พิเศษ(formula)
ลองจริง จ่ายจริง ไม่ใช้ตัวแสดงแทน รถส่วนตัว VS ขนส่งมวลชน แบบไหนประหยัดกว่า !?!
ในยามน้ำมันแพง (มาก) ผู้ใช้รถต่างต้อง เลือก หลายคนเลือกขวนขวายหาเชื้อเพลิงราคาถูก (กว่า) มาใช้เป็นพลังงานสำหรับรถคันรัก
แกสโซฮอล และ ไบโอดีเซล ช่วยประหยัดได้นิดหน่อย ไม่ต้องดัดแปลง ส่วน ซีเอนจี และ แอลพีจี ประหยัดได้มาก แต่มีค่าใช้จ่าย และต้องดัดแปลง กลุ่มคนรักรถเข้าไส้ จึงเลือกไม่ติดตั้งเพราะกลัว เสียรถ
จะด้วยเหตุผลกลัวเสียรถ ไม่มั่นใจ หรือต้นทุนการติดตั้งสูงไปก็เถอะ เมื่อต้องเจอกับราคาน้ำมันมหาโหดจนแทบจ่ายไม่ไหว หลายคนจึงเปลี่ยนใจ เลือกจอดรถไว้ที่บ้าน หันไปใช้ขนส่งมวลชน เพื่อหวังประหยัดเงินให้ได้อย่างเห็นเนื้อเห็นหนัง
แต่จะทำได้ขนาดนั้นจริงหรือ ?
เรากำลังทำอะไร ?
เรากำลังทำบททดลอง สำหรับผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวที่เปลี่ยนใจมาใช้ขนส่งมวลชน เพื่อให้ได้ข้อมูลมาหาคำตอบ จากคำถามในหัวเรื่อง โดยมีสมมติฐานการทดลอง 3 ข้อ คือ
1. ใช้ขนส่งมวลชนประหยัดกว่าใช้รถยนต์ส่วนตัว
2. ใช้ขนส่งมวลชนทางถนน ได้แก่ รถจักรยานยนต์/รถตู้/รถเมล์ ถึงจุดหมายช้ากว่ารถยนต์ส่วนตัว
3. ใช้ขนส่งมวลชนยุคใหม่ รถไฟฟ้าบีทีเอส/รถไฟฟ้าใต้ดิน ถึงจุดหมายเร็วกว่ารถยนต์ส่วนตัว
วิธีการทดลอง
ผู้ดำเนินการทดลอง คือ สมาชิกในกองบรรณาธิการ 4 คน ที่ปกติแล้วขับรถยนต์ส่วนตัวมาทำงานโดยให้จับเวลาการเดินทางจากจุดเริ่มต้นมาถึงจุดหมาย และวัดระยะทางจากมาตรวัดบนหน้าปัดรถ หลังจากนั้นนำผลที่ได้ มาคำนวณเปรียบเทียบกับการเดินทางด้วยขนส่งมวลชนรูปแบบอื่นๆ
สถานที่ทดลอง
การทดลองครั้งนี้กำหนดให้มีจุดหมายเดียวกัน คือ บริษัท สื่อสากล จำกัด ตั้งอยู่ในซอยรัชดาภิเษก 3 บนถนนรัชดาภิเษก ส่วนจุดเริ่มต้นมี 4 แห่ง ได้แก่
1. คอนโดมีเนียมกำลังสร้างติดรถไฟฟ้าสะพานควาย เป็นตัวแทนของ ชีวิตคนยุคใหม่ชอบอยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้า
2. บ้านในซอยรัชดาภิเษก 32 ลึกเข้าไปจากถนนรัชดาภิเษกราว 1 กม.
