ประกันภัย
กู้ 2 ล้านล้านบาทดันธุรกิจประกันภัยโตอีก
เนื่องจากเรื่องทิศทางธุรกิจประกันภัย จะมีการปรับตัวโตขยายต่อเนื่อง หลังจากได้รับอิทธิพลนโยบายรัฐบาล โครงการคืนภาษีรถคันแรกกว่า 1.25 ล้านคัน และ พรบ.ภัยพิบัติแห่งชาติ กระตุ้นให้คนซื้อประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินเพิ่ม ตลอดจนภาครัฐปรับเงื่อนไขให้ประกันไทยเตรียมพร้อมสู่ตลาดรวมอาเซียน (AEC)
ในขณะเดียวกัน คปภ. ก็ยังประเมินว่า ธุรกิจประกันภัยอยู่ในภาวะปัจจัยเสี่ยงสูง เพราะธุรกิจประกันภัย เป็นธุรกิจที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของตัวเลขสถิติ การเกิดภัย ประสิทธิภาพในการประกอบธุรกิจ และอัตราดอกเบี้ยในตลาด หากผู้ทำธุรกิจประกันภัย มีความรู้ความเข้าใจในผลกระทบ ที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจ และธุรกิจ ประกันภัย ก็เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบธุรกิจ สร้างภูมิคุ้มกันด้วยการบริหารจัดการ ลงทุนด้วยความระมัดระวัง และดำเนินนโยบายการดำเนินงานอย่างรอบคอบ
ดังนั้นภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องยังต้องเร่งพัฒนาบุคลากรขององค์กร ให้มีความรู้ ความสามารถมากขึ้น โดยเฉพาะฝ่ายตัวแทน หรือนายหน้า ที่จะต้องมีความรู้ และความเข้าใจในการประกันภัย โดยตัวแทนจะต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิต/ประกันวินาศภัย ที่ผ่านการอบรมจากสำนักงาน คปภ.? หรือ ผ่านการอบรมจากสถาบัน หรือ หน่วยงานที่สำนักงาน คปภ. ให้ความเห็นชอบ เพื่อให้ตัวแทน/นายหน้าประกันภัย ได้มีการพัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่อง และสามารถนำความรู้ดังกล่าวไป ให้คำแนะนำและบริการแก่ประชาชน รวมทั้งผู้เอาประกันภัยอย่างถูกต้องเหมาะสม สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไปตามเศรษฐกิจและสังคมด้วย
บทเรียนการเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2554 ถือเป็นบททดสอบถึงความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรม ประกันภัยการรับมือกับเหตุการณ์ความเสี่ยงที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจประกันภัย ต้องนำบทเรียนต่างๆ มาทบทวนอย่างมาก เกี่ยวกับความผันผวน หรือความแปรปรวนของภูมิอากาศ รวมถึงความเสี่ยงต่างๆ จากโลกาภิวัตน์ ซึ่งการเชื่อมโยงกันทั้งหมดนี้ สามารถนำไปสู่การหยุดชะงักของธุรกิจ และธุรกิจประกันภัยไทยจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว และกำหนดราคาที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในปี 2556 ประกอบด้วย 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพในระยะสั้นบนความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ เช่น อัตราเงินเฟ้อ ความไม่สมดุลของเงินบัญชีเดินสะพัด และความผันผวนของเงินทุนไหลเข้า เป็นต้น
อย่างไรก็ตามภาคธุรกิจประกันวินาศภัย คาดว่าแนวโน้มธุรกิจยังเติบโตขยายอย่างต่อเนื่อง ทั้งประกันรถยนต์จากโครงการคืนภาษีที่เริ่มทยอยส่งรถตามที่กำหนดนัด และภาคก่อสร้าง จากโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลตาม พรบ. เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท และยังกระแสต่างชาติปรับลดเบี้ยประกันและเงื่อนไขประกันภัยทรัพย์สินหลังจากปีที่ผ่านมา ไม่มีการจ่ายเคลมอะไรมากมาย
ทั่งนี้นายกสมาคมประกันวินาศภัย มองว่า น่าจะยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการรับประกันภัยรถยนต์ ที่ได้รับอานิสงส์จากโครงการคืนภาษีรถยนต์คันแรกของรัฐบาล ซึ่งส่งผลให้สัดส่วนการรับประกันภัยรถยนต์ ปรับเพิ่มขึ้น จากระดับ 65 % ในปีก่อน มาอยู่ที่ระดับ 70 % ในปีนี้
