ธุรกิจ
สยย. จัดสัมมนา ยกระดับผู้ประกอบการยานยนต์ไทยสู่ยานยนต์สมัยใหม่
สถาบันยานยนต์ (สยย.) จัดงานสัมมนา “นำเสนอผลการศึกษา ภายใต้โครงการยกระดับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Parts Transfor mation) ปี พศ. 2566” ซึ่งได้รับมอบหมายจาก สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ณ โรงแรม เธอะ เบอร์เคลีย์ โฮเทล ประตูน้ำ โดย ดร. เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า จากนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ มุ่งเน้น 2 ประการ คือ 1. การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษ และลดการปล่อยแกสเรือนกระจก และมุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในระ ยะยาว และ 2. การต่อยอดจากอุตสาหกรรมยานยนต์เดิม (ICE) ไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมขั้นสูง คือ การพัฒนาเทคโนโลยีการเชื่อมต่อ และขับขี่อัตโนมัติ (CAV) ที่นำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง และความปลอดภัยในการขับขี่รถยนต์ รวมถึงการพัฒนายานยนต์ ICE ที่มีลักษณะ สะอาด ประหยัด และปลอดภัย อีกทั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติได้กำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมาย เพื่อให้ประ เทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไร้มลพิษ และเพื่อเป็นการลดผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ จึงจำเป็นต้องจัดทำแผนยุทธศาสตร์ และแผนการปรับเปลี่ยนผู้ผลิตชิ้นส่วน รวมถึงแรงงานไปสู่ยานยนต์สมัยใหม่ ครอบคลุมอุตสาหกรรมชิ้นส่วนเป้าหมาย เพื่อยกระดับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย และเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่
ดวงดาว ขาวเจริญ ผู้อำนวยการกองนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา 1 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเปิดงานสัมมนาว่า นโยบาย 30@30 รัฐบาลกำหนดเป้าหมายการผลิตยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle : ZEV) ในปี 2030 ภายใต้คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์ “การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก” เป็นการวางทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยของภาครัฐที่ชัดเจน รวมทั้งได้ออกมาตรการครอบคลุมในหลายด้าน ประกอบด้วย มาตรการส่งเสริมการลงทุน มาตรการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วน มาตร การสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดยการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี และไม่ใช่ภาษี (โครงการ EV3) รวมทั้ง มาตรการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ซึ่งมาตรการที่นำไปสู่การดำเนินงานในลักษณะบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดการลงทุนใหม่ที่เกี่ยวข้องกับ EV และทำให้ Demand ความต้องการรถยนต์ไฟฟ้า BEV ในประเทศไทยสูงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน รวมทั้งส่งผลให้นักลงทุนรายใหม่ และรายเดิมสนใจเพิ่มเติมการลงทุน โดยต้องการให้ภาครัฐพิจารณาขยายระยะเวลามาตรการส่งเสริม (หรือ EV 3.5) นอกจากนี้ ยังเป็นการดึงดูดผู้ผลิตแบทเตอรีรายใหญ่ให้เข้ามาลงทุนผลิตในประเทศด้วย นโยบายของภาครัฐนี้ถือเป็นการชี้นำภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้มีทิศทางสอดคล้องกับทิศทางของยานยนต์โลก เพื่อให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ภาครัฐได้ตระหนักถึงการผลิตรถยนต์ในส่วนร้อยละ 70 หรือ 70@30 ซึ่งเป็นยานยนต์สันดาปภายใน หรือ ICE และส่วนใหญ่เป็น Product Champion ของไทย คือ รถกระบะขนาด 1 ตัน และ Eco Car ควรได้รับการส่งเสริมเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์สมัยใหม่ EV หรือ CAV โดยกำลังพิจารณาการส่งเสริมตามแนวทาง “สะอาด (หรือมาตรฐาน Euro 6) ประหยัด (พลังงาน หรือปล่อย CO2 ต่ำ) และปลอดภัย (หรือมาตรฐานการชน และ ADAS)” ซึ่งรถยนต์ดังกล่าวจะมีการขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้ามากขึ้น โดยอาจจะเป็น HEV, PHEV สอดรับกับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างราบรื่น