3. บ้านในซอยเจริญรัถ ลึกเข้าไปจากถนนเจริญนครราว 500 ม. เขตคลองสาน ฝั่งธนบุรี
4. บ้านในซอยวัดกู้ ลึกเข้าไปจากถนนแจ้งวัฒนะราว 2.5 กม. อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
หมายเหตุ
* บทความนี้เป็นเพียง การทดลอง เพื่อให้การอ่านสนุก และพอมองเห็นคำตอบได้ ซึ่งไม่ใช่การทดสอบ ที่ใช้เครื่องมือวัดผลทางสถิติในกระบวนการวิจัย ผลที่ออกมาไม่สามารถนำไปอ้างอิงได้
* การเดินทาง ทดลองเฉพาะการมาทำงานตอนเช้า ส่วนตอนเย็นเราเลือกใช้วิธีการอนุมานโดยการนำข้อมูลที่ได้ คูณ 2 เนื่องจากการทดลอง ไป/กลับ เพียงครั้งเดียว ไม่สามารถหาค่าเฉลี่ยได้ ทั้งยังมีตัวแปรที่ไม่สามารถควบคุมได้อยู่มากเกินไป เช่น ฝนตก อุบัติเหตุ การปิดถนนฉุกเฉิน เป็นต้น
* การออกเดินทางจากจุดเริ่มต้น ไม่ได้เริ่มที่เวลาเดียวกัน เนื่องจากบริษัท ฯ มีเวลาเข้างานเดียวกัน จึงต้องมาถึงให้ทันเวลา ในสถานการณ์จริง การเดินทางด้วยพาหนะที่แตกต่างกันผู้เดินทางจะต้องพิจารณาเลือกเวลาออกเดินทางให้เหมาะสมเอาเอง ซึ่งอาจออกก่อน หรือช้ากว่าเวลาเดิม
* อัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงของรถยนต์ คิดเป็น 10 กม./ลิตร ราคาน้ำมัน 40 บาท
* ค่าใช้จ่ายของรถยนต์คิดเฉพาะค่าเชื้อเพลิง เรื่องค่าซื้อรถ และบำรุงรักษาไม่นำมาร่วมพิจารณา เพราะกรอบการทดลองของเรา ถือว่าคุณมีรถ และต้องบำรุงรักษารถอยู่แล้ว
* ระยะในการเดินทาง ยึดตามมาตรวัดบนหน้าปัดรถยนต์เป็นหลัก แม้ใช้ขนส่งมวลชนอื่นๆ ที่อาจมีระยะในการเดินทางจริง ยาว/สั้น กว่าก็ตาม ทั้งนี้เพื่อนำข้อมูลมาประชันกับการเดินทางโดยรถยนต์
* ขนส่งมวลชนที่ใช้ ได้แก่ รถจักรยานยนต์ (เพื่อเข้าซอย)/เรือข้ามฟาก/รถเมล์/รถเมล์ปรับอากาศ/รถตู้/รถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้าใต้ดิน
กรณีที่ 1 สะพานควาย
(ระยะทางไป/กลับ 13.4 กม.)
เดินทางอย่างไร ?
รถยนต์ ขับไปทางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก่อนถึง เลี้ยวซ้ายเข้าทางลัดใต้ทางด่วน ออกดินแดงลอดใต้อุโมงค์ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนประชาสงเคราะห์ เลี้ยวขวาเข้าซอยสุทธิพร (ทะลุกับซอยรัชดาภิเษก 3 ได้)
รถไฟฟ้าบีทีเอส+รถไฟฟ้าใต้ดิน+รถจักรยานยนต์ จากหน้าโครงการ (คอนโดมีเนียมในอนาคต) เดินไปประมาณ 20 เมตร ก็ถึงบันไดขึ้นสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสแล้ว มีโอกาสได้นั่งเพราะเป็นต้นสาย ผ่าน 10 สถานี เพื่อไปถึงสถานีอโศก 40 บาท แล้วต่อรถไฟฟ้าใต้ดิน มาลงที่พระราม 9 15 บาท ต่อรถจักรยานยนต์บริเวณสถานีเข้าซอยอีก 15 บาท
รถเมล์ปรับอากาศ+รถเมล์ปรับอากาศ+รถจักรยานยนต์ ขึ้นรถเมล์ปรับอากาศไปลงที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 14 บาท ต่อรถเมล์ปรับอากาศอีกครั้งไปลงปากซอยสุทธิพร 12 บาท จากนั้นนั่งรถจักรยานยนต์เข้าซอย 10 บาท
[table] วิธีการเดินทาง, ค่าเดินทางไป/กลับ (บาท), เวลาไป/กลับ (ชม.), ความเร็วเดินทางเฉลี่ย (กม./ชม.), ค่าใช้จ่าย (บาท/กม.)
