ธุรกิจ
นายกมอบของขวัญปีใหม่ 2563 สำหรับประชาชน
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาตรการมอบของขวัญปีใหม่ 2563 แก่ประชาชน โดยคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ 1) โครงการของขวัญปีใหม่ 2563 สำหรับประชาชนของกระทรวงคมนาคม 2) มาตรการลดค่าครองชีพของประชาชนของกระทรวงคมนาคม และ 3) การยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษตามประกาศกระทรวงคมนาคมกำหนดอัตราค่าผ่านทางพิเศษในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 จำนวน 2 ฉบับ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
โครงการของขวัญปีใหม่ 2563 สำหรับประชาชนของกระทรวงคมนาคม 2) มาตรการลดค่าครองชีพของประชาชนของกระทรวงคมนาคม และ 3) การยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษตามประกาศกระทรวงคมนาคมกำหนดอัตราค่าผ่านทางพิเศษในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 จำนวน 2 ฉบับ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. การคมนาคมทางถนน มีการดำเนินการ ดังนี้
1.1 การยกเว้นค่าผ่านทาง 4 เส้นทาง ได้แก่ ยกเว้นค่าธรรมเนียมผ่านทางบนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และ 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ตอนบางปะอิน-บางพลี และตอนพระประแดง-บางแค ช่วงพระประแดง-ต่างระดับบางขุนเทียน และยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษในทางพิเศษบูรพาวิถีและทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2562 เวลา 00.01 น. ถึงวันที่ 3 มกราคม 2563 เวลา 24.00 น. เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด
1.2 การให้ส่วนลดค่าผ่านทางพิเศษสำหรับระบบเก็บค่าผ่านทางพิเศษอัตโนมัติ ร้อยละ 5 ต่อเที่ยว ทุกด่านเก็บค่าผ่านทาง ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเริ่มดำเนินการต่อจากการยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษฯ หลังเทศกาลปีใหม่ไปแล้ว ต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 1 เดือน
1.3 การอำนวยความสะดวกในการชำระค่าผ่านทางโดยจำหน่ายคูปองในราคาถูกแทนการชำระด้วยเงินสดสำหรับผู้ใช้ทางยกระดับดอนเมือง (ดอนเมืองโทลล์เวย์) เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ใช้ทาง และลดความยุ่งยากในการเตรียมเงินสด โดยผู้ใช้ทางสามารถซื้อคูปองในราคาสมนาคุณพิเศษถูกกว่าราคาเต็มในอัตราร้อยละ 5 เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป ต่อเนื่องไปอีก 6 เดือน
1.4 การจ่ายเครดิทเงินคืนจากการเดินทางด้วยบัตรโดยสารอีเลคทรอนิคส์ โดยได้รับเครดิทเงินคืน 1 สิทธิ/การชำระค่าโดยสารรถประจำทางสาธารณะ (รถเมล์) ด้วยบัตรโดยสารอีเลคทรอนิคส์ 1 ครั้ง โดยได้รับเครดิทเงินคืน 1 สิทธิ เท่ากับ 2 บาท สูงสุด 15 สิทธิ/บัตร/เดือน (30 บาท/บัตร/เดือน) ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2563
2. การคมนาคมทางอากาศ มีการดำเนินการ ดังนี้
2.1 การยกเว้นค่าบริการและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในพื้นที่ท่าอากาศยาน ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2562 ถึงวันที่ 3 มกราคม 2563 ดังนี้
ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
· ยกเว้นค่าบริการจอดรถยนต์ ณ ลานจอดรถยนต์ระยะยาว โซน C และจัดรถ Shuttle Bus สายพิเศษเพิ่มเติม
· ร้านค้าจำนวน 89 ร้านเข้าร่วมโครงการ “The Suvarnabhumi Food Guide” ทำเมนูราคาอาหารราคาประหยัด (Saved Price ราคา 50 บาท Budget Price ราคา 125 บาท และ Valued Price ราคา 280 บาท)
ดอนเมือง
· ให้บริการที่จอดรถโดยไม่คิดค่าบริการในบริเวณที่กำหนด จำนวน 3 จุด รวม 450 คัน
· ให้บริการรถ Shuttle Bus รับ-ส่งระหว่างจุดจอดรถยนต์กับอาคารผู้โดยสารตลอด 24 ชั่วโมง
ภูเก็ต (ทภก.)
