รุ่นนี้พอมีเหลือ
อีหนูจอมขบถ
เอมมา โกลด์แมน (EMMA GOLDMAN) ผู้หญิงชาวรัสเซีย เป็นทั้งนักอนาธิปไตย นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นทั้งนักพูด และนักเขียน แฟนคลับยกย่องเป็น ผู้หญิงจอมขบถ ผู้มีความคิดอิสระ นักวิจารณ์ว่าเป็นชนวนความขัดแย้งความคิดทางการเมือง และใช้ความรุนแรงตัดสินปัญหา
เอมมา เกิดเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ปี 2412 เสียชีวิตเมื่อ 14 พฤษภาคม ปี 2483 รวมอายุได้ 71 ปี
เธอเกิดในตระกูลยิว เขตลิธัวเนีย สมัยนั้นเรียก โคฟโน เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซีย บิดาชื่อ อับราฮัม โกลด์แมน ส่วนมารดาชื่อ เทาเบ ซึ่งเคยแต่งงานมาแล้ว และมีลูกสาว 2 คน ชื่อ เฮเลนา กับ ลีนา
เอมมา เขียนหนังสือถึงมารดาของเธอว่า ความรักในตัวแม่ได้ตายไปสิ้นแล้วกับชายหนุ่มที่แม่แต่งงานด้วยตอนอายุ 15
อับราฮัม กับ โทบี มีลูก 3 คน เอมมา เป็นลูกคนโต อับราฮัม ใช้ความรุนแรงในการทำโทษ เมื่อลูกไม่เชื่อฟัง และปรากฏว่า เอมมา โดนหนักกว่าเพื่อน พ่อใช้แส้เฆี่ยนเธอเพราะเธอจัดเป็นลูกที่ดื้อรั้นมาก ความรุนแรงจากพ่อ เอมมา บันทึกว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รสชาติทางเพศในชีวิตของเธอลดความอร่อยเหาะลงเยอะ
เมื่อ เอมมา ยังเล็ก ครอบครัวย้ายไปอยู่เมืองปาปิเล เปิดโรงแรมเล็กๆ เอมมา ถูกชะตากับผู้ชายคนหนึ่งชื่อ เปตรุชกา ทำงานเป็นลูกจ้างอยู่ในโรงแรม เล่ากันว่าเธอถูกทีเด็ดของผู้ชายคนนี้ เป็นประสบการณ์แรกทางด้านความรู้สึกทางเพศตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก
วันหนึ่ง เอมมา ได้เห็นกรรมกรชายคนหนึ่งถูกเฆี่ยนด้วยแส้กลางถนน ซึ่งกลายเป็นภาพหลอนติดตัวมาตลอดชีวิต และเป็นผลให้เธอเกลียดชังอำนาจเผด็จการ
เมื่อเธออายุได้ 7 ขวบ ครอบครัวก็ย้ายไปอยู่เมืองปรัสเซียน เขตเยอรมนี เข้าเรียนหนังสือที่นั่น เป็นนักเรียนที่ถูกครูทำโทษมากที่สุด โทษที่เธอรับไปก็เพราะการไม่เชื่อฟัง ครูที่นี่ทำโทษนักเรียนด้วยไม้บรรทัด
มีครูคนหนึ่งชอบลวนลามนักเรียนหญิง และถูกไล่ออกจากโรงเรียนเพราะ เอมมา เล่นบทนักสู้แบบกัดไม่ปล่อย
ต่อมาครอบครัวเธอย้ายไปอยู่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่ง อับราฮัม เปิดร้านสะดวกซื้อที่ไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้ครอบครัวมีปัญหาเรื่องความยากจน และเป็นผลให้เด็กๆ ต้องออกไปทำงาน เอมมา ทำงานในร้านขายเสื้อผ้าชั้นในสตรี