รถยนต์, 53.6, 0.56, 14.36, 4
รถไฟฟ้าบีทีเอส+รถไฟฟ้าใต้ดิน+รถจักรยานยนต์, 140, 1.06, 12.18, 10.45
รถเมล์ปรับอากาศ+รถเมล์ปรับอากาศ+รถจักรยานยนต์, 72, 1.28, 9.14, 5.37 [/table]
ผลการทดลอง
ขับรถยนต์จ่ายค่าเดินทางถูกที่สุด ใช้เวลาเดินทางน้อยที่สุด ให้ความเร็วเดินทางเฉลี่ยมากที่สุดแถมค่าใช้จ่ายบาท/กม.ประหยัดที่สุด
ผู้ที่ใช้ รถยนต์ ในเส้นทางนี้ หากจะประหยัด และต้องการความเร็ว ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมาใช้ขนส่งมวลชนเลย เพราะใช้บริการ รถไฟฟ้าบีทีเอส+รถไฟฟ้าใต้ดิน+รถจักรยานยนต์ ก็ต้องรอ และถึง เคลื่อนทีได้ไวกว่า แต่เส้นทางอ้อม และมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า รถยนต์ มากกว่าเท่าตัว ส่วน รถเมล์ปรับอากาศ+รถเมล์ปรับอากาศ+รถจักรยานยนต์ ก็ต้องรอเช่นกัน แถมต้องไปต่อรถที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และนั่งรถจักรยานยนต์เข้าซอย จึงกินเวลามาก และมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าอีกด้วย
ทดสอบสมมติฐาน
1. ใช้ขนส่งมวลชนประหยัดกว่าใช้รถยนต์ส่วนตัว สมมติฐาน ผิด
2. ใช้ขนส่งมวลชนทางถนน ได้แก่ รถจักรยานยนต์/รถตู้/รถเมล์ ถึงจุดหมายช้ากว่าใช้รถยนต์ส่วนตัว สมมติฐาน ถูก
3. ใช้รถขนส่งมวลชนยุคใหม่ รถไฟฟ้าบีทีเอส/รถไฟฟ้าใต้ดิน ถึงจุดหมายเร็วกว่ารถยนต์ส่วนตัว สมมติฐาน ผิด
ข้อแนะนำ
ใช้รถยนต์เหมือนเดิม ทั้งประหยัด และเร็วที่สุด
กรณีที่ 2 รัชดาภิเษก 32
(ระยะทางไป/กลับ 18.8 กม.)
เดินทางอย่างไร ?
รถยนต์ ขับรถออกปากซอยรัชดา 32 เลี้ยวซ้ายตรงไปทางพระราม 9 กลับรถหน้าห้างสรรพสินค้า ฟอร์ทูน ทาวน์ เลี้ยวซ้ายเข้าซอยรัชดาภิเษก 3
รถจักรยานยนต์+รถไฟฟ้าใต้ดิน+รถจักรยานยนต์ นั่งรถจักรยานยนต์ไปสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินลาดพร้าว 30 บาท คนแน่นมาก ต้องยืนเบียดตลอดเวลา ไปลงสถานีพระราม 9 24 บาท ต่อรถจักรยานยนต์บริเวณสถานีเข้าซอยอีก 15 บาท
รถจักรยานยนต์+รถเมล์ปรับอากาศ+รถจักรยานยนต์ นั่งรถจักรยานยนต์ไปลงปากซอยรัชดาภิเษก 32 ราคา 12 บาท นั่งรถเมล์ปรับอากาศลงป้ายซอยรัชดาภิเษก 4 ราคา 16 บาทข้ามสะพานลอย ต่อรถจักรยานยนต์เข้าซอย 10 บาท
[table] วิธีการเดินทาง, ค่าเดินทางไป/กลับ (บาท), เวลาไป/กลับ (ชม.), ความเร็วเดินทางเฉลี่ย (กม./ชม.), ค่าใช้จ่าย (บาท/กม.)
