ประกันภัย
ใช้ประกันรถอย่างไรถึง "คุ้ม"
ทุกวันนี้ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม เรามักจะคำนึงถึง "ความคุ้มค่า" ก่อนเสมอ มันเป็นสิ่งแรกที่พ่อแม่ หรือผู้หลักผู้ใหญ่มักจะต้องสั่งสอนลูกๆ และคนรุ่นหลังเสมอว่า ถ้าจะลงทุนทำอะไร ซื้ออะไร ให้คิดอย่างรอบคอบ คิดหน้าคิดหลังไว้ก่อนเสมอว่าได้เสีย คุ้มหรือเปล่า ถ้าได้ไม่คุ้มเสีย ก็อย่าทำ อย่าซื้อ อันนี้เป็นการเตือนใจแต่เริ่มแรกก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง เมื่อตัดสินใจทำอะไร ซื้ออะไรไปแล้วก็ต้องทำและใช้ ให้มันคุ้ม อย่างที่ตั้งใจไว้แต่แรก เช่น เราจะซื้อรถยนต์สักคัน จะต้องถามตนเองก่อนว่า จะซื้อมาทำอะไร...คนที่คิดไม่เป็น ก็จะตอบสวนกลับไปทันทีว่า ซื้อมาใช้สิ ถามอะไรโง่ๆ ใครเขาซื้อรถยนต์มาเก็บ หรือเอามาใช้บูชา
อันที่จริงที่เขาตอบมานั้น ก็มีส่วนถูกอยู่ส่วนหนึ่ง คือ ทุกคนก็ซื้อรถยนต์มาใช้นั่นแหละ แต่การใช้ของแต่ละคนมีวัตถุประสงค์ มีต้นทุน มีความคุ้มค่า ไม่เหมือนกัน บางคนซื้อรถมาใช้เพียงแค่ขับไปไหนมาไหน บางคนซื้อมาเพื่อขับไปจ่ายตลาด บางคนซื้อเพื่อขับรับ/ส่ง ลูกไปโรงเรียน บางคนซื้อไว้สำหรับขับพาครอบครัวไปเที่ยวพักผ่อนต่างจังหวัดช่วงวันหยุด บางคนซื้อไว้เป็นรถสำรอง เผื่อคันที่ใช้อยู่เสีย หรือเข้าอู่ซ่อม จะได้มีรถอีกคันทดแทนกัน หรือขับสลับกันบ้างในบางครั้ง ในขณะที่บางคนซื้อมาเพื่อใช้ขับไปทำงาน บางคนก็ซื้อมาไว้ใช้เป็นเครื่องมือประกอบอาชีพทำมาค้าขาย บรรทุกของส่งลูกค้า แต่ละคนต่างก็มีเหตุผลในการซื้อรถมาใช้ตามวัตถุประสงค์ของตนเอง
แต่ก็มีอีกหลายคนที่ซื้อรถยนต์บางรุ่นมาเก็บไว้ดูเล่นเป็นของสะสม ของควรอนุรักษ์ที่ตนเองชื่นชม บางครั้งก็ให้คนอื่นชื่นชมบ้างบางโอกาส บางคนอาจถามว่ามีด้วยหรือ ตอบว่ามีสิครับ คนที่เขาชื่นชอบ เขาก็ซื้อเก็บ อย่างเราจะเห็นในงานประกวดรถโบราณ หรืองานแสดงรถยนต์ทั่วไปแต่ละปี ก็จะมีการนำรถบางรุ่นที่เจ้าของรักมาแสดงโชว์ด้วย ซึ่งรถเหล่านั้น ซื้อมาเก็บ มากกว่าซื้อมาใช้วิ่งในท้องถนน เพราะต้องมีการดูแลรักษาเป็นอย่างดี ถ้าจะนำมาวิ่งบ้างก็เป็นครั้งเป็นคราวในงานขบวนแห่ทางประเพณีต่างๆ เช่น วันสงกรานต์ วันเข้าพรรษา และวันสำคัญๆ หรือมิฉะนั้นก็เป็นการใช้ประกอบการแสดงภาพยนตร์ บางเรื่องบางตอน ปัญหามีอยู่ว่าแล้วจะใช้ให้มันคุ้มค่า คำว่า "คุ้ม" มันอยู่ที่ตรงไหน มันไปเปรียบเทียบกับอะไร ?
