารมณ์เพื่อประกาศตนเป็นคนสู้คน เพื่อ
รักษาไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพ และค่าแห่งความเป็นมนุษย์ในสังคม
ผลก็คือ เพลย์บอย มีผู้อ่านเดือนละ 26 ล้านเล่ม
ยอดจำหน่ายนี้ไม่แสดงเพียงชัยชนะในการเปิดศึกกับผู้เคร่งครัดในศีลธรรมจรรยา แต่ยังแสดงให้เห็น
ว่า "เพลย์บอย" สามารถมียอดจำหน่ายมากกว่า บรรดานิตยสารเทียมฉบับอื่นๆ ที่พยายามวิ่งไล่มาเป็นแถว
ผมเริ่มซื้อ "เพลย์บอย" ตั้งแต่สมัยที่เซนทรัล ยังเป็นเพียงร้านจำหน่ายหนังสือต่างประเทศเล็กๆ ริมถนนเจริญกรุง ใกล้กับปากตรอกโรงแรมโอเรียนเทล
"เพลย์บอย" ไม่ใช่นิตยสารประเภทปลุกใจเสือป่า แต่กระตุกต่อมความเป็นผู้ชายได้อย่างมีชั้น ไม่ได้มี
เรื่องหยาบโลน แต่มีความขบขันอย่างมีคลาสส์ และมีความฉลาดอย่างคาดไม่ถึง
และยังไม่นับถึงบทความที่เขียนโดยบุคคลผู้มีชื่อเสียง การลงทุนซื้อนักเขียนที่มีคอนเซพท์เดียวกับ
เพลย์บอย มาทำบทสัมภาษณ์คนสำคัญๆ อาทิเช่น
จูลส์ ไฟเฟอร์, แจคกี สจวร์ท, โรมัน โปลันสกี และแจค แอนเดอร์สัน ฯลฯ
ผมชอบหน้าประจำภายในเล่ม ชื่อ "RIBALD CLASSIC" เป็นนิทานคลาสสิคสั้นๆ มักจบในหน้าหรือ
อย่างมากไม่เกิน 2 หน้า ซึ่งผมติดอย่างงอมแงม แถมยังแปลมาลงในหน้าหนังสือพิมพ์หลายเรื่อง โดยเรียกชื่อว่า "นิทานข้างหมอน"
นอกจาก "นิทานข้างหมอน" เพลย์บอย ยังมีคอลัมน์ประจำที่ผมชื่นชอบ คือ "เพลย์บอย แอดไวเซอร์"
หรือที่ปรึกษา เพลย์บอย
คอลัมน์นี้เปิดกว้างทุกเรื่อง ตั้งแต่เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เครื่องเสียง หัวใจ ชีวิต ผู้หญิงกับผู้ชาย รถยนต์ ตลอดจนการออกแบบบ้านที่พักอาศัย หรือตำราทำกับข้าว ตำราเครื่องดื่มผสมบางชนิด
ครั้งหนึ่ง ผู้ชายเมืองนิวยอร์ค เขียนปัญหาของเขาไปถาม เพลย์บอย
ปัญหาของเขาคือ 1. อยากไปเที่ยวผู้หญิงแต่กลัวติดโรค 2. เขาเป็นผู้ชายที่หลั่งเร็ว และ 3. อาวุธ
ประจำตัวของเขามีขนาดเล็ก
เพลย์บอย ตอบดังนี้ครับ 1. คุณก็ใส่ถุงยางเข้าไป 2. คุณก็ใส่ถุงยางเพิ่มเข้าไปอีก 1 อัน และ 3. คุณก็
เพิ่มถุงยางเข้าไปอีก 1 อัน
ชีวิตในสมัยหนุ่มของผมที่กำลังสำราญกับนิตยสารเพลย์บอย มีอันต้องดับวูบลง เมื่อรัฐบาลไทย
ประกาศห้ามนำเข้า "เพลย์บอย"
เฮฟเนอร์ กล่าวถึง "เพลย์บอย" ว่าเป็นนิตยสารที่มองผู้ชายและผู้หญิงคือ สัตว์โลกเซกซ์ แต่ไม่ใช่
นิตยสารเซกซ์
"เพลย์บอย" ไม่ใช่วัตถุที่เกี่ยวกับเซกซ์ แต่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ที่มีเซกซ์
ผมไม่เคยเข้าใจการทำงานของรัฐบาล กับนิตยสารเพลย์บอย มีการห้ามนำเข้ามาจำหน่าย แต่ปัจจุบัน
นี้มีนิตยสารประเภทเพลย์บอยเทียมหลายเล่มวางตลาดเกลื่อนกรุงเทพ ฯ
มีคนถาม เฮฟเนอร์ ว่า นิตยสารไทม์อยากให้เขาถูกปั้นเป็นอนุสาวรีย์เหมือนอดีตประธานาธิบดีลิน
ดอน จอห์นสัน คำถามนี้ เฮฟเนอร์ ตอบว่า
"ถ้าเราไม่มีพี่น้องตระกูลไรท์ เราก็ยังคงมีเครื่องบิน หรือถ้าโลกนี้ไม่มีคนชื่อ เอดิสัน เราก็ต้องมีไฟฟ้าใช้
เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่มีผู้ชายชื่อ ฮิวจ์ มาร์สตัน เฮฟเนอร์ เราก็ยังคงมีเซกซ์"
ABOUT THE AUTHOR
ไ
ไก่อ่อน
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน ตุลาคม ปี 2550
คอลัมน์ Online : รุ่นนี้พอมีเหลือ