รู้ทันเทคนิค
เกียร์อัตโนมัติในรถกระบะยุคใหม่
ปี 2012 แล้ว แต่ไม่น่าเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังมีความคิดฝังหัวเหมือนคนยุคศตวรรษที่ 80-90 อยู่เลย นั่นคือ เรื่องของระบบเกียร์อัตโนมัติ จากที่ได้จัดรายการวิทยุ ทำให้ได้ฟังคำถามมากมาย และหนึ่งในคำถามยอดฮิท คือ รถรุ่นนี้ เกียร์อัตโนมัติ หรือเกียร์ธรรมดา น่าใช้กว่ากัน ? หรือ ถ้าจะซื้อรถเกียร์อัตโนมัติจะทนทานไหม ?" รวมถึง ไม่กล้าใช้เกียร์อัตโนมัติ เพราะไม่เคยขับมาก่อน เค้าว่าอืด แถมซ่อมแพง ฯลฯ นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำถามเกี่ยวกับเกียร์อัตโนมัติ ที่ถามไถ่กันเข้ามา จากที่ได้สอบถามได้ฟังเหตุผลที่ใกล้เคียงกัน นั่นก็คือ ไม่เคยใช้เกียร์อัตโนมัติมาก่อน ส่วนใหญ่จะได้รับคำบอกกล่าวจากคนรุ่นพ่อรุ่นลุง ว่าเกียร์อัตโนมัติไม่ทน เปลืองน้ำมัน ซ่อมแพง ฯลฯ ความคิดฝังหัวเดิมๆ นี้ทำให้หลายคนพลาดโอกาสที่จะได้สัมผัสความสะดวกสบายไปอย่างน่าเสียดาย เพราะยุคนี้เกียร์อัตโนมัติมีพัฒนาการล้ำหน้าไปมาก ยกตัวอย่างเช่น รถหัวลากขนาดใหญ่จากแถบสแกนดิเนเวีย ยังพัฒนาระบบเกียร์อัตโนมัติ มาใช้ในรถหัวลากที่ต้องรับน้ำหนักตัวรถ และน้ำหนักบรรทุก 30-40 ตันด้วยซ้ำ นั่นก็เพราะว่า เทคโนโลยีด้านวัสดุก้าวหน้าไปไกล ทำให้เกียร์อัตโนมัติมีความทนทานสูง และเทคโนโลยีในการออกแบบ ช่วยให้เกียร์อัตโนมัติสามารถถ่ายทอดกำลังลงสู่พื้นได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย
ถึงเวลาเปลี่ยนความคิด
แล้วถึงเวลาหรือยัง ที่เราจะล้างความคิดเก่าคร่ำครึ แล้วมาสัมผัสกับเทคโนโลยี และความสะดวกสบาย ในปัจจุบันเราจะเห็นว่า รถกระบะรุ่นใหม่ๆ นอกจากจะมีจุดขายในเรื่องของสมรรถนะแล้ว เรื่องของเกียร์อัตโนมัติ ก็กลายเป็นจุดขายมากขึ้น เพราะลูกค้าที่ซื้อรถกระบะแบบมีแคบ และดับเบิลแคบนั้น กว่าครึ่งหนึ่งซื้อมาใช้งานแทนรถเก๋ง แล้วทำไมไม่ลองสัมผัสกับความสะดวกสบายที่เพิ่มขึ้นล่ะ?
ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา รถกระบะเกียร์อัตโนมัติ มีการพัฒนาดีขึ้น การตอบสนองดีขึ้น ฉับไว และส่งถ่ายกำลังได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย และเมื่อผ่านช่วงปี 2005 ยิ่งเห็นได้ชัดถึงการพัฒนาที่ก้าวไปอีกขึ้น เมื่อรถกระบะมีกำลังสูงขึ้น เกียร์อัตโนมัติก็ต้องก้าวตามให้ทัน เราจึงเห็นรถกระบะ ให้เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ และเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ ทำไมต้องเพิ่มตำแหน่งเกียร์ในรถกระบะดีเซลรุ่นใหม่ๆ ง่ายๆ สั้นๆ ก็คือ สมรรถนะของรถกระบะสูงขึ้นมาก ดังนั้น เกียร์จำเป็นต้องมีหลายๆ สิ่งเปลี่ยนไป อย่างแรก คือ สมรรถนะของเครื่องยนต์สูงขึ้น จาก 120-130 แรงม้า ก้าวกระโดดมาเป็น 160-170 แรงม้า และปัจจุบันนี้ปาเข้าไปถึง 200 แรงม้ากันแล้ว
เกียร์ยุคเก่าเน้นรอบสูง
เมื่อก่อนกำลังเครื่องยนต์น้อย เกียร์จำเป็นต้องมีอัตราทดสูงไว้ก่อน อีกอย่าง คือ เกียร์อัตโนมัติในยุคนั้นยังเป็นระบบแบบ 4 จังหวะอยู่ ที่ความเร็วเดินทาง 110-120 กม./ชม. นั้น รอบเครื่องยนต์ของรถกระบะส่วนใหญ่จะมากกว่า 3,000 รตน. ที่รอบเครื่องยนต์ขนาดนี้นอกจากเสียงเครื่องยนต์จะดังรบกวนแล้ว ในส่วนของเครื่องยนต์นั้นก็มีผลกระทบเช่นกัน นั่นคือ เครื่องยนต์จะทำงานหนักโดยไม่จำเป็น เพราะความเร็วขนาดนั้นเป็นความเร็วที่ลอยตัวแล้ว อันที่จริงกำลังของเครื่องยนต์สมัยใหม่สามารถพาตัวรถวิ่งไปได้สบายๆ แต่ยุคนั้น รถกระบะต้องเผื่อการบรรทุกไว้ด้วย และการนำเกียร์อัตโนมัติมากกว่า 4 จังหวะมาใช้ มีต้นทุนสูง การทดเกียร์ไว้สูงแม้จะทำให้ออกตัวดี มีกำลังฉุดลากดี แต่ทำให้ช่วงรอยต่อของเกียร์รอบตกมาก ต้องรอรอบ และตำแหน่งเกียร์สุดท้าย คือ เกียร์ 4 รอบสูงโดยไม่จำเป็น รอบที่สูงทำให้การสึกหรอของเครื่องยนต์ก็ยิ่งมาก ความร้อนสะสมในเครื่องยนต์สูง การเสียดสีระหว่างแหวนลูกสูบกับกระบอกสูบก็สูง น้ำมันเครื่องก็เสื่อมเร็ว เพราะความร้อนสะสมสูง สิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงมากกว่า สรุปแล้ว รอบเครื่องยนต์สูงมากๆ ก็มีแต่ผลเสียนั่นเอง
