สำหรับการเดินทางในป่า เมื่อใดที่แสงเริ่มลับหายไปจากขอบฟ้า ความมืดสนิท และเงียบสงัดของผืนป่าอาจทำให้ขนแขนของคุณตั้งชันได้ง่ายๆ ที่สำคัญความยากของการเดินทางก็จะทวีคูณเพิ่มขึ้นอีก 2-3 เท่าตัว ยิ่งโดยเฉพาะหน้าหนาวอย่างนี้ ที่มีหมอกปกคลุมไปทั่ว แสงสว่างจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่สุด เมื่ออยู่ในสถานการณ์แบบนี้
เมื่อการเดินทางท่องเที่ยวตามเส้นทางธรรมชาติ ไม่สามารถกำหนดเวลา และสภาพภูมิอากาศที่แน่นอนได้ การเตรียมตัวให้พร้อม ย่อมเป็นเรื่องจำเป็น รถที่ใช้เป็นพาหนะต้องตรวจเชคอย่างละเอียด อุปกรณ์ช่วยเหลือก็ต้องพร้อมที่จะนำมาใช้งานได้ทันท่วงทีเมื่อเกิดเหตุคับขัน
ไฟตัดหมอก เป็นสิ่งจำเป็นในการเดินทางท่องเที่ยว ตามเส้นทางธรรมชาติมาก เพราะเส้นทางในป่า หรือบนเขาสูงทั่วไป เวลากลางคืนนอกจากจะมืดสนิทแล้ว ด้วยความชื้นและความสูงจากระดับน้ำทะเลมาก
ทำให้มีหมอกปกคลุม หรืออาจจะมีสายฝนที่เกิดจากเมฆหมอกเหล่านั้น ซึ่งล้วนเป็นอุปสรรคบดบังทัศนวิสัยในการขับรถเป็นอย่างมาก
ในแถบประเทศที่มีภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง อากาศหนาว หรือประเทศที่เป็นเกาะล้อมรอบด้วยน้ำ มีฝนตกบ่อยตลอดทั้งปี ทั้งมีบรรยากาศขมุกขมัว หรือมีหมอกเป็นส่วนมาก เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยานพาหนะ จึงมีการคิดค้นไฟตัดหมอกขึ้นมา ไฟตัดหมอกจะให้ความสว่างสูงกว่าไฟหน้ามาก ส่วนใหญ่หลอดจะเป็นสปอทไลท์ส่องในระนาบขนานกับพื้นถนน หรือตกกระทบพื้นในระยะไกล ความสว่างจึงมีมาก และลำแสงจะพุ่งไปไกลกว่าหลอดไฟหน้าปกติ ถ้าเปิดส่องในขณะที่หมอกจัด หรือฝนตกหนักก็ยิ่งสามารถทะลุทะลวงได้มาก ทำให้มองเห็นได้ในระยะมากกว่า 30-80 เมตร
ในทำนองเดียวกัน เมื่อพื้นถนนเปียก หรือฝนหยุดตกใหม่ๆ ในตอนกลางคืนไฟหน้าปกติที่ส่องลงผิวถนนจะถูกพื้นน้ำสะท้อนออกไปในอีกมุมหนึ่ง บางครั้งแทบจะมองไม่เห็นผิวถนนด้วยซ้ำไป แต่เมื่อใช้ไฟตัดหมอกสามารถมองเห็นผิวถนนในระยะสายตาได้ชัดเจนกว่า
ไฟตัดหมอก แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่
ฟอก แลมพ์ส์ (FOG LAMPS) โคมประเภทนี้ จะให้ความสว่างที่แผ่กระจายออกด้านข้างได้มาก สามารถมองเห็นไหล่ทางอย่างชัดเจน องศาของแสงที่แผ่ออกมามีมากถึง 90 องศา หน้าโคมออกแบบมาให้มีการหักเหของแสงได้มาก จึงทำให้ลำแสงไม่สามารถพุ่งไปได้ไกล จุดสังเกตของโคมประเภทนี้ คือ หน้าโคมจะมีเส้นขวางเยอะๆ เพื่อกระจายแสง เหมาะกับรถที่ไม่ใช้ความเร็วมาก แต่ต้องการแสงสว่างที่กระจายออกด้านข้างมากๆ หรืออาจจะนำไปใช้เป็นไฟถอยได้
ดไรวิง แลมพ์ส์ (DRIVING LAMPS) โคมประเภทนี้ ถ้าสังเกตหน้าโคม จะมีเส้นหักเหแสงเฉพาะตรงกลางสามารถให้ความสว่างได้กว้าง และไกลกว่าโคมเดิมที่ติดรถ ความกว้างของแสงจะมีน้อยกว่าแบบ ฟอก แลมพ์ส์ แต่ลำแสงจะพุ่งไปได้ไกลกว่า องศาของแสงในโคมประเภทนี้อยู่ที่ 10-25 องศา เหมาะสำหรับรถที่ใช้เดินทางต่างจังหวัด หรือเดินทางตอนกลางคืนบ่อยๆ