เอมมา อยากเรียนหนังสือมาก ขอร้องพ่อหลายครั้งจนพ่อโกรธจัด ขว้างหนังสือเรียนฝรั่งเศสเข้ากองไฟแล้วตวาดว่า
ผู้หญิงไม่ต้องเรียนมาก ลูกสาวยิวต้องเป็นแม่เหย้าแม่เรือน คอยมีลูกให้ผัวเท่านั้นพอแล้ว
เอมมา ไม่ละความพยายาม สู้มานะเรียนหนังสือด้วยตนเอง และในไม่ช้าก็เริ่มหาความรู้เรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม บรรดาหนังสือต่างๆ กลายเป็นครูผู้สะสมความคิดให้เธอมาตั้งแต่วันนั้น
อับราฮัม ยังมีความคิดเดิมๆ เห็น เอมมา โตขึ้น อายุอานามเข้าเกณฑ์ 15 หยกๆ 16 หย่อนๆ ก็นึกอย่างเดียวจะให้ลูกสาวหัวดื้อคนนี้เป็นเมียผู้ชายคนไหนดี
เอมมา ไม่โอเคกับระบอบ คลุมถุงชน ของพ่อ แต่บอกพ่อว่าต้องการระบอบ แต่งกันด้วยความรัก
ขณะทำงานในร้านขายเสื้อผ้า เอมมา ถูกหมายปองจากชายหลายคน ทั้งนายทหารรัสเซีย และชนชั้นสามัญ ในกลุ่มนี้มีไอ้หนุ่มจอมตื๊อคนหนึ่ง ยึดนโยบาย ตื๊อเท่านั้นครองโลก จนในที่สุดก็หลอก เอมมา เข้าโรงแรมจนสำเร็จ
เอมมา รู้สึกตกตะลึงกับความจริงที่ค้นพบ อันความสัมผัสระหว่างชายกับหญิงนั้นมิใช่อะไรอื่น นอกเสียจากความป่าเถื่อน และความเจ็บปวด นับเป็นความรู้สึกที่ถอนตัวยาก
เมื่อ เอมมา อายุ 16 ปี เฮเลนา พี่สาวเธอเตรียมแผนย้ายไปอยู่นิวยอร์ค สหรัฐ ฯ เอมมา ขอไปด้วย แต่พ่อไม่อนุญาต แม้ เฮเลนา จะออกค่าเดินทางให้เอง แต่พ่อก็ทำเป็นคนหูหนวก จนกระทั่ง เอมมา แค้นจัด ประกาศจะกระโจนน้ำตาย นั่นแหละพ่อจึงโอเค
เอมมา เริ่มทำงานเป็นช่างเย็บเสื้อที่เมืองโรเชสเตอร์ สหรัฐ ฯ วันหนึ่งทำ 10 ชั่วโมง ได้ค่าจ้าง 2.5 ดอลลาร์/สัปดาห์ ทำไปพักหนึ่งขอเพิ่มค่าแรง ได้รับการปฏิเสธ เธอก็ลาออกไปทำในร้านเล็กลงมาหน่อยใกล้ๆ กัน
ที่ร้านใหม่ เอมมา พบผู้ชายคนหนึ่งถูกคอกันดีชื่อ จาคอบ เคิร์ชเนอร์ เริ่มจากการดูตำราด้วยกัน เต้นรำด้วยกัน และไปไหนมาไหนด้วยกัน สุดท้ายสัก 4 เดือนเห็นจะได้ เอมมา ก็เรียบร้อยโรงเรียนจาคอบ ตอนนั้นเธออายุ 18 ปี
คืนแรกที่แต่งงาน เอมมา ก็ผิดหวัง เซ็งเต็มประตู เพราะพบว่า จาคอบ เคิร์ชเนอร์ ชายผู้เป็นสามี เป็นผู้ชายหมดสมรรถภาพ
ก็เสร็จแหละครับ อยู่กันไปไม่นานก็เริ่มมีปากมีเสียง และ จาคอบ ก็มีพฤติกรรมตามตำราสากลชื่อ ดีแต่หึง ที่สุดก็จบลงด้วยการหย่าร้างภายในเวลาไม่ถึงปี
ระหว่างนั้น อเมริกันฉาวเรื่อง เฮย์มาร์เกท แอฟแฟร์ ปี 2429 ที่นครชิคาโก เป็นการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง เจ้าหน้าที่ตำรวจตายไป 7 ราย ส่วนประชาชนที่ถูกสลายการชุมนุมไม่มีจำนวนระบุชัดเจน
