Ford ประเทศไทย มอบรถพยาบาลบริการการแพทย์ฉุกเฉิน BACE รุ่น RESCUE T1 พร้อมอุปกรณ์การแพทย์ครบครันจำนวน 10 คัน มูลค่ากว่า 12 ล้านบาท ให้แก่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานทางการแพทย์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเพื่อใช้งานตามวัตถุประสงค์อื่นที่จำเป็นหรือเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยมีอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และดร. สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้รับมอบจากวิชิต ว่องวัฒนาการ กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย พร้อมด้วยจักริศวร์ โลจนะโกสินทร์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอส.เอส.เอส. ออโตโมทีฟ อินดัสทรี จำกัด และคณะ
วิชิต ว่องวัฒนาการ กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย กล่าวว่า Ford เล็งเห็นความสำคัญของการเพิ่มการสนับสนุนเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือสังคมในยามวิกฤตจึงได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านการดัดแปลงและปรับเปลี่ยนยานพาหนะตามวัตถุประสงค์การใช้งาน พร้อมให้คำแนะนำด้านเทคนิคเพื่อให้ได้รถพยาบาลดัดแปลงที่ได้มาตรฐาน พร้อมสนับสนุนปฏิบัติการทางการแพทย์ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ฟอร์ดได้นำรถกระบะ Ford Ranger (ฟอร์ด เรนเจอร์) มาปรับเปลี่ยนให้มีห้องพยาบาลด้านท้าย พร้อมรับคำแนะนำจากกรมการแพทย์ในการติดตั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นอย่างครบครัน
Ford ประเทศไทย และบริษัท เอส.เอส.เอส. ออโตโมทีฟ อินดัสทรี จำกัด ได้ทำงานร่วมกันในการนํารถกระบะFord Ranger มาดัดแปลงให้มีห้องพยาบาลด้านท้ายเป็นตู้ทรงสูงโดยใช้ชื่อว่ารถพยาบาล BACE รุ่น RESCUE T1 โดยคำนึงถึงความเหมาะสมเพื่อใช้ในการปฏิบัติงานจริง โดยเฉพาะการขนส่งผู้ป่วยในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากมีการแบ่งกั้นห้องคนขับและห้องพยาบาล รวมถึงการแยกระบบเครื่องปรับกาศของห้องคนขับและห้องพยาบาลไม่ให้อากาศไหลเวียนปนกันเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคในละอองขนาดเล็ก ช่วยลดความเสี่ยงจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการขนส่งผู้ป่วยและผู้มีอาการจากการติดเชื้อโควิด-19
รถพยาบาล BACE รุ่น RESCUE T1 ประกอบด้วยตู้พยาบาลทรงสูง การออกแบบและผลิตได้ให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายแม้จะอยู่ในพื้นที่ขนาดกะทัดรัด เพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัวให้กับเจ้าหน้าที่ขณะดูแลและช่วยชีวิตผู้ป่วย โดยโครงสร้างของห้องพยาบาลทําจากเหล็กและอลูมิเนียมอัลลอย ผนังด้านหน้า ด้านซ้าย ด้านขวา และด้านบน ผลิตจากแผ่นไฟเบอร์กลาสคุณภาพสูง มีความแข็งแรง ผนังทุกด้านสามารถรับแรงกด แรงดึง หรือแรงกระแทกได้เป็นอย่างดี ยิ่งไปกว่านั้น แผ่นไฟเบอร์กลาสที่ใช้ทำผนังด้านในของห้องพยาบาลยังเป็นชนิดเดียวกับที่ใช้ในห้องผู้ป่วยวิกฤต (ICU) ของโรงพยาบาลในยุโรป มีคุณสมบัติป้องกันแบคทีเรียตามมาตรฐานระดับสากลทั้ง ISO 22196 และ JIS Z 2801
