เรื่องน่ารู้
5 กฎใหม่ เพื่อความปลอดภัย คสช. สั่งลุย บังคับใช้ทันที
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย และความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน "Autoinfo" สรุปสาระสำคัญของมาตรการดังกล่าวมาให้เข้าใจกันง่ายๆ
1. ให้ตำรวจมีอำนาจ ในการเคลื่อนย้ายรถ
การจอดรถในพื้นที่ห้ามจอด นอกจากฝ่าฝืนกฎหมายจราจรแล้ว ยังสร้างความเดือดร้อนให้ผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน เป็นเหตุให้รถติด เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ และไม่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งข้อกฎหมายใหม่นี้มีความเข้มงวดและจริงจังมากขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถใช้เครื่องมือไม่ให้รถคันดังกล่าวไม่ให้รถเคลื่อนย้ายได้ อาจใช้วิธีการลอคล้อ หรือวิธีการอื่นที่ผู้บังคับบัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนด รวมถึงมีอำนาจเคลื่อนย้ายรถไปยังพื้นที่ที่ควบคุมดูแลใกล้เคียง เช่น สถานีตำรวจ มาตรการดังกล่าว นับเป็นข้อดีที่ช่วยให้การจราจรมีระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น สามารถเคลื่อนย้ายรถออกจากบริเวณดังกล่าว ที่อาจขัดขวางการเดินรถทำให้การจราจรติดขัดได้อย่างรวดเร็ว แต่ในส่วนเจ้าของรถหรือผู้ขับขี่หากกระทำผิดต้องเป็นผู้ชำระค่าใช้จ่าย ที่รถถูกเคลื่อนย้าย หรือใช้เครื่องมือไม่ให้รถเคลื่อนที่ (ลอคล้อ) ตลอดจนค่าดูแลรักษารถระหว่างที่อยู่ในความครอบครองของเจ้าพนักงาน อีกทั้งเจ้าพนักงานจราจร หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ไม่ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงาน ยกเว้นความเสียหายที่เกิดจากความจงใจ หรือประมาทสรุป
ถ้าเราจอดรถขวางการจราจร ในที่ห้ามจอด เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเคลื่อนย้ายรถ หรือลอคไม่ให้รถเคลื่อนที่ได้ทุกเมื่อ และเจ้าของรถต้องไปเสียค่าปรับ ค่ายกรถ รวมถึงค่าดูแลรักษาด้วย โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่รับความผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น เว้นแต่จงใจหรือประมาท2. คนขับและผู้โดยสารทุกตำแหน่ง ต้องรัดเข็มขัด
ที่ผ่านมาประเทศไทยมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตมากเป็นอันดับ 2 ของโลก (ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกปี 2557) จึงจำเป็นต้องมีมาตรการให้มีความปลอดภัย ลดการสูญเสียได้มากที่สุด โดยมาตรการใหม่นี้ได้ระบุไว้ว่า สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลต้องรัดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง (ตามตำแหน่งเข็มขัดนิรภัยที่ติดตั้งในรถคันดังกล่าว) ไม่ว่าจะเป็นคนขับ หรือผู้โดยสาร หากเป็นรถโดยสารสารธารณะ รถตู้ รถแทกซี หรือรถทัวร์ ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยด้วยเช่นกัน โดยคนขับต้องแจ้งให้ผู้โดยสารรัดเข็มขัดนิรภัยก่อนออกรถ หรือจะต้องติดป้ายแจ้งเตือนให้ผู้โดยสารรัดเข็มขัดนิรภัยตลอดการเดินทาง หากคนขับรถได้แจ้งไปแล้ว แต่ผู้โดยสารไม่ปฏิบัติตาม หรือปลดออกระหว่างทาง ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพบ ต้องถูกปรับทั้งคนขับและผู้โดยสาร ยกเว้นคนขับได้ยืนยันว่าบอกให้ผู้โดยสารคาดเข็มขัดนิรภัยไปแล้ว