ประกันภัย
ทิศทางธุรกิจประกันวินาศภัย ปี2556
หลังจากที่วงการประกันภัยได้เฮ ส้มหล่นได้เบี้ยประกันรถคันแรก 1.25 ล้านคัน ไปแล้ว และเคลมค่าสินไหมประกันด้านภัยพิบัติเริ่มคลายตัวมาเมื่อปีที่แล้ว คปภ. ก็ต้องมาเริ่มงานด้านความมั่นคงฐานะการเงินประกันภัยอีกครั้ง เพื่อปรับทิศทางให้เกิดการเตรียมพร้อมแข่งขันในตลาดอาเซี่ยน (AEC) และเพิ่มความแข็งแกร่งระบบเงินทุนสำรอง เพื่อไม่ให้บริษัทประกันภัยสั่นคลอนจากการจากขาดวินัยทางการเงิน และความผิดพลาดจากการบริหารความเสี่ยง
ในเบื้องต้น คปภ. ยอมยืดเวลาต่อลมหายใจ ให้บริษัทประกันวินาศภัย อีก 1 ปี ในการดำรงเงินกองทุน RBC 140 % เหตุมีบริษัทหลายแห่ง อาการร่อแร่ หลังสำลักน้ำจากมหาอุทกภัยปี 2554 ไม่สามารถขยายเงินกองทุนได้ทัน ชี้ต้องการเห็นบริษัทประกัน ฟื้นฟูกิจการ พร้อมเร่งหาทางเร่งชำระสินไหมให้ได้ตามแผนที่กำหนด
คปภ. โดย ประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบขยายเวลา มาตรการผ่อนผันจากกรณีอุทกภัย สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย ไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2557 เพื่อช่วยให้บริษัทประกันภัย มีระยะเวลาในการฟื้นฟูฐานะการเงิน และดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้ตามแผนการที่กำหนด
สืบเนื่องจาก เหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554 ที่ผ่านมา บอร์ด คปภ. ได้พิจารณามาตรการผ่อนผันกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการกำกับเงินกองทุน และการจัดสรรเงินสำรองที่ใช้บังคับกับบริษัทประกันวินาศภัย จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2556 เพื่อสร้างความยืดหยุ่นให้กับบริษัท มีความคล่องตัวในการจัดการค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัย
ปัจจุบัน การจ่ายค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ ส่วนใหญ่เป็นภาคอุตสาหกรรมที่มียอดสินไหมทดแทนที่สูงมาก บางรายยังอยู่ระหว่างการเจรจาตกลงยอดสินไหมทดแทน รวมถึงการเรียกชำระเงินคืนค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัยต่อ บอร์ด คปภ. จึงพิจารณาให้ขยายเวลามาตรการผ่อนผันบางมาตรการสำหรับความเสียหายจากกรณี อุทกภัย ให้บริษัทประกันวินาศภัย ออกไปอีก 1 ปี จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2557 ดังนี้
1. ขยายเวลายกเว้นการคำนวณเงินกองทุนสำหรับความเสี่ยงด้านการประกันภัย และยกเว้นการนำค่า PAD มารวมในการคำนวณเงินสำรองประกันภัย สำหรับค่าสินไหมทดแทนน้ำท่วม
2. ขยายเวลายกเว้นการคำนวณเงินกองทุนสำหรับความเสี่ยงด้านการกระจุกตัวจากการประกันภัยต่อ
3. ขยายเวลาการให้ส่วนลดเงินกองทุนสำหรับความเสี่ยงด้านเครดิทจากการประกันภัย ต่อออกไป แต่กำหนดให้บริษัททยอยดำรงเงินกองทุนในส่วนนี้เพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันได ดังนี้คือ วันที่ 1 เมษายน 2556-30 กันยายน 2556 ดำรงเงินกองทุนร้อยละ 25, วันที่ 1 ตุลาคม 2556-วันที่ 31 ธันวาคม 2556 ดำรงเงินกองทุน ร้อยละ 50, วันที่ 1 มกราคม 2556-31 มีนาคม 2557 ดำรงเงินกองทุน ร้อยละ 75, วันที่ 1 เมษายน 2557 เป็นต้นไป ดำรงเงินกองทุน ร้อยละ 100
4. ขยายเวลายกเว้นให้สามารถนับเบี้ยประกันภัยค้างรับจากการรับประกันภัยโดยตรง และเงินค้างรับเฉพาะส่วนค่าสินไหมทดแทนน้ำท่วมที่เรียกคืนจากผู้รับประกันภัยต่อ เป็นสินทรัพย์หนุนหลัง