คุ้มค่าทางการเงินที่ลงทุนไป หรือคุ้มค่ากับการได้เวลาเหลือมากขึ้น หรือคุ้มค่าที่มันช่วยสร้างรายได้ สร้างกำไรในการทำมาค้าขาย หรือคุ้มค่าทางสังคมที่คนอื่นชื่นชมสมฐานานุรูป หรือคุ้มค่าทางจิตใจที่มีในสิ่งที่คนอื่นเขาไม่มี อันนี้ต้องแล้วแต่ว่า แต่ละคนจะมีวัตถุประสงค์ หรือตั้งเป้าหมายกันอย่างไร บางคนซื้อรถมาแล้วใช้ไม่คุ้มก็มีจำนวนมาก เช่น ซื้อมาเพื่อใช้ในการทำการค้า แต่พอถึงเวลากลับขี้เกียจ ทำๆ หยุดๆ รถจอดเสียมากกว่าวิ่ง แทนที่จะไปทำการค้ากลับเอาแต่นอน เอาแต่เที่ยวเตร่ อย่างนี้ ถือว่าเอาเงินไปลงทุนซื้อรถมาใช้ไม่คุ้มตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ หลายคนบอกเสียเงินซื้อรถมาแล้วต้องใช้ให้มันคุ้ม ตะบี้ตะบันขับอย่างไม่ปรานีปราศรัยเช้ายันค่ำ ค่ำยันเช้า ลุยไปทุกหนทุกแห่ง ขึ้นเขาลงห้วย หลุมบ่อก็ตะลุยวิ่งมันเข้าไป โดยไม่มีการดูแลรักษารถให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ใช้ไปไม่นานรถก็เสีย วิ่งไม่ได้ต้องจอดซ่อม งานที่ทำก็ไม่มีรถใช้ แล้วยังต้องมาเสียเงินค่าซ่อมรถอีก และถ้ายังมีพฤติกรรมการใช้รถในลักษณะอย่างนี้ต่อไปอีก รถที่ซื้อมาที่บอกจะใช้ให้คุ้ม มันก็จะยิ่งไม่คุ้ม เพราะมันจะยิ่งเพิ่มค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษามากยิ่งขึ้น
อันนี้เรายังไม่ได้พูดไปถึงความคุ้มค่าของชีวิตเจ้าของรถ และคนขับด้วยนะครับ ที่บางคนขับรถแข่งราวกับพายุ ขับรถด้วยความเร็วสูง ขับรถด้วยความประมาทขาดสติ เมาแล้วขับ อะไรในทำนองนี้ รับรองเลยว่า ใช้รถแบบนี้ไม่มีคำว่าคุ้ม เพราะมีแต่รายจ่ายเข้ามาตลอด ไม่ว่าจะค่าซ่อมรถ ค่าปรับ ค่าเสียหายคู่กรณี ค่ารักษาพยาบาลของตนเองและผู้อื่น สุดท้ายอาจเป็นค่าทำศพของเครือญาติและตนเอง นั่นหมายถึง ลงทุนไปซื้อรถแล้วใช้ไม่คุ้มค่าของชีวิตด้วย ในแง่ของประกันภัยรถยนต์ หรือประกันภัยทุกชนิดก็คล้ายๆ กับการลงทุนซื้อรถนั่นแหละ การซื้อประกันภัยต้องจ่ายเงินค่าเบี้ยประกันภัยแน่นอน ดังนั้นก่อนซื้อจะต้องตั้งวัตถุประสงค์ให้แน่ชัดก่อนว่าเรา ต้องการอะไร และต้องจ่ายเงิน หรือลงทุนเท่าไร ประโยชน์ที่จะได้รับมีอะไรมากน้อยแค่ไหน สอดคล้อง กับวัตถุประสงค์ความต้องการของเราหรือไม่