ในส่วนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ถือเป็นความหวังของธุรกิจประกันวินาศภัย ภาคการก่อสร้างอย่างมหาศาล เนื่องจากมีเบี้ยประกันภัย มูลค่าค่อนข้างสูง ซึ่งภาคธุรกิจต้องเตรียมศักยภาพด้านบริการของบริษัทให้พร้อม เพราะแม้มีเบี้ยประกันภัยรับเข้ามามากขึ้น แต่ศักยภาพการให้บริการไม่พร้อม ก็จะกลายเป็นดาบสองคมให้บริษัทถูกมองในแง่ลบ และส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของธุรกิจในภาพรวม เช่น มี รถยนต์รอค้างซ่อมนานหลายเดือน เป็นต้น
"ประกันวินาศภัยพอร์ทใหญ่มาจากประกันภัยรถยนต์กว่า 65-70 % หากยอดขายรถยนต์เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แม้โครงการรถยนต์คันแรกหมดอายุลง ก็น่าจะทำให้เบี้ย ประกันภัย รับทั้งปีเติบโตได้ทะลุ 2 แสนล้านบาทเป็นปีแรก หรืออาจเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด หากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเกิดขึ้นจริง"
ในมุมมองของบริษัทประกันภัยขนาดใหญ่อย่าง บมจ. ทิพยประกันภัย เห็นว่า โครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท จะเป็นปัจจัยหนุนให้ธุรกิจประกันวินาศภัย ขยายตัวได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ เช่น รถไฟฟ้าสายสีต่างๆ โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท รวมถึงโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยของภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้เบี้ยประกันภัยภาคการก่อสร้าง แต่ละปีอยู่ที่ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10 % ของเบี้ย ประกันภัยรับรวมในแต่ละปี ซึ่งอยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท แต่หากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเริ่มเปิดให้มีการแข่งขันราคาภายในปีนี้ เชื่อว่าจะทำให้ประกันภัย ก่อสร้าง ซึ่งเป็นประกันภัยในกลุ่มเบ็ดเตล็ดขยับตัวเพิ่มขึ้น 0.1 % หรือมีเบี้ยประกันภัย 2-3 พันล้านบาท
ในปี 2555 ที่ผ่านมานั้น บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด มีรายได้จากการรับประกันภัย เบ็ดเตล็ด 947.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58 % จากปี 2554 ซึ่งอยู่ที่ 599.16 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่มาจากประกันภัยก่อสร้างขนาดใหญ่ ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) ประกันภัยอากาศยาน และโครงการลงทุนของรัฐบาล ซึ่งในปี 2556 จะยังคงให้ความสำคัญกับการรับประกันภัย ร่วมกับบริษัทในเครือ เช่น บริษัท ไทยศรีประกันภัย ฯ โดยเข้าไปเสนอราคารับประกันภัยแบบรวมแพค เช่นเดียวกับช่วงที่ผ่านมา ที่เข้าไปรับประกันภัยรถไฟฟ้าสายสีแดง
ในส่วนกองทุนประกันภัยพิบัติแห่งชาติ เตรียมปรับลดเบี้ยประกันภัย จากการที่คณะกรรมการตาม พรบ. บริหารน้ำ สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน ทำให้กองทุนส่งเสริมประกันภัยพิบัติ ประเมินครบรอบ 1 ปี บริหารน้ำท่วมสำเร็จอยู่ในภาวะใกล้ปกติ อาจปรับลดเบี้ยประกันภัยน้ำท่วมได้อีก จากที่ความเสี่ยงสูงแตะ 13 % ลดลงใกล้ภาวะปกติที่ 1 % ลดเบี้ยประกันภัย
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมประกันภัยพิบัติ เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกองทุน ฯ ตลอดระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกองทุน ฯ ตามพระราชกำหนดกองทุนส่งเสริมประกันภัยพิบัติ ปี 2555 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2555 จนถึงวันที่ 21 มีนาคม 2556 ภายหลังจากที่ประเทศไทยประสบภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ในช่วงปลายปี 2554 ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว เพราะเบี้ยประกันภัยน้ำท่วมที่เคยสูง 12-13 % เริ่มปรับลดลงเข้าใกล้ภาวะปกติแล้ว