รถยนต์, 75.2, 1.02, 18.19, 4
รถจักรยานยนต์+รถไฟฟ้าใต้ดิน+รถจักรยานยนต์, 138, 1, 18.80, 7.34
รถจักรยานยนต์+รถเมล์ปรับอากาศ+รถจักรยานยนต์, 76, 1.16, 14.84, 4.04 [/table]
ผลการทดลอง
ขับ รถยนต์ จ่ายค่าเดินทางถูกที่สุด รถจักรยานยนต์+รถไฟฟ้าใต้ดิน+รถจักรยานยนต์ ใช้เวลาเดินทางน้อยที่สุด (เร็วกว่ารถยนต์ 2 นาที) และให้ความเร็วเดินทางเฉลี่ยมากที่สุด แต่ค่าใช้จ่ายบาท/กม. รถยนต์ ประหยัดที่สุด ซึ่งใกล้เคียงกับ การเดินทางโดย รถจักรยานยนต์+รถเมล์ปรับอากาศ+รถจักรยานยนต์ ที่แพงกว่าแค่ 4 สตางค์/กม.
ค่าเดินทางโดย รถยนต์ ต่อวัน ถูกกว่า รถจักรยานยนต์+รถเมล์ปรับอากาศ+รถจักรยานยนต์ 80 สตางค์ แต่ได้ความเร็วมากกว่า 14 นาที และแม้ รถจักรยานยนต์+รถไฟฟ้าใต้ดิน+รถจักรยานยนต์ จะเร็วกว่า 2 นาที แต่ถ้าต้องแลกกับค่าใช้จ่ายการเดินทางที่มากกว่ารถยนต์เกือบ 2 เท่า รวมถึงความเบียดเสียดเยียดยัด คงไม่คุ้มที่จะต้องเปลี่ยนไปนั่งรถไฟฟ้าใต้ดิน และรถเมล์ แน่ๆ
ทดสอบสมมติฐาน
1. ใช้ขนส่งมวลชนประหยัดกว่าใช้รถยนต์ส่วนตัว สมมติฐาน ผิด
2. ใช้ขนส่งมวลชนทางถนน ได้แก่ รถจักรยานยนต์/รถตู้/รถเมล์ ถึงจุดหมายช้ากว่าใช้รถยนต์ส่วนตัว สมมติฐาน ถูก
3. ใช้รถขนส่งมวลชนยุคใหม่ รถไฟฟ้าบีทีเอส/รถไฟฟ้าใต้ดิน ถึงจุดหมายเร็วกว่ารถยนต์ส่วนตัว สมมติฐาน ถูก
ข้อแนะนำ
ใช้รถยนต์เหมือนเดิม คุ้มค่ากว่า
กรณีที่ 3 คลองสาน
(ระยะทางไป/กลับ 49.2 กม.)
เดินทางอย่างไร ?