และการบรรยายพิเศษ เรื่องสถานการณ์ของอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในไทย โดย สุพจน์ สุขพิศาล ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วน และอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่นำเสนอสถาน การณ์ของอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในไทย ทั้งการผลิตชิ้นส่วนสำหรับการประกอบในโรงงานผลิตรถยนต์ (OEM) และชิ้นส่วนสำหรับอะไหล่ทดแทน (REM) โดยที่ผ่านมาผู้ผลิตชิ้นส่วน OEM มีความสามารถแข่งขันในกลุ่มชิ้นส่วนรถกระบะเป็นหลัก และให้ข้อสังเกตว่าการเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานยานยนต์สมัยใหม่เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก จำเป็นต้องสร้างความสามารถให้แก่ผู้ผลิตชิ้นส่วนในปัจจุบันทั้งความสามารถทางเทคโนโลยี และการเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะห่วงโซ่อุปทานของผู้ผลิตยานยนต์สัญชาติจีน ในขณะที่กลุ่มชิ้นส่วน REM ยังมีโอกาสเติบโตเนื่องจากตลาดรถสะสมทั่วโลกจำนวนมากกว่าพันล้านคัน แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศ ไทยยังขาดข้อมูลอุตสาหกรรมนี้อยู่อีกมาก จึงจำเป็นต้องดำเนินการในเรื่องนี้ เพื่อใช้สำหรับการวางแผนนโยบายด้านชิ้นส่วน REM ต่อไป
รวมถึงการนำเสนอผลการศึกษาภายใต้โครงการยกระดับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ปี พศ. 2566 โดย คณะผู้วิจัย ซึ่งได้ประเมินความสามารถการแข่งขันของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไทย พบว่า โดยเฉลี่ย ผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างชาติจะมีความสามารถในการแข่งขันสูงกว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนคนไทย ดังนั้น ความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน ทั้งกระแสการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้า และการปรับตัวทางด้านสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงส่งผลให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนสามารถปรับตัวในระดับแตกต่างกันไป หรือต้องการความช่วยเหลือแตกต่างกันออกไป ที่สำคัญ ผู้ผลิตชิ้นส่วนที่มีความสามารถในการแข่งขันระดับสูงมีจำนวนไม่มากนัก หรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 15 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด (ผู้ผลิตชิ้นส่วนจำนวน 362 รายในกลุ่มตัวอย่าง) ซึ่งเชื่อว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนกลุ่มนี้มีโอกาสรักษาความสามารถในการแข่งขัน และปรับตัวต่อบริบทความท้าทายในอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ และในรายสาขาชิ้นส่วนยานยนต์ต่างๆ ผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างชาติมีความพร้อมทางเทคโนโลยี และงบประมาณที่จะผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สมัยใหม่ในสัดส่วนสูงกว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนคนไทยในทุกรายสาขาชิ้นส่วนยานยนต์ ขณะที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนคนไทยในกลุ่มช่วงล่าง (Chassis) และกลุ่มกระบวนการผลิต (Process) จะมีความพร้อมต่อการปรับตัวสูงกว่ากลุ่มสาขาชิ้นส่วนอื่นๆ เนื่องจากผู้ผลิตชิ้นส่วนคนไทยเหล่านี้ยังสามารถเข้าไปเชื่อมโยงชิ้นส่วนตนเอง หรือกระบวนการผลิตตนเองไปยังยานยนต์สมัยใหม่ได้