ความเสียหายของบ้านเรือนประชาชน ตลอดจนโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่ตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรม จากภัยน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 คิดเป็นเม็ดเงินหลายแสนล้านบาท ทำให้รัฐบาลตัดสินใจตั้งกองทุนส่งเสริมประกันภัยพิบัติ ในวงเงิน 50,000 ล้านบาท เพื่อลดความเสี่ยงภัยทางด้านเศรษฐกิจ ให้แก่ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไป
โดยกองทุน ฯ ได้กำหนดเบี้ยประกันภัยอัตราเดียวทั่วประเทศ สำหรับแต่ละกลุ่มระหว่าง 0.50 % จนถึง 1.25% ในลักษณะของกรรมธรรม์แบบจำกัดความรับผิด (SUB LIMIT) โดยเริ่มต้นจาก
1. บ้านเรือนที่อยู่อาศัย จ่ายเบี้ยประกันภัย 0.50 % หรือ 500 บาท/ปี จะได้รับความคุ้มครองไม่เกิน 100,000 บาท
2. SME ที่มีทุนประกันภัย ไม่เกิน 50 ล้านบาท จำกัดความรับผิดไม่เกิน 30 % ของทุนประกันภัย จ่ายเบี้ยประกันภัย 1 % หรือ 500,000 บาท/ปี และ
3. ซึ่งเป็นกลุ่มสุดท้าย คือ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จำกัดความรับผิดไม่เกิน 50 % ของทุนประกันภัย จ่ายเบี้ยประกันภัย 1.25 %
ผู้ที่ซื้อประกันภัยดังกล่าวจะได้รับความคุ้มครอง 3 ภัย ประกอบด้วย
ภัยน้ำท่วมกรณีที่ 1. น้ำท่วมพื้นอาคารจะได้รับความคุ้มครอง 30 % ของวงเงินการจำกัดความรับผิด
ภัยน้ำท่วมกรณีที่ 2. ระดับน้ำสูง 50 ซม. จากพื้นอาคารจะได้รับความคุ้มครอง 50 % ของวงเงินการจำกัดความรับผิด
ภัยน้ำท่วมกรณีที่ 3. ระดับน้ำสูง 75 ซม. จากพื้นอาคารได้รับความคุ้มครอง 75 % ของวงเงินการจำกัดความรับผิด และ
ภัยน้ำท่วมกรณีที่ 4. ระดับน้ำสูง 100 ซม. จากพื้นอาคารจะได้รับความคุ้มครองเต็มวงเงิน คือ ไม่เกิน 100,000 บาท ส่วน 2 ภัยที่เหลือ คือ ภัยจากแผ่นดินไหวต้องมีความรุนแรงตั้งแต่ 7 ริคเตอร์ขึ้นไป และภัยจากลมพายุ ต้องมีความเร็วลมตั้งแต่ 120 กม./ชม. ขึ้นไป
จากที่รัฐบาลจัดตั้งกองทุน ฯ ทำให้เบี้ยประกันภัย ที่ปรับตัวสูงขึ้นแตะ 1213 % ของทุนประกันภัย ขณะนี้ลดลงมาอยู่ที่ 2 3 % แสดงให้เห็นว่า นักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะบริษัทรับประกันภัยต่อจากต่างประเทศ หรือ REINSURER เริ่มกลับเข้ามารับประกันภัยน้ำท่วมอีกครั้ง ด้วยการเสนอเบี้ยประกันภัยที่ถูกลง
การฟื้นความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติกลับคืนไม่ใช่เรื่องง่าย หรือทำแบบเล่นๆ การมีกองทุน ฯ ไม่ได้เป็นสิ่งที่ยืนยันว่าน้ำจะไม่ท่วมอีก แต่การที่รัฐบาลผลักดัน พรบ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ และสร้างอนาคตประเทศวงเงิน 350,000 ล้านบาท เท่ากับเป็นการตอกย้ำให้นักลงทุนต่างชาติ รับทราบข้อมูลอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลเอาจริงเอาจังกับเรื่องดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมแบบซ้ำซาก
ผลพวงจากการจัดตั้งกองทุน ฯ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติที่ยังมีความคุ้มครองอยู่ 808,119 ฉบับ เบี้ยประกันภัย 558 ล้านบาท ทุนประกันภัยพิบัติ 75,926 ล้านบาท โดยเป็นทุนประกันภัยต่อ 52,123 ล้านบาท และเบี้ยประกันภัยต่อ 420 ล้านบาท โดยไม่มีการเรียกร้องสินไหมทดแทนแม้แต่บาทเดียว
เลขาธิการ คปภ. ในฐานะกรรมการบริหารกองทุน ฯ (บอร์ด) กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่จะลดเบี้ยประกันภัยของกองทุน ฯ ให้ลดลงต่ำกว่าในปัจจุบัน เพราะภาระเบี้ย ประกันภัยที่ระดับ 2-3 % นั่นก็หมายถึง จำนวนผู้ซื้อประกันภัยจะเพิ่มจำนวนขึ้นนั่นเอง
ABOUT THE AUTHOR
ก
กฤชกมล นิติธรรมโกศล
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน กรกฏาคม ปี 2556
คอลัมน์ Online : ประกันภัย