รุ่นนี้พอมีเหลือ
หญิงถือตะเกียง
ครั้งหนึ่งผมเคยมีโอกาสไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น ได้รับการต้อนรับจากผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ และได้เข้าไปรับประทานอาหารค่ำสไตล์ญี่ปุ่น ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในโตเกียวลักษณะเป็นเหมือนสวนอาหาร แต่เป็นห้องแอร์
ลักษณะพิเศษของร้านนี้ อยู่ที่ตอนขากลับ จะมีพนักงานสตรีเดินนำหน้าเราไปรอขึ้นรถออกจากร้าน สุภาพสตรีคนนี้แต่งกายด้วยกิโมโน และถือตะเกียงเล็กๆ ในมือ ลักษณะคันถือตะเกียงเป็นเหมือนคันเบ็ด
เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นที่ผมจำชื่อไม่ได้แล้ว แต่จำได้อย่างเดียว คือ แพงมหาศาล
THE LADY WITH THE LAMP ที่ผมจะพูดถึงวันนี้ คือ ฟลอเรนศ์ ไนทิงเกล (FLORENCE NITINGEL) ยอดพยาบาลหญิงชาวอังกฤษ ซึ่งเธอได้รับการพูดถึงจากนิตยสารไทม์ว่าเป็น หญิงถือตะเกียง ที่รู้จักไปทั่วโลก
นิตยสารไทม์ บรรยายถึงรูปร่างอันโปร่งบางของเธอกับคนไข้ในสถานพยาบาล ท่ามกลางความเงียบสงัดและความมืด ขณะที่แพทย์และพยาบาลคนอื่นหลับใหล ก็มีเพียง ฟลอเรนศ์ ไนทิงเกลคนเดียวเดินตรวจคนไข้ โดยมีตะเกียงเล็กๆ ถือในมือ
ฟลอเรนศ์ เกิดในตระกูลที่ร่ำรวย เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ปี 1820 บิดา คือวิลเลียม เอดเวิร์ด ไนทิงเกล และมารดา คือ ฟรานศ์ ไนทิงเกล
เมื่ออายุ 17 ปี ฟลอเรนศ์ ก็อุทิศตัวเองเป็นพยาบาลที่เอมบลีย์ พาร์ค (EMBLEY PARK)อันเป็นทางเลือกที่บรรพบุรุษของเธอโดยเฉพาะ ฟรานศ์ ผู้เป็นมารดาไม่เห็นด้วย อาชีพพยาบาลในยุคนั้นมักมีแต่หญิงที่ยากจน ความหมายในการเป็นพยาบาลมีเพียงการหุงข้าวและเตรียมอาหาร
ชื่อเสียงของ ฟลอเรนศ์ กระหึ่มขึ้นในเดือนธันวาคม ปี 1844 ขณะอายุ 24 ปีเธอได้เข้าไปพยาบาลคนไข้อนาถาในโรงพยาบาลสำหรับคนจนในกรุงลอนดอน จนกระทั่งคนไข้อนาถาผู้นั้นสิ้นลมหายใจ ฟลอเรนศ์ เป็นผู้ริเริ่มการปฏิบัติกับคนไข้ด้วยการดูแลทางด้านยารักษาโรค
จากนี้เอง ฟลอเรนศ์ กลายเป็นสตรีที่มีบทบาทในการร่วมกับการปฏิรูปกฎหมายสำหรับคนยากจนของอังกฤษ
บารอน ฮูทัน (BARON HUTON) เป็นทั้งนักการเมืองและนักกวี ได้เคยขอสมรสกับ ฟลอเรนศ์แต่ได้รับการปฏิเสธ เนื่องจากเธอเห็นว่า ชีวิตแต่งงานสำหรับเธอเป็นเรื่องไม่เหมาะสมและเป็นอุปสรรคต่อการอุทิศตนเองเพื่อการพยาบาลที่ไม่เลือกเวลา และสถานที่
ชีวิตของ ฟลอเรนศ์ เข้าไปเกี่ยวข้องกับสงครามคไรเมียน (CRIMEAN WAR) ซึ่งอุบัติขึ้นในปี 1853 และสิ้นสุดลงในปี 1856 โดยฝ่ายอักษะเป็นฝ่ายมีชัยชนะต่อแสนยานุภาพของรัสเซีย