มาวันนี้หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไป ในเมื่อเครื่องยนต์มีกำลังเหลือเฟือ และเจ้าของรถส่วนมากก็ไม่ได้ซื้อรถมาเพื่อการบรรทุก เกียร์สามารถตอบสนองในเรื่องของการส่งถ่ายกำลังได้สบายๆ การเพิ่มตำแหน่งเกียร์เป็นการชดเชยสิ่งที่หายไป นั่นก็คือ ความต่อเนื่องในการส่งถ่ายกำลัง ช่วยลดรอบเครื่องยนต์ ผลที่ตามมา คือ สมรรถนะที่ต่อเนื่อง รักษารอบเครื่องยนต์ให้อยู่ในช่วงรอบเครื่องที่มีแรงบิดสูงไว้ได้ ประหยัดน้ำมันมากขึ้น โดยทั้ง 2 เรื่องนี้จะช่วยให้ความแตกต่างอันเป็นจุดอ่อนเมื่อเทียบกับเกียร์ธรรมดาลดลง จนรู้สึกว่ามันแทบไม่แตกต่าง หลายๆ คนยังเข้าใจว่าการเพิ่มเกียร์นั้น จะเป็นการเพิ่มความแรงของเครื่องยนต์ การเพิ่มตำแหน่งเกียร์มันไม่เกี่ยวข้องกับความแรงของเครื่องยนต์เลย รถรุ่นหนึ่งมีกำลัง 100 แรงม้า จะ 4 จังหวะ หรือ 6 จังหวะ มันก็มี 100 แรงม้าเหมือนเดิม แต่อัตราเร่งจาก 0-100 กม./ชม. จะลดลงอย่างเห็นได้ชัด อัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงก็ลดลงตามไปด้วย รวมถึงได้อัตราเร่ง และการตอบสนองที่ติดเท้า ขับสนุกมากขึ้น
เกียร์อัตโนมัติ น่าใช้กว่าเกียร์ธรรมดา
อย่างที่บอกตั้งแต่ต้นว่า ขนาดรถหัวลากยังใช้เกียร์อัตโนมัติ นั่นเพราะว่า รถบรรทุกหนักขนาด 30-40 ตันนั้น จำเป็นต้องทดเกียร์อย่างซับซ้อน เพื่อให้สามารถเอาชนะน้ำหนักบรรทุกได้ เราจะได้ยินเสมอๆ ว่ารถเหล่านี้มีอัตราทดมากกว่า 10 เกียร์ขึ้นไป แต่ในการใช้งานจริงนั้น คันเกียร์ไม่ได้ทำช่องไว้ให้เข้ามากมายขนาดนั้น ในเกียร์แบบ เอช แพทเทิร์น ถ้าเกิน 6 จังหวะ ก็คงสับสนน่าดูเวลาฉุกเฉิน แต่จะใช้ตำแหน่งเกียร์โลว์ กับเกียร์ไฮ แทน ลองคิดดูว่าในขณะที่กำลังบรรทุกเต็มพิกัดขึ้นทางชัน อาจมีโอกาสติดรถช้าคันอื่นๆ จังหวะอาจจะมีเสียไปบ้าง จังหวะฉุกเฉินอย่างนี้ บางครั้งความรีบเร่งในการเปลี่ยนเกียร์ และไล่เกียร์ใหม่ อาจจะทำให้เกิดความผิดพลาดสับสน จนทำให้เข้าเกียร์ผิดตำแหน่งได้ ถ้าร้ายแรงหน่อย อาจจะทำให้เกียร์, คลัทช์ หรือเครื่องยนต์ เสียหายได้
เกียร์อัตโนมัติยุคใหม่ ที่มีความทนทานสูง และมีระบบควบคุมอันทันสมัย ช่วยเปลี่ยนความคิดและความรู้สึกเดิมๆ ไปเลย เกียร์อัตโนมัติในรถกระบะ หรือรถบรรทุกยุคใหม่ มีความซับซ้อนไม่แพ้กับรถยนต์นั่งทั่วไป เพราะเครื่องยนต์ดีเซลสมัยใหม่ทำงานได้ภายใต้การประมวลผลของอีซียู อันชาญฉลาด โดยรับสัญญาณจากเซนเซอร์มากมาย เพราะเครื่องดีเซลสมัยนี้ใช้เซนเซอร์มากมายทีเดียว การใช้เซนเซอร์ส่งสัญญาณจากจุดสำคัญๆ ไปยังอีซียู และการเพิ่มอัตราทดเป็น 6 จังหวะนั้น ยิ่งเพิ่มความต่อเนื่องได้มากขึ้นเครื่องยนต์ทำงานหนักน้อยลง เวลาขับขี่การเปลี่ยนจากเกียร์ 6 ลงมา 5 หรือ 4 ตามจังหวะการจราจรนั้น เมื่อต้องการเพิ่มความเร็ว แค่แตะคันเร่งเบาๆ ก็จะพบว่ามีแรงบิดที่รออยู่แล้ว