รถยนต์ ขับรถออกจากซอยถึงถนนเจริญนคร ข้ามสะพานกรุงเทพ (ใหม่) ขึ้นทางด่วน 40 บาท ลงที่เส้นรัชดาภิเษก ผ่านแยกพระราม 9 ห้างสรรพสินค้าฟอร์ทูน ทาวน์ เลี้ยวซ้ายเข้าซอยรัชดาภิเษก 3
รถเมล์+รถเมล์+เรือข้ามฟาก+รถไฟฟ้าบีทีเอส+รถไฟฟ้าใต้ดิน+รถจักรยานยนต์ เดินออกปากซอย นั่งรถเมล์ 2 ต่อ 8.5 บาท และ 8 บาท ไปขึ้นเรือที่ ท่าเรือเป็บซี่ ข้ามฟาก 3.5 บาท ขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสมเด็จพระเจ้าตากสิน 25 บาท ต่อรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีสีลมถึงสถานีพระราม 9 26 บาท ต่อรถจักรยานยนต์บริเวณสถานีเข้าซอยอีก 15 บาท
รถเมล์+เรือข้ามฟาก+รถเมล์ปรับอากาศ+รถจักรยานยนต์ เดินออกปากซอย นั่งรถเมล์ 8.5 บาท ไปท่า เรือคลองสาน ข้ามฟาก 3 บาท นั่งรถเมล์ปรับอากาศมาลงปากซอยรัชดาภิเษก 3 ราคา 16 บาท ต่อรถจักรยานยนต์เข้าซอย 10 บาท
[table]วิธีการเดินทาง, ค่าเดินทางไป/กลับ (บาท), เวลาไป/กลับ (ชม.), ความเร็วเดินทางเฉลี่ย (กม./ชม.), ค่าใช้จ่าย (บาท/กม.)
รถยนต์, 276.8, 1.30, 32.8, 5.62
รถเมล์+รถเมล์+เรือเมล์+รถไฟฟ้าบีทีเอส+รถไฟฟ้าใต้ดิน+รถจักรยานยนต์, 172, 2.22, 20.78, 3.50
รถเมล์+เรือเมล์+รถเมล์ปรับอากาศ+รถจักรยานยนต์, 75, 2.50, 17.36, 1.52 [/table]
ผลการทดลอง
นั่ง รถเมล์+เรือข้ามฟาก+รถเมล์ปรับอากาศ+รถจักรยานยนต์ ค่าเดินทางถูกสุด ค่าใช้จ่ายบาท/กม.ก็ต่ำสุด ส่วน รถยนต์ ใช้เวลาเดินทางน้อยสุด ความเร็วเดินทางเฉลี่ยจึงสูงสุดด้วย
ถ้าต้องการความรวดเร็ว และ รับ ค่าเดินทาง/วัน ระดับนี้ได้ ก็ใช้รถยนต์ได้ แต่ถ้าไม่ต้องการความรวดเร็วมากนัก 2 วิธีการเดินทางที่เหลือก็น่าสนใจไม่น้อย เพราะถูกกว่าใช้รถยนต์ทั้งคู่ แต่ใช้เวลามากกว่าทั้งคู่เช่นกัน โดย รถเมล์+รถเมล์+เรือข้ามฟาก+รถไฟฟ้าบีทีเอส+รถไฟฟ้าใต้ดิน+รถจักรยานยนต์ ถูกกว่าวันละ 104.8 บาท ใช้เวลามากกว่าวันละ 52 นาที ถ้าเดินทางวิธีนี้ แต่ละวันเผื่อเวลาออกจากบ้านเร็วกว่าเดิม 26 นาที จะประหยัดไปได้เดือนละ 2,305.6 บาท
ส่วน รถเมล์+เรือข้ามฟาก+รถเมล์ปรับอากาศ+รถจักรยานยนต์ ถูกกว่าวันละ 201.8 บาท ใช้เวลามากกว่าวันละ 1.20 ชม. ถ้าเดินทางวิธีนี้ แต่ละวันเผื่อเวลาออกจากบ้านเร็วกว่าเดิม 40 นาที จะประหยัดไปได้เดือนละ 4,439.6 บาท... สนใจ และไหวไหม ?