เพนซิล บีม แลมพ์ส์ (PENCIL BEAM LAMPS) โคมประเภทนี้ หน้าโคมจะไม่มีเส้นหักเหแสง ลำแสงจะพุ่งตรงเป็นจุด สามารถทะลุไปได้ไกลที่สุด แต่เนื่องจากไม่มีเส้นหักเหแสง จึงทำให้องศาของแสงมีน้อยมาก เพียง 5-15 องศาเท่านั้น เหมาะกับรถที่ใช้ในการแข่งขันแบบครอสส์คันทรี หรือแรลลี เพราะต้องใช้ความเร็วสูงในเส้นทางทุรกันดาร
หลอดไฟที่ใช้กับไฟตัดหมอก
ส่วนใหญ่จะเป็นหลอดฮาโลเจน (HALOGEN) แสงของหลอดฮาโลเจนจะเกิดจากการเปล่งแสงของขดลวดความต้านทาน มีเฉดสีให้เลือกมากมาย แต่หากจะเน้นการใช้งานจริงๆ ควรเป็นสีเหลือง ซึ่งสามารถทะลุทะลวงหมอก และฝนได้ดี หรือสีขาวที่จะเพิ่มทัศนวิสัยในการขับขี่ สภาพทางทั่วไปได้ดี ส่วนสีอื่นๆ นั้น จะให้ประโยชน์ทางด้านความสวยงามเสียมากกว่า
ปัจจุบันเริ่มมีผู้ผลิตไฟตัดหมอกที่ใช้หลอดแบบ HID (HIGH INTENSITY DISCHARGE) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีไฟส่องสว่างที่ต่างไปจากฮาโลเจนปกติ แสงของ HID จะเกิดจากการปล่อยกระแสไฟฟ้าให้วิ่งผ่านแกสซีนอน คล้ายกับการทำงานของหลอดฟลูออเรสเซนท์ การสปาร์คครั้งแรกจะใช้แรงดันไฟสูงถึง 25,000 โวลท์ ก่อนจะลดระดับลงมาเป็นไฟเลี้ยงที่ 35 วัตต์ 12 โวลท์ ทำให้ใช้ไฟน้อย และมีความร้อนน้อยกว่า แถมจะให้แสงสว่างมากกว่าหลอดแบบฮาโลเจน เพียงแต่แสงที่ส่องออกมาจะเป็นแสงสีขาว ซึ่งทะลุทะลวงได้ไม่เท่าแสงสีเหลืองของฮาโลเจน
เลือกโคมให้ถูก ใช้วัสดุให้เหมาะ
ประเภทวัสดุของโคมไฟตัดหมอก จำแนกได้ 2 ประเภท คือ แบบที่ใช้เหล็กชุบโครเมียม หรืออลูมิเนียม ซึ่งมีความทนทานสูง แต่มีข้อเสีย คือ เมื่อเจอน้ำบ่อยๆ จะเกิดสนิม ซึ่งเมื่อเป็นสนิมแล้ว ความสวยงามก็จะลดน้อยลงไป ทั้งยังมีน้ำหนักมาก ส่วนอีกประเภทจะทำมาจากพลาสติค ประเภทนี้หมดปัญหาเรื่องสนิมแน่นอน และมีน้ำหนักเบากว่าแบบแรก แต่เมื่อต้องเจอกับแดดฝนนานวันเข้า พลาสติคก็จะกรอบ และแตกได้ง่าย ปัจจุบันทางผู้ผลิตค่ายยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย ได้แก้ปัญหานี้ โดยการใช้พลาสติคที่มีคุณภาพสูง ทำให้มีความทนทานมากขึ้น
ในส่วนของเลนส์ แยกได้ 2 แบบ คือ แบบแรก ใช้กระจกแก้ว ให้ความทนทาน ไม่ขุ่นมัว แต่หากเจอกิ่งไม้ หรือเศษหิน จะทำให้แตกง่ายกว่าแบบที่ 2 คือโพลีคาร์บอเนท ซึ่งจะมีความเหนียวกว่า แต่มีข้อเสีย คือ เมื่อใช้งานนานวัน หน้าเลนส์จะขุ่นมัวเร็วกว่าแบบกระจกแก้ว
สำหรับบรรดาขาลุยทั้งหลาย ที่จะเลือกซื้อไฟตัดหมอกนั้น ควรเลือกโคมที่ทำมาจากวัสดุที่ดีหน่อย เพราะอายุการใช้งานจะยาวนานกว่า ถ้าหากเป็นกังวลกลัวว่าหน้าเลนส์จะแตกเสียหายง่าย ก็ควรเลือกแบบโพลีคาร์บอเนท แต่ไม่ควรเปลี่ยนหลอดที่กินไฟมากขึ้นกว่าเดิม เกินที่คู่มือกำหนด เพราะจะยิ่งเร่งทำให้โคมขุ่นมัว และเสื่อมสภาพเร็วขึ้น