ตัวรถจะพุ่งไปข้างหน้าทันทีเพราะการทดเกียร์ที่ซอยย่อยไว้เยอะ สามารถรักษารอบเครื่องในย่านที่มีแรงบิดสูงได้ตลอดเวลา การขับขี่จึงรู้สึกได้ถึงการตอบสนองที่ฉับไวตลอดเวลา ผลที่ตามมา คือ ไม่ต้องใช้รอบเครื่องมาก จึงทำให้การขับขี่โดยเฉพาะทางชั้นมีความต่อเนื่องตลอดเวลา และมีความประหยัดน้ำมันมากขึ้น เครื่องยนต์ดีเซลรุ่นใหม่ๆ รอบแรงบิดจะอยู่ในช่วงประมาณ 1,500-3,000 รตน. การซอยอัตราทดให้มากขึ้น จะเป็นการรักษาระดับแรงบิดของเครื่องยนต์ให้อยู่ในย่านนี้ เพื่อให้การถ่ายทอดกำลังเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จะเห็นได้อย่างชัดเจนโดยเฉพาะเวลาบรรทุกหนักๆ และปีนไต่ทางชัน ยิ่งวิ่งตัวเปล่า ยิ่งสัมผัสได้ถึงสมรรถนะ
เกียร์อัตโนมัติในรถกระบะรุ่นใหม่ๆ สมรรถนะไม่แตกต่างจากเกียร์ธรรมดาเลย อัตราเร่งจาก 0-100 กม./ชม. แตกต่างกันน้อยมาก ในปัจจุบันอาจแตกต่างกันเพียงครึ่งวินาทีเท่านั้น เรื่องอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันจะลดลงอย่างชัดเจน อัตราส่วนระหว่างระยะทางต่อลิตรดีขึ้น เช่น เกียร์ธรรมดาวิ่งได้ 15 กม./ลิตร เกียร์อัตโนมัติอาจสิ้นเปลืองมากกว่านิดหน่อย เช่น 14-14.5 กม./ลิตร นั่นเพราะจังหวะการเปลี่ยนเกียร์นั้นอยู่ภายใต้เงื่อนไขมากมาย ที่อีซียูประมวลผลได้ ไม่ต้องอาศัยความรู้สึก หรือจังหวะ แบบเกียร์ธรรมดาที่เปลี่ยนตามความรู้สึกของผู้ขับขี่ การเปลี่ยนเกียร์รอบสูงเกินไป หรือรอบต่ำเกินไป ก็ทำให้เครื่องยนต์สิ้นเปลืองน้ำมันมากขึ้น และเหนือกว่านั้น คือ ความสะดวกสบายในการขับขี่ที่ได้รับ การเดินทางมีสมาธิกับการควบคุมรถมากขึ้น โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการเปลี่ยนเกียร์ การเหยียบคลัทช์ หรือการเหลือบตามามองรอบเครื่องยนต์ หรือต้องคอยฟังเสียงเครื่องยนต์ ด้านความทนทานนั้น เกียร์ยุคใหม่ผ่านการทดสอบหลายแสน กม. คนส่วนใหญ่ใช้รถเฉลี่ย 2 แสน กม. ก็เปลี่ยนรถกันแล้ว การใช้งานลักษณะนี้ ถ้าเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ตามระยะที่เหมาะสม ขับขี่อย่างเหมาะสม เกียร์ยังไม่มีปัญหาอะไรเลย ค่าอะไหล่ และการซ่อม ปัจจุบันก็ถูกลงมาก ลองเปลี่ยนมุมมองใหม่ แล้วคุณจะรู้และสัมผัสได้ถึงสมรรถนะ และความสะดวกสบาย โดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังอีกต่อไป
ABOUT THE AUTHOR
พ
พหลฯ 30
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน มิถุนายน ปี 2555
คอลัมน์ Online : รู้ทันเทคนิค