พร้อมข้อเสนอมาตรการเพื่อไปสู่เป้าหมาย 4 ประการ ได้แก่ 1. ส่งเสริมการเข้าสู่ตลาด เพื่อทำให้ผู้ประกอบการเป็นที่รู้จักเชื่อมั่นศักยภาพของผู้ผลิตชิ้นส่วนของไทย 2. ส่งเสริมฐานการผลิตให้มีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น เช่น การสร้าง Ecosystem พัฒนาการผลิตแบบคาร์บอนต่ำ เพื่อตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ การยกระดับเป็นผู้ประกอบการก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 3. การสร้างความสามารถทางเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น แบทเตอรี Autonomous ระบบ ADAS ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยการทำ R&D และ 4. การพัฒนาบุคคลากร เนื่องจากประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่
พร้อมทั้งมีการเสวนาในเรื่องโอกาสของผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยในตลาดอะไหล่ทดแทน โดย มีชัย ศรีวิบูลย์ ผู้อำนวยการสายงานด้านเทคนิค บริษัท คอมแพ็ค อินเตอร์เนชั่นแนล (1994) จำกัด ธเนศ เลิศขจรกิตติผู้อำนวยการฝ่ายขาย และการตลาด บริษัท เพรสซิเด้นท์ ออโตโมบิล อินดัสทรีส์ จำกัด (มหาชน) ธงชัย อุพันวัน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเจแมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ดำเนินรายการโดยฐิติภัทร ดอกไม้เทศ ผู้จัดการแผนกพัฒนาอุตสาห กรรม และรักษาการผู้จัดการแผนกวิจัยอุตสาหกรรม สถาบันยานยนต์ วิทยากรทั้ง 3 ท่าน ได้นำเสนอประสบการณ์การดำเนินธุรกิจ ซึ่งประเด็นสำคัญ คือ การเข้าใจตลาดและนำข้อมูลจากลูกค้ากลับมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการ โดยมีหน่วยงานด้านวิจัย และพัฒนาของตนเอง และมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อการดำเนินมาตรการของภาครัฐ เช่น ภาครัฐจำเป็นต้องส่งเสริม Business Matching หรือผลักดันให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนไปแสดงผลิตภัณฑ์ตนเองไปยังตลาดต่างประเทศมากขึ้น และไม่ควรมีข้อจำกัดจำนวนครั้งของการเข้าร่วมโครงการให้เงินอุดหนุนเพื่อจัดแสดงผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิตชิ้นส่วนในแต่ละราย โดยเฉพาะในโครงการ SME Pro-Ac tive โครงการความช่วยเหลือทางการดำเนินงานธุรกิจของภาครัฐมีจำนวนมาก และกระจายไปยังหน่วยงานต่างๆ แต่เรื่องดังกล่าวกลายเป็นความยากของผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ไม่รู้ว่าจะติดต่อหน่วยงานใด จึงอยากให้มีศูนย์ที่ช่วยแนะนำ และติดต่อโครงการความช่วยเหลือแบบรวมศูนย์ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งรวบรวมข้อมูลตลาดสินค้าอะไหล่ทดแทนในตลาดส่งออกต่างๆ เพื่อช่วยให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนมีโอกาสเข้าไปขายได้มากขึ้น
ทั้งนี้ สถาบันยานยนต์มีความเชื่อมั่นว่า ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยมีความสามารถแข่งขันเทียบเท่าผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างชาติ และประเทศไทยสามารถพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งจะสอดรับกับเป้าหมายของนโยบาย 30@30 ต้องการคงความสามารถการแข่งขัน เพื่อเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลกได้อย่างแน่นอน
ABOUT THE AUTHOR
นุสรา เงินเจริญ
บรรณาธิการข่าวธุรกิจและสังคม รักการอ่าน ขอบงานเขียน ชอบพบปะผู้คน ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้บริหารในวงการยานยนต์ไทย ท่องเที่ยว เป็นประสบการณ์ที่ดี พร้อมได้ เปิดโลก ได้พัฒนาตัวในแวดวงสื่อสารมวลชน
ภาพโดย : สถาบันยานยนต์คอลัมน์ Online : ธุรกิจ (บก. ออนไลน์)
คำค้นหา