แต่ผู้โดยสารไม่ยอมคาด ทางคนขับจะไม่ถูกปรับ และปรับเฉพาะผู้โดยสาร โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดูที่เจตนาเป็นหลัก ส่วนรถกระบะที่ติดตั้งหลังคาด้านหลังเพิ่มเติม ให้ดูว่ามีการจดทะเบียนไว้แบบใด มีกี่ที่นั่ง ก็ให้คาดเข็มขัดตามจำนวนที่นั่งที่ระบุไว้ ส่วนในรถสองแถว ตามโครงสร้างรถไม่สามารถติดตั้งเข็มขัดนิรภัยได้ แต่จะใช้มาตรการอื่นควบคุมดูแลกันต่อไป สำหรับค่าปรับ หากเจ้าหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบกตรวจพบ ผู้ประกอบการถูกปรับ 50,000 บาท คนขับและผู้โดยสารปรับ 5,000 บาท แต่หากเป็นกฎหมายตาม พรบ. จราจร เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นคนจับกุม รถโดยสารสาธารณะจะถูกปรับ 1,000 บาท ส่วนรถยนต์ส่วนบุคคลปรับ 500 บาทสรุป
คนขับและผู้โดยสาร ต้องรัดเข็มขัดทุกที่นั่ง ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล และรถโดยสาร เช่น รถตู้ โดยดูที่หนังสือจดทะเบียนรถเป็นหลัก ถ้านั่ง 5 คน ก็ต้องรัด 5 ที่นั่ง ตามมาตรฐานการติดตั้งเข็มขัดนิรภัยของรถรุ่นนั้นๆ เว้นแต่รถสองแถว ต้องใช้มาตรการอื่นดูแล 3. ได้ใบสั่ง แต่ไม่จ่ายค่าปรับ งดต่อภาษี เป็นที่ถกเถียงกันมานาน สำหรับกรณีที่โดนใบสั่ง แล้วไม่ได้ชำระ จะต่อทะเบียน เสียภาษีประจำปีได้หรือไม่ วันนี้มีความชัดเจนขึ้นแล้ว หากใบสั่งออกให้หลังจากวันที่ 21 มีนาคม 2560 ต้องเสียค่าปรับให้ครบถ้วน ไม่เช่นนั้น จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย และงดออกป้ายการเสียภาษี ขั้นตอนการออกใบแจ้งเตือน เมื่อผู้ขับขี่ได้รับใบสั่ง แล้วไม่ชำระค่าปรับหรือชำระไม่ครบถ้วน พนักงานเจ้าหน้าที่ตำแหน่งสารวัตรขึ้นไป จะออกหนังสือแจ้งการไม่ปฏิบัติตามใบสั่งไปให้ผู้ขับขี่ทราบไปก่อน ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ครบกำหนดชำระค่าปรับตามที่ระบุในใบสั่ง และให้ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถชำระค่าปรับที่ค้างชำระ ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้ง หากเจ้าของรถไม่ชำระค่าปรับภายใน 15 วัน พนักงานเจ้าหน้าที่จะแจ้งจำนวนค่าปรับที่ค้างชำระพร้อมหลักฐาน ไปยังนายทะเบียน ให้ตรวจสอบข้อมูลและแจ้งให้ผู้มาติดต่อชำระภาษีประจำปีสำหรับรถคันนั้นทราบอีกครั้ง เพื่อไปชำระค่าปรับที่ค้างชำระภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้ง ถ้าเจ้าของรถยังไม่ชำระค่าปรับหรือชำระไม่ครบถ้วนภายใน 30 วันอีก พนักงานเจ้าหน้าที่จะแจ้งต่อนายทะเบียนให้งดการออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปีสำหรับรถคันดังกล่าว และให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามหน้าที่ต่อไป อย่างไรก็ตามหากผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถ เห็นว่าตนไม่ได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา สามารถทำหนังสือโต้แย้งข้อกล่าวหาได้ภายใน 15 วันสรุป
ถ้าได้รับใบสั่งตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2560 ต้องจ่ายค่าปรับสถานเดียว และถ้าไม่จ่าย จะต่อภาษีไม่ได้ แต่ถ้าเห็นว่าได้รับใบสั่งไม่ถูกต้อง สามารถทำหนังสือโต้แย้งภายใน 15 วัน4. รื้อเบาะรถตู้ให้เหลือ 13 ที่นั่ง และพกสมุดประจำรถตลอดเวลา
