“สื่อสากล” ผู้จัดงาน “มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 33” จัดโครงการ “Motor Expo Professional Seminar” เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างภาครัฐและเอกชน ผ่านการสัมมนาในหัวข้อ “ประเทศไทยพร้อมก้าวสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้าแล้วหรือยัง ? ณ ห้องจูปิเตอร์ 4-7 ชาลเลนเจอร์ Impact เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2559วิทยากรในการสัมมนาครั้งนี้ ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ละท่านได้แสดงความคิดเห็นไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้ ดร. ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ให้ความเห็นว่า “การที่ทุกฝ่ายได้มาพูดคุยกันก่อนเข้าสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้า ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพื่อหาทางออกให้แก่ปัญหาต่างๆ โดยการจะเริ่มใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยคงต้องดูสภาพตลาดอีก 1-2 ปี และต้องมีข้อสรุปที่ชัดเจนจากภาครัฐ ไม่เช่นนั้นผู้บริโภคอาจจะสับสนได้” ธนวัฒน์ คุ้มสิน นายกสมาคมยานยนต์ไทย (TAIA) กล่าวว่า “การที่เมืองไทยจะเข้าสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้ยอดส่งออกจากปีที่แล้วตกลงเล็กน้อย ข้อดีของรถไฟฟ้า คือ มลพิษจะลดลง กรณียานยนต์ไร้คนขับต้องออกกฎระเบียบร่วมกัน เช่น เมื่อเกิดอุบัติเหตุใครจะเป็นคนรับผิดขอบ ต้องมีการสรุปให้รอบคอบ รัดกุม จะทำให้การเข้าสู่ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นไปอย่างราบรื่น” สุพจน์ สุขพิศาล รองเลขาธิการสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย (TAPMA) แสดงความเห็นว่า “การเปลี่ยนแปลงควรเริ่มที่ค่ายรถยนต์ และมีนโยบายจากภาครัฐให้การสนับสนุน เพื่อให้เดินไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนสมาคมฯ ต้องมีการปรับตัวหาจุดแข็ง และคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า” อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เผยถึงความพร้อมด้านสถานีบริการไฟฟ้าในประเทศไทยว่า “ทาง ปตท. พยายามปรับสถานีบริการให้มีมากกว่าการเติมน้ำมัน นั่นคือ การปรับให้เป็น “Community Mall” มีร้านค้าไว้บริการ ส่วนในอนาคต ทาง ปตท. เตรียมสร้างสถานี PTT EV Station ไว้รองรับแล้ว ถ้ายานยนต์ไฟฟ้าเข้ามา ไม่มีปัญหาแน่นอน” ยุทธพงษ์ ภาษี นายกสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ไทย กล่าวถึงบทบาทของสื่อมวลชนในการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยว่า “คนทั่วไปยังไม่ค่อยใจว่า คำว่า รถยนต์ไฟฟ้า คืออะไร ยังเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเพราะยังไม่มีรถยนต์ตัวจริง ให้ได้สัมผัส ภาครัฐและสื่อมวลชน ต้องส่งเสริมให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างจริงจัง” ดร. ณัฐพล รังสิตผล ผู้ตรวจการกระทรวงอุตสาหกรรม แสดงแนวคิดปิดท้ายว่า “ในการเดินไปข้างหน้า ต้องดูว่าผลิตภัณฑ์เรามีอะไรบ้าง เราควรส่งเสริมอะไรก่อนอะไรหลัง ที่สำคัญหลายส่วนต้องร่วมมือกันจริงจัง ถ้าก้าวแรกทำได้ดีแล้ว ก้าวต่อไปคงไม่ยาก” บทสรุปของการสัมมนาครั้งนี้ คือ ประเทศไทยพร้อมที่จะก้าวสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้า ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกันกำหนดมาตรการ และขั้นตอนอย่างชัดเจน เหมาะสม เป็นธรรม และรวดเร็วทันความเปลี่ยนแปลงของโลก