เรื่องน่ารู้
งานสัมมนา “New Generation of Automotive” ระดมความคิด และแผนงาน ทั้งจากภาครัฐ รัฐวิสากิจ และเอกชน กับอนาคตรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเรา
- คลิพงานสัมมนา “New Generation of Automotive” โดย กรุงเทพธุรกิจ และ MG ประเทศไทย
- ระยะสั้น (ปี 2020-2022) ผลิตรถสำหรับรถราชการ รถสาธารณะ รถจักรยานยนต์สาธารณะ 60,000-110,000 คัน
- ระยะกลาง (ปี 2021-2025) จะผลักดัน ECO EV จำนวน 100,000-250,000 คัน และผลักดัน Smart City Bus จำนวน 300,000 คัน
- ระยะยาว (ปี 2026-2030) ให้มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าประมาณ 750,000 คัน
บทสรุปจากงานสัมมนา “New Generation of Automotive” โดยตัวแทนจากทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน“MG ประเทศไทยพร้อมเดินหน้าเสริมตลาดรถยนต์ที่ใช้การชาร์จไฟฟ้า ” โดย มร. จาง ไห่โป กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด
- ทาง MG มีแผนนำรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ รวมทั้งรถยนต์ไฟฟ้าพลัก-อิน ไฮบริดเข้ามาทำตลาด โดยมุ่งหวังให้เกิดการบูรณาการ และพร้อมที่จะสนับสนุนความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สังคมรถยนต์ไฟฟ้าไทยเติบโตมากขึ้น พร้อมนำเสนอให้รัฐบาลช่วยผลักดันเรื่องสิทธิพิเศษด้านภาษี หรือการลงทุน รวมถึงการมอบสิทธิพิเศษให้กับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น
- นอกจากนี้ทางค่ายรถได้เดินหน้าสร้างระบบนิเวศรถยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องด้วยการลงทุนติดตั้งจุดชาร์จในรูปแบบ DC (รูปแบบ Quick Charge) โดยภายในปีนี้ จะมีจุดชาร์จจำนวน 100 แห่งในโชว์รูม และศูนย์บริการ MG ทั่วประเทศ และวางแผนในการขยายจุดชาร์จเพิ่มอีก 1 เท่าตัวภายในปีหน้า ส่วนแผนงานในระยะที่ 2 ในการเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จให้มากขึ้น จะเลือกสถานีที่อยู่เส้นทางหลักตามทางหลวง และแผนงานในระยะที่ 3 จะเพิ่มสถานีชาร์จที่ศูนย์การค้า ออฟฟิศ หมู่บ้าน และที่พักอาศัย
- PTEC จะเป็นฝ่ายดูแล และควบคุมเรื่องแบทเตอรีผ่านขั้นตอนการทำ Lab Test ที่เป็นมาตรฐานบังคับ รวมไปถึงการนำ Cell Battery ที่มีโมดูล และวงจรควบคุมแบทเตอรี (Battery Management System) ในการจัดการ และควบคุมประจุของแบทเตอรี การวิจัยเรื่องการปล่อยประจุไฟฟ้า และการชาร์จไฟฟ้า ทั้งในรูปแบบ AC และ DC การตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ และการระบายความร้อนของแบทเตอรี
- ทั้งนี้ PTEC มองว่าประเทศไทย ตลอดจนอุตสาหกรรมยานยนต์ของเราไม่ได้มีความห่างชั้นกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเรามีศักยภาพที่ค่อนข้างพร้อม และประเทศไทยก็ยังเป็นศูนย์การผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอับดับ 2 ของภูมิภาคอาเซียน และส่วนสำคัญที่จะเร่งการพัฒนาของประเทศไปอีกขั้น คือ การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีที่โดดเด่นจากประเทศอื่นๆ เข้ามาปรับใช้ในเมืองไทย หากเราได้เรียนรู้นวัตกรรมใหม่ๆ ก็จะสามารถทำให้เกิดการพัฒนาได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