มาตรการนี้ออกมาเพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้ที่โดยสารรถตู้โดยเฉพาะ ให้ผู้โดยสารมีความคล่องตัวมากขึ้นในการเปิดประตูด้านข้างและด้านหลัง สามารถออกจากตัวรถได้อย่างรวดเร็ว ขณะเกิดอุบัติเหตุรุนแรง โดยปกติแล้วรถตู้โดยสารที่ขับในพื้นที่ กทม. จะมี 15 ที่นั่ง และรถตู้ขับระหว่างจังหวัดมี 14 ที่นั่ง ตามมาตรการเดิมที่เคยระบุไว้ โดยมาตรการล่าสุดสั่งให้ผู้ประกอบการหรือเจ้าของรถต้องนำเบาะท้ายสุดของรถตู้ออกไป 1 ที่นั่ง รวมทั้งเบาะกลางระหว่างคนขับกับผู้โดยสารตอนหน้าอีก 1 ที่นั่ง รวมแล้ว 2 ที่นั่ง โดยมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา แต่ยังอนุโลมให้ใช้รถได้ ต้องนำเบาะออกภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ออกประกาศ โดยมีเสียงวิพากวิจารณ์จากผู้ประกอบการรถตู้จำนวนมาก ที่ได้กำไรน้อยลงต่อการวิ่งรถหนึ่งเที่ยว เพราะผู้โดยสารหายไป 1-2 คน นอกจากนี้รถโดยสารสาธารณะต้องจัดทำสมุดประจำรถ (มีประวัติคนขับ พร้อมตรวจสอบสภาพรถและความพร้อมคนขับ) หากขับรถเร็ว ประมาท บรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนที่กฎหมายกำหนด ทิ้งผู้โดยสารกลางทาง เก็บค่าโดยสารเกินกำหนด ผู้ประกอบถูกระงับ หรือพักใช้ใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่เกิน 6 เดือนสรุป
รถตู้ทุกคันต้องปรับที่นั่งให้เหลือ 13 ตำแหน่ง โดยเอาเบาะแถวหลังสุดออก และเบาะด้านหน้ารถที่อยู่ติดกับคนขับออก อย่างละ 1 รวม 2 ที่นั่ง และต้องมีสมุดประจำรถ ถ้าบรรทุกเกิน ขับเร็ว ทิ้งผู้โดยสาร จะถูกระงับใบอนุญาตทันที5. ห้ามนั่งท้ายกระบะ รวมถึงแคบ
ยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับกฎหมายห้ามนั่งบริเวณท้ายกระบะ รวมถึงแคบหลังของรถกระบะแบบ 2 ประตู ซึ่งหากฝ่าฝืน มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท โดยล่าสุด ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกมาชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจมากขึ้นว่า วัตถุประสงค์ของแคบ คือ มีไว้เพื่อตั้งวางสิ่งของเท่านั้น ที่ผ่านมากลับมีการใช้บรรทุกคนจนเคยชิน ซึ่งแคบนั้นไม่มีอุปกรณ์สำหรับความปลอดภัยของผู้ที่นั่งอยู่ในแคบ และไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้คนนั่ง และใช้รถไม่ตรงตามประเภทที่จดทะเบียนไว้ โดยช่วงระยะแรกจะผ่อนปรนการบรรทุกผู้โดยสารภายในแคบเป็นกรณีไป โดยหากพิจารณาว่ามีความจำเป็นและเดินทางไม่ไกลจะใช้การตักเตือน แต่หากพบการบรรทุกในเชิงรับจ้างขนส่ง เช่น รถที่ดัดแปลงให้คนนั่ง 2 ชั้นตรงกระบะท้าย เช่นนี้เจตนาขนคนชัดเจน ก็จะถูกจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย ทั้งนี้กรณีที่เจ้าของรถไปติดตั้งเข็มขัดนิรภัยที่แคบหลังนั้น ต้องผ่านการตรวจรับรองประเภทรถจากกรมขนส่งทางบกก่อน ถ้าได้รับการรับรองว่าสามารถให้คนโดยสารได้ตามกฎหมายก็สามารถนั่งได้สรุป
ห้ามนั่งบริเวณท้ายกระบะ รวมถึงแคบหลังของรถกระบะแบบ 2 ประตู ฝ่าฝืน มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท แต่ช่วงที่เริ่มบังคับใช้จะผ่อนปรน ตักเตือนไปก่อน ส่วนกรณีที่เจ้าของรถไปติดตั้งเข็มขัดนิรภัยที่แคบหลังนั้น ต้องผ่านการตรวจรับรองประเภทรถจากกรมขนส่งทางบกก่อนเท่านั้นABOUT THE AUTHOR
ก
กองบรรณาธิการบทความและสารคดี
ภาพโดย : ฝ่ายภาพ imcคอลัมน์ Online : เรื่องน่ารู้