เหตุที่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เพราะหลังจาก ฟลอเรนศ์ เกิดอุบัติเหตุทางความรัก และการแต่งงานกับ บารอน ฮูทัน แล้วได้พบผู้ชายอีกคน คือ ซิดนีย์ เฮอร์เบิร์ท (SYDNEY HERBERT)รัฐมนตรีกลาโหมของอังกฤษ ระหว่างปี 1852-1855
ซิดนีย์ เฮอร์เบิร์ท เป็นผู้ชายที่มีครอบครัวแล้ว แต่เขากับ ฟลอเรนศ์ เกิดโดนใจต่อกันอย่างไรไม่ทราบได้ ทำให้คนทั้งสองกลายเป็นเพื่อนตายจนตลอดชีวิต
เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับกามเทพผู้แผลงศรกามเทวะ แต่เกี่ยวกับอาชีพระหว่างคนทั้งสองเอง
เป็นเรื่องธรรมดาที่นักการเมืองผู้ฉลาดอย่าง ซิดนีย์ ย่อมต้องรักษาชื่อเสียงกับตำแหน่งทางการเมืองที่เขาได้รับ นั่นย่อมหมายถึง การดูแลทหารในกองทัพของอังกฤษที่คไรเมียน
การดูแลทหารของกองทัพก็ต้องผูกพันไปถึงการดูแลเยี่ยงพยาบาล สำหรับทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากผลของสงคราม และนั่นก็คือ การเปิดประตูให้ ฟลอเรนศ์-หญิงผู้ถือตะเกียง เข้าไปมีส่วนร่วม
ฟลอเรนศ์ กับ ซิดนีย์ ได้พบกัน และกลายเป็นนิยาย รักระหว่างรบ ต่อมา ฟลอเรนศ์ ได้รับการบันทึกทางประวัติศาสตร์ว่า เป็นผู้หญิงซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาพิเศษทางด้านการเมืองให้กับ ซิดนีย์ เฮอร์เบิร์ท
สงครามคไรเมียน เป็นห้วงเวลาที่ชื่อเสียงของ ฟลอเรนศ์ ไนทิงเกล โดดเด่นยิ่งขึ้น
เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ปี 1854 ฟลอเรนศ์ ได้รวบรวมอาสาสมัคร 38 คน เป็นผู้หญิงทั้งหมดและผ่านการฝึกสอนการพยาบาลจาก ฟลอเรนศ์ โดยตรง เพื่อเดินทางไปประจำแนวรบของกองทัพอังกฤษในประเทศตุรกี
ฉากสำคัญของสงครามระหว่างรัสเซีย กับฝ่ายอักษะ อันประกอบด้วย ฝรั่งเศส, อังกฤษ,ซาร์ดินีอา และจักรวรรดิออทโทมาน อยู่ที่แหลมคไรเมียน ทิศตะวันตกของตุรกี
และแถบทะเลดำ
ฟลอเรนศ์ ไปถึงแนวรบในเดือนพฤศจิกายน และได้พบภาพอันแสนทรมานของบรรดาทหารที่ได้รับบาดเจ็บครวญครางเป็นร้อยเป็นพัน จุดแรกที่เธอไปถึง ในปัจจุบันนี้ คือส่วนหนึ่งของเมืองอิสตันบูล
ทหารที่ได้รับบาดเจ็บครวญคราง กับหน่วยแพทย์ของทหารที่ไม่เพียงพอ พวกเขาขาดยารักษารวมทั้งผ้าพันแผล เป็นเหตุให้นำมาซึ่งโรคติดต่อระบาด ทหารหลายคนอยู่ในสภาพอาการหนักเพียบ แม้การหุงหาอาหารก็ขาดแคลน
สิ่งแรกที่คณะของ ฟลอเรนศ์ เข้าไปจัดการ ก็คือ การทำความสะอาดเครื่องมือแพทย์และสถานให้การพยาบาล รวมทั้งแนวทางการปฏิบัติต่อคนไข้ในฐานะเป็นพยาบาลที่แท้จริง
