ประกันภัย
การทำประกันภัยรถยนต์ที่ใช้แกส
ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เป็นที่รับทราบและประจักษ์แจ้งแก่คนไทยและแทบทุกคนในโลกว่าราคาน้ำมันแพงมาก สมัยก่อนเราเคยใช้น้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล ลิตรละไม่ถึง 10 บาท แต่วันนี้มันกลายเป็นน้ำมันเบนซินลิตรละเกือบ 50 บาท
หลายคนทำใจยอมรับกับมันไม่ได้ เกิดการต่อต้าน ประท้วง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เดือดร้อนมากๆ เช่น ชาวประมงที่ใช้เรือจับปลา เรือต้องใช้น้ำมัน น้ำมันจึงเป็นต้นทุนหลัก พอน้ำมันมันแพงขึ้นมากๆ ก็ไม่สามารถจะออกไปจับปลาได้ เพราะปลาที่จับมาได้ขายไปก็ได้ราคาไม่คุ้มค่าน้ำมันที่เป็นต้นทุน ครั้นจะขายปลาให้ราคาแพงขึ้นเป็น 2-3 เท่า อย่างต้นทุนราคาน้ำมันที่มันแพงขึ้นมา มันก็ทำไม่ได้ เพราะไม่มีใครรับซื้อ ผลที่สุด คือ ชาวประมงต้องหยุดออกไปจับปลาไปโดยปริยาย
เราคงเคยได้ยินข่าวเรื่องของชาวประมงประท้วงและนัดหยุดการจับปลา หรือ ปิดอ่าว เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือจัดหาน้ำมันราคาถูก หรือลดราคาน้ำมันให้ผู้ประกอบการประมงโดยเฉพาะ เพราะชาวประมงไม่สามารถผลักภาระให้ใครได้ ซึ่งรัฐบาลก็ต้องจัดงบประมาณช่วยเหลือ โดยเฉพาะเรือประมงชายฝั่ง หรือเรือประมงขนาดเล็ก เรือประมงน้ำตื้น ซึ่งไม่สามารถจะออกไปเติมน้ำมันราคาถูกกลางทะเลหลวงได้
ที่บอกว่าน้ำมันกลางทะเลหลวงเป็นน้ำมันราคาถูก ก็เพราะว่ามันไม่มีภาระภาษีและค่าการตลาด โดยให้บริการสำหรับเรือเดินสมุทร และเรือประมงขนาดใหญ่ หรือเรือประมงน้ำลึก เราต้องยอมรับว่าในขณะที่ราคาน้ำมันในประเทศราคาสูงมีองค์ประกอบหลายประการ คือในราคาน้ำมันที่ขายทุกวันนี้ มีต้นทุนน้ำมันดิบจริงๆ บวกกับค่ากลั่นรวมกันประมาณครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งจะเป็น ค่าภาษีสรรพสามิต ค่าภาษีธุรกิจ หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ค่าการตลาด และกำไร ดังนั้นน้ำมันในทะเลหลวงก็จะถูกกว่าน้ำมันในประเทศอย่างน้อยเกินครึ่งราคาแน่นอน
เท่าที่ทราบมาจากผู้ที่ทำธุรกิจน้ำมัน ถ้าเปรียบเทียบราคาน้ำมันดีเซลที่ขายอยู่ในประเทศกับน้ำมันกลางทะเลหลวง น้ำมันกลางทะเลหลวงจะมีราคาเพียงไม่เกิน 1 ใน 3 ของราคาขายในประเทศ หรือราคาถูกกว่า 65-70 % เราไม่ว่ากันนะครับ เพราะราคาน้ำมันในประเทศมีค่าภาษี ต่างๆ ตัวภาษีก็เป็นรายได้รัฐที่จะนำเอามาบูรณะประเทศ แต่ที่คนส่วนใหญ่ข้องใจกันหนักหนาก็คือ ราคาน้ำมันที่ขายกันในประทศของเรามันสอดคล้องความเป็นจริงแล้วหรือ ? มีใครได้ประโยชน์จากราคาที่สูงขึ้นหรือเปล่า ? หรือที่ราคามันสูงมากขณะนี้มีต้นทุนอะไรแฝงอยู่กว่าความเป็นจริงหรือเปล่า ? ทำไมต้องขึ้น/ลงโดยอ้างอิงราคาของสิงคโปร์ ทั้งที่ไม่ได้ซื้อน้ำมันจากสิงคโปร์ มีการพูดถึงคำถามและตอบคำถามนี้มีมามากมายหลายครั้ง แต่ประชาชนก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน หรือพูดชัดๆ คือ ไม่เชื่อมั่นในคำตอบที่ผู้เกี่ยวข้องใช้อ้างถึงความจำเป็นที่ว่านั้น
จริงๆ แล้วราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมันมีผลกระทบในทุกด้านของชีวิต เพราะมันเป็นปัจจัยต้นทุนหลักในการผลิตและการบริการทั้งหลาย ไม่ว่าผลิตไฟฟ้า ผลิตสินค้า การให้บริการขนส่งทุกชนิด ล้วนแล้วแต่ต้องมีต้นทุนจากราคาน้ำมันทั้งสิ้น ที่เห็นได้ชัดเจน คือ การขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นทางไหน ทางบก ทางเรือ ทางอากาศ น้ำมันเป็นต้นทุนหลักทั้งหมด จะให้รัฐบาลมาลดราคาน้ำมันช่วยทั้งหมดก็คงไม่ได้ เพราะรัฐก็มีงบประมาณจำกัด ขณะเดียวกันก็ต้องมีรายได้จากภาษีเพื่อใช้จ่ายในการบริหารประเทศตามงบประมาณประจำปีที่ตั้งไว้ ตอนนี้ที่รัฐบาลทำได้ คือ การหาพลังงานทดแทนน้ำมัน หรือน้ำมันที่เพิ่มส่วนผสมอื่นๆ ที่ทำให้ราคาถูกกว่าน้ำมันแท้ๆ เช่น แกสโซฮอล แกส แอลพีจี (LPG) และแกส ซีเอนจี (CNG) ซึ่งได้มีการศึกษาวิจัย และเริ่มใช้กันมากขึ้นทุกวันนี้
ประเด็นที่เราจะพูดคุยกันวันนี้ คือ การประกันภัยรถยนต์ที่ใช้พลังงานทดแทนที่นอกเหนือจากน้ำมัน เพราะกำลังเป็นข่าวกันอยู่ทุกวันนี้ ด้วยความไม่มั่นใจในความปลอดภัยของหลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเจ้าของรถ กรณีความปลอดภัยของเครื่องยนต์กลไก ความปลอดภัยในการติดตั้งและระหว่างใช้งาน โดยเฉพาะรถที่ใช้แกส ซึ่งเคยมีข่าวรถคันหนึ่ง (ขอไม่บอกบแรนด์) เกิดการระเบิดเสียหายหลังจากการไปติดตั้งถังแกส ถึงกับมีข่าวว่าบริษัทประกันภัยปฏิเสธจะไม่รับประกันภัยรถยนต์ที่มีการดัดแปลงไปใช้แกสต่างๆ โดยอ้างเงื่อนไขการดัดแปลง หรือติดตั้งอุปกรณ์อื่นที่ทำให้เกิดการเสี่ยงภัยมากขึ้นโดยไม่แจ้งให้บริษัททราบก่อน
และมีหลายบริษัทประกันก็ประกาศเป็นนโยบายว่าจะไม่รับประกันภัยรถยนต์ที่มีการติดตั้งระบบแกสทั้งหลายในเรื่องนี้ ท่านอธิบดีกรมการประกันภัย ในฐานะที่กรม ฯ รับผิดชอบกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ได้ออกมาแถลงว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวหนังสือพิมพ์ว่า บริษัทประกันภัยไม่รับประกันภัยรถยนต์ที่ใช้แกส ซีเอนจี น่าจะเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน ตามข้อเท็จจริงการประกันภัยรถยนต์แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. การประกันภัยรถตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ปี 2535 (ภาคบังคับ) บริษัทประกันภัยทุกบริษัท จะต้องรับประกันภัยรถทุกชนิด ทุกบริษัทจะปฏิเสธการรับประกันภัยไม่ได้ หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎหมายปรับตั้งแต่ 50,000-250,000 บาท
2. การประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ (ประเภท 1, 2, 3, 4 ) การรับประกันภัยขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัท บางบริษัทอาจเน้นที่การรับประกันภัยรถยนต์นั่ง รถยนต์โดยสาร แต่ไม่เน้นการรับประกันภัยรถยนต์รับจ้างสาธารณะ เป็นต้น ซึ่งขึ้นอยู่กับความถนัดและความชำนาญของแต่ละบริษัทเอง
นอกจากนี้การรับประกันภัยรถยนต์ของบริษัทไม่ได้คำนึงถึงว่ารถยนต์คันนั้นๆ ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง หรือเชื้อเพลิงใดในการขับเคลื่อน แต่จะพิจารณาจากประเภทและลักษณะการใช้รถเป็นสำคัญ ซึ่งหากรถยนต์ที่ใช้แกส ซีเอนจี ได้มีการติดตั้งอุปกรณ์การใช้แกส ซีเอนจี ที่มีมาตรฐานความปลอดภัยก็ไม่มีปัญหาที่บริษัทประกันภัยจะรับประกันภัย
และในขณะนี้ก็มีหลายบริษัทที่รับประกันภัยรถที่ใช้แกส ซีเอนจี ซึ่งส่วนใหญ่เป็น "รถแทกซี" โดยจากจำนวนรถแทกซีทั้งหมดประมาณ 80,000 คัน เป็นรถแทกซีที่ใช้แกส แอลพีจี (แกสหุงต้ม) ซึ่งมีการใช้มานานแล้ว และรถแทกซีที่ใช้แกส ซีเอนจี
ซึ่งจากประเด็นข่าวที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากการที่มีบางบริษัทซึ่งไม่เคยรับประกันภัยรถแทกซีมาก่อน ได้ปฏิเสธการรับประกันภัย ทำให้ผู้เอาประกันภัยเข้าใจว่าบริษัทปฏิเสธเพราะเป็นรถที่ใช้แกส ซีเอนจี แต่อย่างไรก็ตามบริษัทที่รับประกันภัยรถแทกซีอยู่ในขณะนี้สามารถรองรับความต้องการทำประกันภัยได้อย่างพอเพียงกับจำนวนรถแทกซีที่มีอยู่แล้ว
ท่านอธิบดี ฯ ได้ย้ำว่าการรับประกันภัยของบริษัทประกันภัย ไม่ได้คำนึงถึงว่าเป็นรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงชนิดใดในการขับเคลื่อน แต่จะพิจารณาจากประเภท และลักษณะการใช้รถเป็นสำคัญ ดังนั้น หากประชาชนท่านใดถูกบริษัทประกันภัยปฏิเสธการรับประกันภัยเนื่องจากการใช้แกส ซีเอนจี หรือ แอลพีจี ก็ตาม ขอความกรุณาแจ้งให้กรมการประกันภัยทราบ เพื่อจะได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการประกันภัยรถภาคบังคับ หากมีบริษัทใดปฏิเสธการรับประกันภัย กรมการประกันภัยจะได้ลงโทษตามกฎหมายโดยเคร่งครัดต่อไป
ABOUT THE AUTHOR
ก
กฤชกมล นิติธรรมโกศล
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน ตุลาคม ปี 2556
คอลัมน์ Online : ประกันภัย