ทดสอบสมมติฐาน
1. ใช้ขนส่งมวลชนประหยัดกว่าใช้รถยนต์ส่วนตัว สมมติฐาน ถูก
2. ใช้ขนส่งมวลชนทางถนน ได้แก่ รถจักรยานยนต์/รถตู้/รถเมล์ ถึงจุดหมายช้ากว่าใช้รถยนต์ส่วนตัว สมมติฐาน ถูก
3. ใช้รถขนส่งมวลชนยุคใหม่ รถไฟฟ้าบีทีเอส/รถไฟฟ้าใต้ดิน ถึงจุดหมายเร็วกว่ารถยนต์ส่วนตัว สมมติฐาน ผิด
ข้อแนะนำ
ถ้าอยากเร็วใช้รถยนต์ ถ้าอยากประหยัดมากกว่าใช้ รถเมล์+รถเมล์+เรือเมล์+รถไฟฟ้าบีทีเอส+รถไฟฟ้าใต้ดิน+รถจักรยานยนต์ ถ้าอยากประหยัดมากที่สุดใช้ รถเมล์+เรือเมล์+รถเมล์ปรับอากาศ+รถจักรยานยนต์
กรณีที่ 4 ปากเกร็ด
(ระยะทางไป/กลับ 60.8 กม.)
เดินทางอย่างไร ?
รถยนต์ ขับรถออกจากซอยถึงถนนแจ้งวัฒนะ ตรงมาทางเมืองทองธานี ขึ้นทางด่วนไปลงถนนรัชดาภิเษก 50 บาท ผ่านแยกพระราม 9 ห้างสรรพสินค้าฟอร์ทูน ทาวน์ เลี้ยวซ้ายเข้าซอยรัชดาภิเษก 3
รถจักรยานยนต์+รถตู้+รถเมล์ปรับอากาศ+รถจักรยานยนต์ นั่งรถจักรยานยนต์ 20 บาท ออกจากซอยไปถึงคิวรถตู้ (ขึ้นทางด่วน) ที่ปากเกร็ด มาลงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 25 บาท ต่อรถเมล์ปรับอากาศไปลงปากซอยสุทธิพร 12 บาท จากนั้นนั่งรถจักรยานยนต์เข้าซอย 10 บาท
รถจักรยานยนต์+รถเมล์ปรับอากาศ+รถเมล์ปรับอากาศ+รถจักรยานยนต์ นั่งรถจักรยานยนต์ 20 บาท ออกจากซอยไปถึงป้ายรถเมล์ (ขึ้นทางด่วน) ที่ปากเกร็ดริมถนนแจ้งวัฒนะมาลงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 19 บาท ต่อรถเมล์ปรับอากาศอีกครั้งไปลงปากซอยสุทธิพร 12 บาท จากนั้นนั่งรถจักรยานยนต์เข้าซอย 10 บาท
[table]วิธีการเดินทาง, ค่าเดินทางไป/กลับ (บาท), เวลาไป/กลับ (ชม.), ความเร็วเดินทางเฉลี่ย (กม./ชม.), ค่าใช้จ่าย (บาท/กม.)
