ทุกเทคโนโลยีล้วนมีขีดจำกัด ดังนั้น เราจะเห็นการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งของเหล่าวิศวกร เพื่อให้ได้เทคโนโลยีที่ดีกว่ายิ่งขึ้นไปอีก เทคโนโลยีต่างๆ ที่เราใช้อยู่บางระบบอยู่ในช่วงสูงสุดที่อาจพัฒนาต่อไม่ได้แล้ว หรือต้องรอเวลาในการพัฒนาวัสดุ หรือส่วนอื่นๆ จึงจะสามารถก้าวต่อไปได้ จำเป็นต้องพัฒนาระบบอื่นที่ทำงานร่วมกันเพื่อเสริมให้เทคโนโลยีหลักมีประสิทธิ์ภาพยิ่งขึ้นไป โดยเฉพาะการขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ณ ปัจจุบันยังคงมีข้อจำกัดอยู่โดยเฉพาะเมื่อใช้ความเร็วรอบสูงสุดของมอเตอร์ นอกเหนือจากการสิ้นเปลืองพลังงานแล้ว ความเร็วสูงสุดของตัวรถถูกจำกัดด้วยรอบของมอเตอร์ไฟฟ้านั่นเอง
ใน MERCEDES-BENZ CLA (เมร์เซเดส-เบนซ์ ซีแอลเอ) รุ่นถัดไปจะใช้เทคโนโลยีการขับเคลื่อนที่เรียกว่า ELECTRIC DRIVE UNIT 2.0 บน พแลทฟอร์ม MMA (MERCEDES MUDULAR ARCHITECTURE) เป็นพแลทฟอร์มที่รองรับการพัฒนาทั้งรถ BEV และ HEV อยู่ ก่อนที่จะเปลี่ยนไปเป็นพแลทฟอร์มใหม่สำหรับรถ BEV ในเจเนอเรชันถัดไป จุดเด่นที่น่าสนใจของ MERCEDES-BENZ CLA คือ การขับเคลื่อนแบบ 4MATIC ด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าที่วิ่งได้ไกลขึ้น และในรุ่น HEV เป็นเทคโนโลยี HYBRID 48 V มาพร้อมระบบส่งกำลังแบบ 8F-EDCT (8-SPEED DUAL-CLUTCH TRANSMISSION)
จุดเด่นหลักๆ ของเทคโนโลยี 4MATIC ในรถกลุ่มนี้ คือ การวางรูปแบบของการขับเคลื่อนหลักไว้ที่ล้อหลังด้วยมอเตอร์กำลังสูงถึง 200 กิโลวัตต์ เป็นมอเตอร์แบบ PSM (PERMANENTLY EXCITED SYNCHRONOUS MOTOR) มีเกียร์ 2 จังหวะ สำหรับมอเตอร์หลัง ส่วนด้านหน้าใช้มอเตอร์ขนาด 80 กิโลวัตต์ หน้าที่หลัก คือ ช่วยเสริมแรงขับเคลื่อนให้แก่ตัวรถ โดยจะมีชุดควบคุม DCU (DISCONNECT UNIT) คอยตัดการทำงานระหว่างมอเตอร์ขับเคลื่อนล้อหน้า กับเพลาขับ ตัวรถใช้เทคโนโลยี 800 V ร่วมกับ INVERTER แบบ SIC (SILICON CARBIDE) ถ่ายทอดเทคโนโลยีจากแบทเตอรีความจุ 85 กิโลวัตต์ชั่วโมง รองรับ DC FAST CHARGE 320 กิโลวัตต์ สามารถวิ่งได้ไกล 750 กม. ตามมาตรฐาน WLTP
จุดเด่น คือ การลดความสูญเสียพลังงานจากแบทเตอรีผ่านระบบต่างๆ ก่อนลงสู่ล้อขับเคลื่อน มีประสิทธิภาพสูงถึง 93 % และรูปแบบการขับเคลื่อนแบบ 4MATIC นี้จะแตกต่างจากที่คุ้นเคย ในจังหวะที่รถออกตัว หรือต้องการประสิทธิภาพในการยึดเกาะสูงล้อทั้ง 4 จะขับเคลื่อนพร้อมกัน ในความเร็วลอยตัวจะตัดการทำงานของมอเตอร์ล้อหน้าออกไป การตัดการทำงาน คือ การทำให้ล้อกับมอเตอร์ถูกแยกจากกันด้วยชุด DCU (DISCONNECT UNIT) ทำให้ล้อคู่หน้าหมุนฟรี ส่วนมอเตอร์หลังที่มีกำลังสูงยังมีชุดเกียร์ถึง 2 จังหวะ เพื่อช่วยลดรอบการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้าลง ทำให้ประหยัดพลังงานมากยิ่งขึ้น โดยปกติความเร็วเดินทางที่ความเร็วราว 120 กม./ชม. มอเตอร์อาจจะหมุนถึง 8,000-10,000 รตน. ในมอเตอร์จังหวะเดียวจะทำให้มีความสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าสูงแบทเตอรีจะลดต่ำเร็วในมอเตอร์ที่มีอัตราทด 2 จังหวะ ในความเร็วเดินทาง 120 กม./ชม. ถ้าลดความเร็วรอบลงมาได้สัก 2,000-4,000 รตน. จะทำให้ประหยัดพลังงาน และวิ่งได้ไกลขึ้น เปรียบเทียบกับรถ ICE จะเห็นภาพชัดเจนว่าในความเร็ว 120 กม./ชม. ในเกียร์ 5 อาจจะใช้รอบเครื่องยนต์ราว 3,400-3,800 รตน. พอเปลี่ยนเป็นเกียร์ 6 ความเร็วตัวรถยังคงเท่าเดิม แต่รอบเครื่องยนต์จะลดลงเหลือราว 2,800-3,200 รตน. ทำให้เครื่องยนต์ทำงานน้อยลง และประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงมากขึ้น