กรมการขนส่งทางบก โดยกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร และสำนักงานขนส่งจังหวัดทุกแห่ง ประชุมถอดบทเรียนเครือข่ายเยาวชนปฏิบัติการเพิ่มความปลอดภัยทางถนนจากสถานศึกษาสู่ชุมชน “YOURS Network” มุ่งสร้างแกนนำเยาวชนและเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนนระดับพื้นที่ทั่วประเทศ
กมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบก โดยกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร ดำเนินโครงการศึกษาถอดบทเรียนการดำเนินงานตามโครงการเครือข่ายเยาวชนปฏิบัติการเพิ่มความปลอดภัยทางถนนจากสถานศึกษาสู่ชุมชน “YOURS Network” เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจ และสร้างความตระหนักด้านความปลอดภัยทางถนน พัฒนาให้เกิดแกนนำเยาวชนและเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนนระดับพื้นที่ และมีบทบาทเป็นผู้นำด้านความปลอดภัยจากอุบัติเหตุจราจรภายในและภายนอกโรงเรียน มีบทบาทในการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรในการอำนวยความสะดวกบริเวณหน้าโรงเรียนและในโรงเรียน อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือครู-อาจารย์ ในการจัดระเบียบการจราจรในโรงเรียน และขยายผลไปยังเพื่อนนักเรียนให้มีวินัยจราจรในการใช้รถใช้ถนน และการขับขี่รถอย่างปลอดภัย โดยได้นำร่องดำเนินการในสำนักงานขนส่งจังหวัด จำนวน 5 พื้นที่ ได้แก่ จันทบุรี สงขลา ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ และสระแก้ว ทั้งนี้ สำหรับการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อการขยายต่อยอดโครงการเครือข่ายเยาวชนปฏิบัติการเพิ่มความปลอดภัยทางถนนจากสถานศึกษาสู่ชุมชน “YOURS Network” ได้เลือกสำนักงานขนส่งจังหวัดจันทบุรีและสำนักงานขนส่งจังหวัดสงขลา เป็นภาพแทนพื้นที่เพื่อถอดบทเรียนการดำเนินงาน ปัจจัยความสำเร็จ รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะรูปแบบที่เป็นประโยชน์ต่อการขยายโครงการในจังหวัด โดยมีเป้าหมาย คือ 1) ได้รูปแบบและแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมและสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนได้จริง 2) ได้แนวทางการพัฒนาโครงการเครือข่ายยาวชนปฏิบัติการเพิ่มความปลอดภัยทางถนนจากสถานศึกษาสู่ชุมชน “YOURS Network” และข้อเสนอแนะสำหรับสนับสนุนโครงการต่อไป 3) เจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบกตระหนักและเห็นความสำคัญของโครงการเครือข่ายเยาวชนปฏิบัติการเพิ่มความปลอดภัยทางถนนจากสถานศึกษาสู่ชุมชน “YOURS Network” และเข้าใจแนวทางการดำเนินโครงการฯ เพื่อนำไปสู่ตัดสินใจร่วมขยายผลโครงการฯ ต่อไปให้ครอบคลุมทั้งประเทศ
รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับจังหวัดจันทบุรีสามารถแสดงภาพแทนของบริบทพื้นที่ภาคตะวันออกที่มีปัญหาเรื่องการเดินทางไปโรงเรียนของเด็กนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา ทำให้เด็กนักเรียนต้องใช้รถจักรยานยนต์ในการเดินทางและเกิดอุบัติเหตุเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในกลุ่มเด็กและเยาวชน ในขณะที่จังหวัดสงขลาสามารถเป็นภาพแทนของบริบทพื้นที่ภาคใต้ เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ การลงทุน การท่องเที่ยว และเป็นทางผ่านเพื่อเชื่อมต่อไปยังจังหวัดที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ทำให้มีปริมาณการจราจรค่อนข้างสูง ส่งผลต่อจำนวนการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่ ปี 2559 ที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นจำนวน 5,247 ครั้ง โดยกลุ่มผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นนักเรียนและนักศึกษา ทั้งนี้ ประเทศไทยถูกจัดอันดับจากองค์การอนามัยโลกให้เป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศลิเบีย ด้วยอัตราการเสียชีวิต 36.2 ราย ต่อประชากรแสนคน หรือปีละ 24,237 ราย หากพิจารณาจากข้อมูลมรณบัตรปี 2554-2557 พบว่า กลุ่มเยาวชน อายุ 15-19 ปี เป็นกลุ่มที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุด เฉลี่ยปีละ 1,688 ราย โดยเฉพาะหากนับรวมกลุ่มอายุ 0-14 ปี พบว่า มีจำนวนผู้เสียชีวิตในกลุ่มอายุ 0-19 ปี เฉลี่ยปีละ 2,509 ราย ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนนจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเสริมด้านความปลอดภัยทางถนนกับเด็กและเยาวชน