ปัญหาที่มาพร้อมกับฤดูฝนบนท้องถนน คือ “อาการรถเหินน้ำ” ซึ่งจะอันตราย และมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงได้สูง โดยเราจะเห็นได้จากหลายๆ ข่าว หลายๆ คลิพ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากอาการเหินน้ำ วันนี้ “autoinfo.co.th” จะมาแนะนำวิธีรับมือ และลดเสี่ยงเมื่อต้องเจอสถานการณ์นี้อาการเหินน้ำ (Hydroplane) อาการรถเหินน้ำ (Hydroplaning หรือ Aquaplaning) คือ อาการที่ล้อรถยนต์ ไม่สัมผัสพื้นถนน เนื่องจากมีน้ำเข้ามาแทรกเป็นชั้น ส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมรถ หรือเบรคได้ มักเกิดจากการขับรถด้วยความเร็วสูงผ่านบริเวณที่มีแอ่งน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะทางโค้งและที่ลาดต่ำ ทำให้ยางไม่สามารถรีดน้ำออกจากหน้าสัมผัสได้ทัน ส่งผลให้ล้อหมุนลอยอยู่บนน้ำ ไม่สัมผัสกับพื้นถนน และเกิดการลื่นไถลจนไม่สามารถควบคุมรถได้ อาการรถเหินน้ำ มักเกิดได้บ่อยในช่วงฝนตก และจะอันตรายมากที่สุดในช่วงหลังฝนตก 10 นาที เนื่องจากน้ำจะผสมกับน้ำมัน และฝุ่น ที่ตกค้างอยู่บนถนน ทำให้เกิดเป็นชั้นน้ำระหว่างพื้นถนนกับยางรถ ส่งผลให้ล้อรถเกิดอาการไม่เกาะถนน และทำให้การควบคุมรถทำได้ยากขึ้นกว่าปกติ สิ่งที่ทำให้รถเกิดอาการเหินน้ำ ! ความเร็ว > ถ้าขับรถมาด้วยความเร็วมากเท่าไร ความสามารถในการรีดน้ำของล้อรถก็จะยิ่งน้อยลง และอาการเหินน้ำก็จะเกิดได้ง่ายเนื่องจากความหนาของมวลน้ำมีมากกว่า พื้นผิวถนน > ลักษณะพื้นคอนกรีท ผิวเรียบ ความขรุขระน้อย โอกาสที่จะเกิดอาการเหินน้ำจะมีมากกว่าพื้นถนนที่มีส่วนผสมของยางมะตอย เพราะพื้นยางมะตอยจะมีความขรุขระทำให้รถทรงตัว และเกาะถนนได้ดีกว่า ดอกยาง > ลักษณะของดอกยางที่ใช้ และความลึกเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากหน้าที่ของดอกยางจะใช้วิธีรีดน้ำไปด้านข้างล้อ หากดอกยางเหลือน้อย ประสิทธิภาพในการทำงานก็จะลดน้อยลงไปด้วย ล้อรถยนต์ > การเลือกใช้ล้อรถยนต์ต้องคำนึงถึงการใช้งานเป็นส่วนสำคัญ ถ้าเป็นล้อรถที่มีหน้ากว้าง และยาวกว่าแบบทั่วไป โอกาสเกิดอาการเหินน้ำก็จะมีน้อยกว่า น้ำหนักที่บรรทุก > การบรรทุกของหนักๆ หรือน้ำหนักของตัวรถ ก็มีผล เพราะเมื่อรถเกิดเสียการทรงตัว จะมีแรงเฉื่อยที่มากกว่า รับมืออย่างไร เมื่อรถเหินน้ำ ! ผู้ขับจะรับรู้ได้ทันทีเมื่อเกิดการเหินน้ำ เพราะทิศทางของรถจะผิดปกติ เครื่องยนต์จะส่งเสียงดังขึ้น พวงมาลัยจะเบาขึ้น และช่วงท้ายรถจะปัด ส่วนใหญ่ผู้ใช้รถจะตื่นตระหนกกับเหตุการณ์นี้ และสัญชาตญาณจะสั่งให้เหยียบเบรค แต่การเหยียบเบรคยิ่งจะทำให้สถานการณ์แย่ลง วิธีแก้ไข ถอนคันเร่งช้าๆ เพื่อเบาเครื่องยนต์ เปลี่ยนเกียร์ต่ำ หรือถ้าเป็นรถยนต์เกียร์อัตโนมัติ ให้ขับด้วยความเร็วต่ำที่สุด รักษาความเร็วให้คงที่ จับพวงมาลัยให้มั่นคง จนกว่ารถจะทรงตัวได้ จากนั้นจึงค่อยๆ เบรคจนรถหยุด 6 วิธีเลี่ยง ไม่ให้รถเหินน้ำ 1. ขับรถให้ช้าลง เมื่อเจอถนนที่เปียกลื่น มีน้ำขัง หรือในช่วงที่ฝนตก (ถ้าฝนตกหนักจนมองไม่เห็นทาง ให้หาที่จอดที่ปลอดภัย รอจนฝนซาแล้วค่อยเดินทางต่อ) 2. อย่าแตะเบรคกะทันหัน เมื่ออยู่ในทางโค้ง ให้ชะลอ หรือเบรคแบบเบาๆ ล่วงหน้าก่อนที่จะถึง 3. จับพวงมาลัยให้แน่นอยู่เสมอ เพื่อการควบคุมรถที่ดี และแตะเบรคแบบเบาๆ ในขณะที่ต้องลุยน้ำเพื่อลดอาการเหินน้ำ 4. อย่าขับไปในแหล่งที่มีน้ำขัง หรือเปียกน้ำ เพราะทำให้มีโอกาสเกิดอาการเหินน้ำได้สูง และไม่ควรเหยียบคันเร่งทันทีที่ลุยน้ำอยู่ ให้ปล่อยรถไปแบบปกติ ชะลอตัวไปเรื่อยๆ และห้ามเหยียบเบรคเพื่อหยุดรถอย่างกะทันหัน 5. สัมผัสพื้นถนนให้มากที่สุด โดยการใช้ความเร็วต่ำ เมื่อใช้ความเร็วต่ำจะทำให้ล้อของรถนั้นยึดเกาะกับพื้นถนนได้แนบสนิท และสมบูรณ์มากที่สุด อีกทั้งยังช่วยลดการไถลลื่นอีกด้วย 6. เชคสภาพรถให้พร้อม ต่อการใช้งานเสมอ รวมทั้งล้อรถ และดอกยางทั้ง 4 ล้อ เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง