รถยนต์ไฟฟ้า (EV) กำลังเติบโตในทิศทางที่สอดรับกับกระแสโลก เห็นได้ชัดจากค่ายผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกต่างมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้าออกมาตลอดเวลา ส่งผลให้บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ต้อง “ปรับตัว” เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าไปพร้อมกับปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบันปตท.จับมือ WM ลุยตลาดรถไฟฟ้า สำหรับประเทศไทยการปรับตัวเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า ค่อยๆ เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น ล่าสุด บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัทด้านพลังงานยักษ์ใหญ่ของไทย ได้มองธุรกิจใหม่โดยร่วมมือกับ WM Motors ผู้ผลิตรถรถยนต์ไฟฟ้า (EV) บแรนด์ Weltmeister (WM Motors มียอดขายมากกว่า 10,000 คัน เป็นอันดับที่ 1 ของกลุ่มบริษัท EV Startup ในประเทศจีน) เพื่อศึกษาธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าในด้านการลงทุนโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย พร้อมกับการต่อยอดธุรกิจด้านแบทเตอรี และผลิตภัณฑ์พลาสติคของกลุ่ม ปตท. รวมถึงความเป็นไปได้ของ ปตท. ในการเป็นผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าของ WM Motors เพื่อเป็นศูนย์กลางส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Shell และ Chevron ปรับตัวแล้วในต่างประเทศ ก่อนหน้านี้ Shell ประเทศอังกฤษได้ประกาศติดตั้งแท่นชาร์จ ความเร็วสูงกำลัง 150 kW ไว้ที่ปั๊ม Shell สาขาใหญ่บนถนน Queenstown Road ก่อนจะติดตั้งแท่นชาร์จความเร็ว 50kW ในปั๊มน้ำมัน 34 แห่ง ทั่วประเทศอังกฤษ โดย Shell ประกาศว่าจะเพิ่มแท่นชาร์จมากกว่า 100 แท่น ทั่วสหราชอาณาจักรในอนาคต เช่นเดียวกับ Shell ในประเทศสิงคโปร์ ได้ประกาศติดตั้งแท่นชาร์จพลังงานสูง (Fast-charger) 50 kW ใน 10 สถานีทั่วประเทศ Chevron บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกาก็เริ่มขยับตัวเช่นกัน โดยพวกเขาประกาศร่วมกับ EVgo (บริษัทแท่นชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า) เพื่อทำการตั้งแท่นชาร์จของ EVgo ไว้ในปั๊มน้ำมันของพวกเขา 5 แห่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นรัฐที่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) มีปริมาณมากที่สุดในอเมริกา แล้วบริษัทน้ำมัน และปิโตรเคมีของไทยปรับตัวอย่างไร ? ทิศทางประเทศไทยของเราได้มีการวางกลยุทธ์ปรับตัวเข้าสู่ธุรกิจใหม่เช่นกัน อย่าง ปตท. ที่ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานแบบแบทเตอรี และไฮโดรเจน ตลอดจนสร้างโรงงานแบทเตอรีต้นแบบที่สถาบันวิทยสิริเมธี จ. ระยอง ผลิตแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน และแบทเตอรีลิเธียมซัลเฟอร์ ที่สามารถประจุไฟฟ้าได้มากกว่าปกติ 3 เท่า อีกทั้ง ปตท. ยังเปิดให้บริการสถานีชาร์จไฟฟ้า (PTT EV Station) แล้ว 14 แห่ง และต่อยอดพัฒนาเครื่องชาร์จไฟฟ้าแบบติดผนัง (EV Wall Charger) เพื่อจำหน่ายให้ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ารายย่อย ขณะที่ บางจาก ได้ลงทุนสตาร์ตอัพ เอนเนเวท ของสหรัฐฯ (บริษัทผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีการผลิตลิเธียมแบทเตอรีสำหรับใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า) เพื่อผลิตแบทเตอรีสำหรับรถไฟฟ้า ที่สามารถชาร์จได้เร็วกว่าการชาร์จทั่วไปถึง 10 เท่า และวิ่งได้ไกลกว่าถึง 30 % ซึ่ง บางจาก จะต่อยอดเทคโนโลยีให้เป็นสถานีชาร์จรถไฟฟ้าในอนาคต ที่สามารถชาร์จได้รวดเร็วเทียบเท่ากับการเติมน้ำมัน พร้อมมีแผนลงทุนร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าในปั๊มบางจากทุกๆ 100 กิโลเมตร ตามถนนสายหลักรวม 62 สถานี ภายในปี 2021 ส่วนผู้ค้าน้ำมันอื่นๆ เช่น คาลเทกซ์ ซัสโก ได้ติดตั้งจุดบริการชาร์จไฟฟ้าภายในปั๊มของตนเองบางแห่ง ภายใต้เครื่องหมายการค้า EA Anywhere ของบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ เพื่อเพิ่มทางเลือกด้านพลังงานให้กับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ รู้จักรถไฟฟ้าค่าย WM Motors พันธมิตร ปตท. จากที่ ปตท. ได้ร่วมมือกับผู้ผลิตรถไฟฟ้าค่าย WM Motor เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ที่จะผลิต และจำหน่ายในประเทศไทย โดยรถไฟฟ้ารุ่นที่ถูกคาดการณ์ให้เป็นเรือธง คือ Weltmeister EX5 เป็นรถครอสส์โอเวอร์เอสยูวี ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 218 แรงม้า สามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ภายใน 8.3 วินาที โดยมีด้วยกัน 4 รุ่นย่อย แต่ละรุ่นจะแบ่งตามระยะทาง(กิโลเมตร)ที่วิ่งได้ ประกอบด้วย EX5-300 ติดตั้งแบทเตอรีขนาด 48 kWh ทำระยะทางการวิ่งได้ 300 กม. , EX5-400 ติดตั้งแบทเตอรีขนาด 52.5 kWh ทำระยะทางการวิ่งได้ 400 กม. , EX5-500 ติดตั้งแบทเตอรีขนาด 56.9 kWh ทำระยะทางการวิ่งได้ 500 กม. และรุ่น EX5-520 ติดตั้งแบทเตอรีขนาด 69 kWh ทำระยะทางการวิ่งได้ 520 กม. โดยทุกรุ่นมีขนาดตัวถังเท่ากัน ยาว 4,585 มม. กว้าง 1,835 มม. สูง 1,672 มม. และระยะฐานล้อ 2,703 มม. สำหรับ EX5 เป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่มีจำหน่ายในประเทศจีนแล้ว มีราคาเริ่มต้นที่ 139,800 หยวน หรือประมาณ 600,000 แสนบาท (ราคานี้เป็นราคาสุทธิหลังหักเงินสนับสนุนจากรัฐบาลจีนแล้ว)