· จัดจุดจอดรถบัสโดยสารสาธารณะ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ให้บริการเพิ่มเติม จำนวน 3 ช่องจอด 3 เส้นทาง ได้แก่ สถานีขนส่งโดยสารจังหวัดภูเก็ต-ทภก. ทภก.-ป่าตอง-กะตะ และ ทภก.-หาดสุรินทร์-หาดป่าตอง-หาดราไวย์
· ยกเว้นค่าบริการจอดรถบัสโดยสารของนักท่องเที่ยวในการจอดรับ-ส่งผู้โดยสาร
2.2 การจำหน่ายบัตรโดยสารราคาพิเศษ “Weekday Vacation” โดยบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำหน่ายบัตรชั้นประหยัดเที่ยวบินในประเทศ (เที่ยวเดียว) สำหรับเดินทางวันจันทร์-พฤหัสบดี เส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ กระบี่ ภูเก็ต และสายการบินไทยสมายล์ เส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ และเชียงราย เชียงใหม่ อุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี กระบี่ ภูเก็ต หาดใหญ่ นราธิวาส ราคาเริ่มต้น 1,300 บาท และโครงการจำหน่าย One Pass One Price Value Card สำหรับการเดินทางในกลุ่มประเทศ CLMVT
2.3 การเพิ่มเที่ยวบินสายการบินไทยสมายล์ เพื่อรองรับปริมาณความต้องการเดินทางของประชาชน และให้บริการเมนูพิเศษสำหรับเที่ยวบินในประเทศและระหว่างประเทศ ระหว่างวันที่ 25 ธันวาคม 2562 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2563
3. การคมนาคมทางราง มีการดำเนินการ ดังนี้
3.1 การขยายเวลาเปิดให้บริการรถไฟฟ้า ได้แก่ รถไฟฟ้า Airport Rail Link ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2562 เวลา 05.30 น. ถึงวันที่ 1 มกราคม 2563 เวลา 02.00 น. รถไฟฟ้า MRT สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) และสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2562 เวลา 06.00 น. ถึงวันที่ 1 มกราคม 2563 เวลา 02.00 น. รวมไปถึงขยายเวลาให้บริการอาคารและลานจอดรถของ MRT ทั้ง 2 สาย โดยเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2562 เวลา 05.00 น. ถึงวันที่ 1 มกราคม 2563 เวลา 03.00 น.
3.2 การมอบของที่ระลึกให้ผู้โดยสารที่เดินทางโดยรถไฟโดยนำข้าวขาวดอกมะลิ 107 จากชาวบ้าน จังหวัดแพร่ จำนวน 125 กรัม/ซอง จัดทำเป็น “ข้าวของแม่ นาของพ่อ” จำนวน 25,000 ซอง
4. การคมนาคมทางน้ำ มีการดำเนินการ ดังนี้
4.1 โครงการสูงวัยได้สิทธิ โดยลดหย่อนค่าโดยสารให้แก่ผู้สูงอายุที่ใช้บริการเรือในเขตกรุงเทพมหานคร เฉลี่ยร้อยละ 50 โดยให้แสดงบัตรประชาชนเพื่อขอรับสิทธิ มีผลตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป
4.2 กิจกรรมล่องเรือสวดมนต์ข้ามปีภายใต้กิจกรรม “เจ้าท่าพาล่องสายชล สวดมนต์ภาวนาข้ามปี” จำนวน 1 ลำ โดยสามารถรองรับผู้โดยสารได้ จำนวน 200-300 ราย ในวันที่ 31 ธันวาคม 2562
5. การส่งเสริมความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกของประชาชน มีการดำเนินการ ดังนี้
5.1 ตั้งจุดตรวจร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา จำนวน 259 จุด ทั่วประเทศ เพื่อให้บริการฟรีในด้านต่างๆ เช่น ช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน บริการรถยก/รถลาก
5.2 จัดตั้งหน่วยบริการประชาชนร่วมกับเจ้าหน้าที่ทางด่วน และหน่วยงานเอกชน ในการใช้ทางพิเศษเดินทางเข้า-ออกกรุงเทพมหานคร จำนวน 6 ด่านเก็บทางพิเศษ ได้แก่ ด่านฯ บางแก้ว 1 ด่านฯ ฉิมพลี ด่านฯ บางปะอิน (ขาออกและขาเข้า) ด่านฯ ดาวคะนอง ด่านฯ จตุโชติ
5.3 บริการตรวจเชคสภาพรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ฟรี 20 รายการ ณ ศูนย์บริการที่มีป้ายเข้าร่วมกิจกรรมของกรมการขนส่งทางบก และศูนย์ซ่อมบำรุงและตรวจสภาพรถของ บริษัท ขนส่ง จำกัด
5.4 ปรับปรุงห้องสุขาภายในสถานีขนส่งหมอชิต 2 เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ เปิดให้บริการในวันที่ 20 ธันวาคม 2562
5.5 จัดทำแอพพลิเคชัน “นำทาง (Namtang)” เพื่อให้บริการข้อมูลด้านการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ด้วยระบบขนส่งสาธารณะทั้งทางถนน ทางราง และทางน้ำ
5.6 ดำเนินโครงการชูชีพเก่าแลกใหม่ปลอดภัยได้มาตรฐาน จำนวน 800 ชุด ในพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน (ไม่มีค่าใช้จ่าย) โดยกำหนดการส่งมอบในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคม 2562 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2563
กระทรวงพลังงาน
1. การปรับลดราคาน้ำมัน
1.1 กระทรวงพลังงานดำเนินการให้มีการลดราคาขายปลีกน้ำมันบี 10 และอี 20 ลง 1 บาท/ลิตร ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2562 ถึง 10 มกราคม 2563 โดยใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ดำเนินการร่วมกับ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.)
1.2 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตรึงราคาน้ำมันตลอดช่วงเทศกาลปีใหม่ ระหว่างวันที่ 25 ธันวาคม 2562 ถึง 2 มกราคม 2563 เพื่อลดค่าใช้จ่ายระหว่างการเดินทางช่วงปีใหม่
2. การตรึงราคาค่าไฟฟ้า
- กระทรวงพลังงานดำเนินการให้มีการคงอัตราค่าเอฟทีสำหรับการเรียกเก็บ เดือนมกราคม ถึง เมษายน 2563 จำนวน–11.60 สตางค์/หน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.64 บาท/หน่วยอีก 4 เดือน (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
พร้อมกันนี้ยังมีมาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยดำเนินมาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม โดยกำหนดอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท (14–20 บาท) เป็นระยะเวลา 3 เดือน ในระหว่างวันที่ 25 ธันวาคม 2562–31 มีนาคม 2563 มีรายละเอียดดังนี้
1. รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม หรือรถไฟฟ้าสายสีม่วง ปัจจุบันมีเส้นทางการเดินรถรวมระยะทาง 23 กิโลเมตร เป็นระยะทางยกระดับทั้งหมด มีสถานีทั้งหมด 16 สถานี โดยเริ่มต้นจากสถานีคลองบางไผ่ถึงสถานีเตาปูน ซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อกับสถานีบางซื่อของรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน) และในอนาคตจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงบางซื่อ–ท่าพระ และรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน–ราษฎร์บูรณะ
2. สัญญาสัมปทานของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม ประกอบด้วยคู่สัญญาระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) สัญญาสัมปทานรูปแบบ Gross Cost Contract โดยภาครัฐจัดเก็บรายได้ทั้งหมดและชดเชยค่าตอบแทนให้ภาคเอกชนตามค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินงานแบบคงที่ มีการกำหนดอัตราค่าโดยสารตามข้อบังคับการใช้รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย โดยมิได้ระบุในสัญญา เนื่องจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นผู้มีสิทธิในรายได้ค่าโดยสาร และจ้างเอกชนให้บริการเดินรถไฟฟ้าเท่านั้น โดยมีการจัดเก็บค่าโดยสารตามข้อบังคับ ดังนี้
(1) ข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตรา ค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคล ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม พ.ศ. 2559
(2) ข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตรา ค่าโดยสารร่วม วิธีการจัดเก็บค่าโดยสารร่วม และการกำหนดประเภทบุคคล ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระ ค่าโดยสารร่วม ระหว่างรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรมและโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 2561
ปัจจุบันมีการจัดเก็บอัตราค่าโดยสาร 14–42 บาท ตามระยะทางสำหรับผู้ถือบัตรโดยสารประเภทบุคคลทั่วไป รวมถึงผู้ชื้อเหรียญโดยสาร (Token) สำหรับผู้ถือบัตรโดยสารประเภทเด็ก อายุไม่เกิน 14 ปี (วันเกิดครบรอบ 14 ปี) และมีความสูงระหว่าง 91–120 ซม. และผู้สูงอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป จะได้รับส่วนลด ร้อยละ 50 สำหรับผู้ถือบัตรโดยสารประเภทนักเรียน/นักศึกษา ที่มีอายุเกิน วันเกิดครบอายุ 14 แต่ไม่เกินวันเกิดครบ 23 ปี จะได้รับส่วนลดร้อยละ 10 จากอัตราค่าโดยสารดังกล่าวข้างต้น
3. มาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยได้ศึกษาแนวทางการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม โดยกำหนดอัตราค่าโดยสารตามระยะทางค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท (14–20 บาท ) จากอัตราค่าโดยสารปกติ (14-42 บาท) ในรายละเอียด ดังนี้