ในส่วนของสี ก็ควรเลือกใช้สีเหลือง หรือสีขาวจะดีกว่า หรือจะเลือกแบบละดวงผสมกันก็ได้ เพื่อประโยชน์ใช้สอยได้หลากหลาย สำหรับหน้าเลนส์ ก็ควรเลือกแบบผสม เช่น ฟอก แลมพ์ส์ 1 ดวง เพื่อให้แสงสว่างด้านกว้าง อีกดวงจะเป็นแบบ ดไรวิง แลมพ์ส์ หรือ เพนซิล บีม แลมพ์ส์ เพื่อทะลุทะลวงได้ไกล หรืออาจผสมระหว่าง ดไรวิง แลมพ์ส์ กับ เพนซิล บีม แลมพ์ส์ ก็ได้ตามความเหมาะสม
ตำแหน่งการติดตั้ง
การติดตั้งไฟตัดหมอกนั้น ควรให้อยู่ในระดับเดียวกับโคมไฟหน้า หรือต่ำกว่า เพราะไฟตัดหมอกจะให้แสงสว่างมากกว่าอยู่แล้ว หากติดตั้งในตำแหน่งที่สูง ยิ่งทำให้รบกวนสายตาคนขับรถคันที่สวนมา บางคันติดไว้บนโรลล์บาร์ หรือหลังคา หากขับเข้าป่าก็อาจจะต้องเจอกับปัญหากิ่งไผ่ หรือกิ่งไม้ตี ทำให้ได้รับความเสียหาย
สำหรับบรรดาคุณๆ ที่นำแบบ ฟอก แลมพ์ส์ มาทำเป็นไฟถอยหลังนั้น ควรติดตั้งไว้บริเวณกันชนหลัง
ไม่จำเป็นต้องอยู่ในตำแหน่งสูงมาก เพราะโคมประเภทนี้ให้แสงกระจายได้มากอยู่แล้ว
การดูแลรักษา
การดูแลรักษาไฟตัดหมอกนั้นไม่ยุ่งยาก เพียงแค่ทำความสะอาดทุกครั้งหลังกลับจากการเดินทาง หมั่นตรวจเชคสายไฟ และจุดยึด ว่ายังมั่นคงแข็งแรงอยู่หรือเปล่า ไม่ควรเปลี่ยนหลอดที่กินไฟมากเกินคู่มือกำหนด เพราะจะทำให้สายไฟ และโคม เสื่อมเร็ว
การใช้ไฟตัดหมอกอย่างถูกวิธี จะก่อให้เกิดประโยชน์ และช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน สามารถมองเห็นรถคันอื่นๆ ได้อย่างชัดเจน ในทางตรงกันข้ามการเปิดไฟตัดหมอกอย่างพร่ำเพรื่อ ไม่มีมารยาท และผิดวิธี นอกจากจะรบกวนสายตา และสร้างความรำคาญให้แก่ผู้ขับรถรายอื่นๆ ที่ร่วมใช้เส้นทางแล้ว ยังเพิ่มโอกาสทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายกว่าปกติอีกด้วย จึงขอให้ท่านเจ้าของรถที่ติดตั้งไฟตัดหมอก เปิดใช้อย่างถูกวิธี และใช้เฉพาะในกรณีที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น ตลอดจนต้องมีความเอื้ออาทร ขับรถอย่างมีน้ำใจต่อเพื่อนร่วมทาง ก็จะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดอุบัติภัยทางท้องถนนได้
ไฟตัดหมอกควรเปิดตอนไหน ?
1. ฝนตกปรอยๆ หรือตกหนัก ไฟตัดหมอกจะมีประโยชน์มาก แม้จะเป็นช่วงกลางวันก็ตาม เพราะมันสามารถช่วยให้รถที่สวนมามองเห็นเราได้อย่างชัดเจน
2. เมื่อขึ้นภูสูง หรือยอดเขา โดยเฉพาะช่วงหน้าหนาวทั้งตอนเช้า และตอนกลางคืน เพราะที่สูงๆ นั้นหมอกจะมีมากกว่าปกติ
3. ในช่วงกลางคืนหลังฝนหยุดตก หรือถนนยังเปียกอยู่ ไฟตัดหมอกจะช่วยให้ทัศนวิสัยในการขับขี่ดีขึ้นเพราะไฟหน้าปกติของเราถูกน้ำสะท้อนไปเกือบหมด
4. ทุกกรณีที่มีหมอก หรือควันเกิดขึ้นบนท้องถนน ที่บดบังทัศนวิสัยให้มองเห็นได้น้อยกว่า 50 เมตร
5. ปิดไฟตัดหมอกทันทีที่มีรถสวน ในระยะที่มองเห็นไฟหน้าของรถที่สวนมา
ABOUT THE AUTHOR
ส
สายยศ สุวรรณหงษ์ saiyos@autoinfo.co.th
นิตยสาร 409 ฉบับเดือน พฤษภาคม ปี 2552