รถยนต์, 343.2, 2.20, 26.06, 5.64
รถจักรยานยนต์+รถตู้+รถเมล์ปรับอากาศ+รถจักรยานยนต์, 134, 3.0, 20.27, 2.20
รถจักรยานยนต์+รถเมล์ปรับอากาศ+รถเมล์ปรับอากาศ+รถจักรยานยนต์, 122, 3.25, 17.80, 2 [/table]
ผลการทดลอง
รถจักรยานยนต์+รถเมล์ปรับอากาศ+รถเมล์ปรับอากาศ+รถจักรยานยนต์ มีค่าเดินทางถูกสุด และค่าใช้จ่ายบาท/กม. ต่ำสุด รถยนต์ ใช้เวลาเดินทางน้อยที่สุด และมีความเร็วเดินทางเฉลี่ยสูงสุด
กรณีนี้ให้ผลที่คล้ายกับกรณีที่ 3 ถ้าต้องการความรวดเร็ว และ รับ ค่าเดินทาง/วันระดับนี้ได้ ก็ใช้รถยนต์เถอะ แต่ถ้าไม่ต้องการความรวดเร็วมากนัก 2 วิธีการเดินทางที่เหลือก็น่าสนใจไม่น้อย เพราะถูกกว่าใช้รถยนต์มากๆ ทั้งคู่ แต่ใช้เวลามากกว่าทั้งคู่เช่นกัน โดย รถจักรยานยนต์+รถตู้+รถเมล์ปรับอากาศ+รถจักรยานยนต์ ถูกกว่าวันละ 209.2 บาท ใช้เวลามากกว่าวันละ 40 นาที ถ้าเดินทางวิธีนี้ แต่ละวันเผื่อเวลาออกจากบ้านเร็วกว่าเดิม 20 นาที จะประหยัดไปได้เดือนละ 4,602.4 บาท
ส่วน รถจักรยานยนต์+รถเมล์ปรับอากาศ+รถเมล์ปรับอากาศ+รถจักรยานยนต์ ถูกกว่าวันละ 221.2 บาท ใช้เวลามากกว่าวันละ 1.05 ชม. ถ้าเดินทางวิธีนี้ แต่ละวันเผื่อเวลาออกจากบ้านเร็วกว่าเดิม 30.25 นาที จะประหยัดไปได้เดือนละ 4,866.4 บาท...ขอถามอีกครั้งหนึ่ง...สนใจ และสู้ไหวไหมล่ะ ?
ทดสอบสมมติฐาน
1. ใช้ขนส่งมวลชนประหยัดกว่าใช้รถยนต์ส่วนตัว สมมติฐาน ถูก
2. ใช้ขนส่งมวลชนทางถนน ได้แก่ รถจักรยานยนต์/รถตู้/รถเมล์ ถึงจุดหมายช้ากว่าใช้รถยนต์ส่วนตัว สมมติฐาน ถูก
ข้อแนะนำ
ถ้าอยากเร็วใช้รถยนต์ ถ้าอยากประหยัดมากกว่าใช้ รถจักรยานยนต์+รถตู้+รถเมล์ปรับอากาศ+รถจักรยานยนต์ ถ้าอยากประหยัดมากที่สุดลองใช้ รถจักรยานยนต์+รถเมล์ปรับอากาศ+รถเมล์ปรับอากาศ+รถจักรยานยนต์ ดูดีไหม ?
สรุปผลการทดลอง
ถ้าจะตอบคำถามว่า เลิกขับรถ เปลี่ยนไปใช้ขนส่งมวลชน ประหยัดกว่า จริงหรือ ? จากผลการทดลอง สามารถตอบได้ ทั้ง จริง และ ไม่จริง
ประหยัดกว่า จริง ในระยะทางไกลๆ แต่ ไม่จริง ในระยะทางใกล้ๆ
ทั้งนี้พิจารณาได้จากการทดสอบสมมติฐานของเรา คือ
1. ใช้ขนส่งมวลชนประหยัดกว่าใช้รถยนต์ส่วนตัว สมมติฐาน ผิด ในกรณีที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็นเส้นทางใกล้จากในเมือง-ในเมือง แต่ สมมติฐาน ถูก ในกรณีที่ 3 และ 4 ซึ่งเป็นเส้นทางไกลจากนอกเมือง-ในเมือง
2. ใช้ขนส่งมวลชนทางถนน ได้แก่ รถจักรยานยนต์/รถตู้/รถเมล์ ถึงจุดหมายช้ากว่าใช้รถยนต์ส่วนตัว สมมติฐาน ถูก ทุกกรณี