1) ประมาณการการเปลี่ยนแปลงจำนวนผู้โดยสารและรายได้ค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม จากมาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสาร โดยใช้แบบจำลองประมาณการ Ridership Forecast (eBUM) พบว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.8 คิดเป็นจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 282,500 คน-เที่ยว/เดือน และรายได้จากค่าโดยสารลดลงร้อยละ 46.1 คิดเป็นรายได้จากค่าโดยสารเฉลี่ยลดลง 15.24 ล้านบาท/เดือน โดยมีรายละเอียดแสดงการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงจำนวนผู้โดยสาร และรายได้ค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม จากมาตรการปรับอัตราค่าโดยสารตามรายะทางโดยสารสูงสุด 20 บาท (14-20 บาท) ดังแสดงในตารางที่ 1 ผลการวิเคราะห์จากมาตรการปรับลดอัตรา ค่าโดยสาร
2) การวิเคราะห์ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (SROI) จากมาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสาร พบว่า มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมคิดเป็น 38,703,701 บาท/เดือน โดยมีรายละเอียดดังแสดในตารางที่ 7 แสดงการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (SROI) จากมาตรการปรับอัตราค่าโดยสารตามระยะทางค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท (14-20 บาท)
การวิเคราะห์มาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม โดยการปรับอัตราค่าโดยสารตามระยะทางค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท (14-20 บาท) ตามข้อ 3 พบว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้ปริมาณผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นแต่รายได้จากค่าโดยสารลดลง โดยคาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.8 คิดเป็นจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 282,500 คน-เที่ยว/เดือน และรายได้จากค่าโดยสารลดลงร้อยละ 46.1 คิดเป็นรายได้จากค่าโดยสารเฉลี่ยลดลง 15.24 ล้านบาท/เดือน
อย่างไรก็ตามการลดภาระค่าครองชีพแก่ประชาชนตามนโยบายรัฐบาล โดยดำเนินมาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรมจะเป็นการสนับสนุนส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ก่อให้เกิดการใช้ความจุของรถไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เกิดความคุ้มค่าจากผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (SROI) ซึ่งคิดเป็นผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมทั้งหมด 38,703,701 บาท/เดือน และเมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนระหว่างผลตอบแทนที่ประชาชนได้รับดังกล่าวต่อรายได้ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยได้รับลดลงเมื่อดำเนินมาตรการ หรือมูลค่า SROI: รายได้ที่ลดลงจะเท่ากับจะมีผลตอบแทนที่ประชาชนได้รับสูงเป็น 2.5 เท่าของรายได้ที่ลดลง
กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว เห็นว่ามาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม จะก่อให้เกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยลดเวลาการเดินทางและมีการประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยรถยนต์ ลดมูลค่าความสูญเสียเนื่องจากอุบัติเหตุ รวมทั้งลดปัญหามลพิษจากสิ่งแวดล้อม เป็นแนวทางหลักในการลดภาระค่าครองชีพในการเดินทางของประชาชนตามนโยบายรัฐบาล อีกทั้งเป็นส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบไฟฟ้าขนส่งมวลชนก่อให้เกิดการใช้ความจุของรถไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพเกิดความคุ้มค่าจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากยิ่งขึ้น
ABOUT THE AUTHOR
นุสรา เงินเจริญ
บรรณาธิการข่าวธุรกิจและสังคม รักการอ่าน ขอบงานเขียน ชอบพบปะผู้คน ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้บริหารในวงการยานยนต์ไทย ท่องเที่ยว เป็นประสบการณ์ที่ดี พร้อมได้ เปิดโลก ได้พัฒนาตัวในแวดวงสื่อสารมวลชน
ภาพโดย : บริษัทผู้ผลิตคอลัมน์ Online : ธุรกิจ (บก. ออนไลน์)