ธุรกิจ
Toyota ประกาศยอดขายรถยนต์ปี 2565
โนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ปี 2565 ถือเป็นปีที่อุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยยังอยู่ในภาวะการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีปัจจัยบวกจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง พร้อมนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของภาครัฐ เพื่อช่วยสนับสนุนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ และการส่งออกที่เริ่มเติบโตดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ตลอดจนสถานการณ์ของ COVID-19 ที่มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดภายในประเทศของภาครัฐ รวมถึงการทยอยฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจากการเปิดประเทศ มีส่วนช่วยให้สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยด้านลบอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดัคเตอร์ที่ยังคงยืดเยื้อส่งผลกระทบกับภาคการผลิตในทุกอุตสาหกรรมทั่วโลก รวมถึงปัจจัยอื่นๆ จากสถานการณ์เศรษฐกิจในภาพรวม อาทิ ปัญหาด้านลอจิสติคส์ระหว่างประเทศจากต้นทุนการขนส่งสินค้าทางเรืออยู่ในระดับสูง อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นขณะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ความผันผวนของสถานการณ์การเงินโลก ราคาพลังงาน และวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนการผลิตรถยนต์เพื่อจำหน่ายทั้งภายในประเทศ และการส่งออก รวมถึงส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อเศรษฐกิจไทย แต่ในภาพรวมแล้วยังถือว่าการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งสะท้อนมายังตลาดรถยนต์ในประเทศด้วยเช่นกัน โดยตัวเลขยอดขายรวมภายในประเทศปี 2565 อยู่ที่ 849,388 คัน หรือเพิ่มขึ้น 11.9 % เมื่อเทียบกับปี 2564 แบ่งเป็น
- รถยนต์นั่ง 265,069 คัน +5.3 %
- รถเพื่อการพาณิชย์ 584,319 คัน +15.2 %
- รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) 454,875 คัน +15.6 %
- รถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง) 388,298 คัน +13.7 %
สำหรับยอดขายของ Toyota ในปี 2565 มียอดขายโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 288,809 คัน หรือเพิ่มขึ้น 20.5 % เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา มีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 หรือเท่ากับ 34 % ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ส่วนแบ่งทางการตลาดรถยนต์นั่งของ Toyota มีการเติบโตสูงขึ้นจากปีที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับความสำเร็จด้านยอดขายของรถยนต์รุ่นใหม่อย่าง Veloz และ Yaris Ativ ที่ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดีภายหลังจากการแนะนำเข้าสู่ตลาดไปเมื่อปีที่แล้ว รวมไปถึงการดำเนินกิจกรรมทางการตลาดในรูปแบบต่างๆ ตลอดจนผลิตภัณฑ์ยานยนต์ที่หลากหลาย สามารถเข้าถึง และใกล้ชิดกับลูกค้าในกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
สถิติการขายรถยนต์ของ Toyota ในปี 2565 มียอดขายรวม 288,809 คัน เติบโตเพิ่มขึ้น 20.5 % มีส่วนแบ่งตลาด 34.0 % แบ่งเป็น
- รถยนต์นั่ง 82,738 คัน +32.6 % 31.2 %
- รถเพื่อการพาณิชย์ 206,071 คัน +16.2 % 35.3 %
- รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) 175,786 คัน +16.0 % 38.6 %
- รถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง) 148,101 คัน +15.1 % 38.1 %
สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2566 คาดว่าจะยังคงกลับคืนสู่สภาวะปกติอย่างค่อยเป็นค่อยไปพร้อมๆ กับการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจโดยรวมทั้งหมด จากทิศทางที่ดีในการลดระดับ COVID-19 สู่โรคติด ต่อเฝ้าระวังของกระทรวงสาธารณสุข ส่งผลให้การดำเนินชีวิตผู้คนเริ่มกลับสู่สภาวะปกติ พร้อมกับการเปิดประเทศส่งเสริมการท่องเที่ยว ที่มีส่วนช่วยเพิ่มอุปสงค์ภายในประเทศ ในขณะที่ปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิตก็จะค่อยๆ คลี่คลายลงเช่นกัน อันจะส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์เริ่มทยอยกลับคืนสู่สภาวะปกติ และคาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ในปี 2566 จะอยู่ที่ 900,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 6.0 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 301,500 คัน เติบโตเพิ่มขึ้น 13.7 % และรถเพื่อการพาณิชย์ 598,500 คัน เติบโต 2.4 %
สำหรับ Toyota มีการตั้งเป้ายอดขายอยู่ที่ 310,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 7.3 % โดยครองส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 34.4 % แบ่งเป็น
- รถยนต์นั่ง 96,900 คัน + 17.1 % 32.1 %
- รถเพื่อการพาณิชย์ 213,100 คัน +3.4 % 35.6 %
- รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) 183,000คัน +4.1 % 41.1 %
- รถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง) 155,000 คัน +4.7 % 41.9 %
ด้านการส่งออกรถยนต์ ในปี 2565 Toyota ได้ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปไปจำนวน 378,454 คัน หรือเพิ่มขึ้น 30 % จากปี 2564 โดยยอดรวมการผลิตรถยนต์สำหรับการขายภายในประเทศและการส่งออกในปี 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 659,262 คัน หรือเพิ่มขึ้น 28 % จากปี 2564
ปริมาณการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป และการผลิตของ Toyota ในปี 2565 ปริมาณในปี 2565 เปลี่ยนแปลงเทียบกับปี 2564
- ปริมาณการส่งออก 378,454 คัน +30 %
- ยอดผลิตรวมทั้งส่งออกและการขายในประเทศ 659,262 คัน +28 %
สำหรับเป้าหมายการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปของ Toyota ในปี 2566 ได้คาดการณ์ว่าความต้องการของตลาดต่างประเทศจะเพิ่มสูงขึ้น จากสถานการณ์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของบรรดาประเทศคู่ค้าที่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดย Toyota ตั้งเป้าปริมาณการส่งออกรถยนต์อยู่ที่ 405,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 7 % เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และได้ตั้งเป้าการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของปี 2566 อยู่ที่ ราว 723,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 9.7 % จากปีที่ผ่านมา
ทิศทางการดำเนินธุรกิจของ Toyota ในประเทศไทย ในปี 2566 Toyota พร้อมเดินหน้าตามแนวทางที่ อากิโอะ โตโยดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประ เทศญี่ปุ่น ได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้ในงานฉลองวาระครบรอบ 60 ปี ของ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ในการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเป็น “ผู้นำพาการขับเคลื่อนสำหรับทุกคน” (Mobility for All) พร้อมสร้าง “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Carbon Neutrality) ผ่านการเตรียมความพร้อมในหลากหลายแนวทาง หรือ “Multi-Pathway” เพื่อทุกความเป็นไปได้ที่จะช่วยลดการปล่อยแกสเรือนกระจกที่เกิดจากการเดินทางของผู้คน ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์ การบริการ และกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งมอบความสุขที่ยั่งยืนให้แก่ผู้คน และสังคมไทย
ด้านผลิตภัณฑ์ และการบริการสำหรับลูกค้า Toyota จะพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า และพลังงานทางเลือกต่างๆ เพื่อมอบทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นไปได้สำหรับทุกคน ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจกรรมการตลาด และการส่งเสริมการขายภายใต้แนวคิด Closer to Customer (ใกล้ชิดกับลูกค้ามากยิ่งขึ้น) ตลอดจนร่วมกับเครือข่ายทางธุรกิจในการนำเสนอนวัตกรรม หรือผลิต ภัณฑ์เพื่อมอบประสบการณ์การเดินทาง และการบริการที่ดียิ่งขึ้นให้แก่ลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ อาทิ การผสมผสานเทคโนโลยีแห่งการเชื่อมต่อเพื่อสร้างความสะดวกสบายในการเดินทาง (Connected) การบริการการขับเคลื่อนในรูปแบบของการแบ่งปันการใช้งาน (Sharing) เป็นต้น
ในด้านสังคม Toyota ยังคงมุ่งเน้นการขับเคลื่อนสังคมไทย สู่ “ยุคแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยการดำเนินงานในภาคส่วนต่างๆ พร้อมความร่วมมือกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) อาทิ
- โครงการพัฒนาเมืองต้นแบบที่ยั่งยืนปราศจากมลภาวะร่วมกับเมืองพัทยา ซึ่งที่ผ่านมา Toyota ได้มีการนำรถยนต์พลังงานสะอาดทุกรูปแบบไปทดลองให้บริการเพื่อตอบสนองการเดินทางที่มีความหลากหลายแก่ประชาชน และนักท่องเที่ยวในเมืองพัทยา โดยได้ร่วมมือกับโรงแรม และจุดท่องเที่ยวในตัวเมืองพัทยาเพื่อใช้เป็นจุดบริการรับรถ และสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับผู้ที่สนใจใช้บริการ และในปีนี้มีแผนที่ขยายผลความร่วมมือเพื่อให้สามารถรองรับการใช้งานที่หลากหลาย และครอบคลุมพื้นที่ในตัวเมืองพัทยามากยิ่งขึ้นตลอดจนศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายผลการดำเนินงานสู่ความร่วมมือในการบริการระบบขนส่งมวล ชนภายในตัวเมืองพัทยาด้วยรถยนต์พลังงานทางเลือกอย่าง ไฮโดรเจน และเซลล์เชื้อเพลิง พร้อมทั้งแผนการขยายการดำเนินงานไปยังพื้นที่ของจังหวัดอื่นๆ ต่อไปในอนาคต
- โครงการความร่วมมือกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ในการร่วมมือศึกษาแนวทางในการลดมลพิษจากการลอจิสติคส์ขนส่งสินค้า ด้วยเทคโนโลยีที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์อย่างรถบรรทุกที่ใช้พลังงานจากเซลล์เชื้อเพลิง ตลอดจนแนวทางการผลิตไฮโดรเจนพลังงานสะอาดจากชีวมวล
- การขยายผลการดำเนินงานของโครงการ "ชุมชนสิ่งแวดล้อมยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน" ซึ่งเป็นการยกระดับจากการสร้างศูนย์การเรียนรู้ จากโครงการ "โตโยตา เมืองสีเขียว อยุธยา" ไปสู่การสร้างชุมชนต้นแบบที่จะสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมให้ทุกคนในชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน โดยในปีที่ผ่านมาได้มีการเปิดชุมชนต้นแบบแห่งแรกไปแล้วที่จังหวัดระยอง และในปีนี้ Toyota ได้ตั้งเป้าหมายที่จะขยายเพิ่มให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ
- Toyota จะยังคงแสวงหาแนวทางการประสานความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีเป้าหมายเดียวกัน เพื่อมีส่วนช่วยผลักดันในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจ และสังคมไทยต่อไป
ABOUT THE AUTHOR
นุสรา เงินเจริญ
บรรณาธิการข่าวธุรกิจและสังคม รักการอ่าน ขอบงานเขียน ชอบพบปะผู้คน ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้บริหารในวงการยานยนต์ไทย ท่องเที่ยว เป็นประสบการณ์ที่ดี พร้อมได้ เปิดโลก ได้พัฒนาตัวในแวดวงสื่อสารมวลชน
ภาพโดย : บริษัทผู้ผลิตคอลัมน์ Online : ธุรกิจ (บก. ออนไลน์)