5. ขยายเวลายกเว้นให้บริษัทไม่ต้องนำเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์และประเภท กระแสรายวัน ที่บริษัทมีไว้เพื่อการจ่ายสินไหมทดแทน และบริหารสภาพคล่องไปฝากไว้ที่ CUSTODIAN
ข้อมูลตัวเลขการจ่าย สินไหมชดเชยน้ำท่วม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2555 จากสำนักงาน คปภ. รายงานว่า มีผู้เรียกร้องสินไหมประกันภัยทรัพย์สินและประกันภัยเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) ทั้งระบบรวม 50,274 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายที่เรียกร้อง 4.19 แสนล้านบาท ได้รับการชดเชยแล้ว 3.29 แสนล้านบาท คงเหลือสินไหมคงค้างอีก 8.98 หมื่นล้านบาท แยกออกเป็นสินไหมจากการประกันภัยทรัพย์สินคือ ประกันภัยที่อยู่อาศัย 3.62 หมื่นราย มูลค่าความเสียหายรวม 3,093 ล้านบาท ได้รับการชดเชยแล้ว 3.58 หมื่นราย คิดเป็น 98.71 % มูลค่ากว่า 2,903.4 ล้านบาท โดยเหลือสินไหมคงค้างรอชดเชย 468 ราย คิดเป็นมูลค่าสินไหมรวม 189.58 ล้านบาท กลุ่มเอสเอมอี รวม 3,904 ราย มูลค่าความเสียหายรวม 1.22 หมื่นล้านบาท ได้รับการชดเชยแล้ว 3,591 ราย คิดเป็น 91.98 % มูลค่ากว่า 7,353.04 ล้านบาท โดยเหลือสินไหมคงค้างรอชดเชย 313 ราย คิดเป็นมูลค่าสินไหมรวม 4,796.63 ล้านบาท
ขณะที่กลุ่มประกันภัย ทรัพย์สิน (IAR) รวม 10,087 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 4.04 แสนล้านบาท ได้รับการชดเชยแล้ว 6,258 ราย คิดเป็น 62.04 % มูลค่ากว่า 3.2 แสนล้านบาท คงเหลือสินไหมคงค้างรอชดเชย 3,829 ราย คิดเป็นมูลค่า 8.5 หมื่นล้านบาท ยังไม่รวมสินไหมจากการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก มูลค่ารวม 3.51 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ภาพรวมของการจ่ายสินไหมจากมหาอุทกภัยปลายปี 2554 ในกลุ่มประกันภัยทรัพย์สิน มีการจ่ายสินไหมแล้ว 2.74 แสนล้านบาท คงเหลือสินไหมที่ตกลงและรอเอกสารจากผู้เอาประกันภัยประมาณ 4.57 หมื่นล้านบาท
หลายบริษัทประกันภัยต้องปรับตัวเพิ่มทุนเพื่อรองรับโครงสร้างทางการเงิน โดยปีที่ผ่านมา ได้แก่ บริษัท สมโพธิ์ เจแปน ฯ เพิ่มทุนจดทะเบียนกว่า 2.8 พันล้านบาท จากทุนเดิมที่มีเพียง 300 ล้านบาท บริษัท ทิพยประกันภัยเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 250 ล้านบาท จากเดิมมีอยู่ 300 ล้านบาท เป็น 550 ล้านบาท เพื่อรองรับการขยายธุรกิจในปี 2556 และสามารถรองรับการเติบโตเฉลี่ยสูงสุดต่อปีถึง 15 % ขณะที่บริษัท ไทยพาณิชย์สามัคคีประกันภัย ฯ มีระดับค่าความเพียงพอของเงินกองทุนสูงถึง 200 % แม้จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ คปภ. กำหนด
ในขณะเดียวกัน สำนักงาน คปภ. ?ก็ได้?เชิญสมาคมประกันวินาศภัย?ไทย ?และบริษัทประกันภัย ?เข้าร่วมประชุม?เพื่อรับทราบน?โยบาย ?แผนงาน?การกำกับผลิตภัณฑ์ประกันวินาศภัย ประจำปี 2556 รวม?ถึง?เปิดรับฟัง?ความคิด?เห็น?และข้อ?เสนอ?แนะต่างๆ ?เพื่อ?ให้?เกิด?ความคล่องตัว?ใน?การขับ?เคลื่อนธุรกิจประกันวินาศภัย?ให้? เติบ?โตอย่างมี?เสถียรภาพ ?โดยที่ประชุม?ได้มี?การหารือ?ในประ?เด็นสำคัญ สรุป?ได้ ดังนี้