3. ใช้รถขนส่งมวลชนยุคใหม่ รถไฟฟ้าบีทีเอส/รถไฟฟ้าใต้ดิน ถึงจุดหมายเร็วกว่ารถยนต์ส่วนตัว สมมติฐาน กรณีที่ 1 และ3 ถูก ส่วนกรณี 2 ผิด
ข้อสังเกต
ประเด็นที่ 1 การเดินทางโดยขนส่งมวลชนทุกประเภทในเส้นทางไกลๆ จากนอกเมืองเข้าสู่ในเมือง ประหยัดกว่าการใช้รถยนต์ส่วนตัวมาก ซึ่งน่าจะมีเหตุผลจาก การกำหนดอัตราค่าโดยสารของขนส่งมวลชนแต่ละประเภท ที่ ยิ่งไกล (ค่าเดินทาง/กม.) ยิ่งถูก แต่ค่าเดินทางโดยรถยนต์มีต้นทุนคงที่เสมอ ไม่ว่าไกล หรือใกล้ กี่ กม./ลิตร ก็คงที่เท่านั้น (ในสภาพการเดินทางเดียวกัน) ค่าทางด่วนก็คงที่
ประเด็นที่ 2 การเดินทางโดยขนส่งมวลชนทุกประเภทในเส้นทางไกล้ๆ ในเมือง-ในเมือง จากการทดลอง ส่วนน้อยมีค่าเดินทางพอกันกับการใช้รถยนต์ส่วนตัว แต่ส่วนใหญ่แพงกว่า โดยเฉพาะการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า ทั้งบีทีเอส และใต้ดิน ถ้าคำนวณเฉพาะค่าเดินทางของรถไฟฟ้า ไม่ได้แพงจนเกินเหตุเมื่อเทียบกับความเร็วในการเดินทาง แต่เมื่อรวมค่ารถจักรยานยนต์เข้าไปด้วย ทำให้ราคารวมในกระบวนการเดินทางทั้งหมดสูงขึ้นมาก ทั้งที่ระยะทางสั้นกว่าเป็นไหนๆ ส่วนที่แพงเกิดจากค่าจักรยานยนต์เข้า/ออกซอยนี่เอง
ประเด็นที่ 3 รถไฟฟ้าทั้งบีทีเอส และใต้ดิน มีความเร็วสูง เพราะไม่ขึ้นกับสภาพจราจร ราคาก็สมเหตุผล แต่คงเหมาะกับผู้ที่ต้องการไปในที่ซึ่งรถติดมาก และจุดตั้งต้นกับที่หมายอยู่ติดถนน ไม่ใช่ในซอยลึก หรืออยู่ไกลจากสถานีมาก เพราะค่าเดินทางจะเพิ่มสูงขึ้นจากค่ารถจักรยานยนต์ และความล่าช้าในการต่อรถเพื่อเดินทาง ทั้งนี้รวมถึงการนั่งรถจักรยานยนต์จากซอยมาต่อรถเมล์ด้วย
ประเด็นที่ 4 การใช้รถยนต์ส่วนตัว หรือการเปลี่ยนมาขนส่งมวลชนแต่ละประเภท อย่างไหนจะประหยัดกว่า ควรวิเคราะห์ความจากจุดเริ่มต้น-จุดหมายปลายทาง กับ วิธีการเดินทาง ซึ่งแตกต่างกันออกไป ซึ่งต้องพิจารณาเป็นรายกรณี
สิ่งที่เราทดลอง เป็นเพียงตัวอย่างเพื่อให้มองเห็นภาพคร่าวๆ ถ้าอยากเปลี่ยนใจมาใช้ขนส่งมวลชน ลองนำวิธีการทดลองนี้ไปใช้กับการวางแผนการเดินทางของคุณดูได้ เมื่อทดลองเสร็จ คุณคงรู้คำตอบในใจแล้วว่า ควรใช้ขนส่งมวลชนแบบใด หรือใช้รถยนต์ต่อไปนั่นแหละดีแล้ว
ABOUT THE AUTHOR
ก
กองบรรณาธิการบทความและสารคดี
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน สิงหาคม ปี 2551
คอลัมน์ Online : พิเศษ(formula)