แม้หย่าร้างแล้ว จาคอบ ก็อ้อน เอมมา ขอกลับมาอยู่ด้วยกัน จนเธอใจอ่อนเอาก็เอา แต่อยู่ได้ 3 เดือนก็เละอีก พ่อแม่ของ เอมมา เห็นว่า เอมมา เป็นผู้หญิงเอาแต่ใจตัวเป็นใหญ่ จึงไล่ออกจากบ้าน ตอนนั้นเธอมีเงินติดตัวแค่ 5 เหรียญ มีหัวจักรเย็บผ้าอีก 1 อัน และกระเป๋าอีก 1 ใบ เดินทางเข้าเมืองนิวยอร์ค
วันแรกในนิวยอร์คเธอพบผู้ชาย 2 คนในร้านกาแฟ ซึ่งทำให้ชีวิตเธอเปลี่ยนแปลง ร้านกาแฟนี้เป็นสถานที่พบปะของนักต่อสู้ทางการเมือง
คนหนึ่ง คือ อเลกซานเดอร์ เบิร์คแมน เป็นนักอนาธิปไตย และเชิญ เอมมา ให้ไปพูดในคืนนั้นเลย อีกคน คือ โจฮัน มอสต์ เป็นบรรณาธิการหนังสือต่อสู้ทางการเมือง ซึ่ง เอมมา ศรัทธาในความเห็นอันรุนแรงจากบทความของเขาเป็นอย่างมาก
ดวงชะตาเท่านั้น บงการให้ เอมมา ขึ้นเวทีปราศรัยได้อย่างฉะฉาน สร้างความพึงพอใจให้แก่คนฟังอย่างประหลาด เปลี่ยนสภาพชีวิตจากช่างเย็บเสื้อเป็นนักพูดโดยทันที
เอมมา ไปพูดที่โน่นที่นี่ได้ไม่นาน เกิดเป็นปากเสียงกับ มอสต์ เธอมีความรู้สึกที่บอกกับตัวเองเงียบๆ ว่า
กูไม่ใช่นกแก้วที่ (มึง) เลี้ยงไว้ในกรง
กลับจากการพูดที่คลีฟแลนด์ มอสต์ ไม่พอใจ และว่า คนที่ไปกับฉันไม่ได้คือขบถ เอมมา ก็เลยลาออกไปอยู่หนังสืออีกเล่มหนึ่ง
ระหว่างนั้นสายสัมพันธ์ระหว่างเธอ กับ เบิร์คแมน ก็กระชับมากขึ้น จนกลายเป็นคู่รักที่แยกกันไม่ออก จึงไปตกลงเช่าอพาร์ทเมนท์อยู่ในวูดสตอค อิลลินอยส์
ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดในยุโรป ขณะก่อตัวขึ้นนั้น เอมมา เขียนจดหมายถึงเพื่อนคนหนึ่ง แสดงความไม่เห็นด้วยกับการทำสงครามของสหรัฐ ฯ
ถึงฉันไม่ชอบขี้หน้า ฮิตเลอร์, มุสโซลินี และ สตาลิน ฉันก็ไม่ปรารถนาเห็นการทำสงคราม ส่วนคำว่าประชาธิปไตยนั้นน่ะหรือ ที่จริงมันคือ เผด็จการจอมปลอม ต่างหากเล่า
กุมภาพันธ์ ปี 2483 เอมมา เริ่มเป็นอัมพฤกษ์ ส่วนด้านขวาของร่างกายตายไปทั้งแถบ พูดก็ไม่ได้ ซึ่งเพื่อนคนหนึ่งของเธอกล่าวว่า
ถึงยังไงคนนี้ก็คือ เอมมา โกลด์แมน นักพูดที่ยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกา
14 พฤษภาคม ปีเดียวกัน เอมมา โกลด์แมน ผู้หญิงที่นิยมความรักเสรี ผู้หญิงที่สหรัฐ ฯ เห็นว่า มีทัศนคติชีวิตอันตรายสุดยอดของสหรัฐอเมริกา ก็เสียชีวิตลงที่เมืองโทรอนโท ประเทศแคนาดา
ABOUT THE AUTHOR
ไ
ไก่อ่อน
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน สิงหาคม ปี 2551
คอลัมน์ Online : รุ่นนี้พอมีเหลือ