สภาวการณ์ในตอนนั้นมิได้ดีขึ้น จำนวนการล้มตายของทหารที่บาดเจ็บกลับมากขึ้น มีรายงานว่ายอดทหารตายที่นั่นระหว่างฤดูหนาวครั้งแรกของเธอ มีจำนวน 4,077 คน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ตายเพราะอาการบาดเจ็บจากการรบ แต่ตายด้วยโรคภัยไข้เจ็บ เช่น ไข้รากสาดใหญ่, ไทฟอยด์,อหิวาตกโรค และโรคท้องร่วง
ปัจจัยหลักก็อยู่ที่ การแออัดยัดทะนานของทหาร ปราศจากความโปร่งใสในกระแสลม แทบไม่มีอากาศจะหายใจได้...ว่างั้นเถอะ จนกระทั่งทางรัฐบาลอังกฤษส่งหน่วยอนามัยไปในเดือนมีนาคมปี 1855 หลังจากนั้น 6 เดือนต่อมา จำนวนทหารที่เสียชีวิตจึงลดลงเป็นลำดับ
หลักการอนามัยเบื้องต้นนี้เอง ทำให้ ฟลอเรนศ์ ให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพื่อเป็นการปูทางให้คนไข้รอดตายมากขึ้น
คำให้การของ ฟลอเรนศ์ ต่อกองทัพ ได้รับความสนใจอย่างยิ่งจากคณะกรรมาธิการฝ่ายเสนารักษ์โดยเฉพาะคำแถลงของเธอ ที่บอกว่าเหตุสำคัญที่ทำให้ทหารเสียชีวิต เป็นเพราะขาดการดูแลที่ดี
อาชีพของ ฟลอเรนศ์ มิได้ช่วยเหลือคนเพียงระหว่างมีสงครามเท่านั้น หากในยามสงบฟลอเรนศ์ กับหลักการอนามัยเบื้องต้นดังกล่าว ได้ช่วยให้คนไข้รอดพ้นจากความตายเป็นจำนวนมาก และเป็นปฐมสูตรให้กับสถานพยาบาลหลายแห่งจนถึงวันนี้
ระหว่างสงครามคไรเมียนนี้เอง ฟลอเรนศ์ ไนทิงเกล ได้รับฉายาว่าเป็น หญิงผู้ถือตะเกียงเพราะมีผู้หญิงตัวเล็กๆ เพียงคนเดียว เดินถือตะเกียง ตรวจคนไข้ในยามวิกาลอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
เฮนรี ลองเฟลโลว์ (HENRY LONGFELLOW) นักกวีเอกของอังกฤษ ได้เขียนบทกวีสำหรับเธอขึ้นในปี 1857
ในชั่วโมงแห่งความสิ้นหวัง
ฉันเห็นหญิงผู้ถือตะเกียงผู้หนึ่ง
แสงแห่งความหวังเป็นประกายสว่างจ้า
จากห้องหนึ่งไปยังอีกหนึ่งห้องอย่างคล่องแคล่ว
ฟลอเรนศ์ ไนทิงเกล เดินทางกลับอังกฤษในวันที่ 7 สิงหาคม ปี 1857 และกลายเป็นสตรีชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียง ได้รับการยอมรับจากคนทั่วไป ทั้งระดับล่างจนถึงระดับสูงฟลอเรนศ์ ได้ย้ายตัวเองเข้าไปอยู่ในโรงแรมเบอร์ลิงทัน ย่านพิคคาเดลลี
อย่างไรก็ตาม ฟลอเรนศ์ ก็พลอยติดเชื้อมาจากสงครามคไรเมียน เป็นเหตุให้เธอต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว
ต่อมาเธอก็เป็นผู้ก่อตั้ง มูลนิธิไนทิงเกล ตั้งโรงเรียนสอนการพยาบาลในโรงพยาบาลเซนต์ ธอมัสปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ คิงส์ คอลเลจ ลอนดอน นอกจากนี้ ฟลอเรนศ์ ยังเป็นนักเขียนโดยเขียนหนังสือเกี่ยวกับการพยาบาลหลายเล่ม จนเสียชีวิตลงในปี 1910รวมอายุได้ 90 ปีบริบูรณ์
ABOUT THE AUTHOR
ไ
ไก่อ่อน
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน กรกฏาคม ปี 2551
คอลัมน์ Online : รุ่นนี้พอมีเหลือ