- ในปี 2017 ทาง BOI เตรียมการลงทุนเรื่องนโยบายการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า ครอบคลุมทุกเรื่องการผลิต ความต้องการตลาด การส่งเสริมการลงทุน การสร้างสถานีชาร์จ รถยนต์ใช้ส่วนบุคคล รถยนต์สาธารณะ และชิ้นส่วน ในปัจจุบัน มีผู้เข้ามาลงทุนในส่วนของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด 16 บริษัท รวม 26 โครงการ โดยมีการขอส่งเสริมการลงทุนในการผลิตรถยนต์ ประเภทไฮบริด (HEV) พลัก-อิน ไฮบริด (PHEV) รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้า 100% (BEV) และมียอดการผลิตรวมกันกว่า 560,000 คัน เรากำลังพิจารณาส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมในส่วนของสามล้อไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ที่มีแผนการเปิดโครงการในช่วงการประชุมคณะกรรมการ BOI ครั้งต่อไป
- สถาบันยานยนต์เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นกลไกของภาครัฐเพื่อสนับสนุนให้กับกระทรวงอุตสาหกรรมมีพันธกิจในเรื่องของการศึกษาวิจัยในด้านเทคโนโลยียานยนต์ร่วมกับทั้งทางภาครัฐ และเอกชน รวมถึงการพัฒนาบุคลากรในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ ฝึกอบรม ศูนย์ทดสอบ ตามมาตรฐาน มอก. และตามมาตรฐานต่างประเทศด้วย ปัจจุบันสถาบันยานยนต์มีที่ตั้ง 3 แห่ง ประกอบด้วย กล้วยน้ำไท ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางข้อมูล , นิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ ทำหน้าที่ทดสอบเรื่องมลพิษ และสนามไชยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ทำหน้าที่ทดสอบด้าน EV ทั้งรถยนต์ไฟฟ้าและรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า สำหรับ ศูนย์ทดสอบสนามไชยเขต คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้
- การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รับผิดชอบพื้นที่ครอบคลุม 74 จังหวัด โดยในปัจจุบัน เรามีการสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งหมด 11 แห่ง นอกจากนี้ เรายังมีแผนในการทำสถานีร่วมกับบางจาก เพิ่มอีก 62 จุด แบ่งเป็นสถานีปั๊มน้ำมันบางจาก 56 จุด และส่วนพื้นที่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอีก 6 จุด โดยจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 2 ของ ปี 2021 และในระยะถัดไป ระหว่างปี 2021-2022 เราจะดำเนินการสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าอีก 64 จุด ทำให้ในปี 2022 ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จะมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าทั้งหมด 137 จุด ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่ 75 จังหวัด (รวม กรุงเทพมหานครฯ) สำหรับต้นทุนในการสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า เฉลี่ย 2,500,000 บาท ต่อหนึ่งแท่นชาร์จ
- ส่วนงานของการไฟฟ้านครหลวง ครอบคลุมพื้นที่ใน 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานครฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ ในปัจจุบัน เรามีสถานีอัดประจุไฟฟ้า 10 จุด จำนวน 15 แท่นชาร์จ โดยมีแผนการขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้า เพิ่มขึ้นอีก 118 จุด รวมเป็น 128 จุด ภายในปี 2022 พร้อมทั้งมีการพัฒนาแอพพลิเคชัน ในการค้นหาสถานีชาร์จไฟฟ้าทั้งประเทศ และสามารถจองแท่นชาร์จก่อนเข้ารับบริการได้ ในเชิงนโยบายนั้น ทางการไฟฟ้านครหลวงได้มีการเร่งดำเนินการขยายสถานีชาร์จอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ เราจะส่งเสริมให้ผู้บริโภคเข้าใจในการใช้งานรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน หากไม่ได้ออกนอกบริเวณจังหวัดที่ใกล้เคียง รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ในปัจจุบันมีระยะทางวิ่งมากกว่า 200 กม. ถือว่าเพียงพอต่อการใช้งาน สะดวกต่อการชาร์จพลังงานไฟฟ้าที่ที่พักอาศัยของผู้ใช้งาน
ABOUT THE AUTHOR
ภูเขม หน่อสวรรค์
คอลัมน์ Online : เรื่องน่ารู้