1. การส่งเสริมการประกันภัยสำหรับรายย่อย นับเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยมุ่งเน้นพัฒนาการเข้าถึงระบบประกันภัยของประชาชนผู้มีรายได้น้อย ให้สามารถเข้าถึงระบบประกันภัยได้อย่างเพียงพอและทั่วถึง สอดคล้องกับแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 2 ของสำนักงาน คปภ. ซึ่งได้มอบหมายให้สมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทยศึกษากรมธรรม์ประกันภัยรายย่อยแบบมาตรฐาน เช่น กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลที่สามารถขายได้ทั้งบริษัทประกัน ชีวิต และบริษัทประกันวินาศภัย เพื่อจะได้ร่วมกันกำหนดรูปแบบกรมธรรม์ประกันภัย อัตราเบี้ยประกันภัย และช่องทางการจำหน่ายที่มีความเหมาะสมต่อไป
2. โครงการศูนย์กลางด้านสุขภาพ ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีนโยบายมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของสถานบริการ สุขภาพทุกระดับ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันกับต่างประเทศ ส่งผลให้ชาวต่างชาติให้ความสนใจ และเดินทางมารับบริการด้านสุขภาพในไทยมากขึ้น ภายใต้โครงการดังกล่าว ครม. ได้มีมติเห็นชอบให้ชาวต่างชาติที่ขอรับการตรวจลงตราวีซาเข้าประเทศไทย จะต้องซื้อประกันภัย และในขณะนี้ สำนักงาน คปภ. ได้ประสานสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทยมาหารือในหลักการแล้ว
3. โครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สำนักงาน คปภ. ร่วมกับ สมาคมประกันวินาศภัยไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) กรมอุตุนิยมวิทยา บมจ. ไทยรับประกันภัยต่อ และธนาคารโลก จัดทำรูปแบบการรับประกันภัยข้าวโพดสัตว์เลี้ยง สำหรับรายย่อยเสร็จเป็นรูปธรรมแล้ว และได้เริ่มเปิดขายในช่วงปลายเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา
4. โครงการสนับสนุนและร่วมจัดทำฐานข้อมูลสำหรับการประกันวินาศภัย ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านการประกันภัยที่จะช่วยสนับสนุนการกำกับดูแลและส่งเสริมธุรกิจประกันภัยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยสำนักงาน คปภ. ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกับสมาคมวินาศภัยไทยเพื่อจัดทำฐานข้อมูล ด้านการประกันภัย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดรูปแบบของการรายงานข้อมูล และจัดทำขั้นตอนการนำส่งข้อมูลเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งอุตสาหกรรม
คปภ. หวังว่าการประชุมร่วมกับภาคธุรกิจและสมาคมประกันวินาศภัยไทยในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสอันดียิ่งในการเปิดรับฟังความคิดเห็น และหาแนวทางร่วมกันในการสร้างมาตรฐานใหม่ ให้ธุรกิจประกันวินาศภัยไทย มีความเข้มแข็ง เติบโตต่อไปได้อย่างมีเสถียรภาพ สามารถก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ได้อย่างแข็งแรงทั้งในเชิงรับ และเชิงรุก มีช่องทางการจำหน่าย และผลิตภัณฑ์ประกันวินาศภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบบรายย่อย หรือ ไมโครอินชัวแรนศ์ที่หลากหลาย ให้ประชาชนทุกระดับสามารถเข้าถึงการประกันภัยได้อย่างพอเพียง และทั่วถึง รวมถึงมีการประสานความร่วมมือระหว่าง สำนักงาน คปภ. และบริษัทประกันภัยในการสร้างฐานข้อมูลด้านการประกันภัยที่มีความแม่นยำซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนต่อไป
ABOUT THE AUTHOR
ก
กฤชกมล นิติธรรมโกศล
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน พฤษภาคม ปี 2556
คอลัมน์ Online : ประกันภัย