ความสูงของห้องพยาบาลจากพื้นถึงเพดาน 155 เซนติเมตร ยังเพิ่มความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ในการปั๊มหัวใจฟื้นคืนชีพ (CPR) มีจุดยึดตรึงสําหรับแขวนตัวที่รับน้ำหนักได้ไม่น้อยกว่า 120 กิโลกรัม ช่วยให้สามารถยืนปฏิบัติการ CPR ได้สะดวก และด้วยความกว้างภายในถึง 170 เซนติเมตร ทำให้เพียงพอต่อการจัดวางที่นั่ง และการจัดวางเตียงพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินในลักษณะนอนราบ มีที่จัดเก็บอุปกรณ์การแพทย์และอุปกรณ์อื่นที่จําเป็นอย่างเป็นสัดส่วน เป็นระเบียบ และมีความปลอดภัย ป้องกันการหลุดร่วงจากที่จัดเก็บในกรณีที่รถมีการชนหรือกระแทก รวมถึงมีชุดแปลงไฟฟ้าจากกระแสตรง 12 โวลท์ เป็นกระแสสลับ 220 โวลท์ ขนาด 1,000 วัตต์ 50 เฮิร์สต์ เพื่อใช้กับเครื่องมือแพทย์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จําเป็นต่องานกู้ชีพ-กู้ภัย
Ford และบริษัท เอส.เอส.เอส. ออโตโมทีฟ อินดัสทรี จำกัด ยังได้ทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการจัดสรรรถพยาบาลทั้ง 10 คัน ให้แก่โรงพยาบาลและหน่วยงานในพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนในสังกัดกรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี โรงพยาบาลศรีธัญญา โรงพยาบาลสมุทรปราการ โรงพยาบาลพุทธโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา โรงพยาบาลชลบุรี โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี โรงพยาบาลตราด โรงพยาบาลระยอง และโรงพยาบาลปลวกแดง จังหวัดระยอง
รถพยาบาล BACE รุ่น RESCUE T1 พัฒนาขึ้นจากรถกระบะFord Ranger แบบขับเคลื่อนสองล้อ มีการนำช่องต่อพ่วงอุปกรณ์ออฟโรด หรือ Upfitter switch ที่ติดตั้งในรถฟอร์ด เรนเจอร์ FX4 Max มาใช้ในรถแบบขับเคลื่อนสองล้อเป็นครั้งแรก เพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่ผู้ขับขี่ควบคุมการทำงานของไฟฉุกเฉินและอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์อื่นๆ ที่จำเป็นได้สะดวกยิ่งขึ้น เครื่องยนต์ดีเซลขนาด 2.2 ลิตร และเกียร์ธรรมดา 6 สปีด ให้กําลังเครื่องยนต์สูงสุด 160 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 385 นิวตันเมตร มีการติดตั้งอุปกรณ์และระบบต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและสนับสนุนการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ อาทิ ระบบบังคับเลี้ยวผ่อนแรงด้วยไฟฟ้าที่ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมรถได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น มีความสามารถในการทรงตัวได้ดี มีกล้องบันทึกเหตุการณ์ด้านหน้ารถและหลังรถขณะปฏิบัติงาน ติดตั้งเครื่องรับ-ส่งวิทยุระบบ VHF/FM ขนาด 25 วัตต์ มาพร้อมระบบป้องกันการดักฟังและระบบปรับคุณภาพสัญญาณเสียง โดยตลอดกระบวนการออกแบบและจัดทำรถพยาบาลบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ฟอร์ด ประเทศไทย ได้ให้คำแนะนำด้านเทคนิคที่จำเป็นสำหรับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของรถฟอร์ด เรนเจอร์ เพื่อให้มั่นใจว่ามีโครงสร้างที่แข็งแรงตามมาตรฐาน QVM (Qualified Vehicle Modifiers) ซึ่งเป็นโปรแกรมการประเมินการดัดแปลงรถของบริษัทฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ซึ่งกฎเกณฑ์และขั้นตอนการประเมินครอบคลุมด้านระบบวิศวกรรมยานยนต์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการดัดแปลง และการปฏิบัติตามคู่มืออย่างเคร่งครัด โดยโปรแกรม QVM จะช่วยให้ผู้ผลิตและบริษัทดัดแปลงรถ สามารถพัฒนาขั้นตอนการทำงานให้มีมาตรฐานในระดับสูง