ตัวอย่าง การประกันภัยตาม พรบ. วัตถุประสงค์ของกฎหมาย คือ ให้ความคุ้มครองคนทุกคนที่ต้อง ประสบภัยจากรถ ไม่ว่าจะเป็นคนขับ คนนั่ง คนในรถคนอื่น คนเดินถนน จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายจากการทำประกันภัยตาม พรบ. แต่มีวงเงินคุ้มครองเบื้องต้นจำนวนจำกัดไม่เกิน 50,000-100,000 บาท มุ่งหวังให้สามารถบรรเทาความเสียหายแก่ชีวิตร่างกายที่เกิดจากรถเป็นการเบื้องต้น ไม่รวมถึงความเสียหายทางคดีอาญา การประกันตัวผู้ขับขี่คดีอาญา ความเสียหายของตัวรถคันที่เอาประกัน ความเสียหายของรถคันอื่น และความเสียหายทรัพย์สินของบุคคลภายนอก
การที่เราจะซื้อประกันภัยตาม พรบ. อย่างเดียว ตามที่กฎหมายบังคับ เราก็ต้องยอมที่จะรับความเสี่ยง ที่เหลือเอง ถ้าเราคิดว่าเรารับได้ เพราะเราขับรถดีมากตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยขับรถชนอะไรเลยทั้งคนทั้ง รถคันอื่น รถของเราก็ไม่เคยมีรอยบุบรอยครูดจากการเฉี่ยวชนเลย อย่างนี้ซื้อประกันแบบ พรบ. อย่าง เดียวก็น่าจะคุ้มสุด ประหยัดสุด แต่ถ้าคิดว่า พรบ. อย่างเดียวมันอาจจะเสี่ยงไปหน่อย เพราะที่ผ่านมาก็เคยวิ่งไปชนท้ายชาวบ้านเขา และก็เห็นการเฉี่ยวชนของรถที่วิ่งอยู่ตามท้องถนนอยู่ทุกวันมันดูว่าไม่ปลอดภัยไม่ควรเสี่ยงเท่าไรนัก กระนั้นเลยเพิ่มเงินค่าเบี้ยอีกเล็กน้อย ซื้อประกันแบบประเภท 3 ไว้น่าจะคุ้มค่ากว่า ถ้าวันดีคืนดีเกิด แจคพอทไปเฉี่ยวชนใครเขาก็มีประกันภัยมาช่วยชดใช้ให้เกิดความอุ่นใจสบายอุรา สำหรับรถเราก็เก่าแล้ว มีแผลบ้างเล็กๆ น้อยๆ ก็ช่างมัน 2-3 ปี ซ่อมสักครั้งก็ยังได้ เก็บเงินค่าประกันแบบที่ต้องจ่ายแพงๆ มาเป็นค่าซ่อมเองดีกว่า อย่างนี้ซื้อประเภท 3 ก็เพียงพอ
แต่ถ้ารถเรายังใหม่กลัวหายก็สามารถเลือกจ่ายเบี้ยประกันเพิ่มตามกำลัง ถ้าเป็นประเภท 2 ก็เพิ่มคุ้มครองรถหาย ไฟไหม้ ถ้าเป็นประเภท 1 ก็คุ้มครองรวมตัวรถคันเอาประกันในการที่จะซ่อมแซมให้ จากการ เฉี่ยว ชน คว่ำ เพิ่มเข้าไปด้วย เรียกว่าเป็นการคุ้มครองแบบรวมความเสี่ยงทุกชนิด ซึ่งมักเป็นที่นิยมของคนทั่วไป แต่เราก็ต้องยอมรับว่าต้องจ่ายเบี้ยประกันที่แพงขึ้น ถ้าติดว่าเสี่ยงภัยมากก็น่าจะทำแบบประเภท 1 นอกจากนี้เรายังสามารถที่จะเพิ่ม หรือลดเบี้ยประกันในการทำประกันครั้งแรก หรือปีแรก และปีต่อๆ ไปได้จากการเพิ่มหรือลดเงื่อนไข ในประกันภัยภาคสมัครใจประเภท 1 หรือ 2 หรือ 3 ได้ เช่น การเพิ่มเงื่อนไขคุ้มครองประกันตัวผู้ขับขี่คดีอาญา การเพิ่มเงื่อนไขคุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคลผู้ขับขี่และผู้โดยสารในรถประกันให้สูงขึ้นกว่าประกันภัยตาม พรบ. รวมทั้งค่ารักษาพยาบาลส่วนเพิ่มก็สามารถซื้อ เพิ่มเติมได้ โดยการแจ้งวัตถุประสงค์และจ่ายเบี้ยเพิ่มอีกเล็กน้อย ส่วนการลดเบี้ยประกันก็สามารถทำได้โดยการ ซื้อประกันแบบระบุชื่อผู้ขับขี่ก็จะได้ส่วนลดตั้งแต่ 5-20 % ตามแต่ช่วงอายุของผู้ขับขี่ การซื้อประกันแบบยอมรับผิดชอบเองในความเสียหายส่วนแรกก็สามารถลดเบี้ยประกันได้ตั้งแต่ 1,000-5,000 บาท
นอกจากนี้ถ้าเรามีประวัติการขับรถดีจากประกัน บริษัทเดิมของปีที่ผ่านมามาแสดง ก็จะสามารถลดเบี้ยประกันได้อีก 20-50 % ซึ่งถ้ารวมส่วนลดแล้วก็ ต้องถือว่าประหยัดได้มาก เป็นการซื้อที่คุ้มมากที่สุด การจะใช้ประกันให้คุ้มหลังจากซื้อประกันมาแล้ว หลายคนมักคิดซื้อประกันภัยแล้วใช้ให้คุ้มเหมือนการ ไปกินบุฟเฟท์ คือ กินให้ได้มากที่สุด เลือกของแพงที่สุด การทำประกันภัยรถก็เช่นกันก็จะตะบี้ตะบัน เคลมทุกอย่างให้มันคุ้ม เดี๋ยวชนโน้น เฉี่ยวนี่ เดี๋ยวซ่อมรถตัวเอง เดี๋ยวซ่อมรถคู่กรณี ปีหนึ่งๆ หลายครั้ง ไม่มีความระมัดระวังในการขับรถ โดยอ้างว่าเป็นสิทธิที่จะเคลมเพราะซื้อประกันมาแล้ว เคลมนะมัน เคลมได้ แต่อย่างนี้เรียกว่าใช้ประกันไม่เป็นไม่คุ้ม เพราะรถเราซื้อมาใช้ เราควรจะใช้ได้ครบ 365 วัน ไม่ใช่ไปซ่อมในอู่ 3 เดือน 6 เดือน นอกจากไม่ได้ใช้ แล้ว รถที่ชนมากเคลมมากซ่อมมาก ยังทำให้รถช้ำมากเสื่อมค่าราคาตกในตอนขายต่อ ในปีต่ออายุ ประกันเบี้ยประกันก็จะถูกปรับเพิ่ม ทำให้ต้องจ่ายเบี้ยแพงขึ้นอีก อย่างนี้รับรองว่าใช้ประกันไม่คุ้มแน่ นอน คำว่าคุ้มจึงหมายถึง การที่จ่ายน้อยลงไปเรื่อยๆ ประหยัด แต่ยังได้ประโยชน์สูงสุดในทุกๆ ด้าน ไม่ใช่ยิ่งใช้ยิ่งแพง ยิ่งใช้ยิ่งมีมูลค่าเสื่อมถอย มันคุ้มหรือ จริงไหมครับ
ABOUT THE AUTHOR
ก
กฤชกมล นิติธรรมโกศล
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน ธันวาคม ปี 2556
คอลัมน์ Online : ประกันภัย